เรื่องที่ 181 : ข้อยกเว้นความเสียหายซึ่งพบเมื่อตรวจสอบบัญชีสินค้า (Loss disclosed on taking inventory) กับการเรียกเก็บค่าเสียหายส่วนแรก (Deductible) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยเบ็ดเสร็จคุ้มครองผู้ค้าอัญมณี (Jewellers’ Block Insurance Policy)
(ตอนที่หนึ่ง)
กรมธรรม์ประกันภัยเบ็ดเสร็จคุ้มครองผู้ค้าอัญมณี (Jewellers’ Block Insurance Policy) คือ กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินประเภทหนึ่ง ซึ่งถูกออกแบบเฉพาะเพื่อให้ความคุ้มครองแบบความเสี่ยงภัยทุกชนิด (สรรพภัย) แก่ผู้ค้าอัญมณี ซึ่งในมุมมองของบริษัทประกันภัยมีความเสี่ยงภัยค่อนข้างสูง ทำให้จำต้องร่างถ้อยคำออกมาเป็นพิเศษให้สามารถรองรับกับลักษณะจำเพาะในการประกอบธุรกิจของผู้ค้าอัญมณีนั้น ๆ
ในบ้านเราพบเห็นมีขายเฉพาะบางบริษัทประกันภัยเท่านั้น ซึ่งได้ยื่นขอรับอนุมัติให้ขายได้จากสำนักงาน คปภ. เป็นการเฉพาะราย จึงไม่ใคร่ปรากฏเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟังมากนัก
ตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศนี้ได้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทขึ้นมาสองประเด็น ได้แก่
1) ความเสียหายที่เกิดขึ้นมานั้นตกอยู่ในข้อยกเว้นว่าด้วยความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยไม่ปรากฏร่องรอย หรือความสูญเสีย หรือความเสียหาย หรือการขาดหายไป ซึ่งพบเมื่อตรวจสอบบัญชีสินค้า (unexplained loss, mysterious disappearance or loss or damage or shortage disclosed on taking inventory) หรือไม่?
ซึ่งถือเป็นข้อยกเว้นมาตรฐานที่พบเห็นได้ทั่วไป ในกรมธรรม์ประกันภัยชนิดนี้ หรือกระทั่งกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินอื่น ๆ
2) การเรียกเก็บค่าเสียหายส่วนแรก (Deductible) ซึ่งเป็นจำนวนเงินส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยจำต้องรับผิดชอบเอง สำหรับความเสียหายแต่ละครั้ง และทุกครั้ง (for each and every loss) จะดำเนินการเช่นไร?
หากกรณีความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยไม่ปรากฏร่องรอย หรือความสูญเสีย หรือความเสียหาย หรือการขาดหายไป ซึ่งพบเมื่อตรวจสอบบัญชีสินค้านั้นได้รับความคุ้มครองขึ้นมา เมื่อไม่อาจล่วงรู้ได้ว่า เกิดความเสียหายขึ้นมากี่ครั้งกันแน่?
ความซับซ้อนที่เพิ่มมากขึ้น
คดีนี้ ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการค้าอัญมณีแบบขายส่ง อันประกอบด้วยของมีค่าจำพวกแหวนเพชร เครื่องประดับที่มีลักษณะห้อย (pendants) สร้อยข้อมือ และสายสร้อยต่าง ๆ ในกรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งเป็นของมีค่าดังกล่าวผ่านนายหน้าประกันวินาศภัยเจ้าหนึ่ง โดยจัดแบ่งการประกันภัยออกเป็นสองช่วงชั้น กล่าวคือ
ก) ช่วงชั้นแรก (Primary Layer) ที่เป็นความคุ้มครองพื้นฐานมีวงเงินอยู่ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ และมีค่าเสียหายส่วนแรกที่ 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับความเสียหายแต่ละครั้ง และทุกครั้ง
ข) ช่วงชั้นส่วนเกิน (Excess Layer) ที่ให้ความคุ้มครองส่วนเกินจากความคุ้มครองพื้นฐานดังกล่าว ในวงเงิน 3,500,000 ดอลลาร์สหรัฐ และมีค่าเสียหายส่วนแรกที่ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับความเสียหายแต่ละครั้ง และทุกครั้ง
ทั้งสองช่วงชั้นถูกรับประกันภัย (ต่อ) โดยคณะผู้รับประกันภัยของลอยด์ (Lloyds’ syndicate) จากสถาบันลอยด์แห่งประเทศอังกฤษ รวมทั้งสิ้น 12 ราย
ใช้กรมธรรม์ประกันภัยมาตรฐานของสถาบันลอยด์ ซึ่งให้ความคุ้มครองแบบความเสี่ยงภัยทุกชนิดแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย เว้นแต่ที่ได้ถูกระบุยกเว้นเอาไว้
โดยในข้อยกเว้นที่ว่าด้วยความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยไม่ปรากฏร่องรอย หรือความสูญเสีย หรือความเสียหาย หรือการขาดหายไป ซึ่งพบเมื่อตรวจสอบบัญชีสินค้า (unexplained loss, mysterious disappearance or loss or damage or shortage disclosed on taking inventory) นั้นได้มีการตกลงกันเป็นพิเศษให้ตัดทิ้งไป และถูกทดแทนด้วยใบสลักหลังเขียนว่า
“ไม่คุ้มครองสินค้าที่สูญหายไป ณ เวลาเมื่อตรวจสอบบัญชีสินค้า ในกรณีซึ่งมิได้มีการแจ้งความเสียหายขึ้นมาก่อนหน้านั้น เว้นแต่ความเสียหายนั้น ผู้เอาประกันภัยสามารถพิสูจน์ได้ว่า เกิดขึ้นมาจากภัยที่คุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้” (หรืออีกนัยหนึ่งลดข้อยกเว้นนี้ลงบางส่วน เพื่อให้คุ้มครองเพิ่มขึ้นนั่นเอง)
เหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดข้อพิพาทนี้ คือ เมื่อผู้เอาประกันภัยได้เริ่มทำการตรวจสอบบัญชีสินค้าทั้งระบบครั้งล่าสุดในเดือนกันยายน ค.ศ. 1995 ด้วยการสอบทานจำนวนสินค้าที่มีอยู่จริงกับที่ปรากฏในบัญชี
ในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม ค.ศ. 1995 กับเดือนมกราคม ค.ศ. 1996 ได้พบสินค้าบางจำนวนขาดหายไป กระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1996 ก็ยังหาข้อสรุปไม่ชัดเจนว่า สินค้าที่ขาดหายไปนั้นเนื่องจากสาเหตุใด และยังไม่นึกจะเข้าข่ายความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ได้หรือเปล่า?
อย่างไรก็ดี ผู้เอาประกันภัยได้บอกกล่าวถึงเรื่องราวนี้ให้แก่นายหน้าประกันวินาศภัยของตนให้รับทราบเบื้องต้น
จวบจนเมื่อกลางเดือนมีนาคม ค.ศ. 1996 ปรากฏข้อมูลชัดเจนออกมาแล้วว่า มีสินค้าบางส่วนขาดหายไปจริงโดยไม่ทราบสาเหตุ นายหน้าประกันวินาศภัยรายนี้จึงได้แจ้งเรื่องต่อบริษัทประกันภัยนั้นโดยทันที และในวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1996 อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้บริษัทประกันภัยนั้นจัดส่งผู้ประเมินวินาศภัย (loss adjuster) เข้ามาตรวจพิสูจน์ต่อไป
ขอต่อเรื่องราวบทสรุปผลทางคดีนี้ในสัปดาห์หน้าครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น