วันอาทิตย์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 194 : ผู้รับเหมาช่วง (Subcontractor) ซึ่งถูกว่าจ้างโดยตรงจากผู้ว่าจ้างเอง ถือเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้าง (Contract Works Insurance Policy) ได้หรือไม่?

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

เป็นที่รับรู้ และเข้าใจกันโดยหลักการทั่วไป

 

คำว่า “สัญญาว่าจ้าง (Contract Work)” ในที่นี้ จะหมายความถึง สัญญาจ้างทำของระหว่างผู้ว่าจ้าง หรือบางครั้งเรียกว่า “เจ้าของโครงการ (Principal)” กับผู้รับจ้าง หรือบางครั้งเรียกว่า “ผู้รับเหมาหลัก (Contractor or Main Contractor)

 

ส่วนผู้รับเหมาหลักนั้นจะทำงานที่ถูกว่าจ้างมานั้นเองทั้งหมด หรือจะแบ่งงานบางส่วนไปให้แก่ผู้รับเหมารายย่อยอื่น ๆ ก็ได้ ซึ่งจะเรียกว่า “ผู้รับเหมาช่วง (Subcontractor)” โดยมีสถานะเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนของผู้รับเหมาหลักนั่นเอง

 

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความรวมไปถึงผู้รับเหมารายอื่น ๆ ซึ่งผู้ว่าจ้างไปจัดทำสัญญาว่าจ้างงานอื่นอีกต่างหาก และจะต้องไปจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองแยกต่างหากจากกันออกไปอีกด้วย   

 

สัญญาจ้างทำของ ในที่นี้ ก็คือ งานว่าจ้างให้ก่อสร้างอาคารสิ่งปลูกสร้าง และ/หรือให้ติดตั้งเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ แล้วแต่กรณี โดยมีจุดประสงค์มุ่งเน้นที่ความสำเร็จของงานที่ถูกว่าจ้างนั้นเป็นสำคัญ โดยผู้รับจ้างจะต้องจัดดำเนินการให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ เพื่อสามารถส่งมอบให้เป็นทรัพย์สินถาวร (permanent work) ของผู้ว่าจ้างต่อไป

 

ในทางปฏิบัติ เวลาจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยประเภทนี้ บริษัทประกันภัยจะกำหนดรายการผู้เอาประกันภัยดังต่อไปนี้ลงไว้ในหน้าตารางกรมธรรม์ประกันภัย  

 

ก) ผู้เอาประกันภัยหลักที่ระบุชื่อ (Named Insured)

 

อันประกอบด้วยผู้เอาประกันภัยร่วมสองฝ่าย ได้แก่ ผู้ว่าจ้าง (ฝ่ายหนึ่ง) และ/หรือผู้รับจ้าง หรือในที่นี้ คือ ผู้รับเหมาหลัก (อีกฝ่ายหนึ่ง)

 

ข) ผู้เอาประกันภัยรองที่ไม่ระบุชื่อ (Unnamed Insured)

 

ในที่นี้ คือ ผู้รับเหมาช่วงของผู้รับเหมาหลัก สาเหตุที่ไม่จำต้องระบุชื่อกำกับไว้ เพราะ ณ เวลาจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยอาจไม่รับทราบได้ว่า ผู้รับเหมาหลักจะไปช่วงงานต่อให้ใครบ้าง?

 

ทั้งหมดถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะเอาประกันภัยร่วมกันได้ อันจะได้รับความคุ้มครองร่วมกันด้วย ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับเดียวกันนี้เอง

 

นั่นคือ สิ่งที่รับรู้ และเข้าใจกันมาตลอด

 

จวบจนกระทั่งได้มีเรื่องมีราวดังต่อไปนี้บังเกิดขึ้น

 

ประมาณเดือนเมษายน ค.ศ. 2016 บ้านหลังหนึ่งของโครงการก่อสร้างหมูบ้าน ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงการก่อสร้างโดยผู้รับเหมาหลักอยู่ ได้เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้สร้างความเสียหายขึ้นมา เมื่อผู้รับเหมาหลักได้รับการชดใช้ สำหรับความเสียหายดังกล่าวจากบริษัทประกันภัยผู้ให้ความคุ้มครองแก่โครงการนี้แล้ว บริษัทประกันภัยแห่งนั้นก็ได้รับช่วงสิทธิไปไล่เบี้ยเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนที่ตนได้จ่ายไปแล้วนั้น กลับคืนจากผู้ก่อให้เกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ ในที่นี้ สืบพบว่า เป็นผู้รับเหมาอีกเจ้าหนึ่งซึ่งถูกว่าจ้างมาโดยตรงแยกต่างหาก เพื่อให้ทำงานทาสีบ้านหลังที่เกิดเหตุ โดยปราศจากความเกี่ยวข้อง หรือมีนิติสัมพันธ์กับผู้รับเหมาหลักรายนี้แต่ประการใด

 

ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทขึ้นสู่ศาล เพื่อวินิจฉัยชี้ขาด ดังนี้

 

1) ผู้รับเหมาทาสีบ้านหลังที่เกิดเหตุควรจะได้รับความคุ้มครอง ในฐานะผู้รับเหมาช่วงที่ไม่ระบุชื่อได้หรือไม่?  

 

2) บริษัทประกันภัยแห่งนั้นสามารถรับช่วงสิทธิไปไล่เบี้ยแก่ผู้รับเหมาทาสีบ้านหลังที่เกิดเหตุ ในฐานะบุคคลภายนอกผู้กระทำผิดได้หรือไม่?  

ขอฝากเป็นการบ้านทิ้งไว้ และคอยพบคำตอบในปีหน้านะครับ

 

ช่วงเทศกาลแห่งความสุขระยะเวลานี้ เชื่อว่า ทุกท่านล้วนต่างกำลังเฉลิมฉลอง และพักผ่อนให้ความสุขแก่ตนเอง บุคคลในครอบครัว และผู้ที่อยู่รอบตัวอยู่นะครับ

 

ฉะนั้น ผมขอถือโอกาสในวาระช่วงนี้ ขออวยพรให้ผู้อ่านทุกท่านมีแต่ความสุข ความเจริญ สุขภาพแข็งแรง และเดินทางด้วยความปลอดภัยกันถ้วนทั่วด้วยนะครับ

 

ขอบพระคุณที่ติดตามอ่านครับ

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

วันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 193 : ป้ายทะเบียนรถมีปัญหา?

