โดยทั่วไป
กรมธรรม์ประกันภัยจะให้ความคุ้มครองในระยะเวลาเอาประกันภัยหนึ่งปี
และเช่นเดียวกับสัญญาอื่นทั่วไปจะอนุญาตให้คู่สัญญาประกันภัยทั้งสองฝ่ายต่างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาประกันภัยก่อนครบระยะเวลาเอาประกันภัยก็ได้
เว้นแต่จะได้มีข้อกำหนดระบุเอาไว้เป็นอย่างอื่น
คดีนี้เกิดเป็นข้อพิพาทขึ้นมาว่า
ผู้เอาประกันภัยเป็นโรงงานผลิตได้ทำประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกกับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง
โดยมีระยะเวลาเอาประกันภัยหนึ่งปี ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1967
ถึงวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1968 ด้วยวงเงินความคุ้มครอง 10 ล้านเหรียญต่อเหตุการณ์แต่ละครั้งและทุกครั้ง
(each and every occurrence) และวงเงินโดยรวม 10 ล้านเหรียญตลอดระยะเวลาเอาประกันภัย (in aggregate limit for the annual policy
period)
ครั้นผ่านความคุ้มครองไปได้เพียงสามเดือน
ผู้เอาประกันภัยได้บอกเลิกสัญญาประกันภัย
เพื่อโยกย้ายไปทำประกันภัยกับบริษัทประกันภัยเจ้าใหม่ บริษัทประกันภัยเดิมก็ยินยอม
และได้คืนเบี้ยประกันภัยสำหรับระยะเวลาเอาประกันภัยที่ยังมิได้คุ้มครองตามส่วน คือ
75% ของเบี้ยประกันภัยที่ได้ชำระเต็มปี 100% หรือคืนเบี้ยประกันภัยมาให้สามในสี่ส่วนนั่นเอง
เรื่องราวน่าจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
ถ้ามิได้มีบุคคลภายนอกผู้เสียหายมาแจ้งเรียกร้องให้ผู้เอาประกันภัยรายนี้รับผิดชอบตามกฎหมาย
สำหรับความบาดเจ็บที่ตนเองได้รับอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาสิบปีนับแต่ปี ค.ศ. 1967
คือ ผ่านไปแล้วสิบปี จู่ ๆ ก็มีบุคคลภายนอกผู้เสียหายมาเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้เอาประกันภัยรายนี้
เมื่อตรวจสอบเรื่องราว ได้ความว่า
เป็นความผิดตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัยจริง
ซึ่งได้ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยแก่บุคคลภายนอกผู้เสียหายขึ้นมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์
ค.ศ. 1967 โดยยังอยู่ในระยะเวลาที่บริษัทประกันภัยรายแรกให้ความคุ้มครองอยู่
และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ตกอยู่ในเงื่อนไขความคุ้มครองที่บริษัทประกันภัยรายดังกล่าวจำต้องรับผิดด้วยเช่นกัน
โดยมิได้ปฎิเสธความรับผิดชอบของตนแต่ประการใด
ประเด็นข้อพิพาทคดีนี้อยู่ที่ว่า
ความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันภัยดังกล่าว คือ เท่าไหร่?
เนื่องจากบุคคลภายนอกผู้เสียหายเรียกร้องค่าเสียหายมาเต็มวงเงิน 10 ล้านเหรียญ
บริษัทประกันภัยรายดังกล่าวโต้แย้งว่า
ตนเองมีช่วงระยะเวลาความคุ้มครองจริงเพียงสามเดือน หรือ 25% เท่านั้น (หากเทียบระยะเวลาเอาประกันภัยหนึ่งปีเป็น 100%) ทั้งตนก็ได้รับชำระเบี้ยประกันภัยจริงเพียงตามส่วน
25% ด้วย
เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลชั้นต้น ศาลได้ตัดสินให้บริษัทประกันภัยรายดังกล่าวรับผิดเต็มวงเงิน
10 ล้านเหรียญ
บริษัทประกันภัยรายดังกล่าวอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วิเคราะห์ว่า เมื่อผู้เอาประกันภัยได้บอกเลิกสัญญาประกันภัย
บริษัทประกันภัยรายดังกล่าวก็ได้ออกใบสลักหลัง (Endorsement) แก้ไขระยะเวลาเอาประกันภัยจากหนึ่งปีเป็นเหลือเพียงสามเดือน
และคืนเบี้ยประกันภัยที่ตนได้รับชำระมาแล้วเต็มปีให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปตามส่วน 75% และยังได้ระบุตอนท้ายใบสลักหลังฉบับนั้นด้วยอีกว่า “ส่วนเงื่อนไขและข้อความอื่น
ๆ ในกรมธรรม์ประกันภัยนี้คงใช้บังคับตามเดิม (All other terms and
conditions remain unchanged.)” ทั้งมิได้ปรากฏข้อความในใบสลักหลังฉบับนั้นตอนใดที่ได้ระบุอย่างชัดแจ้งว่า
วงเงินความคุ้มครองนั้นจะต้องลดลงไปตามส่วนด้วย
ฉะนั้น การที่กำหนดว่า เงื่อนไขและข้อความอื่น
ๆ ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้คงมีผลใช้บังคับตามเดิม คือ หมายความว่า ในส่วนวงเงินความคุ้มครองนั้นเท่าเดิม
คือ 10
ล้านเหรียญต่อเหตุการณ์แต่ละครั้งและทุกครั้ง และโดยรวมตลอดระยะเวลาเอาประกันภัยโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง
อนึ่ง เนื่องจากในคำฟ้องมิได้ระบุถึงความรับผิดของบริษัทประกันภัยรายอื่น ๆ ด้วย
จึงมิใช่หน้าที่ของศาลที่จะต้องทำการวินิจฉัย
และพิพากษายืนตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น
(อ้างอิงและเทียบเคียงจากคดี
OneBeacon Ins. Co. v.
GeorgiaPacific Corp., 474 F.3d 6 (1st Cir. 2007))
ทางปฏิบัติจะไม่เห็นข้อโต้แย้งประเด็นนี้เกิดขึ้นบ่อยนัก
จึงนำมาเล่าสู่กันฟังเป็นข้อมูลครับ
เรื่องราวต่อไป: ความสับสนระหว่างภัยการกระทำอันมีเจตนาร้าย (Malicious Act) หรือการกระทำป่าเถื่อน (Vandalism) กับภัยลักทรัพย์ (Theft)
ขณะนี้ ผมได้เขียนบทความสาระความรู้ประกันภัยทั่วไปเพิ่มเติม
ภายใต้หัวข้อ พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย)
: เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook โดยได้เริ่มต้นบทความเรื่อง
ภาษาประกันภัย คำใน คำนอก เรื่องที่
1:
ความหมายของสิ่งตกแต่ง
และสิ่งติดตั้งตรึงตรา (Fittings/Furnishings & Fixtures) ไปแล้วเมื่อต้นเดือนนี้
และกลางสัปดาห์นี้จะพูดถึงความหมายของการกระทำอันมีเจตนาร้าย (Malicious
Act) กับการการกระทำป่าเถื่อน (Vandalsim)
นั้นว่า มีความหมายอย่างไร? โดยที่ในส่วนของบล้อกจะเป็นการหยิบยกตัวอย่างคำพิพากษามาให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น โปรดติดตามครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น