เรื่องที่ 72:สายเคเบิ้ลที่อยู่นอกสถานที่ของบริษัทที่ให้บริการภาพและเสียงตามสายจะได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินกับกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักหรือไม่?
โดยทั่วไป
กรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองถึงทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ไม่ว่าแบบระบุภัย
หรือแบบสรรพภัย ตลอดจนกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักที่ให้ความคุ้มครองความเสียหายสืบเนื่องทางการเงินจากกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินดังกล่าว
มักจำกัดขอบเขตความคุ้มครองให้อยู่ภายในสถานที่เอาประกันภัย อันเป็นสถานที่ตั้งทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นเอง
ดังนั้น
การกำหนดทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจึงมีความสำคัญมาก มิฉะนั้น
อาจก่อให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกันดังเช่นในคดีพิพาทนี้ก็ได้
ผู้เอาประกันภัยรายนี้เป็นบริษัทเคเบิ้ลทีวี
ซึ่งให้บริการภาพและเสียงตามสายแก่สมาชิกภายในเมืองแห่งหนึ่งได้จัดทำประกันภัยคุ้มครองอาคารสิ่งก่อสร้างของตนเอง
ภายใต้กรมธรรรม์ประกันภัยทรัพย์สินกับกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักกับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง
โดยผ่านตัวแทนประกันภัยอิสระรายหนึ่ง (บ้านเราจะเรียกว่า
นายหน้าประกันภัยประเภทบุคคล)
ต่อมา ได้มีพายุเฮอริเคนลูกหนึ่งได้พัดผ่านเมืองแห่งนั้นสร้างความเสียหายอย่างมากแก่ประชาชนที่พักอยู่อาศัย
รวมถึงธุรกิจของผู้เอาประกันภัยรายนี้ด้วย ซึ่งประกอบด้วยความเสียหายต่อตัวอาคารสำนักงาน อาคารสถานีส่งสัญญาณ (Headend Building) และระบบเครือข่ายสายเคเบิ้ลที่เชื่อมต่อถึงลูกค้าในรัศมี 49 ไมล์จนใช้การไม่ได้
แม้ตัวอาคารที่เอาประกันภัยมิได้รับความเสียหายมากนัก
สามารถกลับมาปฏิบัติการได้โดยฉับพลัน แต่ก็ไม่อาจทำการแพร่สัญญาณให้ลูกค้าได้ดังเดิม
เนื่องจากระบบเครือข่ายสายเคเบิ้ลชำรุดเสียหาย ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงสอบถามยังตัวแทนประกันภัยของตนว่า
สายเคเบิ้ลอยู่ในรายการทรัพย์สินที่เอาประกันภัยใช่ไหม? ซึ่งตัวแทนประกันภัยรับรองว่าใช่
ผู้เอาประกันภัยจึงรีบติดต่อว่าจ้างบริษัทสายเคเบิ้ลมาทำการซ่อมแซมแก้ไข และสามารถกลับมาทำหน้าที่ส่งสัญญาณให้ลูกค้าตามปกติได้ภายใน
30 วัน
ระหว่างที่ธุรกิจของผู้เอาประกันภัยได้หยุดชะงักไป
บริษัทประกันภัยได้ทดรองจ่ายค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น (Increase in Cost of
Working) หรือที่พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสภา
แก้ไขเพิ่มเติมล่าสุดปี พ.ศ. 2560 เรียกว่า “การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่าย
คือ ในการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก เมื่อมีเหตุที่เอาประกันภัยไว้เกิดขึ้นทำให้ธุรกิจต้องหยุดกิจการลง
ในบางครั้งผู้เอาประกันภัยอาจจะต้องดำเนินการให้ธุรกิจนั้นดำเนินต่อไป
ค่าใช้จ่ายในการนี้จะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยประเภทนี้ด้วย” ให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปใช้สอยก่อนเบื้องต้นเป็นจำนวน
15,000 เหรียญ
ต่อมา
ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้ยื่นเรื่องเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมต่อบริษัทประกันภัย
สำหรับค่าซ่อมแซมสายเคเบิ้ล และความสูญเสียทางการเงินที่ได้รับในระหว่างนั้นด้วย
บริษัทประกันภัยปฏิเสธ พร้อมกับโต้แย้งว่า ตนได้ทดรองจ่ายค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเกินจากค่าใช้จ่ายตามสมควรไปตั้ง
7,000 เหรียญด้วยซ้ำไป
ผู้เอาประกันภัยได้นำคดีขึ้นสู่ศาล
โดยศาลชั้นต้นตัดสินให้บริษัทประกันภัยเป็นฝ่ายชนะคดี ด้วยเหตุผลว่า ระบบเครือข่ายสายเคเบิ้ลมิได้อยู่ในรายการทรัพย์สินที่เอาประกันภัย
ดังนั้น ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพื่อการนี้จึงไม่ตกอยู่ในความคุ้มครอง
เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์
