วันอังคารที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 180 : ผู้ผลิตสินค้าจำต้องรับผิด สำหรับความเสียหายที่เกิดจากของทำเทียม/เลียนแบบสินค้าของตนไหม?

 

(ตอนที่สอง)

 

จากเรื่องราวตัวอย่างคดีศึกษาในตอนที่หนึ่ง และคำถามทิ้งท้ายที่ว่า

 

1) ผู้ผลิตยาจำต้องรับผิดตามฟ้องบ้างไหม?

 

2) ร้านยาขายปลีกจำต้องรับผิดตามฟ้องไหม?

 

ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยตามข้อกล่าวหาแล้ว มีความเห็น ดังนี้

 

1) ผู้ผลิตยาจำต้องรับผิดตามฟ้องบ้างไหม?

 

โจทก์ผู้เสียหายฟ้องจำเลยให้รับผิดในฐานะประกอบธุรกิจในการผลิต และการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาต่าง ๆ รวมถึงยาปลอมตามฟ้องด้วย โดยเป็นเจ้าของสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ผู้ทำการผลิตสินค้า ฉลากสินค้า การบรรจุภัณฑ์ การบรรจุภัณฑ์ใหม่ ผู้จัดจำหน่าย และผู้ขาย รวมตลอดจนถึงการโอนสิทธิให้ผลิตแก่บุคคลอื่น การทำตลาด การโฆษณายาปลอมตามฟ้องนั้นด้วย

 

แต่เมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานต่าง ๆ ยาปลอมตามฟ้องนั้นได้ถูกลักลอบผลิตจากต่างประเทศ และถูกนำเข้าสู่ประเทศสหรัฐผ่านทางตัวแทนจำหน่ายหลายทอด โดยจำเลยผู้ผลิตมิได้เป็นผู้ผลิตยาปลอมตามฟ้องนั้นขึ้นมาเอง หรือมีส่วนร่วมรู้เห็นในแผนการร้ายนี้เลย ซึ่งหากกระทำไปเช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อผลกำไร และสร้างผลเสียแก่สิทธิบัตรกับเครื่องหมายการค้าของตนมากกว่า    

 

ประเด็นเรื่องการประกาศโฆษณาของจำเลยผู้ผลิตที่กล่าวหาว่า ทำให้โจทก์ผู้เสียหายหลงเชื่อไปซื้อยายี่ห้อนั้นมารับประทาน และเป็นสาเหตุใกล้ชิดก่อให้เกิดการบาดเจ็บทางร่างกายและจิตใจของโจทก์ผู้เสียหายนั้น ศาลเห็นว่า แท้ที่จริงเป็นการประกาศโฆษณาผลิตภัณฑ์ยา (ที่ถูกต้อง) ของจำเลยผู้ผลิต

 

โจทก์ผู้เสียหายไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดแจ้งว่า จำเลยผู้ผลิตมีเจตนาฉ้อฉล หลอกลวงจนก่อให้เกิดการบาดเจ็บทางร่างกายและจิตใจดังว่านั้นได้เช่นไร?

 

ส่วนประเด็นว่า จำเลยผู้ผลิตประมาทเลินเล่อด้วยการไม่ใช้มาตรการระมัดระวังตามสมควร เพื่อมิให้มียาปลอมตามฟ้องนั้นสามารถเข้าสู่ท้องตลาด และถึงตัวผู้บริโภคท้ายที่สุดนั้น โจทก์ผู้เสียหายก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดแจ้งอีกว่า จำเลยผู้ผลิตกระทำการ หรือละเว้นการกระทำอันสมควรตามหน้าที่ของตนอย่างไร?

 

โดยหลักกฎหมายทั่วไปแล้ว บุคคลใดก็ตามไม่มีหน้าที่ปกป้องผู้อื่นจากการกระทำผิดทางอาญาด้วยความจงใจต่อบุคคลอื่นใด (เว้นแต่บางกรณี)

 

เหมือนดั่งในคดีนี้ จำเลยผู้ผลิตไม่มีหน้าที่คาดหวัง และปกป้องการกระทำผิดของคนร้าย หรือกระทั่งติดป้ายเตือนผู้บริโภค เพราะถึงแม้กระทำได้เช่นนั้น ก็มิได้หมายความว่า ยาปลอมจะหมดสิ้นหายไปจากท้องตลาดได้จริง

 

ส่วนการควบคุมผู้รับโอนสิทธิผลิตต่อ หรือตัวแทนจำหน่ายอย่างเข้มงวดมากกว่านี้ โจทก์ผู้เสียหายก็มิได้หยิบยกกฎหมายใดมาแสดงต่อศาลให้เห็นได้ ศาลจึงเห็นว่า จำเลยผู้ผลิตไม่มีหน้าที่ถึงขนาดนั้น

 

เมื่อจำเลยผู้ผลิต ตัวแทนจำหน่าย และร้านค้าได้รับทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้รีบดำเนินการเรียกยาคืนมาตรวจสอบ และแจ้งต่อผู้ซื้อไปนั้น ถือเป็นการกระทำโดยสมควรแล้ว

 

พิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยผู้ผลิต

 

2) ร้านยาขายปลีกจำต้องรับผิดตามฟ้องไหม?

