วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 184 : อีกเรื่องชวนปวดหัวในการตีความหลักสาเหตุใกล้ชิด (Proximate Cause) สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยหม้อกำเนิดไอน้ำ และภาชนะรับแรงดัน (Boiler & Pressure Vessel Insurance Policy)?

 

(ตอนที่สอง)

 

ขอกล่าวทบทวน และขยายความเพิ่มเติมเรื่องราวตัวอย่างคดีศึกษานี้นะครับ

 

ผู้เอาประกันภัยรายนี้ประกอบกิจการขายส่งเสื้อผ้าในเมืองแห่งหนึ่ง ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องด้วยตัวเสื้อผ้าเองมีความเสี่ยงภัยจากไฟไหม้ ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงได้ทำการติดตั้งระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ (automatic sprinkler system) เผื่อไว้หลายจุดภายในอาคาร รวมถึงชั้นใต้ดินซึ่งมีหม้อกำเนิดไอน้ำตั้งอยู่ด้วย

 

ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้จัดทำการประกันภัยทรัพย์สินทั่วไปคุ้มครองทรัพย์สินทั้งหมดของตนเองหนึ่งฉบับ และรวมทั้งกรมธรรม์ประกันภัยหม้อกำเนิดไอน้ำ และภาชนะรับแรงดันเสริมเพิ่มเติมอีกหนึ่งฉบับ โดยที่กรมธรรม์ประกันภัยฉบับหลังนี้ระบุเงื่อนไขความคุ้มครองเอาไว้ว่า

 

คุ้มครองความสูญเสีย หรือความเสียหายที่บังเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน (immediate) แก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยของผู้เอาประกันภัย หรือของบุคคลอื่นซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของผู้เอาประกันภัย อันมีสาเหตุมาจากการระเบิด (explosion) การยุบแฟบ (collapse) หรือการแตกตัว (rupture) ยกเว้นไฟไหม้ ของหม้อกำเนิดไอน้ำที่เอาประกันภัย ณ สถานที่เอาประกันภัย

 

ในวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1902 ซึ่งอยู่ในช่วงระยะเวลาความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท หม้อกำเนิดไอน้ำดังกล่าวได้เกิดระเบิดขึ้นมาโดยอุบัติเหตุ และได้พ่นกระจายน้ำร้อนออกมาจำนวนมาก สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยบริเวณนั้น ถัดจากนั้นแทบจะทันที ไอความร้อนเหล่านั้นก็ได้ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องจนทำให้ระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติที่ถูกติดตั้ง ณ จุดนั้นทำงานขึ้นมา ด้วยการพ่นกระจายน้ำออกมาสร้างความเสียหายเพิ่มเติมขึ้นมาอีก ประเมินมูลค่าความเสียหายรวม โดยเฉพาะในส่วนของสต็อกสินค้าที่เอาประกันภัยเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,140.85 ดอลลาร์สหรัฐ (ค่าเงินในสมัยนั้น) ทั้งนี้ สามารถคำนวณจำแนกมูลค่าความเสียหายจากภัยหม้อกำเนิดไอน้ำระเบิดกับภัยเปียกน้ำจากระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติได้อย่างละครึ่ง

 

เมื่อเหตุการณ์แห่งความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ถูกรายงานให้บริษัทประกันภัยรับทราบ บริษัทประกันภัยนั้นยอมรับผิดชอบเฉพาะความเสียหายซึ่งมีสาเหตุโดยตรงจากภัยการระเบิดของหม้อกำเนิดไอน้ำเท่านั้น แต่ตอบปฏิเสธในส่วนความเสียหายของภัยเปียกน้ำจากระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ

 

ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาล โดยมีประเด็นข้อพิพาทโต้แย้งระหว่างคู่สัญญาประกันภัยนี้ว่า

 

(1) มีเหตุการณ์ความเสียหาย (Loss Occurrence) หนึ่งครั้ง ในลักษณะเป็นสาเหตุใกล้ชิดอย่างต่อเนื่องกันจากสาเหตุการระเบิดของหม้อกำเนิดไอน้ำเพียงเหตุการณ์เดียวเท่านั้นใช่หรือไม่? หรือ

 

(2) มีเหตุการณ์ความเสียหาย (Loss Occurrence) สองครั้ง จากสาเหตุการระเบิดของหม้อกำเนิดไอน้ำ เป็นเหตุการณ์แรก และจากสาเหตุการเปียกน้ำเนื่องจากระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ เป็นเหตุการณ์ที่สองใช่หรือเปล่า?