 

(ตอนที่สอง)

 

ตามหลักกฎหมายต่างประเทศซึ่งมีผลใช้บังคับเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทเรื่องนี้บัญญัติว่า รถที่นำมาใช้บนท้องถนนจะต้องจดทะเบียน และติดแผ่นป้ายทะเบียนให้ถูกต้องตามประเภท และเฉพาะกับรถคันนั้นเท่านั้น ขณะที่ป้ายทะเบียนรถยนต์ชั่วคราวที่มีไว้เพื่อขาย สำหรับตัวแทนจำหน่าย (หรือบ้านเรารู้จักในชื่อป้ายแดง) สามารถนำไปติดกับรถจำพวกเช่นว่านั้นหลายคันก็ได้ เช่นเดียวกับเรื่องการจัดทำประกันภัยก็จะต้องกระทำให้ถูกต้องตามประเภท และตามทะเบียนของรถเหล่านั้นด้วยถึงจะได้รับความคุ้มครอง

 

อนึ่ง กฎหมายที่เกี่ยวข้องยังบัญญัติเพิ่มเติมอีกว่า “ห้ามมิให้บุคคลติดแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ชั่วคราวที่มีไว้เพื่อขาย สำหรับตัวแทนจำหน่าย (Dealer’s Plate) กับรถยนต์คันใด นอกเหนือจากเป็นรถยนต์คันที่

 

(ก) เพื่อรอการขายโดยตัวแทนจำหน่าย หรือ

(ข) ใช้เพื่อส่งเสริมการขายโดยตัวแทนจำหน่าย หรือ

(ค) อยู่ในการดูแลรักษา และการควบคุมของตัวแทนจำหน่าย เพื่อทำการทดสอบ หรือการให้บริการ หรือเพื่อนำรถยนต์คันนั้นจากที่แห่งหนึ่งไปสู่ที่อีกแห่งหนึ่ง โดยมีจุดประสงค์เกี่ยวข้องกับการทดสอบ หรือการให้บริการนั้นเอง

 

หากโจทก์สามารถพิสูจน์ให้ศาลรับฟังได้ตามหลักเกณฑ์ข้อใดข้อหนึ่ง หรือหลายข้อดังกล่าว จะถือได้ว่า รถยนต์คันนั้นได้ทำประกันภัยไว้อย่างถูกต้องอันจะส่งผลทำให้มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง

 

ฉะนั้น ประเด็นแรก ป้ายทะเบียนรถได้ถูกติดอย่างถูกต้อง อันจะส่งผลทำให้บริษัทประกันภัยจำเลยควรให้ความคุ้มครองหรือไม่?

 

ศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานต่าง ๆ ของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว มีความเห็น ดังนี้

 

(ก) เป็นรถยนต์คันที่รอการขายโดยตัวแทนจำหน่ายหรือเปล่า?

 

อันที่จริงแล้ว ผู้ใช้รถทั้งสองรายซึ่งเป็นโจทก์ร่วมนำคดีขึ้นสู่ศาลนั้น มีความสัมพันธ์เป็นสามีภรรยากัน โดยสามีเป็นตัวแทนจำหน่ายรถ (โจทก์ที่ 1) และได้ขายต่อให้ภรรยา (โจทก์ที่ 2) แต่ภายหลังได้มีการเปลี่ยนใจ ภรรยาจึงได้นำฝากให้สามีช่วยขายให้อีกทอดหนึ่ง ในลักษณะการขายฝาก

 

ณ วันที่เกิดเหตุ สามีได้ขับรถคันดังกล่าวพาภรรยากับลูกไปยังฟาร์มที่เกิดเหตุ เพื่อร่วมงานสังสรรค์ระหว่างญาติพี่น้อง ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณสองชั่วโมงครึ่ง และสุดท้าย โจทก์ร่วมยอมรับว่า เป็นการใช้รถยนต์คันนั้นด้วยจุดประสงค์ส่วนตัว มิใช่ในฐานะตัวแทนจำหน่าย ถึงแม้นจะมีความตั้งใจที่จะขายรถยนต์คันนั้นออกไปก็ตามก่อนหน้าวันที่เกิดเหตุ

 

ฉะนั้น แผ่นป้ายทะเบียนชั่วคราว เพื่อรอการขายนั้น จึงไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงที่ควรจะเป็น ณ วันที่เกิดเหตุ

 

(ข) ใช้เพื่อส่งเสริมการขายโดยตัวแทนจำหน่ายหรือเปล่า?

  

ก่อนหน้าวันที่เกิดเหตุ สามีได้รถพ่วงหนึ่งคัน และได้ขับรถบรรทุกคันพิพาทลากรถพ่วงคันนั้นไปจอดทิ้งไว้ที่ฟาร์มที่เกิดเหตุ โดยแจ้งประกาศขายตัวรถพ่วงคันนั้นไว้ทางออนไลน์ด้วย

 

การที่ขับรถบรรทุกคันพิพาทไปสู่ฟาร์มนั้น ณ วันที่เกิดเหตุ มีอีกจุดประสงค์ก็คือ เพื่อลากรถพ่วงคันนั้นกลับมา เนื่องด้วยมีผู้สนใจจะซื้อ ซึ่งศาลเชื่อ และรับฟังได้ว่า รถบรรทุกคันพิพาทนั้นเข้าหลักเกณฑ์เป็นการใช้งานเพื่อส่งเสริมการขาย แม้นจะเป็นการส่งเสริมการขายรถพ่วง มิใช่การขายรถบรรทุกคันพิพาทก็ตาม เพราะข้อกฎหมายดังกล่าวได้เขียนลอย ๆ ว่า เพื่อส่งเสริมการขาย จึงต้องแปลความหมายอย่างกว้าง ไม่จำกัดเพียงเฉพาะการส่งเสริมการขายของรถยนต์คันที่ติดแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ชั่วคราวที่มีไว้เพื่อขายเท่านั้น

 

กรณีข้อนี้จึงเป็นการติดแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่ถูกต้องแล้ว ณ วันที่เกิดเหตุ

 

(ค) อยู่ในการดูแลรักษา และการควบคุมของตัวแทนจำหน่าย เพื่อทำการทดสอบ หรือการให้บริการ หรือเพื่อนำรถยนต์คันนั้นจากที่แห่งหนึ่งไปสู่ที่อีกแห่งหนึ่ง โดยมีจุดประสงค์เกี่ยวข้องกับการทดสอบ หรือการให้บริการนั้นเองหรือเปล่า?

