(ตอนที่หนึ่ง)
เมาแล้วขับขี่เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนทั่วโลก
นานาประเทศจึงได้พยายามวางมาตรการบทลงโทษทางกฎหมายไปพร้อม ๆ กับการรณรงค์และประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวางและอย่างสม่ำเสมอ
เพื่อมุ่งหวังลดจำนวนคนเมาแล้วขับขี่ออกไปจากท้องถนนให้ได้มากที่สุด
ในแง่ของการประกันภัยเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนการรณรงค์นี้ด้วยการกำหนดเป็นข้อยกเว้นเอาไว้อย่างชัดแจ้งดังในกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล
แต่ไม่วายยังเกิดข้อพิพาทขึ้นมาจนได้ ดังคดีตัวอย่างของต่างประเทศที่จะเล่าสู่กันฟังต่อไปนี้ครับ
คืนวันที่ 16
กันยายน
ค.ศ. 1995 ผู้เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล
(Personal
Accident Insurance Policy)
ฉบับหนึ่งได้ขับรถยนต์ฝ่าฝีนป้ายหยุดไปชนกับรถคู่กรณีจนได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง
จากคำให้การของเจ้าหน้าที่รถพยาบาลฉุกเฉินที่เข้าไปช่วยผู้เอาประกันภัยรายนี้ระบุว่า
ได้กลิ่นเหล้าจากตัว ครั้นเมื่อนำตัวส่งโรงพยาบาล ก็สามารถตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดที่ระดับ
0.12% ซึ่งสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ 0.10% เจ้าหน้าที่จึงเชื่อว่า ณ
เวลาเกิดอุบัติเหตุดังกล่าวคงมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดระดับเดียวกัน (เวลาตรวจวัดทิ้งช่วงห่างประมาณสองชั่วโมงเศษ) ผู้เอาประกันภัยได้รับบาดเจ็บที่ศรีษะอย่างรุนแรง
และตกอยู่ในอาการโคม่าตลอดเวลาจนกระทั่งเสียชีวิตลงในวันที่ 25
กันยายน
ค.ศ. 1995 ซึ่งตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดได้ต่ำกว่าระดับ
0.10%
ทายาทของผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงได้ไปยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนการเสียชีวิตจากบริษัทประกันภัย
แต่ได้รับการปฏิเสธด้วยการอ้างข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้สองข้อ ซึ่งถอดความออกมาได้ดังนี้
“กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ไม่คุ้มครองความสูญเสียหรือความบาดเจ็บที่
1)
เกิดขึ้นในขณะที่ผู้เอาประกันภัยมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดอยู่ที่
0.10% หรือเกินกว่านั้นขึ้นไป หรือ
2)
เกิดขึ้นในขณะที่ผู้เอาประกันภัยกำลัง
หรือพยายามกำลังกระทำการทำร้ายร่างกายผู้อื่น หรือกระทำความผิดอย่างร้ายแรง”
ทายาทของผู้เอาประกันภัยรายนี้เป็นโจทก์นำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อขอความเป็นธรรม
ศาลชั้นต้นได้พิจารณาพยานหลักฐานทั้งหมดแล้วเห็นพ้องกับฝ่ายจำเลย
คือ บริษัทประกันภัยนี้ว่า
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแก่ผู้เอาประกันภัยรายนี้ตกอยู่ในข้อยกเว้นขณะที่เมาแล้วขับขี่โดยมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่าที่กฎหมายและกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ได้กำหนดไว้
โดยศาลมิได้พิจารณาถึงข้อยกเว้นข้อที่สองเลย
ทายาทยื่นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาดังนี้
คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างเห็นร่วมกันว่า
ถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ไม่มีข้อความที่กำกวม
ศาลจึงวิเคราะห์ข้อยกเว้นที่ฝ่ายจำเลยอ้างอิงเป็นข้อ ๆ ดังนี้
1)
ข้อยกเว้นเรื่องปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกำหนด
เมื่อพิจารณาจากข้อความที่กำหนดว่า
“เกิดขึ้นในขณะที่ (while) ผู้เอาประกันภัยมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดอยู่ที่
0.10% หรือเกินกว่านั้นขึ้นไป”