 

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยสนับสนุนฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยว่า ความเสียหายจากภัยเปียกน้ำนั้นเป็นสาเหตุใกล้ชิดต่อเนื่องมาจากภัยการระเบิดของหม้อกำเนิดไอน้ำ หรืออีกนัยหนึ่ง คือ มีเหตุการณ์ความเสียหายเกิดขึ้นเพียงเหตุการณ์เดียวเท่านั้น

 

ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยร้องอุทธรณ์คัดค้าน

 

ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วมีความเห็นว่า

 

ข้อกล่าวอ้างที่เป็นเหตุการณ์ความเสียหายหนึ่งเดียวกันของฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยนั้น ได้มีการหยิบยกเหตุผลประกอบมาอ้างอิงว่า

 

(1) เสื้อผ้ามีความเสี่ยงภัยจากไฟไหม้ ทำให้เป็นปกติธรรมดาของผู้ประกอบธุรกิจนี้จะต้องทำการติดตั้งระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ เพื่อป้องกันเหตุจากภัยไฟไหม้ ตลอดจนอาจรวมไปถึงเหตุจากภัยระเบิดของหม้อกำเนิดไอน้ำด้วย

 

(2) ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยเองก็ตระหนักรับรู้ถึงการติดตั้งหม้อกำเนิดไอน้ำเหล่านี้อยู่แล้วตั้งแต่เวลาตกลงรับประกันภัย อีกทั้งยังมีส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัยให้ด้วย  

 

ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจาก

 

(1) ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนในการประกอบธุรกิจเสื้อผ้าตามปกติทั่วไปจะมีหลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติที่จะต้องติดตั้งระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติกันทุกแห่งหน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวแต่ละรายมากกว่า

 

อนึ่ง เวลามีเหตุไฟไหม้เกิดขึ้น จะต้องอาศัยน้ำเข้ามาทำการดับไฟ กรณีนี้ ภัยจากการเปียกน้ำที่ดับไฟถือเป็นสิ่งปกติวิสัยที่จะต้องกระทำโดยทั่วไป ด้วยเหตุนี้ จึงนับภัยจากการเปียกน้ำดังกล่าวถือรวมเป็นเหตุการณ์เดียวกับภัยจากไฟไหม้ในลักษณะที่เป็นสาเหตุใกล้ชิดต่อเนื่องกันไป ฉะนั้น ก็หมายความรวมถึงน้ำที่มาจากระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติด้วยเช่นเดียวกัน

 

(2) แต่สำหรับกรณีภัยระเบิดของหม้อกำเนิดไอน้ำแล้ว ไม่ใช่จุดประสงค์หลักตามปกติทั่วไปในการติดตั้งระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ ดังนั้น จะถือว่า การรับรู้ถึงการมีอยู่ของหม้อกำเนิดไอน้ำดังกล่าว แล้วจะหมายความว่า เจตนารมณ์ของบริษัทประกันภัยนั้นจะสามารถคาดหมายได้เองถึงผลกระทบของภัยระเบิดของหม้อกำเนิดไอน้ำที่จะส่งผลอย่างต่อเนื่องได้เช่นนั้นตามปกติวิสัยทั่วไป คงไม่ได้ จำต้องมีการเจรจาตกลงกันเพิ่มเติมลงไประหว่างคู่สัญญาประกันภัย เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนกันทั้งสองฝ่าย ในลักษณะเป็นเหตุการณ์พิเศษเพิ่มเติมต่างหากอีกกรณีหนึ่ง

 

ส่วนกรณีส่วนลดค่าเบี้ยประกันภัยของการติดตั้งระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัตินั้นก็เช่นเดียวกัน ไม่น่าจะหมายความรวมถึงภัยระเบิดของหม้อกำเนิดไอน้ำด้วยเหตุผลเช่นเดียวกัน

 

จากเหตุผลข้างต้น ศาลอุทธรณ์จึงวินิจฉัยกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยไม่จำต้องรับผิดในส่วนความเสียหายที่มาจากสาเหตุการเปียกน้ำเนื่องจากระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ  

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Hartford Steam Boiler Inspection and Insurance Co. v. Henry Sonneborn & Co., 96 Md. 616, 54 A. 610 (1903)) 

