วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 41 : ความหมายของการใช้รถ ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ควรมองให้แคบ หรือกว้าง



(ตอนที่หนึ่ง)

กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ในต่างประเทศ และในเมืองไทยเอง ล้วนต่างตั้งเงื่อนไขความคุ้มครองในส่วนความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกายของบุคคลภายนอกเอาไว้จากอุบัติเหตุ อันเกิดขึ้นเนื่องจาก “การใช้รถ หรือใช้ทาง

คำว่า “การใช้รถ” นั้น ดูเผิน ๆ เสมือนหนึ่งไม่น่าจะมีความหมายซับซ้อนอะไร? ทั้งในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์เองมิได้กำหนดคำนิยามเอาไว้ ในความนึกคิดของคนทั่วไป มักมองไปที่เรื่องอุบัติเหตุจากการใช้รถทางถนนทั่วไป เป็นต้นว่า รถเฉี่ยวชนกัน รถพลิกคว่ำ รถเสียหลักชนกำแพง ชนต้นไม้ ชนคน อะไรจำพวกนี้มากกว่า แต่อันที่จริงคนเราสามารถนำรถไปใช้ทำอะไรอย่างอื่นได้อีกมากมาย เมื่อพินิจพิเคราะห์ลึกลงไป น่าจะให้ความหมายมากกว่านี้อีกมากหลาย

ลองดูตัวอย่างแรกกันนะครับ

ใช้รถไปยิงปืนใส่คนอื่นซึ่งอยู่นอกรถ อย่างนี้บุคคลอื่นผู้ได้รับบาดเจ็บ ควรจะได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์หรือไม่? และการกระทำเช่นนี้ อยู่ในความหมาย “การใช้รถ” ดังว่านั้น หรือเปล่า?

คุณคิดว่าอย่างไรครับ?

เมื่อพิจารณาโดยอาศัยเทียบเคียงกับคดีต่างประเทศ ซึ่งเรื่องราวมีอยู่ว่า มีสุภาพสตรีรายหนึ่งได้จอดรถลงไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง ขณะกำลังเดินกลับมาที่รถของตนเอง ก็ถูกคนร้ายที่อยู่ในรถยนต์อีกคันหนึ่งยิงปืนใส่จนได้รับบาดเจ็บ ประเด็นข้อต่อสู้ที่สำคัญในคดีนี้ คือ การกระทำของคนร้ายรายนี้อยู่ในความหมายของคำว่า “การใช้รถ” หรือไม่?

ฝ่ายผู้บาดเจ็บบอกว่า ใช่ แต่ฝ่ายบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองปฎิเสธว่า ไม่ใช่ แล้วศาลคิดเห็นอย่างไร?

ศาลชั้นต้นในคดีนี้เห็นด้วยกับบริษัทประกันภัย ขณะที่ศาลอุทธรณ์กับศาลฎีกามีความเห็นตรงกันว่า คำว่า “การใช้รถ” นั้นควรให้ความหมายกว้างกว่าการขับรถชน อย่างในคดีนี้ คนร้ายใช้รถเป็นยานพาหนะในการทำร้ายบุคคลอื่น และในการหลบหนีด้วย ดังนั้น การยิงปืนของคนร้ายกับการใช้รถจึงมีความเชื่อมโยงกัน ด้วยเหตุผลดังกล่าว บริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองนี้จำต้องรับผิดตามเงื่อนไข (อ้างอิงคดี Livsey v. Mercury Ins. Group, 396 N.J. Super. 373, 377-78, 934 A.2d 61 (App.Div.2007))

แม้เงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ของต่างประเทศกับของไทยจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่วัตถุประสงค์ที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมากล่าวถึงเพียงเพื่อให้มุมมองที่หลากหลายในเรื่องของการตีความคำว่า “การใช้รถ” เป็นสำคัญเท่านั้นครับ

นี่เป็นตัวอย่างคดีจากประเทศสหรัฐอเมริกา ผมยังมีอีกหนึ่งตัวอย่างคดีของประเทศแคนาดาในลักษณะเรื่องราวเช่นนี้มาเปรียบเทียบให้เห็นในตอนต่อไป

วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 40 : การกินยาเกินขนาดจนเสียชีวิต เป็นอุบัติเหตุหรือเปล่า?



