(ตอนที่สาม)
หากเรานำเอาสาเหตุการเกิดน้ำท่วมในตอนที่หนึ่งมาเทียบเคียงกับคำนิยามของน้ำท่วมตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย
(อค.) และกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (ทส.) ในตอนที่สอง
จะเห็นภาพออกมาได้ดังนี้ครับ
สาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วม
|
ภัยที่คุ้มครองของการประกันภัย
|
1.2)
ฝนตก หรือ
พายุฝนฟ้าคะนอง
|
ถ้าเกิดจากฝนตกหนัก ไม่ได้รวมถึงน้ำท่วมขังบนพื้นดิน
หรือน้ำที่เอ่อล้นจากหนองบึง แอ่งน้ำ ทะเลสาบ
ถ้าลมพายุทำให้เกิดน้ำท่วม
จัดอยู่ในภัยน้ำท่วม
|
1.2)
ลมพายุที่เกิดขึ้นในทะเล หรือ
มหาสมุทร
|
จัดอยู่ในภัยลมพายุ
|
1.3) น้ำทะเลหนุน
|
ไม่ได้รวมถึง
|
1.4) แผ่นดินไหว
หรือภูเขาไฟระเบิด
|
จัดอยู่ในภัยแผ่นดินไหว
หรือภูเขาไฟระเบิด
|
1.5) อุกาบาต
|
ไม่ได้รวมถึง
|
1.6) แผ่นดินทรุดตัว
|
ไม่ได้รวมถึง
|
1.7) เมื่อระดับน้ำภายใต้พื้นดินยกตัว
สูงขึ้น
|
ไม่ได้รวมถึง
|
2.1) การก่อสร้างกีดขวางทางน้ำ
|
ไม่ได้รวมถึง
|
2.2) ท่อระบายน้ำมีขนาดเล็กไม่
เพียงพอรับปริมาณน้ำ
|
ไม่ได้รวมถึง
แม้จะตีความให้ท่อระบายน้ำเป็นทางน้ำปกติ แต่ลักษณะมิใช่เป็นการเอ่อล้น
น่าจะเป็นการระบายลงไม่ทัน หรือรองรับน้ำไม่เพียงพอมากกว่า
|
2.3) การตัดไม้ทำลายป่า
|
จัดอยู่ในภัยน้ำท่วม ลักษณะเป็นน้ำป่า
|
2.4) การก่อวินาศกรรม
|
ไม่ได้รวมถึง เพราะอยู่ในข้อยกเว้น
|
2.5) การทิ้งเศษสิ่งของกีดขวางทางน้ำ
|
จัดอยู่ในภัยน้ำท่วมได้
|
2.6) การบริหารจัดการน้ำไม่ดีพอ
|
จัดอยู่ในภัยน้ำท่วมได้
|
2.7) ความประมาทเลินเล่อของมนุษย์
|
จัดอยู่ในภัยน้ำท่วมได้ ถ้าเกิดจากท่อน้ำสาธารณะแตก
|
ความรู้สึกของคนทั่วไปอาจคิดว่า น้ำท่วม
คือ น้ำท่วม ทำไมจะต้องมานั่งตีความกันด้วย เพราะความเข้าใจของแต่ละคน
อาจไม่ตรงกัน กอปรกับภัยน้ำท่วมเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงอยู่บ่อยครั้ง
ถึงขนาดบางประเทศอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือประเทศออสเตรเลียกำหนดเป็นข้อยกเว้นมาตรฐานเอาไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย
เนื่องจากไม่สามารถแบกรับความเสี่ยงภัยนี้เอาไว้เองโดยลำพังได้ จำต้องอาศัยการรวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มขึ้นมารับความเสี่ยงภัยนี้แทน
เพื่อจะได้ช่วยกันแบ่งเบาภาระความเสี่ยงภัยนี้ อย่างในประเทศไทย
ซึ่งก็พยายามกำหนดคำนิยาม และวงเงินความรับผิดเอาไว้ เพื่อจำกัดขอบเขตมิให้คุ้มครองภัยน้ำท่วมกว้างจนเกินไป
อย่างไรก็ตาม
ยังมีอีกหลายประเภทของกรมธรรม์ประกันภัยที่ปราศจากการกำหนดคำนิยามเอาไว้
จึงต้องอาศัยจากความเข้าใจของคนทั่วไปเป็นเกณฑ์
เรามาลองพิจารณาเทียบเคียงกับคำวินิจฉัยของศาลในประเทศไทยเป็นแนวทางกันนะครับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5744/2534 จำเลยรับประกันภัยอาคารโรงงานและทรัพย์สินต่าง
ๆ ในโรงงานของโจทก์ต่อมาภายในกำหนดเวลาประกันภัย ฝนตกหนัก
น้ำฝนที่ไหลจากหลังคาโรงงานลงมาในบริเวณโรงงานไม่สามารถระบายออกไปสู่นอกโรงงานได้
เพราะโจทก์ก่อกำแพงและเอากระสอบทรายปิดกั้นท่อระบายน้ำไว้เพื่อป้องกันมิให้น้ำภายนอกโรงงานไหลเข้ามา
เนื่องจากขณะนั้นเกิดเหตุน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร
เป็นเหตุให้น้ำฝนดังกล่าวท่วมขังอาคารโรงงาน