 

สามีกล่าวอ้างเพิ่มเติมด้วยว่า ได้ขับรถบรรทุกคันพิพาทไปสู่ฟาร์มนั้น ณ วันที่เกิดเหตุ เพื่อทำการเปลี่ยนลูกหมากคันชัก (tie rod end) ซึ่งชำรุด มิฉะนั้นจะเป็นปัญหาไม่ผ่านการตรวจรับรองความปลอดภัยตามกฎหมาย

 

คำกล่าวอ้างนี้ไม่มีเหตุผลรองรับเพียงพอ เพราะจะไปซ่อมที่แห่งใดก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องเสียเวลาเดินทางนับหลายชั่วโมง เพียงเพื่อจะไปเปลี่ยนอะไหล่นั้น ณ ฟาร์มที่เกิดเหตุ ศาลจึงเชื่อว่า เป็นการขับขี่ไปเพื่อจุดประสงค์ส่วนตัวมากกว่า ด้วยเหตุนี้ กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อนี้

 

ดังนั้น กรณีอุบัติที่เกิดขึ้นของคดีนี้เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าวตามกฎหมายเพียงข้อเดียวเท่านั้น คือ เพื่อส่งเสริมการขาย อันส่งผลทำให้ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท

 

ประเด็นที่สอง ถ้าจะคุ้มครอง ควรคุ้มครองเป็นจำนวนเงินเท่าใด?

 

สามีโจทก์ที่หนึ่ง แรกเริ่มได้ทำการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนต่อบริษัทประกันภัยจำเลยเพียงลำพัง ทั้งที่ตนไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ในรถบรรทุกคันพิพาทอีกต่อไปแล้ว มีสถานะเป็นเพียงผู้รับฝากขายเท่านั้น ณ เวลาที่เกิดเหตุ เพราะตนได้ขายไปให้แก่ภรรยาโจทก์ที่สองไปแล้ว แต่ต่อมา ได้มีการระบุชื่อภรรยาเจ้าของกรรมสิทธิ์ตัวจริงเพิ่มเติมเข้ามา

 

ฉะนั้น ผู้มีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจะมีเพียงภรรยาโจทก์ที่สองเท่านั้น ซึ่งจะได้รับชดใช้ตามมูลค่าความเสียหายที่แท้จริง คำนวณออกมาได้ 25,000 ดอลลาร์แคนาดา เมื่อหักค่าเสียหายส่วนแรก 200 ดอลลาร์แคนาดากับค่าซากทรัพย์ 450 ดอลลาร์แคนาดาออกไปแล้ว จะคงเหลือค่าสินไหมทดแทนที่จะต้องชดใช้ให้ทั้งสิ้น 24,350 ดอลลาร์แคนาดา

 

ส่วนค่าเสียหายอื่น ๆ เป็นต้นว่า ค่าสูญเสียกำไรจากการขาย 6,550 ดอลลาร์แคนาดา ค่าสูญเสียรายได้ 32,095 ดอลลาร์แคนาดา และค่าลากรถ 5,140 ดอลลาร์แคนาดานั้น จะไม่ได้รับความคุ้มครอง อีกทั้งความเป็นจริง ค่าเสียหายเหล่านี้เกิดขึ้นแก่ตัวสามีโจทก์ที่หนึ่งมากกว่า

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี William Frank Ralph O/A Motorwerks et al. v. The Manitoba Public Insurance Corporation, 2023 MBKB 116)

 

ข้อสังเกต

 

คุณคิดว่า ประเด็นลักษณะเช่นว่านี้ จะมีโอกาสบังเกิดขึ้นที่บ้านเราได้บ้างหรือเปล่าครับ?

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 193 : ป้ายทะเบียนรถมีปัญหา?

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

ถ้ามีคำถามว่า รถคันที่ทำประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ ประเภทหนึ่งเสียหายจากลมพายุ จะได้รับความคุ้มครองหรือไม่?

 

เชื่อว่า ร้อยทั้งร้อยคน จะตอบด้วยความมั่นใจว่า คุ้มครอง เพราะอุบัติเหตุจากภัยธรรมชาตินั้นไม่ได้ถูกเขียนยกเว้นเอาไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ฉบับดังกล่าว

 

คงต้องขอบอกว่า อย่าเพิ่งมั่นใจถึงขนาดนั้นเลย

 

คุณจะเชื่อไหมครับ ถ้าผมจะบอกว่า ป้ายทะเบียนรถอาจส่งผลทำให้ไม่ได้รับความคุ้มครองได้?

 

มันเป็นไปได้อย่างไร? หลายท่านอาจจะนึกฉงนใจ?

 

งั้นเรามาลองติดตามตัวอย่างคดีศึกษาจากต่างประเทศเรื่องนี้กัน

 

ก่อนอื่น เราควรมาทำความเข้าใจถึงความสำคัญของป้ายทะเบียนรถกันนะครับ

 

ตามหลักกฎหมายสากลจะมีการควบคุมรถที่นำออกไปวิ่งบนท้องถนน ด้วยการบังคับให้รถทุกคันจะต้องจดทะเบียนพร้อมกับปิดแผ่นป้ายทะเบียนให้ถูกต้อง มิฉะนั้นจะมีความผิดต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย

 

เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ของบ้านเราซึ่งได้บัญญัติไว้ใน

มาตรา 6 ว่า

 

ห้ามมิให้ผู้ใดใช้รถ ดังต่อไปนี้

 

(1) รถที่ยังมิได้จดทะเบียน

(2) รถที่ถูกเพิกถอนการจดทะเบียน

(3) รถที่ยังมิได้เสียภาษีประจำปี

(4) รถที่แจ้งการไม่ใช้รถ

(5) รถที่ทะเบียนระงับ

 

