เรื่องที่ 183 : เมื่อลูกระเบิดจากสงครามโลกครั้งที่สองตามมาหลอกหลอนถึงทุกวันนี้?
(ตอนที่สอง)
เรามาทบทวนลำดับวันเวลาที่เกี่ยวข้องอีกครั้งนะครับ
วันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 สงครามโลกครั้งที่สองเริ่มอุบัติขึ้น ณ ทวีปยุโรป
วันที่ไม่มีบันทึกข้อมูล ค.ศ. 1942 ลูกระเบิดถูกทิ้งลงมาแล้วเกิดด้าน ณ เมืองที่เกิดเหตุ
วันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ณ ทวีปยุโรป
วันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945 สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ
วันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2020 – 2021 ช่วงระยะเวลาประกันภัยหนึ่งปี
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 คนงานได้ขุดเจอลูกระเบิดที่ตกค้างฝังในดิน
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 เจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการภาครัฐจุดระเบิดทำลายทิ้ง
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 บังเกิดความสูญเสียทางการเงิน และความเสียหายทางทรัพย์สินแก่ผู้เอาประกันภัย
วันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 2021 บริษัทประกันภัยนั้นได้ตอบปฏิเสธความรับผิด
คดีพิพาทได้ถูกนำเสนอต่อศาลชั้นต้นแห่งประเทศอังกฤษ เพื่อพิจารณาตัดสินประเด็นข้อโต้แย้งประเด็นเดียวของคดีนี้ กล่าวคือ
ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุใกล้ชิดจากภัยข้อยกเว้นของภัยสงครามหรือไม่?
ฝ่ายผู้เอาประกันภัยต่อสู้ว่า
ตนได้รับความเสียหายเนื่องจากภัยระเบิดจากการกระทำโดยจงใจของเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการภาครัฐ ซึ่งจัดอยู่ในภัยที่คุ้มครอง มิใช่เกิดจากการทิ้งลูกระเบิดลงมาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (ตั้งแต่ประมาณ 79 ปีก่อนหน้านั้น) อันเป็นภัยที่ถูกยกเว้นเอาไว้ ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท
ขณะที่ฝ่ายบริษัทประกันภัยนั้นได้โต้แย้งว่า
ความเสียหายที่ได้รับนั้นตกอยู่ในข้อยกเว้นว่าด้วยภัยสงครามของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท ซึ่งเขียนว่า ไม่คุ้มครอง สำหรับกรณีดังต่อไปนี้
“ความสูญเสีย ความวินาศ ความเสียหาย การเสียชีวิต การบาดเจ็บทางร่างกาย การทุพพลภาพ หรือความรับผิด ตลอดจนความเสียหายสืบเนื่องใดก็ตาม อันเป็นเหตุมาจาก (occasioned by) ภัยสงคราม การรุกราน การกระทำของศัตรูต่างชาติ การกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ (ไม่ว่าจะได้มีการประกาศหรือไม่ก็ตาม) สงครามกลางเมือง การกบฏ การปฏิวัติ การแข็งข้อ หรือการยึดอำนาจการปกครองโดยทหาร หรือการช่วงชิงอำนาจ”
โดยที่การทิ้งลูกระเบิดระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองนั้นจัดเป็นสาเหตุใกล้ชิดโดยตรงจากภัยสงคราม (the proximate cause) ในการก่อให้เกิดความเสียหายเหล่านี้จึงส่งผลทำให้ไม่ได้รับความคุ้มครองดังกล่าว
แม้นกระนั้น หากว่า การทิ้งลูกระเบิดนั้นเองถือเป็นสาเหตุใกล้ชิดจากภัยอื่น ๆ (a proximate cause) ในที่นี้ คือ การจุดระเบิดทำลายโดยเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการภาครัฐ มิใช่สาเหตุใกล้ชิดโดยตรง (the proximate cause) ในการก่อให้เกิดความเสียหายเหล่านี้ก็ตาม นั่นหมายความว่า กลายเป็นมีภัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องหลายภัย อันส่งผลทำให้เข้ากฎเกณฑ์สาเหตุที่พ้องกัน (concurrent causes rule) ซึ่งกำหนดว่า ถ้าภัยที่คุ้มครองมาเกิดขึ้นพ้องกันกับภัยที่ยกเว้น ให้ภัยที่ยกเว้นนั้นมีผลใช้บังคับเหนือกว่า กล่าวคือ ก็จะคงไม่ได้รับความคุ้มครองเช่นว่านั้นอยู่ดี