โดยฝ่ายจำเลยตีความว่า
หมายถึงไม่คุ้มครองการเสียชีวิตหรือความบาดเจ็บทางร่างกายอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ผู้เอาประกันภัยเมาสุรา
(Intoxicated) ซึ่งถ้าตีความดังว่านั้น ศาลยังสงสัยว่า สมมุติมีคนนั่งดื่มเบียร์สองสามกระป๋อง
อันจะส่งผลทำให้ระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกินกว่า 0.10% ขึ้นมาได้ แล้วจู่ ๆ มีเศษดาวตกหล่นมาใส่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
จะยังคงสามารถได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้หรือไม่? ถ้าคำตอบจากฝ่ายจำเลยว่า
มิได้ยกเว้นอุบัติเหตุดังที่หยิบยกขึ้นมา แสดงว่า
ถ้อยคำของข้อยกเว้นนี้ไม่ชัดเจนใช่หรือไม่? แต่มิใช่หน้าที่ของศาลที่จะไปแก้ไขถ้อยคำดังกล่าวให้
ฝ่ายจำเลยจำต้องพยายามพิสูจน์ให้ศาลเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการเมาสุรากับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในลักษณะสาเหตุใกล้ชิด
ถึงกระนั้น ฝ่ายจำเลยก็ควรร่างด้วยการใช้ถ้อยคำว่า “อันมีสาเหตุมาจาก (caused by) หรือเป็นผลมาจาก (resulting from) ...” น่าจะตรงกับเจตนารมณ์มากกว่า
เพราะในคดีนี้ขณะที่ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตมิได้มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกินกว่าที่กำหนดเอาไว้แต่ประการใด
2)
ข้อยกเว้นเรื่องการทำร้ายร่างกายบุคคลอื่น
หรือการกระทำผิดอย่างร้ายแรง
ฝ่ายจำเลยอ้างว่า
เวลาที่เกิดเหตุ ผู้เอาประกันภัยได้ทำผิดกฎหมายจราจรว่าด้วยเมาแล้วขับขี่จนทำให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่น
ในที่นี้ คือ คู่กรณีจนได้รับบาดเจ็บ ซึ่งศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย
เพราะจากถ้อยคำของข้อยกเว้น ผู้เอาประกันภัยมิได้ทำร้ายผู้อื่นขณะเมาสุรา แต่ผลจากการเมาสุราต่างหากที่ไปก่อให้เกิดความบาดเจ็บแก่บุคคลอื่น
ดังนั้น ข้อยกเว้นนี้จึงไม่มีผลนำมาใช้บังคับได้
ด้วยเหตุผลดังกล่าว
ศาลอุทธรณ์จึงกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้บริษัทประกันภัยฝ่ายจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ต่อไป
(อ้างอิงจากคดี Burgess
v. J.C. Penney Life Insurance Co., -- F.3d -- (1999 WL
52152, 7th Cir.))
คดีตัวอย่างนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจในการเลือกใช้ถ้อยคำที่ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องกันว่าชัดเจน
แต่กลับตีความไปคนละทาง
ลองมาดูถ้อยคำในกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลฉบับมาตรฐานของบ้านเรากันบ้าง
ซึ่งเขียนว่า
“หมวดที่ 3 ข้อยกเว้นทั่วไป
การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครอง
3.1 ความสูญเสีย หรือความเสียหายใด ๆ อันเกิดจาก
หรือสืบ
เนื่องจากสาเหตุดังต่อไปนี้
3.1.1 การกระทำของผู้เอาประกันภัยขณะอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรา
สารเสพติด หรือยาเสพติดให้โทษจนไม่สามารถครองสติได้
คำว่า “ขณะอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรา”
นั้น ในกรณีที่มีการตรวจเลือดให้ถือเกณฑ์มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดตั้งแต่
150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป”
หมายเหตุ
ระดับแอลกอฮอล์ในเลือดยังมิได้แก้เหมือนดั่งเช่นกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์
เมื่อเทียบเคียงกับคดีดังกล่าวจะส่งผลทำให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ครับ?
ตอนต่อไปเราจะไปพิจารณาว่า
เมาแล้วยังฝืนขับขี่จะถือเป็นอุบัติเหตุได้หรือไม่?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น