ได้มีการวิเคราะห์ถ้อยคำในรายการทรัพย์สินที่เอาประกันภัย
ซึ่งระบุได้เอาประกันภัยเพียงรายการอาคารสิ่งก่อสร้าง (Building) เท่านั้น
โดยในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ให้คำนิยามว่า “หมายความถึง
อาคาร หรือสิ่งก่อสร้างดังระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย และรวมถึง
(1) ส่วนต่อเติม (Completed additions)
(2) สิ่งติดตั้งตรึงตรา รวมทั้งสิ่งติดตั้งตรึงตราที่อยู่กลางแจ้ง (Fixtures, including outdoor fixtures)
(3) สิ่งติดตั้งถาวร (Permanently
installed)
อันได้แก่ (ก) เครื่องจักร
และ (ข) อุปกรณ์”
เนื่องจากคำว่า “สิ่งติดตั้งตรึงตรา
(Fixtures)” มิได้กำหนดคำนิยามเอาไว้ ศาลจำต้องอาศัยถ้อยคำของกฎหมาย
ซึ่งให้ความหมายถึง สิ่งที่นำมาติดตั้ง หรือประกอบเป็นส่วนหนึ่งของอสังหาริมทรัพย์แล้ว
ได้กลายมาเป็นส่วนควบ (Component
Part) ของอสังหาริมทรัพย์นั้น โดยที่คำว่า “ส่วนควบ (Component Part)” นั้นหมายความถึง สิ่งที่ติดตรึงเป็นส่วนหนึ่งของอาคารสิ่งก่อสร้างที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายแยกจากกันได้
เว้นแต่จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากต่อตัวมันเอง หรืออาคารสิ่งก่อสร้างนั้น
ดังนั้น
การที่ผู้เอาประกันภัยให้การว่า
ระบบเครือข่ายสายเคเบิ้ลถือเป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยในส่วนของ “สิ่งติดตั้งตรึงตราที่อยู่กลางแจ้ง
(Outdoor Fixtures)” หรือ “อุปกรณ์ที่ติดตั้งถาวร (Permanently Installed Equipment)” เนื่องจากสายเคเบิ้ลได้เชื่อมต่ออย่างถาวรกับอาคารสถานีส่งสัญญาณ
หากขาดต่อจากกันแล้วจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งต่ออาคารสถานีกับสายเคเบิ้ลเอง
ตลอดจนลูกค้าผู้ใช้บริการด้วย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ อนึ่ง
การที่บริษัทประกันภัยได้ทำการทดรองจ่ายบางส่วนมาให้เพื่อทุเลาความเสียหาย ถือเป็นการยอมรับโดยปริยายแล้วว่า
ความคุ้มครองมิได้จำกัดอยู่เพียงภายในสถานที่ทำการของผู้เอาประกันภัยเท่านั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย
เพราะการขาดความเชื่อมต่อระหว่างอาคารสถานีกับระบบเครือข่ายสายเคเบิ้ลเพียงส่งผลทำให้อาคารสถานี
“ทำงานไม่ได้”
แต่มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายทางกายภาพต่ออาคารสถานีแต่ประการใด
ส่วนประเด็นเรื่องการสละสิทธิข้อโต้แย้ง
หรือการยอมรับโดยปริยายของบริษัทประกันภัยนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า
เป็นประเด็นที่ต้องว่ากันในศาลชั้นต้นมากกว่า
จึงตัดสินให้บริษัทประกันภัยชนะคดีนี้
(อ้างอิงจากคดี Service One Cable T.V., Inc. v. Scottsdale Ins. Co., 2011-1469 (La. App. 1st Cir. February 10, 2012))
เสียดายนะครับที่ไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า
จะเกิดอะไรขึ้นกับตัวแทนประกันภัยที่ไปตอบกับผู้เอาประกันภัยว่า
เครือข่ายสายเคเบิ้ลรวมอยู่ในรายการทรัพย์สินที่เอาประกันภัยแล้ว?
ส่วนการใช้ถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันภัยที่เราแปลมาจากต่างประเทศนั้น
หลายคำมิได้มีกฎหมายไทยรองรับ ส่วนตัวค่อนข้างเป็นห่วงว่า เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นศาลไทย
ท่านจะว่าเช่นไร?
ดังในคดีนี้ คำว่า “สิ่งติดตั้งตรึงตรา
(Fixtures)” ซึ่งบ่อยครั้งจะใช้ควบคู่กับ “สิ่งตกแต่ง (Fittings or
Furnishings)” นั้น ในต่างประเทศเอง เกิดข้อโต้แย้งกันหลายครั้งในการจำแนกความหมาย
ขณะที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของเรา เห็นใช้อยู่เพียงคำว่า “ส่วนควบ”
กับ “อุปกรณ์” เท่านั้น
ผมจะรวบรวมบทความต่างประเทศที่พูดถึงความแตกต่างระหว่าง
“สิ่งติดตั้งตรึงตรา (Fixtures)” กับ “สิ่งตกแต่ง (Fittings or
Furnishings)” มาเขียนเป็นข้อมูลเสริมแยกต่างหากอีกบทความหนึ่งในเร็ววันนี้ครับ
เรื่องต่อไป: นั่งอยู่ในรถยนต์ที่จอดติดเครื่องอยู่
อยู่ในความหมายของการใช้รถ หรือการใช้ทาง ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์หรือไม่?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น