ผู้เอาประกันภัยเป็นโรงงานขนาดใหญ่โดยมีลักษณะโครงสร้างเสมือนหนึ่งอาคารสองหลังเชื่อมต่อกันให้เป็นอาคารใหญ่หลังเดียว
หลังคาก็เช่นเดียวกันสร้างให้เชื่อมต่อกันให้เป็นหลังคาเดียวกัน
โดยมีเสากลางค้ำยันไว้เพื่อรองรับน้ำหนักความสมดุลของหลังคาขนาดใหญ่นั้น
เมื่อเกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง
น้ำได้ท่วมขังหลังคาเนื่องจากระบายไม่ทัน ส่งผลทำให้หลังคาส่วนหนึ่งพังถล่มลงมา
เพราะรับน้ำหนักของน้ำที่สะสมมากเกินขนาดไม่ไหว อีกสามวันต่อมา
หลังคาส่วนที่สองพังถล่มลงมาเช่นกัน ผู้เอาประกันภัยจึงได้แจ้งบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองแก่ตัวโรงงานนี้ไว้
ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน แบบสรรพภัย ซึ่งกำหนดเงื่อนไขความเสียหายส่วนแรก
(Deductible)
ไว้ที่ 50,000 บาท ต่อเหตุการณ์ (Occurrence)
แต่ละครั้งและทุกครั้ง โดยเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อซ่อมแซมหลังคาที่เสียหายทั้งสองจุดเป็นเงินรวม
660,000 บาท
บริษัทประกันภัยตกลงชดใช้ให้
แต่ขอหักค่าความเสียหายส่วนแรกไว้ทั้งสิ้น 100,000 บาท เพราะถือว่า
เกิดจากเหตุการณ์รวมสองครั้งด้วยกัน ทำให้เหลือเงินที่จะต้องชดใช้เพียง 560,000
บาท
ผู้เอาประกันภัยโต้แย้งว่า
สาเหตุเกิดจากเหตุฝนตกหนักครั้งเดียว ทั้งน้ำที่สะสมเป็นมวลน้ำเดียวกัน มิได้มีน้ำอื่นมาเกี่ยวข้องด้วย
และหลังคาเองก็เชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกันแล้ว
ทั้งหมดถือเป็นเหตุการณ์จากสาเหตุเดียวกันต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอน กรณีนี้
บริษัทประกันภัยสามารถหักค่าความเสียหายส่วนแรกได้เพียงเหตุการณ์เดียวเท่านั้น คือ
50,000 บาท และจะต้องชดใช้เงินมาให้ทั้งหมด 610,000 บาท นอกจากนี้ ค่าซ่อมแซมนี้มิได้ประเมินแยกจุดความเสียหาย แต่ประเมินจากความเสียหายของหลังคาสองจุดในคราวเดียวกัน
ถ้าบริษัทประกันภัยเห็นว่า เป็นสองเหตุการณ์ แล้วทำไมไม่ร้องขอให้แยกราคากัน
จะนำเอาราคารวมทั้งหมดมาหักค่าความเสียหายส่วนแรกสองครั้งไม่ได้
คุณถือข้างไหนครับ
ในกรณีที่เกิดขึ้นนี้?
ลองมาฟังคำวินิจฉัยของศาลกันนะครับ
ศาลชั้นต้นตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยชนะคดี
ศาลอุทธรณ์ยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โดยให้เหตุผล ดังนี้
กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้มิได้ให้คำนิยามของเหตุการณ์
(Occurrence) เอาไว้เป็นพิเศษ จำต้องตีความตามความเข้าใจของคนทั่วไปว่า หมายความถึง
สิ่งที่เกิดขึ้นโดยมิได้ตั้งใจ หรือคาดหมาย (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานกำหนดความหมายสั้น
ๆ เพียงว่า “เรื่องที่เกิดขึ้น”)
เจตนารมณ์ของการประกันภัยเพื่อให้ความคุ้มครองถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง
เพื่อชดใช้ให้ผู้เอาประกันภัยได้กลับคืนสู่สภาวะทางการเงินดังเดิมเสมือนหนึ่งไม่เกิดเหตุใดขึ้นมา
สมมุติว่า เหตุการณ์หลังคาถล่ม ณ จุดแรกได้ซ่อมแซมแล้ว หากอีกหลายวันถัดมา หลังคาเกิดถล่มขึ้นมา
ณ จุดอื่น บริษัทประกันภัยจำต้องชดใช้ให้ด้วยเช่นกัน
เพราะถือเป็นเหตุการณ์ครั้งใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นอิสระจากเหตุการณ์แรก ส่วนประเด็นมิได้มีการแยกประเมินค่าซ่อมแซมนั้น มิถือเป็นสาระสำคัญ
เพราะผู้ซ่อมแซมสามารถตีราคาเหมารวมในคราวเดียวกันก็ได้
สรุป
ผู้เอาประกันภัยได้รับชดใช้เพียง 560,000 บาทเท่านั้น
(เทียบเคียงมาจากคดี Newmont Mines Ltd. v. Hanover Ins.
Co.,
784 F.2d 127, 130 (2d Cir. 1986))
เรื่องต่อไป: ทำประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายไว้หนึ่งปี
สามเดือนยกเลิก หากต่อมาพบว่า มีความเสียหายเกิดขึ้นในช่วงนั้น
จะได้รับความคุ้มครองตามวงเงินเต็มหนึ่งปี หรือตามส่วนสามเดือน?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น