(ตอนที่สอง)

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า มีสองประเด็นหลักที่จำต้องพิจารณาในคดีนี้ คือ
1) การเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัยนี้เป็นอุบัติเหตุตามความหมายของกรมธรรม์ประกันภัยหรือไม่?
2) ผู้เอาประกันภัยนี้เจตนาฆ่าตัวตายหรือเปล่า?

ประเด็นแรก ศาลพิเคราะห์ความหมายของคำว่า “อุบัติเหตุ” นั้น หมายความถึง เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นโดยผู้เอาประกันภัยมิได้ตั้งใจ หรือมุ่งหวัง ในอันที่จะก่อให้เกิดการบาดเจ็บ หรือการเสียชีวิตขึ้นมา โดยความมุ่งหวังนั้นไปไกลเกินกว่าการรับรู้ถึงโอกาสความเสี่ยงภัยที่อาจจะก่อให้เกิดผลเช่นนั้นขึ้นมา ดังคนที่กระทำกิจกรรมที่มีภาวะอันตราย เช่น เล่นกีฬาอันตราย หรือกระทั่งการขับขี่รถยนต์ เป็นต้น ล้วนต่างรับรู้ถึงโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บ เสียชีวิตตามมา แต่คนส่วนใหญ่ก็มักจะคาดหวังว่า ไม่น่าจะมีอะไรเกิดขึ้น ดังนั้น จึงต้องอาศัยมุมมองจากฝั่งของผู้เอาประกันภัยเป็นเกณฑ์ ซึ่งเชื่อมั่นโดยบริสุทธิ์ใจว่า ไม่น่าจะมีอะไรเกิดขึ้นมาดังกล่าวในการพิจารณา

ในเรื่องภาระการพิสูจน์ทั้งสองประเด็นหลักนั้น ตกเป็นหน้าที่ของฝ่ายทายาทผู้เรียกร้อง ซึ่งจะต้องพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างชัดเจน หรืออย่างน้อยก็จะต้องพิสูจน์ออกมาให้เชื่อมั่นได้โดยอาศัยพฤติกรรม และสภาพแวดล้อมมาประกอบการพิจารณาด้วยว่า บุคคลในสภาวะเช่นนั้นเป็นเช่นไร?

ทั้งนี้ ได้มีการจำลองสถานการณ์อย่างกว้าง ๆ สามกรณีขึ้นมา ดังนี้

(ก) ผู้เอาประกันภัยกินยาเกินขนาด เพื่อตั้งใจ หรือมุ่งหวังให้ตนเองได้รับบาดเจ็บจนถึงแก่ชีวิต
(ข) ผู้เอาประกันภัยกินยาเกินขนาด โดยไม่ได้ตั้งใจ หรือมุ่งหวังให้ตนเองได้รับบาดเจ็บจนถึงแก่ชีวิต
(ค) ผู้เอาประกันภัยกินยาตามคำสั่งของแพทย์ โดยไม่ได้ตั้งใจ หรือมุ่งหวังให้ตนเองได้รับบาดเจ็บจนถึงแก่ชีวิต

ถ้าเข้าข่ายสองกรณีหลัง (ข) กับ (ค) ถือเป็นอุบัติเหตุ ขณะที่กรณีแรก (ก) จะไม่ใช่อุบัติเหตุ ทั้งนี้จากการพิเคราะห์พยานหลักฐานต่าง ๆ ประกอบกันแล้ว ศาลอุทธรณ์เห็นคล้อยตามน้ำหนักพยานหลักฐานของฝ่ายทายาทว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนที่ผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตนั้นน่าจะเข้าข่ายสองกรณีหลังมากกว่า