เวลาผู้ใดซื้อรถยนต์คันใหม่ แน่นอนว่า จะยังไม่สามารถขอรับแผ่นป้ายทะเบียนตัวจริงได้ทันที จำต้องรอระยะเวลาช่วงหนึ่ง ฉะนั้น เพื่อปกป้องการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้รถคันใหม่นั้นเอง กรมการขนส่งทางบกจึงได้อนุโลมให้มีการออกป้ายทะเบียนชั่วคราว ซึ่งจะรู้จักทั่วไปในชื่อ “ป้ายแดง (Red Plate)” หรือภาษากฎหมายเรียกว่า “เครื่องหมายพิเศษที่มีไว้เพื่อขาย (Dealer’s Plate)” มอบให้ผ่านทางตัวแทนจำหน่ายรถ เพื่อส่งต่อให้แก่ผู้ซื้อรถใหม่ไปติดใช้งานเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกิน 30 วันนับจากวันที่รับรถคันนั้น โดยมีข้อจำกัดเพิ่มเติมเรื่องข้อห้ามมิให้ใช้รถในเวลากลางคืนกับข้อห้ามมิให้ใช้ข้ามจังหวัดกำกับไว้อยู่ด้วยตามความในมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ประกอบกับระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับทะเบียนและภาษีรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ.  2562 หมวดที่ 9 การออกใบอนุญาตขับรถยนต์ หรือให้ผู้อื่นขับรถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม พร้อมทั้งการออกเครื่องหมายพิเศษ และสมุดคู่มือประจำรถใช้กับเครื่องหมายพิเศษ

 

เรื่องราวของตัวอย่างคดีศึกษานี้ก็เป็นประเด็นเกี่ยวกับป้ายแดง หรือป้ายทะเบียนรถยนต์ชั่วคราวที่มีไว้เพื่อขาย สำหรับตัวแทนจำหน่าย (Dealer’s Plate) ซึ่งถูกติดอยู่กับรถบรรทุกคันที่เอาประกันภัย ณ เวลาถูกลมพายุพัดจนพังเสียหายโดยสิ้นเชิง โดยบริษัทประกันภัยผู้ให้ความคุ้มครองได้ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบอีกว่า ผู้ใช้รถคันที่เกิดเหตุ (ผู้ใช้รถรายที่ 1) ประกอบกิจการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 ต่อมาประมาณกลางปี ค.ศ. 2017 ได้มีญาติ (ผู้ใช้รถรายที่ 2) มาซื้อรถบรรทุกคันดังกล่าว โดยมีการลงบันทึกการซื้อขายเอาไว้เป็นหลักฐาน แต่ก็มิได้บังเกิดการซื้อขายอย่างแท้จริงขึ้นมา เพราะรถบรรทุกคันนั้นยังคงอยู่ในการครอบครองของทั้งคู่ต่างสลับกันใช้งานขับขี่รถบรรทุกคันนั้น

 

ครั้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 2018 ผู้ใช้รถรายที่ 1 ได้ขับรถบรรทุกคันนั้นไปที่ฟาร์มของผู้ใช้รถรายที่ 2 เพื่อร่วมงานสังสรรค์ระหว่างญาติพี่น้อง

 

โชคร้าย วันนั้นได้เกิดพายุทอร์นาโดพัดผ่านมาสร้างความเสียหายอย่างกว้างขวาง รวมถึงความเสียหายโดยสิ้นเชิงแก่รถบรรทุกคันนั้นด้วย

 

ผู้ใช้รถรายที่ 1 ซึ่งได้เอาประกันภัยรถยนต์คันนั้นอยู่ จึงไปเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยรถยนต์ของตนมารับผิดชอบ แต่กลับได้รับการปฏิเสธ โดยอ้างว่า รถบรรทุกคันที่เสียหายนั้นยังคงติดป้ายทะเบียนรถยนต์ชั่วคราวที่มีไว้เพื่อขาย สำหรับตัวแทนจำหน่ายอยู่เลย

 

ผู้ใช้รถทั้งสองรายจึงเป็นโจทก์นำคดีขึ้นสู่ศาล โดยมีประเด็นข้อพิพาทสองประเด็น กล่าวคือ

 

1) ป้ายทะเบียนรถได้ถูกติดอย่างถูกต้อง อันจะส่งผลทำให้บริษัทประกันภัยจำเลยควรให้ความคุ้มครองหรือไม่?

 

2) ถ้าจะคุ้มครอง ควรคุ้มครองเป็นจำนวนเงินเท่าใด?

 

ตอนหน้า เรามาพิจารณาดูผลทางคดีของเรื่องนี้กันนะครับ

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

วันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 192 : ผู้รับประโยชน์ฆ่าผู้เอาประกันภัย ผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยควรจะไปอยู่ที่ไหน?

 

(ตอนที่ห้า)

 

จากตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศสามกรณี พอสรุปได้ว่า

 

(1) ถ้ามีกฎหมายบัญญัติไว้อย่างชัดแจ้ง ให้พิจารณาไปตามนั้น

 

(2) ถ้ามีข้อกำหนดกับเงื่อนไขปรากฏอยู่ชัดแจ้งในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท ก็ให้พิจารณาไปตามนั้น

 

(3) อย่างไรก็ดี พึงระลึกเสมอว่า สัญญาประกันภัย หรือสัญญาประกันชีวิตเป็นสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งฝ่ายผู้เอาประกันภัย/ผู้เอาประกันชีวิตมีหน้าที่ชำระเบี้ยประกันภัย/เบี้ยประกันชีวิต ขณะที่ฝ่ายบริษัทประกันภัย/บริษัทประกันชีวิตมีภาระผูกพันจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน/จำนวนเงินตามที่ตกลงให้

 

การกระทำผิดหลักกฎหมาย หรือข้อกำหนดกับเงื่อนไขของฝ่ายผู้เอาประกันภัย/ผู้เอาประกันชีวิตอาจส่งผลทำให้ตนเองเสียสิทธิ (forfeit) ที่จะได้รับชดใช้นั้นไป แต่มิได้หมายความว่า จะทำให้ฝ่ายบริษัทประกันภัย/บริษัทประกันชีวิตไม่จำต้องปฏิบัติตามภาระผูกพันเช่นว่านั้นได้ คงยังต้องชดใช้ให้แก่ผู้มีสิทธิอื่น ๆ ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์ต่อไปดังเดิมตามข้อผูกพันของสัญญาประกันภัย หรือสัญญาประกันชีวิตดังกล่าว

 

เสียดายที่ค้นไม่พบตัวอย่างคดีศึกษาประเด็นการกระทำผิดของผู้รับประโยชน์ต่อผู้เอาประกันภัย/ผู้เอาประกันชีวิตโดยตรงดั่งเช่นของต่างประเทศ มีแต่แนวคดีใกล้เคียง หรืออาศัยการตีความส่วนตัวมาปรับใช้เท่านั้น

 