ทำให้ทรัพย์สินโจทก์เสียหายความเสียหายดังกล่าวหาใช่เกิดจากน้ำฝนที่ไหลผ่านเข้าไปในสิ่งปลูกสร้างจากการชำรุดของหลังคา
ประตู หน้าต่าง ช่องลม ท่อน้ำหรือรางน้ำ
และหาใช่ความเสียหายซึ่งเป็นผลโดยตรงอันเกิดจากอุบัติเหตุจากการล้นออกมาของน้ำจากท่อน้ำ
อันจำเลยจะต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยไม่
คดีนี้
เมื่อเทียบเคียงกับคำนิยามในตอนที่สอง จะไม่เข้าข่ายภัยน้ำท่วม หากเกิดจากฝนตกหนัก
แต่ถ้าเกิดจากพายุฝนเป็นต้นเหตุ ก็เข้าข่ายภัยน้ำท่วมได้
ซึ่งเป็นส่วนของคำนิยามที่เพิ่มเติมเข้ามาใหม่ภายหลังเหตุการณ์มหาอุทกภัย พ.ศ. 2554 ดังนั้น สำหรับคดีนี้
ในเวลานั้น จึงยังไม่อยู่ในคำนิยามของภัยน้ำท่วม และภัยเนื่องจากน้ำ เพราะมิฉะนั้นแล้ว
โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ได้มีการก่อสร้างกำแพงป้องกันในลักษณะเดียวกัน อาจจะมีปัญหาไม่ได้รับความคุ้มครองเหมือนอย่างในคดีนี้
แต่สิ่งที่น่าสนใจเพิ่มเติม คือ ถ้าเพียงฝนตกหนัก ไม่ถึงขนาดเป็นพายุฝนล่ะ
แต่ระบายน้ำไม่ทัน ก็ยังไม่เข้าข่ายความคุ้มครองนี้อยู่ดี
งั้นลองมาพิจารณาอีกคดีหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4493/2543 ที่วินิจฉัยว่า
พระราชบัญญัติอาคารชุดฯ ต้องการให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ในห้องชุด
อันเป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลสามารถใช้สิทธิในห้องชุดได้ตามสิทธิของตน
แต่ทรัพย์ส่วนกลางถือว่า เป็นกรรมสิทธิ์รวม ระหว่างเจ้าของห้องชุด ซึ่งมีไว้เพื่อใช้
หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน ทั้งกฎหมาย และข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด
ล้วนกำหนดให้เป็นหน้าที่ของนิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 ต้องดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารชุด
เมื่อสาเหตุที่น้ำท่วมห้องชุดของโจทก์ เพราะน้ำฝนเอ่อล้นจากท่อรับน้ำภายในอาคารชุด
เนื่องจากท่อรวมรับน้ำอุดตัน ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลให้ท่อระบายน้ำดังกล่าวระบายน้ำได้ตลอดเวลา
แม้โจทก์มิได้นำสืบว่า เหตุใดท่อน้ำจึงอุดตันและจำเลยที่ 1 ได้กระทำอย่างไรกับสิ่งอุดตันนั้น
หรือบริเวณที่อุดตันนั้น ไม่อาจตรวจพบได้ โดยง่าย ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดของจำเลยที่
1 แล้ว เพราะจำเลยที่ 1 ได้เก็บเงินค่าดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลาง
แล้วว่าจ้างบริษัทเอกชนที่มีอาชีพในการบริหารอาคารชุดมาทำหน้าที่แทน เมื่อบริษัทดังกล่าวละเว้นหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อ
ปล่อยให้ท่อระบายน้ำอุดตันจนน้ำท่วมห้องชุดของโจทก์เช่นนี้
ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
หากทั้งนิติบุคคลอาคารชุด และ/หรือเจ้าของห้องชุดนี้
มีกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย
สำหรับที่อยู่อาศัยรวมภัยธรรมชาติ หรือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินตามที่อ้างอิงไว้ในตอนที่สอง
จะสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยของตนได้หรือไม่? อย่างไร?
ตอนต่อไป เราค่อยมาหาคำตอบเรื่องนี้กัน
และพูดคุยกันต่อถึงความหมายของภัยน้ำท่วมกับการประกันภัยในต่างประเทศกันบ้างครับ