วันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 185 : รถขายอาหารเคลื่อนที่ (Mobile Catering Truck) เกิดไฟไหม้เวลาเลิกงาน ณ สถานประกอบการ จนทำให้คนปรุงอาหารบาดเจ็บ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์จะคุ้มครองหรือไม่?

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

ปัจจุบัน เราสามารถพบเห็นรถขายอาหารเคลื่อนที่/ครัวเคลื่อนที่ (Mobile Catering Truck/Food Truck) เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมากมายตามแหล่งชุมชน หรือจุดจอดต่าง ๆ เพื่อให้บริการทั้งอาหาร และ/หรือเครื่องดื่มแก่ลูกค้าทั่วไป ซึ่งนับเป็นเทรนด์ใหม่ โดยเฉพาะสำหรับผู้เริ่มต้นประกอบธุรกิจด้านอาหาร และเครื่องดื่ม อันได้รับการตอบรับที่ดียิ่งจากลูกค้า

 

แล้วเวลาเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา จะมีประเด็นปัญหาด้านประกันภัยอะไรบ้างไหม?

 

ส่วนตัวยังไม่พบเจอในบ้านเรา

 

แต่ที่ต่างประเทศได้เกิดขึ้นมาแล้วดั่งเช่นในตัวอย่างคดีศึกษานี้

 

นายบี (นามสมมุติ) ได้ไปขอเช่ารถขายอาหารเคลื่อนที่คันหนึ่งจากผู้ประกอบการรถจำพวกนี้ ทั้งยังขอแบ่งเช่าพื้นที่ส่วนหนึ่ง เพื่อใช้เป็นจุดจอดพักรถ และจุดจัดเตรียมอาหารก่อนที่จะขับเคลื่อนนำรถคันนั้นออกไปให้บริการแก่ลูกค้าภายนอกตามสถานที่ต่าง ๆ ในแต่ละวันด้วย

 

นายบีได้ว่าจ้างพนักงานขับรถกับพนักงานปรุงอาหารประจำรถของตนเอาไว้ โดยกำหนดตารางหน้าที่ประจำวันว่า ภายหลังจากสิ้นสุดการออกไปทำงานนอกสถานที่แต่ละวัน จะต้องนำรถกลับเข้ามายังจุดจอดพักรถนั้น เพื่อทำความสะอาด และจัดเตรียมความพร้อมที่จะออกไปทำงานในวันถัดไปให้เรียบร้อยเสียก่อน

 

เย็นวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2002 เมื่อพนักงานขับรถนำรถคันนั้นกลับมาจุดจอดพักประจำเรียบร้อยแล้ว ได้เทราดน้ำมันเบนซินลงทิ้งไว้บนพื้นรถชั่วช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อปล่อยให้คราบไขมันที่เปรอะเปื้อนอยู่บนพื้นนั้นสามารถหลุดร่อนออกมา อันง่ายแก่การที่จะกลับมาทำความสะอาดภายหลัง ระหว่างที่ตนเดินจากไปนำส่งเงินยอดรายได้ประจำวันให้แก่นายบี

 

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง พนักงานปรุงอาหารที่อยู่ในรถคันนั้นก็กำลังทำหน้าที่ล้างจานชามกับถาดใส่อาหารอยู่ ครั้นพอเอื้อมมือไปเปิดสวิตช์หลอดไฟแสดงสถานการณ์ทำงาน (pilot light) ของเตาทอดขึ้นมา จู่ ๆ ได้ก่อให้เกิดประกายไฟทำให้น้ำมันเบนซินบนพื้นนั้นติดไฟลุกไหม้ท่วมตัวพนักงานปรุงอาหารผู้นั้นจนบาดเจ็บสาหัส

 

พนักงานปรุงอาหารผู้บาดเจ็บได้ยื่นฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายทั้งจากตัวนายบี (ผู้เช่ารถ) และผู้ประกอบการรถขายอาหารเคลื่อนที่ (ผู้ให้เช่ารถ) เป็นจำเลยร่วมกัน 

 