ย้อนกลับไปดูหลักกฎหมายในบทความตอนแรกของหมวดที่ 3 ว่าด้วยประกันชีวิตแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้

 

มาตรา 895 เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด ท่านว่า ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้น ในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่

 

(1) บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตวินิบาตด้วยใจสมัคร ภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา หรือ

(2) บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

 

ในกรณีที่ 2 นี้ ท่านว่า ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น

 

สังเกตเห็นว่า ในข้อที่ (2) ข้างต้น ผู้รับประโยชน์นั้นไม่ได้ถึงขนาดสูญเสียสิทธิของตนเองตามสัญญาประกันชีวิตโดยสิ้นเชิง ทายาทของบุคคลนั้นยังสามารถได้รับเงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันชีวิตคืนอยู่ดี กรณีมีทายาทของผู้เอาประกันชีวิตรายนั้นอยู่หลายคน ได้มีการตีความว่า ทายาทผู้บริสุทธิ์รายอื่นควรได้รับชดใช้เงินตามส่วนจากสัญญาประกันชีวิตนั้นอยู่เช่นเดิม

 

ส่วนกรณีสัญญาประกันภัย/สัญญาประกันชีวิตลักษณะอื่นล่ะ ก็สามารถนำหลักกฎหมายเรื่องมรดกมาปรับใช้ได้ ถึงแม้อันที่จริงผลประโยชน์ตามสัญญาประกันภัย/สัญญาประกันชีวิตนั้นจะได้มาหลังจากเจ้ามรดกตายแล้วก็ตาม  

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4239/2558

ป.พ.พ. มาตรา 1470 ที่กำหนดให้ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาประกอบด้วยสินส่วนตัวและสินสมรสนั้น หมายถึงทรัพย์สินที่สามีภริยามีอยู่ในขณะที่เป็นสามีภริยากัน การที่ผู้ตายถึงแก่ความตายย่อมทำให้การสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 2 สิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1501 สิทธิที่จะได้รับเงินประกันชีวิตนั้น เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากความมรณะของผู้ตาย อันมีลักษณะเป็นการประกันชีวิต และเป็นเงินที่เกิดจากสัญญาระหว่างผู้ตายกับบุคคลภายนอก ซึ่งได้รับมาหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงไม่เป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 2 ประกอบกับตามตารางกรมธรรม์ มิได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้ว่า ให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตน หรือแก่ผู้ใด จึงไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้โดยตรง และต้องนำ ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง มาใช้บังคับ คืออาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ได้แก่ มาตรา 897 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ถ้าผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยไว้โดยกำหนดว่า เมื่อตนถึงซึ่งความมรณะให้ใช้เงินแก่ทายาททั้งหลายของตน โดยมิได้เจาะจงระบุชื่อผู้หนึ่งผู้ใดไว้ไซร้ จำนวนเงินอันจะพึงใช้นั้น ท่านให้ฟังเอาเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกของผู้เอาประกันภัย ซึ่งเจ้าหนี้จะเอาใช้หนี้ได้" ดังนั้น เงินประกันชีวิตดังกล่าวจึงต้องแบ่งให้แก่ทายาทของผู้ตายในฐานะสินทรัพย์ส่วนหนึ่งแห่งกองมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1), 1630 วรรคสอง และ 1635 (1) โดยโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาผู้ตาย กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาผู้ตายต่างได้รับส่วนแบ่งคนละส่วนเท่า ๆ กันและเท่ากับโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 1 และเด็กชาย ศ. ซึ่งเป็นทายาทชั้นบุตร

(สืบค้นมาจาก http://deka.supremecourt.or.th/search ด้วยความขอบพระคุณยิ่ง)

 

อนึ่ง มีบทบัญญัติเขียนถึงการถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตายไว้ด้วย ดังนี้

 

มาตรา 1606 บุคคลดังต่อไปนี้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร คือ

 

(1) ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำ หรือพยายามกระทำให้เจ้ามรดก หรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

 

(2) ผู้ที่ได้ฟ้องเจ้ามรดกหาว่าทำความผิดโทษประหารชีวิต และตนเองกลับต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่า มีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ

 

(3) ผู้ที่รู้แล้วว่า เจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา แต่มิได้นำข้อความนั้นขึ้นร้องเรียนเพื่อเป็นทางที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ข้อนี้มิให้ใช้บังคับถ้าบุคคลนั้นมีอายุยังไม่ครบสิบหกปีบริบูรณ์ หรือเป็นคนวิกลจริตไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือถ้าผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามีภริยา หรือผู้บุพการี หรือผู้สืบสันดานของตนโดยตรง

 

(4) ผู้ที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำ หรือเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วน หรือทั้งหมดซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก หรือไม่ให้กระทำการดังกล่าวนั้น

 

(5) ผู้ที่ปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วน หรือทั้งหมด

 

เจ้ามรดกอาจถอนข้อกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควรเสียก็ได้ โดยให้อภัยไว้เป็นลายลักษณ์อักษร

 

มาตรา 1607 การถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้นเป็นการเฉพาะตัว ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดสืบมรดกต่อไปเหมือนหนึ่งว่า ทายาทนั้นตายแล้ว แต่ในส่วนทรัพย์สินซึ่งผู้สืบสันดานได้รับมรดกมาเช่นนี้ ทายาทที่ว่านั้นไม่มีสิทธิที่จะจัดการ และใช้ดังที่ระบุไว้ในบรรพ 5 ลักษณะ 2 หมวด 3 แห่งประมวลกฎหมายนี้ ในกรณีเช่นนั้นให้ใช้มาตรา 1548 บังคับโดยอนุโลม

 

ฉะนั้น การวิเคราะห์คำถามของบทความตอนที่หนึ่ง

 

โจทย์

 

ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (Personal Accident Insurance Policy) ฉบับหนึ่ง ซึ่งกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยอยู่ที่ 900,000 บาท

 

ผู้เอาประกันภัยได้ระบุในช่องผู้รับประโยชน์ว่า “ทายาทตามกฎหมาย” ให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว ซึ่งผู้เอาประกันภัยรายนี้มีลูกอยู่สามคน ส่วนสามีได้เสียชีวิตไปนานแล้ว

 

ต่อมาปรากฏว่า ผู้เอาประกันภัยได้ถูกลูกคนหนึ่งของตนฆ่าตาย

 

คำถาม

 

1) บริษัทประกันภัยผู้ให้ความคุ้มครองปฏิเสธไม่ต้องจ่ายผลประโยชน์การเสียชีวิตทั้งหมดได้หรือไม่?

