นอกจากการใช้สัญญาณไฟเวลาขับรถแล้ว บางครั้ง
คนขับอาจให้สัญญาณมือแก่คนขับรถอีกคันหนึ่ง หรือกระทั่งคนเดินถนนก็เป็นได้
แล้วถ้าการกระทำเช่นนั้นส่งผลทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นมา คุณคิดว่า
คนขับที่ให้สัญญาณมือดังกล่าวจำต้องรับผิดโดยตรง หรือมีส่วนร่วมรับผิดด้วยหรือไม่?
และการกระทำเช่นนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากการใช้รถ หรือการใช้งานรถตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ใช่ไหม?
ถ้าใช่
บริษัทประกันภัยรถยนต์ที่ให้ความคุ้มครองจะต้องทำหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายหรือเปล่า?
เรามาดูตัวอย่างเหตุการณ์นี้กันครับว่า
เกิดอะไรขึ้น
ปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2011 แม่ลูกคู่หนึ่งเดินทางไปกับเพื่อนด้วยรถยนต์สองคัน
แม่ขับรถคันหนึ่งนำหน้าไปกับเพื่อน ส่วนลูกสาวขับรถอีกคันตามหลังไปเนื่องจากไม่คุ้นทาง
และได้เกิดหลุดทิ้งช่วงห่างกันไป โดยแม่ได้กลับรถไปอยู่อีกฝั่งหนึ่งของถนน
กลัวว่าลูกจะหลง จึงได้จอดรถติดเครื่องอยู่ริมทางเพื่อดักรอ
ซึ่งตัวแม่จำไม่ได้เหมือนกันว่า ตนเข้าเกียร์จอดไว้หรือเปล่า?
ครั้นเห็นรถลูกสาววิ่งผ่านมาอย่างช้า
ๆ ตนจึงลดกระจกลง แล้วโบกมือให้ลูกเห็นว่า ตนอยู่อีกฝั่งหนึ่งของถนน
พอลูกสาวเห็นดังนั้น ได้รีบเปลี่ยนเลนเพื่อจะเลี้ยวกลับรถ จึงเป็นเหตุให้รถมอเตอร์ไซต์ที่ตามหลังมาเบรคไม่ทัน
พุ่งชนท้ายรถของลูกสาว และทำให้ผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซต์เสียชีวิตคาที่
ฝั่งรถเก๋งทั้งสองคันทำประกันภัยรถยนต์ไว้กับบริษัทประกันภัยเจ้าที่หนึ่ง
ส่วนฝั่งรถมอเตอร์ไซต์ก็มีประกันภัยอยู่กับบริษัทประกันภัยเจ้าที่สอง และภายหลังจากที่ได้ชดใช้ให้แก่ทายาทของผู้เสียชีวิตไปแล้ว
บริษัทประกันภัยเจ้าที่สองได้รับช่วงสิทธิมาฟ้องไล่เบี้ยเอากับบริษัทประกันภัยเจ้าแรก
โดยกล่าวหาว่า
อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ขับขี่รถเก๋งทั้งสองคัน
ซึ่งความผิดของคนขับขี่รถเก๋งคันที่สองค่อนข้างชัดเจน แต่คนขับขี่รถเก๋งคันแรกยังมีข้อถกเถียงกันอยู่
ศาลชั้นต้นได้พิจารณาประเด็นข้อพิพาทคดีนี้ในส่วนของคนขับรถเก๋งคันแรก
แยกเป็นประเด็น ดังนี้
1) การโบกมือของคนขับรถเก๋งคันแรกเป็นเพียงแค่การบอกตำแหน่งของตน
หรือเป็นการให้สัญญาณมือว่า ปลอดภัยที่จะกลับรถได้
2) การกระทำในข้อแรกทั้งสองกรณีถือว่า
เกิดจากความประมาทเลินเล่อ และเป็นสาเหตุใกล้ชิดของอุบัติเหตุนี้หรือไม่?
3) การกระทำเช่นนั้น ถือว่าอยู่ในเงื่อนไขการใช้รถ
หรือการใช้งานรถ (Use or Operation of Vehicle) ตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์หรือไม่?
