วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 71: คนเมาแล้วขับขี่ (Drunk Driver) จนเกิดเหตุเสียชีวิต ถือเป็นอุบัติเหตุ อันจะได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลหรือไม่?


(ตอนที่สอง)


ตอนที่แล้ว เราพูดกันถึงอุบัติเหตุเมาแล้วขับขี่ ซึ่งบริษัทประกันภัยปฏิเสธความคุ้มครองโดยอ้างว่า ขณะบาดเจ็บตกอยู่ในข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยว่าด้วยปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกำหนด แต่ถ้อยคำที่เขียนดังกล่าวเปิดโอกาสให้ศาลตีความโดยเคร่งครัดตัดสินให้ทายาทผู้เสียชีวิตได้รับการชดใช้ เพราะขณะเสียชีวิตมิได้มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่าที่ได้ระบุยกเว้นเอาไว้

เมื่อบริษัทประกันภัยนี้อาจพลาดในเรื่องถ้อยคำที่ตนเองร่าง ก็มีบริษัทประกันภัยอีกแห่งหนึ่งเลือกที่จะต่อสู้คดีเรื่องเมาแล้วขับขี่ด้วยการเปิดประเด็นขึ้นมาใหม่อีกมุมหนึ่ง เราลองมาดูเทียบเคียงกันว่า ผลแห่งคดีจะเป็นอย่างไรกันนะครับ?

คดีนี้เกิดขึ้นในคืนวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1995 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับรายงานอุบัติเหตุรถยนต์คันหนึ่งเสียหลักพุ่งชนอาคารหลังหนึ่ง ผู้ขับขี่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ผลการสืบสวนสอบสวนได้ความว่า ผู้ขับขี่ใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดทำให้เสียหลัก กอปรกับทั้งยังเมาสุราระหว่างขับขี่ด้วย เพราะผลการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์หลังเกิดเหตุไม่นานวัดได้ระดับ 0.22% เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ประมาณสองเท่า ต่อมา ผู้บาดเจ็บรายนี้ได้เสียชีวิตลงในวันที่ 19 พฤษภาคม ค.ศ. 1995 ด้วยสาเหตุร่างกายได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงหลายแห่งประกอบกับมีอาการแทรกซ้อนจากภาวะหลอดลมใหญ่และปอดอักเสบ (Bronchopneumonia)  

เนื่องด้วยผู้ขับขี่รายนี้ได้มีกรมธรรม์ประกันชีวิตกับกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลคุ้มครองอยู่กับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง ภรรยาของผู้เสียชีวิตในฐานะผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยทั้งสองฉบับจึงได้ยื่นเรื่องเรียกร้องผลประโยชน์ความคุ้มครองดังกล่าวในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน และภายในหนึ่งสัปดาห์ก็ได้รับค่าชดเชยจากกรมธรรม์ประกันชีวิตเป็นลำดับแรก ส่วนเรื่องของกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลนั้น บริษัทประกันชีวิตแห่งนี้ขอเวลาพิจารณาตรวจสอบก่อนระยะเวลาหนึ่ง

ต่อมา วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1996 ผู้รับประโยชน์ก็ได้รับจดหมายตอบปฏิเสธจากบริษัทประกันชีวิตแห่งนี้ ซึ่งระบุว่า การชนที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลมาจากการขับขี่ทั้งที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงไม่ถือเป็น “อุบัติเหตุ (Accident)” ตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัย เพราะตามหลักกฎหมายแล้ว การเสียชีวิตโดยอุบัติเหตุ (Accidental Death) นั้น หมายความว่า เหตุที่เกิดนั้นจะต้องเป็นไปโดยมิได้ตั้งใจ หรือไม่อาจคาดหวังได้ตามสมควร นอกจากนี้ยังเข้าเงื่อนไขข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยที่ระบุว่า “ไม่คุ้มครองการทำร้ายร่างกายตนเองโดยเจตนา (Injuring Yourself on Purpose)” อีกด้วย

ประเด็นหลักในการพิจารณาเมื่อคดีนี้ขึ้นถึงศาล คือ กรณีเมาแล้วขับขี่ถือเป็นอุบัติเหตุหรือไม่? โดยที่กรมธรรม์ประกันภัยเองมิได้กำหนดคำนิยามเอาไว้ด้วย

ผู้รับประโยชน์ฝ่ายโจทก์ได้นำเสนอพยานหลักฐานแวดล้อมว่า ผู้เอาประกันภัยมิได้มีความตั้งใจหรือความมุ่งหวังที่จะทำให้ตนเองได้รับบาดเจ็บ หรือกระทั่งเป็นอันตรายถึงชีวิตเลย ตอนที่เกิดเหตุนี้ยังพบคาดเข็มขัดอยู่กับตัว และเป็นการขับรถเพื่อไปเจอกับภรรยา ทั้งยังใช้เส้นทางปกติหลังจากดื่มเหล้า พยานที่เห็นเหตุการณ์ก็ให้การว่า คนขับพยายามหักรถหลบแล้ว แต่ไม่ทันการ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้ว ผู้เอาประกันภัยมิได้มีเจตนา หรือมุ่งหวังจะทำร้ายร่างกายตนเองเลย แม้จะเมาแล้วขับขี่ก็ตาม