 

2) ถ้าจำต้องจ่ายให้แก่ทายาทที่สุจริตอีกสองคนที่เหลือ ควรจะจ่ายเท่าไหร่?

 

แนวคำตอบ

 

1) บริษัทประกันภัยผู้ให้ความคุ้มครองปฏิเสธไม่รับผิดไม่ได้

 

2) ถ้าจำต้องจ่ายให้แก่ทายาทที่สุจริตอีกสองคนที่เหลือ ควรจะจ่ายเท่าไหร่?

 

2.1) ถ้ามีทายาทที่สุจริตเหลืออยู่เพียงสองคนเท่านั้น ไม่ปรากฏทายาทอื่นใดอีก ก็ต้องจ่ายเงินตามทุนประกันภัยทั้งหมด 600,000 บาท ให้แก่ทายาททั้งสองคนนั้นไปจัดแบ่งกันเท่ากัน ๆ

 

2.1) ถ้าทายาทผู้ถูกกำจัดมีทายาทของตนอยู่ ก็ให้ทายาทของผู้นั้นได้รับชดใช้ตามส่วนหนึ่งในสาม เสมือนหนึ่งทายาทผู้นั้นได้ตายแล้วตามมาตรา 1607 ข้างต้น

 

นี่คือ มุมมองส่วนตัวของผม เพราะเคยอ่านเจอผู้รู้บางท่านอาจตีความแตกต่างออกไปได้ครับ

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

วันอังคารที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 192 : ผู้รับประโยชน์ฆ่าผู้เอาประกันภัย ผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยควรจะไปอยู่ที่ไหน?

 

(ตอนที่สี่)

 

บางท่านอาจติดใจสงสัย ทำไมหยิบยกตัวอย่างคดีศึกษาเก่าจัง? ไม่มีของใหม่บ้างเลยหรือ?

 

อันที่จริง คดีแนวนี้มีมาตลอดตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน และอาศัยการอ้างอิงแนวคดีต้นแบบทั้งสองอยู่บ่อยครั้งกระทั่งในทุกวันนี้ 

 

ตอนนี้ เรามาพิจารณาตัวอย่างคดีศึกษายุคปัจจุบันกันบ้าง ซึ่งมาจากประเทศแคนาดาที่รับองค์ความรู้หลากหลายจากทั้งสองฝากฝั่งโลกประกันภัย

 

ตัวอย่างคดีศึกษาเรื่องที่สาม

 

สามีภรรยาคู่หนึ่งได้ซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลาห้าปีร่วมกันหนึ่งฉบับกลางปี ค.ศ. 1980 โดยกำหนดทุนประกันชีวิตไว้ที่ 200,000 ดอลลาร์แคนาดา (หรือประมาณห้าล้านกว่าบาท) ระบุผู้รับประโยชน์เป็นคู่สมรสผู้คงยังมีชีวิตอยู่ และมีเบี้ยประกันชีวิตคงที่ต้องชำระทุกปี ๆ ละ 712 ดอลลาร์แคนาดา (หรือประมาณหมื่นแปดพันกว่าบาท) นอกจากนี้ ยังมีการขยายความคุ้มครองสองเท่าเพิ่มเติมในส่วนของอุบัติเหตุอีกด้วย

 

ถัดมาอีกสองปีกับสองเดือน สามีฆ่าภรรยาตาย ต่อมาพบว่า ภรรยานั้นได้ทำพินัยกรรมระบุให้สามีเป็นผู้จัดการมรดก และเป็นผู้รับประโยชน์ลำดับแรก (prime beneficiary) ในกองมรดกของตนเอง เวลาเมื่อตนได้เสียชีวิตลงแล้ว พร้อมกับยังได้กำหนดผู้จัดการมรดกทางเลือก (alternate executor) เพิ่มอีกหนึ่งคนเป็นลำดับที่สอง

 

สามีรายนี้ได้ยื่นเรียกร้องเงินผลประโยชน์ทั้งในส่วนความคุ้มครองของการประกันชีวิต และการประกันภัยอุบัติเหตุต่อบริษัทประกันชีวิตแห่งนั้น มิใช่ในฐานะส่วนตัว แต่เป็นในฐานะของผู้จัดการมรดกตามพินัยของภรรยาผู้เสียชีวิต ครั้นเมื่อสามีรายนี้ต้องคำพิพากษาลงโทษฐานฆาตกรรมภรรยาของตน สิทธิในการเรียกร้องดังกล่าวจึงถูกโอนมายังผู้จัดการมรดกทางเลือก

 

คดีนี้ได้ถูกนำขึ้นสู่ศาล โดยมีคู่ความ คือ บริษัทประกันชีวิตแห่งนั้นกับผู้จัดการมรดกทางเลือก ซึ่งมีประเด็นที่ศาลจะต้องพิจารณาหลัก ๆ อยู่สองประเด็น กล่าวคือ

 

1) กรมธรรม์ประกันชีวิตซึ่งประกอบด้วยผู้เอาประกันชีวิตสองคนร่วมกัน โดยระบุให้ผู้เอาประกันชีวิตอีกรายที่คงรอดชีวิตอยู่เป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับนั้น หากสามี (ผู้เอาประกันชีวิตร่วมฝ่ายหนึ่ง) ฆ่าภรรยา (ผู้เอาประกันชีวิตร่วมอีกฝ่ายหนึ่ง) ตาย จะส่งผลทำให้บริษัทประกันชีวิตแห่งนั้นปฏิเสธความรับผิดได้หรือไม่?

 

2) ถ้าไม่ได้ และจำต้องชดใช้ แล้วผลประโยชน์ความคุ้มครองสองเท่า ในส่วนอุบัติเหตุคงยังใช้บังคับแก่การฆาตกรรมนี้ได้หรือเปล่า?