ผลจากการพิจารณา
ศาลชั้นต้นเชื่อว่า การโบกมือดังกล่าวเป็นการให้สัญญาณกลับรถได้
อันเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อจนทำให้เกิดอุบัติเหตุนี้ขึ้นมา คนขับรถคันแรกจึงต้องร่วมรับผิดกับคนขับรถคันที่สองในอัตราส่วนร้อยละยี่สิบ
บริษัทประกันภัยเจ้าแรกไม่ยอมรับผลการตัดสิน
ได้สู้คดีต่อจนถึงชั้นศาลสูง ซึ่งได้วิเคราะห์ว่า คำว่า “การใช้รถ” ศาลเองมีการตีความแตกต่างกันไป
แต่ส่วนใหญ่แล้ว ให้ความหมายกว้างกว่าการเพียงแค่ขับขี่รถ
โดยรวมไปถึงการกระทำการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย เป็นต้นว่า การขึ้น
หรือการลงจากรถ โดยที่อุบัติเหตุจากการใช้รถจะต้องเกิดขึ้นเนื่องจากการใช้รถโดยทั่วไปด้วย
กล่าวคือ มิใช่เพียงแค่รถคันนั้นมีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหายเท่านั้น
แต่ตัวรถเองจะต้องเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นมาโดยตรง
ส่วน “การใช้งานรถ” หมายถึง
การควบคุมการใช้งานรถให้เคลื่อนไหว หรือหยุดอยู่กับที่
โดยที่ทั้งการใช้รถ
หรือการใช้งานรถมีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นยานพาหนะในการเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม
ความเสียหายที่เกิดขึ้นบนรถ หรือใกล้กับรถก็มิได้หมายความว่า
จะต้องเกิดจากการใช้รถ หรือการใช้งานรถเสมอไป จำต้องพิจารณาข้อความจริงในแต่ละกรณีประกอบกับหลักเกณฑ์ที่ว่า
จะต้องเกิดขึ้นเนื่องจากการใช้รถโดยทั่วไป และตัวรถเองจะต้องเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเสียหายขึ้นมาโดยตรงด้วย
การใช้สัญญาณมือเวลาขับขี่รถอาจถือเป็นความประมาทเลินเล่อได้
ดังเช่น คนขับรถส่งนักเรียนยกมือให้สัญญาณเพื่อเตือนอย่าเพิ่งข้ามถนน
เพราะกำลังมีรถวิ่งมา แต่นักเรียนเข้าใจผิดว่า ให้ข้ามถนนไปได้
และถูกรถชนในท้ายที่สุด หรือกระทั่งคนขับรถคันหนึ่งยกมือห้ามคนขับอีกคันที่กำลังจะกลับรถให้รอก่อน
แต่ถูกเข้าใจผิดว่า ปลอดภัยกลับรถได้เลย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กรณีนี้
จากคำให้การของลูกสาวที่ขับรถคันที่ก่อเหตุยังค่อนข้างสับสนว่า ตนเองเห็นแม่โบกมือให้นั้น
หมายถึง เพื่อให้เห็นว่าอยู่ตรงจุดนี้ หรือปลอดภัยให้กลับรถได้ ถึงกระนั้น
ศาลยังไม่เห็นว่า การโบกมือดังกล่าวจะเกี่ยวเนื่องจากการใช้รถ หรือการใช้งานรถ แม้ได้กระทำระหว่างนั่งอยู่ในตำแห่งคนขับรถที่กำลังติดเครื่องอยู่ก็ตาม
เพราะคนขับอาจจะลงจากรถมาโบกมือก็ได้เช่นกัน ฉะนั้น
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นนี้จึงไม่เกี่ยวข้องกับการให้สัญญาณมือของคนขับรถคันแรกแต่ประการใด
ตัดสินให้คนขับรถคันที่สองต้องรับผิดจากความประมาทเลินเล่อของตนเองแต่ผู้เดียว
กรณีนี้เทียบเคียงมาจากคดี Nationwide Mut. Fire Ins. Co. v
Oster 2018 NY Slip Op 51018(U) ซึ่งต่อสู้กันมายาวนานร่วมเจ็ดปีระหว่างบริษัทประกันภัยสองรายกว่าที่ศาลสูงแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา เพิ่งจะมีคำพิพากษาออกมากลางปีนี้เอง
เรื่องต่อไป: หลังคาอาคารพังถล่มลงมาสองจุดโดยทิ้งช่วงห่างกันไม่กี่วัน
ถือเป็นเหตุการณ์ครั้งเดียว หรือสองครั้ง?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น