นายบี มิได้จัดทำประกันภัยใด ๆ เผื่อเอาไว้เลย แต่ผู้ประกอบรถจำพวกนี้ได้มีกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองอยู่รวมสามฉบับ อันได้แก่

 

1) กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์เชิงพาณิชย์ (Commercial Auto Insurance Policy) ซึ่งครอบคลุมรถยนต์จำพวกนี้ทุกคัน รวมถึงรถคันให้เช่าที่เกิดเหตุด้วย

 

2) กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทั่วไปเชิงพาณิชย์ (Commercial General Liability Insurance Policy (CGL))

 

3) กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดแบบครอบคลุมเชิงพาณิชย์ (Umbrella Commercial Liability Insurance Policy)

 

บริษัทประกันภัยซึ่งให้ความคุ้มครองเหล่านั้นได้ถูกเรียกเข้ามาร่วมรับผิดในคดีด้วย ได้ปฏิเสธความรับผิดอย่างสิ้นเชิง โดยหยิบยกประเด็นต่าง ๆ มากล่าวอ้างโต้แย้ง ดังนี้

 

1) กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์เชิงพาณิชย์

 

ไม่คุ้มครอง เนื่องจากขณะเกิดเหตุมิได้ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขความคุ้มครองว่าด้วยการขับขี่ การบำรุงรักษา หรือการใช้รถ (the operation, maintenance or use of insured vehicle) แต่ประการใด เพราะอยู่ในช่วงเลิกการใช้งานนั้นแล้ว อีกทั้งก็มิได้อยู่ในความหมายของการบำรุงรักษารถตามปกติทั่วไปด้วยเช่นกัน

 

นอกเหนือจากนี้ ผู้บาดเจ็บก็ไม่ถือเป็นบุคคลภายนอก อันตกอยู่ในข้อยกเว้นไม่คุ้มครองถึงตัวลูกจ้างอีกด้วย

 

2) กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทั่วไปเชิงพาณิชย์

 

ไม่คุ้มครอง เนื่องจากเข้าข้อยกเว้นว่าด้วยความรับผิดของยานพาหนะใดที่จดทะเบียนให้ใช้บนท้องถนน และไม่ถือเป็น “อุปกรณ์ที่เคลื่อนที่ได้ (Mobile Equipment)” ตามคำจำกัดความเฉพาะ

 

อีกทั้งตัวผู้เช่าไม่ถือเป็นผู้เอาประกันภัยตามคำจำกัดความเฉพาะที่จะต้องถูกระบุชื่อลงไปให้ชัดเจน อนึ่ง เจตนารมณ์ของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้เพียงเพื่อคุ้มครองผู้ประกอบการรถขายอาหารเคลื่อนที่ (ผู้ให้เช่ารถ) เองเท่านั้น

 

3) กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดแบบครอบคลุมเชิงพาณิชย์

 

ไม่คุ้มครอง เนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้จะทำงานเป็นส่วนเสริมเพิ่มเติมจากสองกรมธรรม์ประกันภัยแรกนั้นเอง

 

ศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับฝ่ายบริษัทประกันภัยในฐานะจำเลยร่วมในประเด็นที่ว่า อุบัติเหตุนั้นมิได้เกิดขึ้นมาจากการใช้รถ เพราะการใช้รถคันนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว และขณะเกิดเหตุดังกล่าวอยู่ในช่วงเวลาการทำความสะอาดกับการจัดเตรียมความพร้อมสำหรับวันถัดไปต่างหาก ซึ่งก็มิได้อยู่ในความหมายของการบำรุงรักษารถตามปกติทั่วไปอีก จึงตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยไม่ต้องรับผิด โดยไม่จำเป็นต้องไปพิจารณาถึงประเด็นอื่นใดเพิ่มเติม

 

โจทก์ผู้เสียหายร้องอุทธรณ์คัดค้าน

 

คุณเห็นว่า ฝ่ายใดควรชนะคดีนี้ครับ

 

ฝ่ายโจทก์? หรือ

 

ฝ่ายจำเลย?

 

ลองลุ้นดูนะครับ แล้วค่อยไปรับฟังผลการอุทธรณ์สัปดาห์หน้ากัน

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น