 

ศาลชั้นต้นตัดสินว่า

 

1) บริษัทประกันชีวิตแห่งนั้นไม่สามารถหยิบยกหลักกฎหมายว่าด้วยการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมาใช้ปฏิเสธความรับผิดได้ เนื่องด้วยตัวภรรยาผู้เสียชีวิตเองเป็นผู้เอาประกันชีวิตร่วมอยู่ด้วย ดังนั้น ตัวภรรยาผู้เสียชีวิตเอง (หรือผู้จัดการมรดก) จึงถือว่า มีส่วนได้เสีย และมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับพิพาท

 

2) ตามหลักการทั่วไป สำหรับการฆาตกรรมจะพิจารณาจากมุมมองของผู้ถูกฆาตกรรมเป็นสำคัญว่า ตนไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้ตนเองต้องเสียชีวิต กรณีจึงจัดเป็นอุบัติเหตุอันจะได้รับความคุ้มครองด้วยเช่นเดียวกัน

 

ครั้นเมื่อคดีถูกนำขึ้นสู่ศาลชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาแจกแจงในรายละเอียด ดังนี้

 

ก) การตีความกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับพิพาท

 

ข้อยกเว้นในส่วนความคุ้มครองประกันชีวิตระบุเพียงไม่คุ้มครองการฆ่าตัวตายของผู้เอาประกันชีวิต (ไม่ว่าโดยมีสติ หรือขาดสติก็ตาม) หากเกิดขึ้นในช่วงเวลาสองปีนับแต่วันที่เริ่มคุ้มครอง หรือวันที่ต่ออายุ แล้วแต่กรณี โดยบริษัทประกันชีวิตแห่งนั้นจะจ่ายเบี้ยประกันชีวิตที่ได้ชำระไปแล้วกลับคืนมาให้

 

โดยไม่ได้เอ่ยถึงการฆาตกรรมระหว่างผู้เอาประกันชีวิตด้วยกันเลย

 

ขณะที่ส่วนความคุ้มครองสองเท่าเนื่องจากอุบัติเหตุ ไม่คุ้มครองรวมถึง

 

…………….

 

(ข) การกระทำ การพยายามกระทำ หรือการยั่วยุให้มีการทำร้ายร่างกาย หรือความผิดทางอาชญากรรม

 

(ค) การแข็งข้อ ภัยสงคราม หรือการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์ทุกชนิด หรือทุกการกระทำ ไม่ว่าผู้เอาประกันชีวิตจะเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงหรือไม่ก็ตาม

(ง) การเข้าร่วมในการจลาจล หรือการก่อความไม่สงบของประชาชน

 

เมื่อพิจารณาจากมุมมองของผู้เอาประกันชีวิตทั้งสองคน การซื้อประกันชีวิตเพื่อให้ได้รับความคุ้มครอง หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งต้องจากไประหว่างระยะเวลาประกันภัย โดยยินยอมชำระเบี้ยประกันชีวิตตามที่กำหนดให้เป็นประจำทุกปี

 

ส่วนมุมมองของบริษัทประกันชีวิตแห่งนั้น ตนได้รับชำระเบี้ยประกันชีวิตเป็นการต่างตอบแทน สำหรับความคุ้มครองดังกล่าว ซึ่งเบี้ยประกันชีวิตจำนวนนั้นได้ถูกคำนวณตามสถิติอัตราการเสียชีวิตไว้ล่วงหน้า โดยประเมินจากทุกสาเหตุการตายที่ให้ความคุ้มครอง ซึ่งรวมถึงการฆาตกรรมระหว่างผู้เอาประกันชีวิตด้วยกันเอง เพราะมิได้ถูกยกเว้นไว้ โดยนักคณิตศาสตร์ประกันชีวิตของบริษัทประกันชีวิตแห่งนั้นเอง

 

อนึ่ง เป็นที่เห็นอย่างชัดเจนว่า กรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับพิพาทมีความไม่ชัดเจน เพราะมิได้เขียนถึงกรณีการฆาตกรรมระหว่างผู้เอาประกันชีวิตด้วยกันเลย ทั้งที่บริษัทประกันชีวิตแห่งนั้นเป็นผู้ร่างกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับพิพาทขึ้นมาเองแต่ฝ่ายเดียว โดยฝ่ายผู้เอาประกันชีวิตจำต้องยอมรับตามนั้นอย่างไม่มีทางเลือกเป็นอื่น ฉะนั้น ตามหลักการตีความจึงต้องยกประโยชน์แห่งความไม่ชัดเจนนั้นให้แก่ฝ่ายผู้เอาประกันชีวิต

 

นอกจากนี้ ไม่ว่าจะพิจารณาจากความประสงค์ หรือความมุ่งหวังอันสมควร ในการทำประกันชีวิตนี้ของฝ่ายผู้เอาประกันชีวิต ผลลัพธ์ก็คงไม่แตกต่างกัน กล่าวคือ หากผู้เอาประกันชีวิตร่วมฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตลงตามความคุ้มครอง ในที่นี้ คือ ภรรยา บริษัทประกันชีวิตแห่งนั้นมีหน้าที่จะต้องชดใช้เงินผลประโยชน์ตามข้อตกลง ให้แก่ผู้เอาประกันชีวิตร่วมอีกฝ่ายหนึ่ง ในที่นี้ คือ สามี โดยยังไม่นำหลักกฎหมายว่าด้วยการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมาพิจารณาประกอบ

 

อย่างไรก็ดี แม้จะหยิบยกหลักกฎหมายว่าด้วยการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมาพิจารณาก็ตาม มิได้หมายความว่า จะให้บริษัทประกันชีวิตแห่งนั้นใช้อาศัยเป็นข้ออ้างที่จะหลีกเลี่ยงไม่ทำหน้าที่ต่างตอบแทนของตนตามข้อตกลงของสัญญาประกันชีวิตฉบับพิพาทได้

 

บริษัทประกันชีวิตแห่งนั้นคงยังมีหน้าที่ต้องชดใช้อยู่เช่นเดิมแก่กองมรดก เนื่องด้วยตัวสามีผู้กระทำผิดได้ถูกเพิกถอนสิทธิที่จะได้รับชดใช้โดยหลักกฎหมายดังกล่าว นี่จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามความประสงค์ที่แท้จริงของคู่สัญญาประกันชีวิต

 

ข) แล้วใครคือผู้ควรมีสิทธิในการได้รับการชดใช้?

 

เมื่อตัวสามีผู้กระทำผิดได้ถูกเพิกถอนสิทธิที่จะได้รับชดใช้ แล้วกองมรดกของฝ่ายใดควรมีสิทธิได้รับชดใช้ระหว่าง

 

(1) กองมรดกของฝ่ายสามีผู้กระทำผิด/ผู้รับประโยชน์ที่คงมีชีวิตอยู่ หรือ

 

(2) กองมรดกของฝ่ายภรรยาผู้เสียชีวิตลง

 

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า สิทธิในการได้รับการชดใช้ควรตกแก่กองมรดกของฝ่ายภรรยาผู้เสียชีวิต

 

ค) ส่วนความคุ้มครองสองเท่าเนื่องจากอุบัติเหตุจะได้รับการชดใช้ด้วยหรือไม่?