ศาลอุทธรณ์มองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ผู้เอาประกันภัยได้กินยาตามคำสั่งแพทย์หรือไม่? เพราะแม้เขาจะทำเช่นนั้น ก็มิได้ส่งผลทำให้เขาไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยแต่ประการใด หรือกระทั่งเขาอาจจะกินยาเกินขนาดไปก็ตาม แต่ตราบใดที่เขาไม่ได้เจตนา หรือมุ่งหวังให้ตนเองได้รับบาดเจ็บ ก็ต้องถือเป็นอุบัติเหตุตามความคุ้มครองแล้ว

เมื่อพิจารณาจากพฤติกรรมของผู้เอาประกันภัยเองก่อนเสียชีวิต ก็มิได้มีสัญญาณของความซึมเศร้าจนสิ้นหวังในชีวิตจากอาการเจ็บป่วยเรื้อรังดังกล่าว ตัวผู้เอาประกันภัยเองยังคงดำเนินชีวิตต่อไปตามปกติ ทั้งยังวางโครงการทางธุรกิจในอนาคต และจัดเตรียมจะซื้อรถยนต์ใหม่ให้แก่ตนเองอีกด้วย ศาลจึงรับฟังได้ว่า ผู้เอาประกันภัยมิได้มีเจตนาฆ่าตัวตาย

ขณะที่ฝ่ายบริษัทประกันภัยมิได้แสดงพยานหลักฐานมาหักล้างให้ศาลมีความเห็นเป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้น ศาลจึงพิพากษาให้บริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้

(อ้างอิงคดี Quek Kwee Kee Victoria (executor of the estate of Quek Kiat Siong, deceased) and another v American International Assurance Co Ltd and another [2017] SGCA 10)

เนื่องจากเพิ่งมีคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ออกมาต้นปีนี้เอง ขณะที่เขียนบทความนี้ ผมไม่มีข้อมูลว่า จะมีการฎีกาต่อไปอีกหรือเปล่า? ถ้ามีก็จะนำมาเล่าสู่กันฟังอีกครับ แต่เชื่อว่า หลายเรื่องราวที่กล่าวถึงไปแล้วคงสามารถให้แง่มุมที่แตกต่างออกไปในเรื่องความหมายของอุบัติเหตุได้บ้าง เพื่อเป็นกรณีศึกษาในบ้านเรา ซึ่งอาจจะมิได้มีคดีขึ้นสู่ศาลให้เห็นกันมากนัก

อันที่จริง ยังมีข้อมูลคำพิพากษาศาลต่างประเทศในเรื่องของการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลที่น่าสนใจอีกมากมาย แต่จะขอเว้นช่วง เพื่อจะได้คุยการประกันภัยอย่างอื่นสลับกันบ้างนะครับ

รถกับปืน ถ้ามาอยู่ด้วยกัน ในแง่ของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์จะเป็นอย่างไรบ้าง? ถ้าไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่คนอื่น

วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 40 : การกินยาเกินขนาดจนเสียชีวิต เป็นอุบัติเหตุหรือเปล่า?



(ตอนที่หนึ่ง)

ในบทความเรื่องที่ 39 ที่ผ่านมา อ้างอิงมาจากคำพิพากษาศาลฎีกาของประเทศแคนาดา ในคดี Co-operators Life Insurance Co. v. Gibbens, [2009] S.C.J. No. 59  ทำให้บางท่านอาจตั้งคำถามว่า ถ้าไม่เจอคำพิพากษาของประเทศไทย ก็ลองหาจากในประเทศแถบเอเชียนี้ได้ไหม? เผื่อจะมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไปก็ได้

บังเอิญด้วยความที่อยู่ไม่เป็นสุขนัก เลยไปอ่านเจอคดีล่าสุดของประเทศสิงค์โปร ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลพอดี โดยเรื่องราวมีอยู่ว่า

