เรื่องที่ 185 : รถขายอาหารเคลื่อนที่ (Mobile Catering Truck) เกิดไฟไหม้เวลาเลิกงาน ณ สถานประกอบการ จนทำให้คนปรุงอาหารบาดเจ็บ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์จะคุ้มครองหรือไม่?
(ตอนที่สอง)
ศาลอุทธรณ์ได้วิเคราะห์กรมธรรม์ประกันภัยทั้งสามฉบับที่ถูกอ้างอิงเป็นลำดับในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1) กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์เชิงพาณิชย์ (Commercial Auto Insurance Policy)
1.1) ผู้เอาประกันภัย/ผู้ได้รับความคุ้มครอง
แม้หน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ได้ระบุชื่อผู้เอาประกันภัย คือ นิติบุคคลผู้ให้เช่ารถยนต์ที่เอาประกันภัย รวมถึงคันที่ให้เช่าออกไปด้วยก็ตาม
แต่เงื่อนไขความคุ้มครองยังกำหนดให้ขยายความคุ้มครองไปถึงบุคคลอื่นผู้ได้รับความยินยอมให้ขับขี่รถยนต์เหล่านั้นจากผู้เอาประกันภัย ในที่นี้ คือ ตัวผู้เช่า และ/หรือตัวแทนของผู้เช่าอีกด้วย
1.2) การประกอบธุรกิจ/ลักษณะการใช้รถยนต์คันที่เอาประกันภัย
ได้แถลงไว้ว่า คือ “การขายอาหารแบบเคลื่อนที่ (Mobile Catering)”
ฉะนั้น ชัดเจนว่า รถยนต์คันที่เอาประกันภัยเหล่านี้มิได้เพียงมีจุดประสงค์แค่ขนคน หรือสิ่งของจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งตามปกติทั่วไปเท่านั้น
แต่มีลักษณะการใช้รถโดยเฉพาะเจาะจงที่ถูกออกแบบเป็นพิเศษ เพื่อประกอบธุรกิจการขายอาหารแบบเคลื่อนที่ โดยมีอุปกรณ์เครื่องครัวต่าง ๆ ถูกติดตั้งอยู่ในตัวรถคันดังกล่าว ประกอบกับกฎหมายในเรื่องสุขอนามัย ทำให้จำเป็นจะต้องมีการปฏิบัติให้สอดคล้องด้วยการดูแลรักษาความสะอาดกันทุกวันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
1.3) ข้อตกลงคุ้มครอง
มีข้อกำหนดว่า บริษัทประกันภัยจะชดใช้จำนวนเงินทั้งหลายในนามของผู้เอาประกันภัย สำหรับความรับผิดตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัยที่จะต้องจ่ายเป็นค่าเสียหาย ในกรณีความบาดเจ็บทางร่างกาย หรือความเสียหายทางทรัพย์สินที่มีต่อบุคคลภายนอก อันมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุที่คุ้มครอง และเป็นผลเนื่องมาจากการเป็นเจ้าของ การบำรุงรักษา หรือการใช้รถยนต์คันที่เอาประกันภัยนั้นเอง
ไม่ปรากฏคำจำกัดความเฉพาะของคำว่า “การใช้” กำกับเอาไว้เป็นพิเศษ
จึงอาศัยแนวทางการตีความของการใช้รถยนต์ อันจะได้รับความคุ้มครองนั้นต้องมีหลักเกณฑ์ ดังนี้
(1) อุบัติเหตุนั้นจะต้องเกิดขึ้นเนื่องมาจากลักษณะตามปกติวิสัย (inherent nature) ของรถยนต์คันนั้นเอง
(2) อุบัติเหตุนั้นจะต้องเกิดขึ้นภายในอาณาบริเวณตามปกติ (natural territorial limits) ของรถยนต์คันนั้นเอง โดยที่ยังไม่สิ้นสุดการใช้อย่างแท้จริงลงไป
(3) อุบัติเหตุนั้นจะต้องไม่ใช่เพียงแค่มีส่วนในการก่อให้เกิดปัจจัยในความบาดเจ็บขึ้นมา แต่จะต้องเป็นต้นเหตุก่อให้เกิดความบาดเจ็บนั้นขึ้นมาเอง
เมื่อนำข้อความจริงที่อุบัติขึ้นมาประกอบการพิจารณากับหลักเกณฑ์ข้างต้นแล้ว จะพบว่า
(1) อุบัติเหตุนั้นจะต้องเกิดขึ้นเนื่องมาจากลักษณะตามปกติวิสัย (inherent nature) ของรถยนต์คันนั้นเอง
เมื่อคู่สัญญาประกันภัยได้ตกลงกันชัดเจนว่า จะให้ความคุ้มครองรถยนต์คันที่เอาประกันภัยซึ่งมีวัตถุประสงค์ดังแถลงโดยเฉพาะเจาะจง เพื่อประกอบธุรกิจการขายอาหารแบบเคลื่อนที่ โดยที่รถแต่ละประเภทของธุรกิจล้วนต่างมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป
ดังนั้น ขอบเขตของการใช้รถคันดังกล่าว คือ เพื่อใช้ขนอาหารกับบุคลากรประจำรถ รวมทั้งการจัดเตรียม และการขายอาหารเหล่านั้น โจทก์ผู้เสียหายอาจไม่มีความปลอดภัยเพียงพอที่จะต้องอยู่ภายในตัวรถซึ่งมีสภาพพื้นรถเปรอะเปื้อนไปด้วยคราบไขมัน อีกทั้งก็มิอาจที่จะจัดเตรียมอาหาร และทำการขายได้ หากปรากฏว่า รถยนต์คันนั้นเองไม่มีความสะอาด และมีสุขอนามัยที่ดีพอ
ด้วยเหตุนี้ การบำรุงรักษาที่ดีพอจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง หากรถยนต์คันนี้มิได้มีอุปกรณ์เครื่องครัวติดตั้งอยู่เลย ก็คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการขนาดนั้น และอุบัติเหตุดังกล่าวก็คงไม่บังเกิดขึ้นมาได้
ฉะนั้น การทำความสะอาดจึงถือเป็นสิ่งที่เป็นปกติวิสัย สามารถคาดหวังได้ และจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้ และการบำรุงรักษารถขายอาหารแบบเคลื่อนที่คันดังกล่าว
ความบาดเจ็บที่บังเกิดขึ้นนั้นจึงเข้าอยู่ในหลักเกณฑ์ลักษณะตามปกติวิสัยของรถยนต์คันนั้นเองในข้อนี้
(2) อุบัติเหตุนั้นจะต้องเกิดขึ้นภายในอาณาบริเวณตามปกติ (natural territorial limits) ของรถยนต์คันนั้นเอง โดยที่ยังไม่สิ้นสุดการใช้อย่างแท้จริงลงไป
รถยนต์คันที่เกิดเหตุได้จอดอยู่ ณ จุดจอดพักรถ ในเวลาที่เกิดอุบัติเหตุดังกล่าว และความบาดเจ็บของโจทก์ผู้เสียหายก็ได้บังเกิดขึ้นภายในรถยนต์คันนั้นด้วย ทั้งหมดล้วนเข้าหลักเกณฑ์ตามข้อนี้ทุกประการ
(3) อุบัติเหตุนั้นจะต้องไม่ใช่เพียงมีส่วนในการก่อให้เกิดปัจจัยในความบาดเจ็บขึ้นมา แต่จะต้องเป็นต้นเหตุก่อให้เกิดวามบาดเจ็บนั้นขึ้นมาเอง
ข้อนี้หมายความถึง รถยนต์คันนั้นก่อให้เกิดความบาดเจ็บหรือเปล่า?
ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยร่วมโต้แย้งว่า อุบัติเหตุมิได้เกิดขึ้นโดยมีรถยนต์คันดังกล่าวเป็นต้นเหตุ แต่เนื่องมาจากการเปิดสวิตช์หลอดไฟแสดงสถานการณ์ทำงาน (pilot light) ของเตาทอดขึ้นมา จนส่งผลให้เกิดประกายไฟไปทำปฏิกิริยากับน้ำมันเบนซินบนพื้นมากกว่า ในลักษณะเป็นสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นเช่นว่านั้นได้ในทุกแห่งหน
ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย เพราะเมื่อแปลความได้ว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ให้ความคุ้มครองโดยเฉพาะเจาะจงแก่รถขายอาหารแบบเคลื่อนที่ ซึ่งตามปกวิสัยสามารถรับรู้ และคาดหวังได้ถึงการใช้รถอันเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการปรุงอาหาร ดังนั้น การทำความสะอาดกับการเทสารไวไฟลงบนพื้นรถ และได้ส่งผลทำให้เกิดเหตุไฟไหม้เนื่องมาจากประกายไฟของหลอดไฟแสดงสถานการณ์ทำงาน จนบังเกิดความบาดเจ็บในท้ายที่สุด ล้วนถือมีสาเหตุมาจากกระบวนการการใช้ และการบำรุงรักษารถยนต์คันดังกล่าวตามปกติวิสัย ซึ่งได้มีข้อตกลงกันเป็นพิเศษนั้นเองตามหลักเกณฑ์ข้อนี้ด้วยเช่นเดียวกัน
1.3) ข้อยกเว้นว่าด้วยบุคคลภายนอกนั้นต้องมิใช่ลูกจ้างในทางการที่จ้าง (employee) ของผู้ขับขี่นั้นเอง
ในที่นี้ พนักงานขับรถยนต์คันดังกล่าวถูกมองว่า ตกอยู่ในฐานะลูกจ้าง และถือเสมือนหนึ่งเป็นตัวแทนของผู้เช่าผู้ได้รับความยินยอมให้ขับขี่รถยนต์คันดังกล่าวจากผู้เอาประกันภัย
ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยร่วมได้โต้แย้งเพิ่มเติมอีกว่า แม้กรณีจะผ่านสองหัวข้อแรกแล้วก็ตาม กรณีก็ยังมาตกอยู่ในข้อยกเว้นนี้อยู่ดี เนื่องจากโจทก์ผู้เสียหายเองก็ถือเป็นลูกจ้างของผู้เช่าเช่นเดียวกัน
ทำให้มีประเด็นคำถามว่า อันที่จริงโจทก์ผู้เสียหายมีสถานะเป็น
(ก) ลูกจ้าง (employee)? หรือ
(ข) ผู้รับจ้างอิสระ (independent contractor)?