 

ลำดับแรกที่จำต้องพิจารณา การเสียชีวิตของตัวภรรยาผู้เอาประกันชีวิตร่วมถือเป็นอุบัติเหตุตามเจตนารมณ์ของส่วนความคุ้มครองนี้หรือไม่?

 

ส่วนความคุ้มครองนี้เขียนว่า จะชดใช้ผลประโยชน์การเสียชีวิตของผู้เอาประกันชีวิต โดยอุบัติเหตุจากปัจจัยภายนอก (accidental means) อย่างรุนแรง และอย่างไม่เจตนา หรืออย่างไม่ได้มุ่งหวังของผู้เอาประกันชีวิต ซึ่งได้เกิดขึ้นโดยตรง และโดยอิสระจากสาเหตุอื่นทั้งหลาย

 

การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยโดยอ้างอิงถึงการตีความโดยอาศัยมุมมองของผู้ถูกฆาตกรรมตามแนวทางของคำพิพากษาอื่น ๆ เป็นเกณฑ์นั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องด้วยกรณีตามแนวทางเช่นว่านั้น เกิดจากการกระทำของบุคคลอื่น แต่ในคดีนี้ เป็นการฆาตกรรมผู้เอาประกันชีวิตร่วมฝ่ายหนึ่งด้วยเจตนาของผู้เอาประกันชีวิตร่วมอีกฝ่ายหนึ่ง จึงไม่อาจเรียกว่า เป็นอุบัติเหตุตามเจตนารมณ์ที่เขียนไว้ดังกล่าวได้ บริษัทประกันชีวิตแห่งนั้นจึงไม่จำต้องรับผิดชดใช้ส่วนความคุ้มครองนี้ให้แต่ประการใด

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Brissette Estate v. Westbury Life Insurance Co.,; Brissette Estate v. Crown Life Insurance Co., 1992 CanL II 32 (SCC), (1992) 3 S.C.R. 87)

 

ตอนหน้าจะเป็นแนวเทียบเคียงแนวคำพิพากษาศาลฎีกาไทยกับบทสรุปเรื่องนี้

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

วันอังคารที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 192 : ผู้รับประโยชน์ฆ่าผู้เอาประกันภัย ผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยควรจะไปอยู่ที่ไหน?

 

(ตอนที่สาม)

 

โลกแห่งประกันภัยสามารถแบ่งออกเป็นสองค่ายใหญ่ ๆ ได้แก่ ค่ายฝั่งยุโรปซึ่งเริ่มต้นมาก่อน โดยมีประเทศอังกฤษเป็นแกนสำคัญ และบ้านเราเองก็ได้อาศัยความรู้กับแนวปฏิบัติมาใช้ยึดถือเป็นต้นแบบ ส่วนค่ายที่สองทางฝั่งอเมริกาซึ่งแม้อาศัยต้นแบบจากฝั่งยุโรปมาเช่นกัน แต่ได้พยายามพัฒนาสร้างความแตกต่างจนเป็นเอกลักษณ์ของตนได้ในที่สุด

 

ฉะนั้น การศึกษาทำความเข้าใจอย่างกว้างขวางจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเรียนรู้ทั้งสองค่ายเป็นเกณฑ์ประกอบไปด้วย

 

ตัวอย่างคดีศึกษาเรื่องแรกที่ผ่านมาเป็นของทางฝั่งอเมริกา

 

ทีนี้ เราลองมาพิจารณาเทียบเคียงกับฝั่งยุโรปกันดูบ้างนะครับ

 

ตัวอย่างคดีศึกษาเรื่องที่สอง

 

คดีนี้ก็ย้อนกลับประมาณปี ค.ศ. 1892 ภรรยาได้วางยาพิษฆ่าสามีตนเองจนเสียชีวิต และได้ถูกตัดสินให้มีความผิดจากการกระทำดังกล่าว ต่อมา ภรรยารายนั้นได้ไปยื่นเรียกร้องเงินผลประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันชีวิตของสามีตนเองกับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง แต่ได้ถูกปฏิเสธโดยอ้างหลักกฎหมายว่าด้วยการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (public policy)

 

ตัวภรรยารายนั้นจึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อเรียกร้องให้บริษัทประกันชีวิตแห่งนั้นปฏิบัติตามภาระผูกพันของกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับพิพาท

 

ศาลชั้นต้นยกคำร้องดังกล่าว และมีคำสั่งให้เงินผลประโยชน์นั้นตกเป็นสิทธิแก่ทายาทตามกฎหมายรายอื่นต่อไป

 

ตัวภรรยารายนั้นอุทธรณ์คัดค้าน

 

ศาลอุทธรณ์มีมติเป็นเอกฉันท์ยืน โดยวินิจฉัยว่า เป็นการขัดต่อหลักกฎหมายว่าด้วยการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนที่จะยินยอมให้ผู้กระทำผิดสามารถเรียกร้องผลประโยชน์ใด ๆ จากการกระทำความผิดของตนได้

 

กระนั้นก็ตาม เงินผลประโยชน์ของกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับพิพาทนั้นเอง คงถือเป็นส่วนหนึ่งของกองมรดกของผู้ตาย ซึ่งบริษัทประกันชีวิตแห่งนั้นมีหน้าที่จะต้องจ่ายให้แก่ผู้จัดการมรดกซึ่งถือเป็นผู้กระทำการแทนเพื่อจัดสรรกองมรดกนั้นให้แก่ทายาทตามกฎหมายรายอื่นต่อไปอยู่ดี เนื่องด้วยสิทธิที่มีอยู่เดิมของตัวภรรยารายนั้นในฐานะผู้รับประโยชน์ของกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับพิพาทนั้น ได้ถูกเพิกถอนไปโดยผลของหลักกฎหมายดังกล่าว

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Cleaver v. Mutual Reserve Fund Life Association (1892) 1 QB 147, 156)

 

เหลือตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศอีกแค่หนึ่ง แล้วค่อยมาหยิบยกตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาบ้านเรามาเทียบเคียงเป็นแนวสรุปกันนะครับ

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/