เมื่อเช้าวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 2012 มีคนไปพบนาย Q อายุ 50 ปี นอนไม่ได้สติอยู่บนพื้นห้องนอน จึงได้นำตัวส่งโรงพยาบาล แต่แพทย์ก็ไม่อาจช่วยเหลืออะไรได้ทัน นาย Q เสียชีวิตภายหลังจากถึงมือแพทย์ไม่นาน ด้วยสาเหตุการตายเนื่องจากภาวะร่างกายล้มเหลวโดยมีอาการตกเลือดในปอด (Pulmonary Haemorrhage) อันเป็นผลมาจากการเสพยาหลายขนานจนก่อให้เกิดผลข้างเคียง (Mixed Drug Intoxication)

ทายาทของนาย Q ผู้ซึ่งได้เอาประกันภัยตนเองเอาไว้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลก่อนที่จะเสียชีวิต ได้มาเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยรายนั้นรับผิดชอบ แต่ได้รับการปฎิเสธว่า การเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัยมิใช่เกิดจากอุบัติเหตุตามเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว

ทายาทจึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาล

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้เอาประกันภัยได้กินยาเกินขนาดอย่างน้อยสามขนานในการรักษาอาการเจ็บหลังเรื้อรังที่เป็นมาก่อนหน้านั้นหลายปี โดยเคยไปพบแพทย์หลายคนมาแล้ว และได้รับยาหลายขนานมาทานจนก่อให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา จึงไม่ถือเป็นอุบัติเหตุ เพราะผู้เอาประกันภัยคาดหวังได้ถึงผลข้างเคียงที่จะเกิดตามมาได้อยู่แล้ว แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานการฆ่าตัวตายก็ตาม ด้วยเหตุนี้ บริษัทประกันภัยจึงไม่จำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว

ทายาทได้ทำการอุทธรณ์

ลองทายกันดูนะครับว่า ศาลอุทธรณ์มีความเห็นอย่างไร?

วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

เรื่องที่ 39 : การมีเพศสัมพันธ์ และการติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์ถือเป็นอุบัติเหตุหรือไม่?



(ตอนที่สาม)

ภายหลังจากพินิจพิเคราะห์เรื่องราว ประกอบกับพยานหลักฐานทั้งหมดของคู่ความทั้งสองฝ่าย ตลอดจนแนวทางคำพิพากษาในอดีตที่ผ่านมาแล้ว ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อุบัติเหตุมิได้หมายความถึง การที่สภาพร่างกายมีความอ่อนแอ หรือเสื่อมโทรมจากโรคภัย ซึ่งเกิดจากเหตุการณ์ตามปกติทั่วไป ด้วยเหตุนี้ การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลจึงแตกต่างจากการประกันชีวิต หรือการประกันภัยสุขภาพ ดังนั้น ในการตีความจำต้องยึดถือตามเจตนารมณ์ดังกล่าวด้วย มิฉะนั้นแล้ว กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลจะกลายเป็นกรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพแบบรวมความคุ้มครองทุกอย่างไป (Comprehensive Health Insurance Policy) ซึ่งไม่สอดคล้องกับเบี้ยประกันภัยที่ค่อนข้างต่ำเช่นนั้น

คำว่า “อุบัติเหตุ” อันมีความหมายถึง สิ่งเลวร้ายที่มิได้คาดหวังเอาไว้ หรือการกระทำที่มิได้ให้ผลตามที่มุ่งหวังนั้น จึงไม่ได้หมายถึงการได้รับเชื้อโรคตามปกติทั่วไป ด้วยเหตุนี้ ถ้าการยินยอมให้ภาวะ/โรคประสาทไขสันหลังอักเสบ (Transeverse Myletisis (TM)) จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ปราศจากการป้องกัน ให้ตกอยู่ในความหมายของอุบัติเหตุด้วย ก็เสมือนเปิดช่องให้ผลสืบเนื่องที่ติดตามมาตามปกติจากการแพร่กระจายของเชื้อโรคผ่านการไอ การจาม หรือการสัมผัสเข้ามาได้เช่นกัน โดยไม่ใส่ใจถึงอุบัติเหตุ หรือความบาดเจ็บทางร่างกายที่เกี่ยวข้องใด ๆ เลย