ฝ่ายผู้เอาประกันภัยตอบโต้ว่า
ตนเชื่อว่า ผู้ร่างกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทไม่น่ามีเจตนารมณ์เขียนข้อยกเว้นภัยสงครามนี้ให้มีผลย้อนหลังครอบคลุมรวมไปถึงภัยสงครามต่าง ๆ ในอดีตด้วย ฉะนั้น กรณีนี้มิใช่การพิจารณาโดยอาศัยกฎเกณฑ์สาเหตุที่พ้องกัน (concurrent causes rule) แต่ควรใช้เป็นกฎการตีความสัญญากำกวม (contra proferentem rule) (กฎของการตีความในสัญญา ถ้าหากฝ่ายใดเป็นผู้ร่างสัญญา และข้อความในสัญญากำกวมหรือคลุมเครือ ศาลจะตีความเป็นประโยชน์แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งมิใช่ผู้ร่างสัญญา - https://www.oic.or.th/th/node/27611) มากกว่า
ความเห็นของศาลชั้นต้นแห่งประเทศอังกฤษ
ได้พินิจพิเคราะห์จากพยานหลักฐานของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว ให้ความเห็นไว้ดังนี้
1) สำหรับประเด็นเรื่องความกำกวมของถ้อยคำดังอ้างอิงในสัญญาประกันภัย/กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทนั้น
ศาลไม่เห็นว่า มีความกำกวมไม่ชัดเจนแต่ประการใด เนื่องจากไม่ปรากฏมีข้อความของข้อยกเว้นนี้เขียนในลักษณะว่า ไม่คุ้มครองความเสียหายทั้งโดยทางตรง หรือโดยทางอ้อมจากภัยสงคราม ทำให้จำต้องอาศัยหลักสาเหตุใกล้ชิดมาใช้บังคับในการตีความ ซึ่งฝ่ายผู้เอาประกันภัยก็เห็นพ้องด้วยแล้ว ทั้งยังได้ต่อสู้การจุดระเบิดทำลายดังกล่าวมิใช่มีสาเหตุมาจากการกระทำสงคราม ฉะนั้น สาเหตุใกล้ชิดต่อความเสียหายเหล่านั้นก็ไม่ได้บังเกิดจากการกระทำสงครามเช่นเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาลจึงไม่รับฟังประเด็นข้อตอบโต้นี้
2) ส่วนประเด็นความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุใกล้ชิดจากภัยข้อยกเว้นของภัยสงครามหรือไม่?
การพิจารณาถึงความเสียหายว่า จะมีสาเหตุมาจากภัยที่คุ้มครองหรือเปล่านั้น ถือเป็นการแปลถ้อยคำของสัญญาประกันภัย ฉะนั้น หลักสาเหตุใกล้ชิดก็คือข้อตกลงในการแปลถ้อยคำของสัญญาประกันภัยนั้นเอง โดยอาศัยการพิจารณาถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของคู่สัญญานั้นเป็นสำคัญ โดยที่คำว่าสาเหตุ “ใกล้ชิด (proximate)” เทียบเคียงได้กับคำว่าสาเหตุ “ฉับพลันทันที (immediate)” อันตรงข้ามกับคำว่าสาเหตุ “ห่างไกล (remote)” แต่ศาลจะต้องขยายความให้กว้างกว่าคำว่าสาเหตุ “ฉับพลันทันที (immediate)” เพื่อค้นหาสาเหตุ “แท้จริง (real)” ออกมาให้ได้
ทั้งนี้ ศาลได้หยิบยกตัวอย่างคดีศึกษาหลายคดีที่มีชื่อเสียง และเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางทั่วโลกมาอ้างอิง หนึ่งในนั้น คือ คดี Leyland Shipping Company v Norwich Union Fire Insurance Society Limited [1918] AC 350 กรณีเรือที่เอาประกันภัยลำหนึ่งได้รับความเสียหาย เนื่องจากถูกโจมตีด้วยตอร์ปิโดจากเรือดำน้ำของกองกำลังนาซีเยอรมัน และได้ถูกลากจูงเข้าเทียบท่าเรือใกล้ที่สุด เพื่อรอการซ่อมแซม แต่ต่อมาได้ถูกลากจูงให้ออกไปทิ้งสมอจอดลอยลำเรือนอกชายฝั่ง ท่ามกลางกระแสลม และคลื่นที่ปั่นป่วน สามวันถัดมา เรือลำนั้นก็จมลงสู่ท้องทะเลในท้ายที่สุด
ศาลสูงสุดแห่งประเทศอังกฤษได้พิจารณาว่า แม้เรือลำนั้นได้รับความคุ้มครองจากภัยทางทะเล (perils of the sea) แต่เนื่องด้วยปรากฏมีข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทระบุไม่คุ้มครองถึงผลสืบเนื่องต่าง ๆ จากการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ หรือการปฏิบัติการเยี่ยงสงคราม เมื่อความเสียหายที่บังเกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุใกล้ชิดมาจากการถูกยิงด้วยตอร์ปิโด ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ดังว่านั้น จึงส่งผลทำให้ไม่ได้รับความคุ้มครอง
ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเรือลำนั้นได้ถูกลากจูงมาถึงท่าเรือ ก็สามารถลอยลำจอดเทียบท่าเรือนั้นได้อย่างปลอดภัย และจะคงอยู่ในสภาพเช่นนั้น หากได้รับอนุญาตให้จอดอยู่ได้ต่อไป อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยสภาวะอากาศที่แปรปรวนขณะนั้น ได้สร้างความกังวลใจอย่างมากแก่เจ้าหน้าที่ของการท่าเรือว่า ถ้าเรือลำนั้นบังเอิญเกิดจมลงไป ก็อาจไปกีดขวางการเข้าเทียบท่าของเรือลำอื่น ๆ ได้ ซึ่งในสภาวะสงครามจำต้องเตรียมความพร้อมในการให้บริการโดยไม่ติดขัด เพื่อปกป้องความเสียหายที่อาจบังเกิดแก่เรือลำอื่น ๆ ได้ เจ้าหน้าที่ของการท่าเรือแห่งนั้นโดยไม่มีทางเลือกอื่นจำต้องออกคำสั่งให้กัปตันของเรือลำนั้นเคลื่อนย้ายออกไปจอดทิ้งสมอลอยลำนอกชายฝั่ง จนท้ายที่สุดไม่อาจทนสภาพแปรปรวนของคลื่นลมได้อีกต่อไป เรือลำนั้นก็จมตัวลงกลายเป็นความเสียหายโดยสิ้นเชิงในอีกไม่กี่วันถัดมา
ในการค้นหาสาเหตุใกล้ชิดคดีนี้ ให้มองข้ามการพยายามที่จะทุเลา หรือหยุดยั้งความเสียหายของมนุษย์ ด้วยการลากจูงเรือลำนั้นมาจอดเทียบท่าเรือแต่แรก โดยมองผ่านไปถึงการนำเรือลำนั้นไปจอดทิ้งสมอนอกชายฝั่งได้เลย ด้วยเหตุนี้ สาเหตุใกล้ชิดนั้นไม่จำต้องเป็นสาเหตุใกล้ชิดที่สุดเสมอไป ให้พยายามอาศัยหลักสามัญสำนึก (common sense) ตามความเข้าใจของทั่วไปในการพิจารณามากกว่าเพียงอาศัยความรู้สึกส่วนตนเป็นเกณฑ์
เช่นเดียวกับคดีนี้ ถ้ามองข้ามการกระทำของมนุษย์ (ตราบเท่าที่มีเหตุผลสมควร) ในการจุดระเบิดทำลายลูกระเบิดนั้น การทิ้งลูกระเบิดนั้นลงมาถือเป็นสาเหตุใกล้ชิดของความเสียหายที่บังเกิดขึ้นดังกล่าวท้ายที่สุด กรณีจึงไม่เข้าข่ายที่จำต้องไปจำแนกออกเป็นหลายภัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องตามกฎเกณฑ์สาเหตุที่พ้องกัน (concurrent causes rule) ดังอ้างอิงข้างต้น
อย่างไรก็ตาม หากทดลองด้วยการไม่มองข้ามถึงการกระทำของมนุษย์ การพิจารณาโดยอาศัยสามัญสำนึกในที่นี้ ก็คือ ความเสียหายเหล่านั้นได้เกิดจากการระเบิด โดยฝีมือของเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการภาครัฐซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย และได้กระทำการตามความจำเป็นในขอบเขตอำนาจนั้นด้วย เนื่องจากการคงอยู่ของลูกระเบิดนั้นซึ่งอาจเกิดระเบิดขึ้นมาเองได้ทุกเมื่อ ดังนั้น ถ้าไม่มีลูกระเบิดนั้นปรากฏอยู่เลย ก็คงไม่จำต้องมีการจุดระเบิดทำลายขึ้นมาเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลจึงเห็นว่า การทิ้งลูกระเบิดนั้นลงมาถือเป็นสาเหตุใกล้ชิดโดยตรงต่อความเสียหายเหล่านั้นเองอยู่ดี
ตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยนั้นไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท
(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Allianz Insurance Plc v The University of Exeter [2023] EWHC 630)
หมายเหตุ
คดีนี้มีคำตัดสินออกมาโดยศาลชั้นต้นแห่งประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 2023 นี้เอง น่าสนใจว่า ฝ่ายผู้เอาประกันภัยจะร้องอุทธรณ์ต่อไปหรือไม่? ถ้ามี ก็จะนำมาอัพเดทให้อ่านกันครับ
อนึ่ง เมื่ออ่านตัวอย่างคดีศึกษานี้แล้ว อดนึกไม่ได้ นี่อาจจะเป็นเรื่องใกล้ตัวบ้านเราได้เช่นกัน เนื่องด้วยยังมีข่าวพบเจอลูกระเบิดด้านตกค้างตามพื้นที่ต่าง ๆ ของบ้านเราอยู่บ่อยครั้ง สมมุติถ้าบังเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ขึ้นมาจริง ศาลไทยท่านจะพิจารณาเช่นใดกันหนอ? ยิ่งกรมธรรม์ประกันภัยทุกประเภทล้วนมีข้อยกเว้นลักษณะนี้อยู่เสียด้วย
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น