 

หมายเหตุ

 

เมื่อเปรียบเทียบกับตัวอย่างคดีศึกษาในเรื่องที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่งมีคำพิพากษาออกมา กับตัวอย่างคดีศึกษาในเรื่องนี้ ซึ่งมีช่วงเวลาห่างกันย้อนหลังไปนับร้อยกว่าปี แต่เชื่อว่า แม้จะดูเก่าไปหน่อย ครั้นเมื่อพิจารณาด้วยเหตุผลแล้ว ก็สมเหตุผลดีนะครับ และน่าจะนำมาปรับใช้กับกรมธรรม์ประกันภัยบ้านเราได้

 

สิ่งที่น่าคิดต่อ

 

เนื่องจากตัวอย่างศึกษานี้มิได้มีข้อมูลเอ่ยถึงว่า เมื่อผู้เอาประกันภัยรายนี้ไม่ได้รับความคุ้มครองในส่วนของกรมธรรม์ประกันภัยหม้อกำเนิดไอน้ำ และภาชนะรับแรงดันจากภัยเปียกน้ำเนื่องจากระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ เขาจะสามารถนำไปเรียกร้องภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินหลักที่มีอยู่ได้หรือเปล่า?

 

คุณคิดว่าอย่างไรบ้างครับ?

 

สมมุติ เขามีกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) อยู่ ซึ่งเรารับรู้ว่า ไม่คุ้มครองเรื่องของหม้อกำเนิดไอน้ำ (boiler) ภาชนะรับแรงดัน (ถังเก็บความดัน/ถังอัดความดัน) (pressure vessel) พร้อมอุปกรณ์ ทั้งในกรณีที่เป็นสาเหตุที่ถูกยกเว้น และทรัพย์สินที่ถูกยกเว้นเอาไว้

 

ผมขอตั้งข้อสังเกตไว้ ดังนี้

 

หากเราขยายหม้อกำเนิดไอน้ำ และภาชนะรับแรงดันให้เป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยแล้ว

 

เรายังสมควรจะต้องไป

 

ก) เลือกซื้อกรมธรรม์ประกันภัยหม้อกำเนิดไอน้ำ และภาชนะรับแรงดันเพิ่มเติมอีกหนึ่งฉบับ หรือ

 

ข) เลือกขยายขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมในลักษณะที่เป็นเอกสารแนบท้าย แบบ ทส. 1.18 ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินฉบับเดิม

 

จริงหรือไม่?

 

ทั้งที่กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินฉบับเดิมนั้นเขียนว่า

 

หมวดที่ 3 ข้อยกเว้น

 

ก. สาเหตุของความเสียหายที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง

 

1. ความเสียหาย อันเกิดจาก

 

1.1        ………

1.2        ………

 

1.9 การร้าว (cracking) การแตก (cracking) การยุบแฟบ (collapse) หรือการได้รับความร้อนเกินขนาดของหม้อกำเนิดไอน้ำ (overheating of boilers) อุปกรณ์หรือท่อประหยัดเชื้อเพลิง (economisers) หรือถังเก็บความดัน หลอดหรือท่อ หรือการรั่วไหลของชิ้นส่วนปล่อยความดันหรือระบายไอน้ำหรือความบกพร่องของรอยเชื่อมของหม้อกำเนิดไอน้ำ

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทจะรับผิดต่อความเสียหายอื่นที่ติดตามมาจากข้อ 1.6 ถึง 1.11 ถ้าหากความเสียหายที่ติดตามมานั้นเกิดจากสาเหตุที่มิได้ระบุยกเว้นไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยนี้  หรือความเสียหายตามข้อ 1.6 ถึง 1.11 นั้นเป็นผลโดยตรงจากความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย หรือสถานที่ตั้งหรือเก็บทรัพย์สินดังกล่าวอันเกิดจากสาเหตุที่มิได้ระบุยกเว้นไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยนี้   

 

อ่านข้อยกเว้นข้างต้นแล้ว ยังอดสงสัยไม่ได้ว่า มีเขียนยกเว้นภัยระเบิด หรือภัยยุบแฟบของหม้อกำเนิดไอน้ำกับภาชนะรับแรงดันตรงไหนหนอ?

 

ฝากทิ้งท้ายให้ไปลองพิจารณาดูเองนะครับ

     

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น