 

โดยหลักกฎหมาย กรณีถ้าเภสัชกรประจำร้านยาเพียงจ่ายยาตามใบสั่งแพทย์จากบรรจุภัณฑ์ดั้งเดิมที่ได้รับมา และส่งมอบแก่ผู้บริโภคโดยมิได้มีการเปลี่ยนแปลง เภสัชกรนั้นก็ไม่จำต้องรับผิดถึงประสิทธิภาพของยาที่ถูกสั่งจ่ายไปนั้น

 

เมื่อจำเลยร้านยาเองก็มิได้รับรู้ และมีส่วนร่วมในการปลอมยาตามฟ้องนั้น จึงพ้นผิดเช่นเดียวกัน

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Ashworth v. Albers Medical, Inc., 395 F. Supp. 2d 395 - Dist. Court, SD West Virginia 2005 และ Ashworth v. Albers Medical, Inc., 410 F. Supp. 2d 471 - Dist. Court, SD West Virginia 2005)

 

หมายเหตุ

 

น่าจะสมเหตุผลนะครับ

 

เทียบเคียงกับตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกานี้น่าจะพอได้เช่นกัน

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4829/2558

 

พ.ร.บ. ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 มาตรา 4 บัญญัติว่า สินค้าไม่ปลอดภัย หมายความว่า สินค้าที่ก่อ หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุจากความบกพร่องในการผลิต หรือการออกแบบ หรือไม่ได้กำหนดวิธีใช้ วิธีเก็บรักษา คำเตือน หรือข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า หรือกำหนดไว้ แต่ไม่ถูกต้อง หรือไม่ชัดเจนตามสมควร ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงสภาพของสินค้า รวมทั้งลักษณะการใช้งาน และการเก็บรักษาตามปกติธรรมดาของสินค้าอันพึงคาดหมายได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ข้าวสารหอมมะลิบรรจุถุงของจำเลยที่โจทก์ผู้บริโภคซื้อมาจากร้านค้ามีเชื้อราปนเปื้อน จำเลยในฐานะผู้ประกอบธุรกิจ หรือผู้ประกอบการจึงมีภาระการพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการผลิต หรือส่วนผสมของสินค้า หรือการดำเนินการใด ๆ ซึ่งอยู่ในความรู้เห็นเฉพาะของจำเลยตาม พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 29 เมื่อพยานบุคคลฝ่ายจำเลยเบิกความประกอบพยานเอกสารแสดงให้เห็นถึงขั้นตอน และวิธีการผลิตข้าวสารบรรจุถุงของจำเลย จนกระทั่งขนส่งให้แก่ลูกค้า จำเลยมีการตรวจสอบคุณภาพอยู่ตลอดเวลา โดยดำเนินการจัดทำระบบตามหลักการผลิตที่ดี เพื่อเป็นหลักในการประกันคุณภาพด้านความปลอดภัยของอาหาร และระบบควบคุมอันตรายไม่ให้ไปสู่ผู้บริโภค เพื่อเป็นหลักประกันในการควบคุมการผลิต โดยโรงงานบรรจุข้าวถุงของจำเลยเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ที่ผ่านการรับรองทั้งสองระบบ ระบบคุณภาพและมาตรฐานต่าง ๆ ได้รับการประเมินตรวจสอบและได้ใบรับรองจากหน่วยงานของรัฐและเอกชนว่า ผลิตภัณฑ์สินค้าตรามาบุญครองของจำเลย มีความสะอาด และถูกสุขอนามัย โดยใส่ใจในเรื่องความปลอดภัย เพื่อตอบสนองความพึงพอใจให้แก่ผู้บริโภค ทั้งข้อเท็จจริงยังได้ความอีกว่า ข้าวสารบรรจุถุงที่ผลิตในวันเดียวกันกับข้าวสารบรรจุถุงปัญหาที่โจทก์ซื้อไป ไม่ปรากฏว่า มีข้าวสารบรรจุถุงที่มีเชื้อราปนเปื้อนอีก แสดงว่าเชื้อราที่ปนเปื้อนไม่ได้เกิดขึ้นในขั้นตอนการผลิต หรือส่วนผสมของสินค้า หรือการขนส่งของจำเลย

 

(สืบค้นมาจาก http://deka.supremecourt.or.th/search ด้วยความขอบพระคุณยิ่ง)

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น