โดยหลักกฎหมาย ความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โดยไม่คำนึงจะเรียกหากันเช่นไร?
นายจ้างจะต้องมีอำนาจในการกำกับดูแล และการสั่งการลูกจ้าง โดยที่ลูกจ้างนั้นจำต้องปฏิบัติตามคำสั่งเช่นว่านั้นของนายจ้างด้วย
ประเด็นข้อนี้ มิได้ถูกวินิจฉัยจากศาลชั้นต้น เพราะศาลชั้นต้นเพียงตัดสินเห็นพ้องกับฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยร่วม โดยมุ่งเน้นไปให้น้ำหนักกับประเด็นเรื่องการใช้ และการบำรุงรักษารถยนต์คันดังกล่าวเป็นเกณฑ์สำคัญประการเดียวเท่านั้น
2) กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทั่วไปเชิงพาณิชย์ (Commercial General Liability Insurance Policy (CGL))
อันที่จริง มิได้มีประเด็นร้องอุทธรณ์คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่า ผู้เช่าไม่ใช่ผู้เอาประกันภัยตามคำจำกัดความของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้
แต่กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้กับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์นั้นมีความเกี่ยวข้องกันพอสมควร โดยเฉพาะหากว่า เป็นกรณีที่เป็นฝ่ายผู้ให้เช่าต้องรับผิด เพราะแม้สองกรมธรรม์ประกันภัยนั้นจะไม่ให้ความคุ้มครองทับซ้อนกัน ต่างก็สนับสนุนกันเวลาเมื่ออีกฉบับหนึ่งไม่คุ้มครอง
3) กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดแบบครอบคลุมเชิงพาณิชย์ (Umbrella Commercial Liability Insurance Policy)
สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้จะมีหลักเกณฑ์ใช้บังคับได้สองกรณีด้วยกัน กล่าวคือ
(ก) ถ้ากรณีคุ้มครองโดยกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้จะคุ้มครองเสริมเพิ่มเติมให้
(ข) ถ้ากรณีไม่คุ้มครองโดยกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้อาจจะคุ้มครองเสริมเพิ่มเติมให้ก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อกำหนด และเงื่อนไขที่เขียนเอาไว้เป็นสำคัญ
ข้อสรุป
ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษากลับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น โดยเห็นว่า ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยร่วมจำต้องรับผิด ภายใต้ข้อตกลงคุ้มครองว่าด้วยการใช้กับการบำรุงรักษารถยนต์คันที่เอาประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ฉบับพิพาท และให้ย้อนคดีกลับไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเพิ่มเติม ในประเด็นเรื่องข้อยกเว้นว่าด้วยความบาดเจ็บของลูกจ้างนั้นเอง
(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Employers Mutual Casualty Company v. Bonilla, 613 F.3d 512 (5th Cir. July 29, 2010))
หมายเหตุ
ข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของโจทก์ผู้เสียหาย มีลักษณะเป็นผู้รับจ้างอิสระรายวันมากกว่า โดยมีสิทธิเลือกที่จะไปทำงานให้แก่ผู้เช่า หรือผู้ให้เช่ารถคันดังกล่าวก็ได้ตลอดเวลา
ในสถานะทางกฎหมายแล้วไม่มีความชัดเจนเพียงพอ แม้กระทั่งในบ้านเราเอง มีดำริร่างกฎหมาย เพื่อออกมารองรับสถานะเช่นว่านี้ด้วย แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่พอสมควร เทียบเคียงได้กับกรณีของไรเดอร์ผู้รับจ้างอิสระ
ส่วนคดีนี้ ถ้าลองนำมาปรับใช้กับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์บ้านเรา เชื่อว่า น่าจะมีโอกาสได้รับความคุ้มครองค่อนข้างสูง เพราะภายใต้หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 1. ข้อตกลงคุ้มครอง เขียนว่า
“บริษัท (ประกันภัย) จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญเสีย หรือความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแก่บุคคลภายนอก ซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย เนื่องจากอุบัติเหตุอันเกิดจากรถยนต์ที่ใช้ หรืออยู่ในทาง หรือสิ่งที่บรรทุก หรือติดตั้งในรถยนต์นั้น ในระหว่างระยะเวลาประกันภัย ในนามผู้เอาประกันภัย”
อนึ่ง มีตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศอีกคดีหนึ่งซึ่งมีเรื่องราวใกล้เคียงกันมาก แต่กลับเป็นประเด็นข้อถกเถียงในเรื่องของกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดทั่วไปเชิงพาณิชย์ (Commercial General Liability Insurance Policy (CGL)) แทน
โปรดติดตามได้ในตอนหน้าครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น