วันอาทิตย์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เรื่องที่ 70: โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel syndrome) ถือเป็นความเจ็บป่วย หรืออุบัติเหตุกันแน่?


(ตอนที่สอง)
ศาลชั้นต้นได้พิจารณาคดีตามประเด็น ดังนี้
(1) การทุพพลภาพดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากความบาดเจ็บ หรือความเจ็บป่วย?
พยานผู้เชี่ยวชาญสามรายของฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยให้การดังนี้
รายแรกซึ่งเป็นแพทย์ผู้รักษาเบิกความว่า สำหรับคำถามว่า ภาวะโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome) เป็นผลมาจากความเจ็บป่วย (Sickness) หรือความบาดเจ็บ (Injury) นั้น ยังมีข้อถกเถียงทางการแพทย์กันอย่างมากมายจนหาข้อสรุปที่ชัดเจนมิได้ แต่ข้อสรุปทางวิจัยที่ยอมรับส่วนใหญ่เห็นว่า เป็นผลที่เกี่ยวข้องกับภาวะการทำงาน ส่วนตนเองไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ภาวะโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome) ของคนไข้รายนี้ แต่เชื่อว่าน่าจะเกิดสะสมมาจากการประกอบวิชาชีพ แพทย์ผู้รักษารายที่สองให้การทำนองเดียวกันว่า เนื่องมาจากการใช้มือทำงานท่าเดียวกันซ้ำ ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่วนแพทย์รายที่สามแม้มิได้ทำการตรวจรักษา แต่เมื่อพิจารณาจากประวัติของคนไข้แล้ว ก็ให้ความเห็นไม่แตกต่างจากแพทย์สองรายแรก
ขณะที่ฝ่ายบริษัทประกันชีวิตจำเลยมิได้นำเสนอแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือพยานหลักฐานอื่นใดมาหักล้างคำให้การฝ่ายโจทก์ นอกจากโต้แย้งว่า การทุพพลภาพของผู้เอาประกันภัยรายนี้มิได้เกิดเนื่องจากความบาดเจ็บดังที่กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้กำหนดว่า “ความบาดเจ็บทางร่างกายโดยอุบัติเหตุซึ่งเกิดขึ้นระหว่างที่กรมธรรม์ประกันภัยมีผลคุ้มครองอยู่” ทั้งมิใช่เป็นการสูญเสียการใช้งานของมือทั้งสองข้างโดยสิ้นเชิงถาวร อันจะทำให้เข้าเงื่อนไขของการทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงแต่ประการใด เพราะผู้เอาประกันภัยได้ใช้มือสองข้างโดยเจตนา และโดยสมัครใจในลักษณะท่าทางเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ในการประกอบวิชาชีพของตนเรื่อยมา
(2) ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนเนื่องจากความบาดเจ็บหรือไม่?
เมื่อฝ่ายบริษัทประกันชีวิตเห็นว่า มิใช่เป็นความบาดเจ็บเนื่องจากอุบัติเหตุ และมิได้ถึงขนาดทุพพลภาพโดยสิ้นเชิงถาวร ผู้เอาประกันภัยจึงมีสิทธิจะได้รับค่าทดแทนสูงสุด 48 เดือน สำหรับการทุพพลภาพ (Disability) ซึ่งเริ่มต้นระหว่างอายุ 61 กับ 62 ปี สำหรับเงื่อนไขการทุพพลภาพเนื่องจากความเจ็บป่วย (Sickness) เท่านั้น 

(3) ความบาดเจ็บนั้นเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในระยะเวลาเอาประกันภัยหรือไม่?
อนึ่ง กรณีหากจะเป็นความบาดเจ็บโดยอุบัติเหตุ ก็ไม่เข้าเงื่อนไขดังระบุว่า “ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างที่กรมธรรม์ประกันภัยมีผลคุ้มครองอยู่” เพราะผู้เอาประกันภัยได้ “เกิด” ภาวะอาการสะสมมาร่วม 25 ปีถึง 30 ปีก่อนหน้านั้นแล้ว ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ยังไม่มีผลใช้บังคับ เพียงแต่มาส่ง “ผล” ทุพพลภาพอันก่อให้เกิดการเรียกร้องค่าทดแทนเมื่อวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1998 ในช่วงระยะเวลาความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้เท่านั้น 

เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้ว ได้วินิจฉัยว่า ศาลเห็นพ้องกับฝ่ายโจทก์เรื่องภาวะโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือนี้เกิดขึ้นเนื่องมาจากความบาดเจ็บ และเนื่องจากกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้มิได้กำหนดคำนิยามของ “อุบัติเหตุ” เอาไว้ จึงเห็นว่า ควรตีความเป็นคุณให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยให้หมายความถึงผลที่เกิดขึ้นแก่ผู้เอาประกันภัยในระยะเวลาความคุ้มครอง จึงตัดสินให้ฝ่ายผู้เอาประกันภัยได้รับการชดใช้ค่าทดแทนตามที่เรียกร้อง
ฝ่ายบริษัทประกันชีวิตยื่นอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น จึงได้มีการยื่นฎีกาต่อไป
ศาลฎีกาวินิจฉัยดังนี้
จากพยานหลักฐานของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญซึ่งเห็นไปในทางทิศทางเดียวกันว่า เกิดจากการใช้มือทำงานตามวิชาชีพของโจทก์อย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน โดยฝ่ายจำเลยมิได้มีพยานมานำสืบหักล้าง ทั้งตลอดเวลาการพิจารณาตามระดับชั้นศาล ฝ่ายจำเลยมิได้โต้แย้งเลยว่าภาวะโรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือนี้ได้ส่งผลทำให้เกิดการทุพพลภาพหรือไม่? เพียงแต่แย้งว่า มีสาเหตุมาจากความเจ็บป่วยเท่านั้น
ส่วนการตีความคำว่า “ความบาดเจ็บทางร่างกายโดยอุบัติเหตุ” นั้น ซึ่งฝ่ายจำเลยตีความว่า หมายความถึง ความบาดเจ็บทางร่างกายต้องเป็นผลมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่แน่นอน เมื่อฝ่ายโจทก์ไม่สามารถระบุเหตุการณ์แน่ชัดที่ก่อให้เกิดผลนี้ได้ จึงไม่อาจถือได้ว่า การทุพพลภาพนี้ได้เกิดขึ้นเนื่องจากความบาดเจ็บดังที่กำหนดไว้ในระยะเวลาความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย สำหรับการที่ใช้ถ้อยคำ “โดยอุบัติเหตุ” นั้น ศาลตีความว่า เป็นการขยายถึง “ความบาดเจ็บทางร่างกาย” อันคือ “ผล” ซึ่งเกิดขึ้นอย่างไม่ได้คาดหวัง แต่อาจจะเกิดขึ้นมาจากการกระทำอย่างมีสติ หรือใจสมัครก็ได้ มิใช่เป็นการขยายถึง “เหตุหรือสาเหตุ” ดังที่จำเลยอ้าง บุคคลอาจจะเกิดความบาดเจ็บเล็กน้อย แล้วค่อย ๆ รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ต่อเนื่องตามเวลาจนถึงขนาดเกิดทุพพลภาพท้ายที่สุดก็ได้ จึงถือเป็นการเกิดทุพพลภาพภายในระยะเวลาที่กรมธรรม์ประกันภัยมีผลบังคับอย่างเช่นกรณีนี้ก็ได้ ฉะนั้น ศาลฎีกายืนตามคำวินิจฉัยของทั้งสองศาล
(อ้างอิงจากคดี Provident Life and Accident Insurance Co. v. Hallum, --- S.E.2d --- (2003 WL 169894, Sup. Ct., Ga., 2003) และจากบทความ ระวัง 4 โรคมือสุดฮิตคนทำงานปวดมือ ปวดข้อมือของนายแพทย์ศุภเดช ประภากรวิทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ และเชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมมือ โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล สมุทรปราการจากเวปไซต์ Haijai.com)

เป็นอีกคดีหนึ่งที่เกิดข้อโต้แย้งเรื่องการตีความคำว่า “อุบัติเหตุ” หมายถึงอะไร? ถ้าเป็นทฤษฏีเหตุ (Cause Theory) จะหมายถึงต้นเหตุหรือสาเหตุที่เกิดขึ้นโดยผู้เอาประกันภัยไม่ได้เจตนาหรือมุ่งหวัง ที่เรียกว่า “ปัจจัยหรือวิถีอุบัติเหตุ (Accidental Means)” เป็นเกณฑ์ ดังที่ฝ่ายบริษัทประกันชีวิตได้กล่าวอ้างในคดีนี้ ซึ่งอ้างทั้งเหตุและผลจะต้องเกิดในระยะเวลาความคุ้มครอง
ส่วนถ้าเป็นทฤษฏีของผล (Effect Theory) จะมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นโดยผู้เอาประกันภัยมิได้เจตนาหรือมุ่งหวังเป็นหลัก แม้ต้นเหตุจะเกิดขึ้นโดยเจตนาก็ตาม ที่เรียกว่า “ผลลัพธ์โดยอุบัติเหตุ (Accidental Result)” ดังเช่นศาลในคดีนี้ใช้กล่าวอ้าง
หากเป็นทฤษฏีเหตุการณ์แห่งความโชคร้าย (Unfortunate Events Theory) จะมองภาพเหตุการณ์ทั้งหมดในการพิจารณามิใช่มองเพียงแค่ต้นเหตุกับปลายเหตุดังเช่นสองทฤษฏีแรก
ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลท่านในการเลือกใช้ตีความ หากถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันภัยไม่ชัดเจนพอ
ลองพิจารณาเทียบเคียงกับกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลบ้านเราดูนะครับ หากจะมีข้อพิพาทเช่นนี้เกิดขึ้น เราควรตีความเช่นไรดี?

ของเราให้คำนิยามไว้ ดังนี้

อุบัติเหตุ หมายถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน จากปัจจัยภายนอกร่างกายและทำให้เกิดผลที่ผู้เอาประกันภัยมิได้เจตนาหรือมุ่งหวัง
การบาดเจ็บ หมายถึง การบาดเจ็บทางร่างกาย อันเป็นผลโดยตรงจากอุบัติเหตุ ซึ่งเกิดขึ้นโดยเอกเทศ และโดยอิสระจากเหตุอื่น
ความสูญเสีย หรือความเสียหายใด ๆ หมายถึง การบาดเจ็บทางร่างกายของผู้เอาประกันภัยโดยอุบัติเหตุและทำให้ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ สายตา ทุพพลภาพ หรือได้รับบาดเจ็บ
 

เรื่องต่อไป คนเมาแล้วขับขี่ (Drunk Driver) จนเกิดเหตุเสียชีวิต ถือเป็นอุบัติเหตุ อันจะได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติส่วนบุคคลหรือไม่?
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น