บริษัทประกันชีวิตฝ่ายจำเลยโต้แย้งว่า การเมาแล้วขับขี่นั้นเป็นสิ่งที่คาดหวังได้ว่าจะก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อชีวิตหรือร่างกายขึ้นมาได้

ส่วนเหตุผลที่ฝ่ายโจทก์ต่อสู้ว่า เมาแล้วขับขี่ไม่น่าเป็นสิ่งที่คาดหวังจะเกิดเหตุดังกล่าวได้ตามสมควร เพราะผู้เอาประกันภัยเองก็ได้ขับขี่ผ่านมาได้ระยะทางสามไมล์แล้วโดยมิได้เกิดอะไรขึ้นมานั้น ศาลไม่เห็นพ้องด้วย  

ภาวะอันตรายจากการเมาแล้วขับขี่นั้นเป็นสิ่งที่คนทั่วไปรับรู้กันอยู่ และได้มีการประชาสัมพันธ์ตอกย้ำอย่างสม่ำเสมอและอย่างกว้างขวางถึงความเสี่ยงภัยจากการเมาแล้วขับขี่ ทั้งกฎหมายยังบัญญัติบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนเอาไว้อีกด้วย วิญญูชนที่อยู่ในสภาวะและประสบการณ์เช่นเดียวกับผู้เอาประกันภัยรายนี้ล้วนสามารถตระหนักได้ว่า มีโอกาสสูงที่จะก่อให้เกิดความบาดเจ็บหรือการเสียชีวิตจากการเมาแล้วยังฝืนขับขี่ขึ้นมาได้

ศาลจึงเห็นพ้องกับฝ่ายจำเลยว่า กรณีเมาแล้วยังฝืนขับขี่ในคดีนี้ไม่ถือเป็นอุบัติเหตุ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ฝ่ายจำเลยไม่จำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลฉบับนี้

(อ้างอิงจากคดี Walker v. Metropolitan Life Insurance Co., 24 F.Supp.2d 775 (E.D. Mich., 1997)

ตอนนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกาเกิดข้อถกเถียงอย่างมากถึงเรื่องเมาแล้วขับขี่ถือเป็นอุบัติเหตุหรือไม่?   

แนวทางการตีความของศาลต่างประเทศแบ่งออกเป็นสองแนวทาง กลุ่มแรกที่เป็นเสียงส่วนใหญ่เห็นพ้องกับคำตัดสินที่มิใช่อุบัติเหตุ ส่วนกลุ่มเสียงข้างน้อยกลุ่มที่สองก็คัดค้านว่า ทำไมการขับขี่รถเร็วเกินกำหนด การง่วงแล้วฝืนขับขี่ หรือการทำผิดกฎหมายจราจรอย่างอื่นถึงไม่ตีความทำนองเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อมองจากสถิติสาเหตุที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการขับรถเร็วมากกว่าการเมาแล้วขับขี่ด้วยซ้ำไป เพราะถ้าเมาแล้วขับขี่ไม่ถือเป็นอุบัติเหตุแล้ว จะส่งผลกระทบตามมาอีกมากมาย เนื่องจากทุกกรมธรรม์ประกันภัยล้วนคุ้มครองอุบัติเหตุทั้งสิ้น เว้นแต่อุบัติเหตุใดที่บริษัทประกันภัยไม่ประสงค์จะให้ความคุ้มครอง ก็จะกำหนดไว้ในข้อยกเว้น

หวังว่า ข้อพิพาทเช่นนี้คงไม่เกิดขึ้นในประเทศไทยนะครับ ขณะนี้บ้านเรา สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลจะกำหนดข้อยกเว้นอย่างชัดเจนสำหรับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นระหว่างมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดตั้งแต่ 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ส่วนกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจหมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกกับหมวดการคุ้มครองความเสียหายต่อรถยนต์ได้กำหนดเป็นข้อยกเว้นว่าด้วยการขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ (หรือเทียบเท่า 0.05% ตามเกณฑ์วัดสากล) เป็นที่น่าสังเกตว่า เอกสารแนบท้าย ร.ย. 01 ว่าด้วยการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลกลับมิได้มีข้อยกเว้นดังกล่าว อย่างไรก็ดี ถ้าเกิดตีความว่า มิใช่เป็นอุบัติเหตุขึ้นมาเมื่อไหร่ ทุกอย่างก็จบสิ้นครับ

เรื่องต่อไป สายเคเบิ้ลที่อยู่นอกสถานที่ของบริษัทที่ให้บริการภาพและเสียงตามสายจะได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินกับกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักหรือไม่?

ท่านผู้อ่านสามารถติดตามบทความนี้ และบทความใหม่เรื่องอื่น ๆ ได้ที่ Insurance Knowledge by BTA เพจ Facebook อีกแหล่งหนึ่งนะครับ ขอบคุณครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น