แต่หากเหตุการณ์มีต้นเหตุที่เกิดจากอุบัติเหตุขึ้นมาก่อน แล้วค่อยเกิดการติดเชื้อโรคตามมา แม้การติดเชื้อโรคนั้นจะเกิดขึ้นตามปกติทั่วไปก็ตาม ก็ยังถือเป็นอุบัติเหตุอยู่

อย่างไรก็ตาม ผลการติดเชื้อโรคดังกล่าวของผู้เอาประกันภัยนี้มิได้ทำให้เขาไม่สามารถเรียกร้องเงินชดเชยได้ แต่ประเด็นอยู่ที่เขาได้รับเชื้อโรคมาจากเหตุการณ์ตามปกติหรือเปล่า?   

ศาลฎีกาไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่อ้างอิงคดีเรื่องยุงกัด (Kolbuc) เนื่องด้วยการวิเคราะห์เพียงผู้เอาประกันภัยติดเชื้อโรคโดยที่ตนเองไม่ได้คาดหวัง จากปัจจัยภายนอกนั้น ยังไม่เป็นการเพียงพอ การแพร่กระจายของเชื้อโรคโดยมีสัตว์เป็นพาหะนั้น ไม่อาจพูดได้ว่า ถือเป็นอุบัติเหตุ จำต้องพิจารณาภาพเหตุการณ์โดยรวมทั้งหมดประกอบเสียก่อน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว การติดเชื้อโรคผ่านการมีทางเพศสัมพันธ์ตามปกติทั่วไป จึงยังไม่อาจถือเป็นอุบัติเหตุขึ้นมาได้ แต่ถ้าเกิดจากเหตุการณ์ที่ผิดปกติ เป็นต้นว่า การข่มขืน หรือการรักษาทางแพทย์ที่ผิดปกติ อาจถือเป็นอุบัติเหตุก็ได้

ศาลฎีกาได้กลับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ โดยตัดสินให้บริษัทประกันภัยรายนี้ไม่มีความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลฉบับนี้

คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีนี้?

ข้อสรุป

สิ่งที่น่าสังเกต คือ คำวินิจฉัยขององค์คณะศาลฎีกานี้ไม่เป็นเอกฉันท์ ฉะนั้น ในแต่ละคำวินิจฉัย แต่ละคดีจึงขึ้นอยู่กับข้อความจริง และประเด็นข้อต่อสู้ของแต่คดีเป็นสำคัญ การอ้างอิงคำพิพากษาศาลจึงอาศัยเพียงเป็นแนวทางเท่านั้น ขอให้ทุกท่านโปรดใช้วิจารณญาณ

การจำแนกเรื่อง “การได้รับเชื้อโรค” กับ “การติดเชื้อโรค” ก็คล้ายกับการค้นหาความแตกต่างระหว่างการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลกับการประกันภัยสุขภาพ ซึ่งยังคงต้องเป็นที่ถกเถียงกันต่อไปโดยไม่สามารถขีดเส้นแบ่งได้อย่างชัดเจน

การถูกยุงกัด แล้วติดเชื้อโรค แตกต่างเช่นไรกับการถูกสุนัขกัด แล้วติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า?

อย่างไรก็ดี ขอให้ทุกท่านมีความรักที่สุขสันต์ในวันวาเลนไทน์ครับ

ไหน ๆ พูดถึงเรื่องการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลไปหลายเรื่องแล้ว ขอทิ้งท้ายอีกสักเรื่องก็แล้วกันในคราวต่อไป

คุณคิดว่า การกินยาเกินขนาดจนเสียชีวิต เป็นอุบัติเหตุหรือเปล่าครับ?