วันอังคารที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 184 : อีกเรื่องชวนปวดหัวในการตีความหลักสาเหตุใกล้ชิด (Proximate Cause) สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยหม้อกำเนิดไอน้ำ และภาชนะรับแรงดัน (Boiler & Pressure Vessel Insurance Policy)?

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

เป็นที่รับทราบกันทั่วไป กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (Accidental Damage (Property) Insurance Policy หรือเรียกสั้น ๆ ว่า IAR) นั้น จะระบุไม่คุ้มครองเรื่องของหม้อกำเนิดไอน้ำ (boiler) ภาชนะรับแรงดัน (ถังเก็บความดัน/ถังอัดความดัน) (pressure vessel) พร้อมอุปกรณ์ ทั้งในกรณีที่เป็นสาเหตุที่ถูกยกเว้น และทรัพย์สินที่ถูกยกเว้นเอาไว้ ดังนี้

 

หมวดที่ 3 ข้อยกเว้น

 

ก. สาเหตุของความเสียหายที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง

 

1. ความเสียหาย อันเกิดจาก

 

1.1        ………

1.2        ………

 

1.9 การร้าว (cracking) การแตก (cracking) การยุบแฟบ (collapse) หรือการได้รับความร้อนเกินขนาดของหม้อกำเนิดไอน้ำ (overheating of boilers) อุปกรณ์หรือท่อประหยัดเชื้อเพลิง (economisers) หรือถังเก็บความดัน หลอดหรือท่อ หรือการรั่วไหลของชิ้นส่วนปล่อยความดันหรือระบายไอน้ำหรือความบกพร่องของรอยเชื่อมของหม้อกำเนิดไอน้ำ

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทจะรับผิดต่อความเสียหายอื่นที่ติดตามมาจากข้อ 1.6 ถึง 1.11 ถ้าหากความเสียหายที่ติดตามมานั้นเกิดจากสาเหตุที่มิได้ระบุยกเว้นไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยนี้  หรือความเสียหายตามข้อ 1.6 ถึง 1.11 นั้นเป็นผลโดยตรงจากความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย หรือสถานที่ตั้งหรือเก็บทรัพย์สินดังกล่าวอันเกิดจากสาเหตุที่มิได้ระบุยกเว้นไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยนี้   

 

ข. การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองทรัพย์สินดังต่อไปนี้

 

1.  ……….

2.  ……….

 

18. ความเสียหายของหม้อกำเนิดไอน้ำ อุปกรณ์หรือท่อประหยัดเชื้อเพลิง กังหันไอน้ำ เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ ซึ่งใช้แรงดันรวมถึงชิ้นส่วนของทรัพย์สินดังกล่าว อันเกิดจากการระเบิด หรือการแตกร้าวของตัวเอง

 

ผู้ขอเอาประกันภัยซึ่งมีทรัพย์สินจำพวกนี้อยู่ หากประสงค์จะให้ได้รับความคุ้มครอง มีทางเลือกอยู่สองทาง ได้แก่

 

1) ทางเลือกที่หนึ่ง

 

ไปเลือกซื้อกรมธรรม์ประกันภัยหม้อกำเนิดไอน้ำ และภาชนะรับแรงดัน (Boiler & Pressure Vessel Insurance Policy) เสริมเพิ่มเติมอีกหนึ่งฉบับ โดยจะให้ความคุ้มครองแบบระบุภัย คือ เพียงเฉพาะภัยการระเบิด (explosion) กับภัยการยุบแฟบ/การยุบตัว (collapse) เท่านั้น

 

และยังสามารถเลือกขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมรวมไปถึงทรัพย์สินอื่น ๆ ของผู้ขอเอาประกันภัยนั้นซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงจุดที่ตั้งหม้อกำเนิดไอน้ำ และภาชนะรับแรงดันที่เอาประกันภัยนั้นเอง ตลอดจนถึงความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกเนื่องจากสาเหตุที่คุ้มครองดังกล่าวอีกด้วย

 

2) ทางเลือกที่สอง

 

ไปเลือกขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมในลักษณะที่เป็นเอกสารแนบท้าย แบบ ทส. 1.18 ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินฉบับเดิมของตนก็ได้ แต่เฉพาะในส่วนนี้จะถูกลดความคุ้มครองเหลือแค่เพียงภัยการระเบิดกับภัยการยุบแฟบ/การยุบตัวเท่านั้น เช่นเดียวกับทางเลือกข้อแรก

 

และไม่มีทางเลือกให้ไปขยายความคุ้มครองถึงทรัพย์สินอื่น ๆ ของผู้ขอเอาประกันภัยนั้นซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงจุดที่ตั้งหม้อกำเนิดไอน้ำ และภาชนะรับแรงดันที่เอาประกันภัยนั้นเอง ตลอดจนถึงความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกเนื่องจากสาเหตุที่คุ้มครองดังกล่าวได้อีก

 

จะเห็นได้ว่า ทั้งสองส่วนความคุ้มครองนั้นจะค่อนข้างแยกภัยที่คุ้มครองแตกต่างจากกัน ไม่น่าจะก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทการตีความขึ้นมาได้อีก

 

คุณคิดเช่นนั้นบ้างหรือเปล่าครับ?

 

กระนั้นในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่คู่สัญญาประกันภัยฝ่ายหนึ่งเข้าใจ อาจไม่ใช่เป็นสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจถูกต้องตรงกันก็ได้

 

เหมือนดั่งเช่นตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศนี้

 

หม้อกำเนิดไอน้ำที่เอาประกันภัยของผู้เอาประกันภัยรายหนึ่งเกิดอุบัติเหตุระเบิดขึ้นมา ส่งผลทำให้มีน้ำร้อนพุ่งกระจายออกมา และสร้างผลต่อเนื่องทำให้บริเวณพื้นที่นั้นเกิดอุณภูมิความร้อนสูงขึ้นมากจนถึงระดับระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ (automatic sprinkler system) ที่ถูกติดตั้ง ณ จุดนั้นทำงานด้วยการพ่นกระจายน้ำออกมาสร้างความเสียหายเพิ่มเติมขึ้นมาอีก

 

เกิดมีประเด็นข้อพิพาทโต้แย้งระหว่างคู่สัญญาประกันภัยนี้ว่า

 

(1) มีเหตุการณ์ความเสียหาย (Loss Occurrence) หนึ่งครั้ง ในลักษณะเป็นสาเหตุใกล้ชิดอย่างต่อเนื่องกันใช่หรือไม่? หรือ

 

(2) มีเหตุการณ์ความเสียหาย (Loss Occurrence) สองครั้ง จากสาเหตุการระเบิดของหม้อกำเนิดไอน้ำ เป็นเหตุการณ์แรก และจากสาเหตุการเปียกน้ำเนื่องจากระบบหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ เป็นเหตุการณ์ที่สองใช่หรือเปล่า?

 

คุณจะเลือกถือข้างข้อใดดีครับ?

 

แล้วค่อยมารับฟังผลการตัดสินคดีนี้ตอนหน้า จะตรงกับสิ่งที่คุณคิดเห็นบ้างไหม?

     

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น