(ตอนที่หนึ่ง)
เรารับทราบกันแล้ว สาเหตุโดยตรงนั้น
หมายความถึง เป็นเหตุ (ภัย) เดียว หรือหลายเหตุ (ภัย)
ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอนเป็นลำดับ หรือเป็นชุดเดียวกัน
ในการก่อให้เกิดความเสียหายโดยตรง ถ้านึกถึงเส้นตรง
หรือโดมิโนหลายตัววางเรียงต่อกัน จะเป็นลักษณะเช่นนั้นล่ะครับ
ส่วนสาเหตุโดยอ้อม (Indirectly Caused) คำว่า “โดยอ้อม”
ความหมายของพจนานุกรม Merriam-Webster คือ “deviating
from a direct line or course หรือ not going straight to
the point” ถอดความได้เป็นการเบี่ยงเบนจากเส้นตรง
หรือมิได้เป็นเส้นตรง พูดง่าย ๆ เปรียบกับการเดินทางที่มิได้ไปตรง ๆ แต่อ้อมไปนั่นเอง
ฉะนั้น เส้นทางที่อ้อมไปนี้ มักจะยาวกว่า ทำให้บางครั้ง เราจะเรียกสาเหตุโดยอ้อม (Indirectly
Caused) ในอีกชื่อหนึ่งว่า “สาเหตุที่ห่างไกล (Remote Cause)”
ทั้งนี้ สาเหตุโดยอ้อม (Indirectly Caused) มีลักษณะเป็นอีกเหตุการณ์ที่แยกต่างหากออกจากสาเหตุโดยตรง
อาจดูเสมือนหนึ่งจะเชื่อมต่อกับสาเหตุโดยตรงก็ได้
ยกตัวอย่างคดี Lawrence v Accidental Insurance
Co, (1881)
7 QBD 216
ผู้เอาประกันภัยเกิดอาการชัก
และตกลงลงไปในรางรถไฟใต้ดินจนถูกรถไฟแล่นทับตาย ศาลตัดสินว่า
อาการชักของผู้เอาประกันภัยนั้นเป็นสาเหตุที่ห่างไกล (Remote
Cause) ส่วนการถูกรถไฟแล่นชนนั้นเป็นสาเหตุใกล้ชิด (Proximate
Cause) ซึ่งส่งผลทำให้ผู้เอาประกันภัยต้องเสียชีวิตลงไป
อีกตัวอย่างหนึ่งในคดี ROGERS V. WHITTAKER [1917]
1 KB 942
โกดังของผู้เอาประกันภัยภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย
ซึ่งมีข้อยกเว้นเรื่องภัยสงคราม ได้ถูกฝูงบินของกองกำลังศัตรูต่างชาติทิ้งระเบิดลงมาจนทำให้เกิดไฟไหม้ได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง
ศาลวินิจฉัยว่า แม้โกดังนั้นเสียหายจากไฟไหม้ อันเป็นภัยที่คุ้มครองก็ตาม แต่ภัยสงคราม ซึ่งอยู่ในข้อยกเว้นถือเป็นสาเหตุโดยตรงต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
ขณะที่ภัยไฟไหม้นั้นถือเป็นสาเหตุที่ห่างไกล (Remote
Cause)
แม้ทั้งสองคดีตัวอย่างเก่านานมากแล้ว
ก็เชื่อว่า น่าจะพอให้เห็นภาพได้บ้าง
บางครั้งอาจมีลักษณะเป็นอีกเหตุการณ์แยกออกไป
แต่ยังมีความเชื่อมโยงกันได้อยู่ ถ้าเราย้อนกลับไปนึกถึงคดี Tappoo Holdings Ltd
and Another v Stuchbery [2006] 4 LRC 191 ในบทความเรื่องที่ 25 ตอนที่สาม
เหตุการณ์การเข้ายึดอำนาจการปกครองในประเทศฟูจิ เวลาคล้อยหลังจากนั้นไม่นานนัก
ก็มีกลุ่มคนร้ายฉกฉวยโอกาสที่สภาวะบ้านเมืองระส่ำระสาย เข้าไปปล้นห้างค้าปลีกของผู้เอาประกันภัย
แม้เป็นการทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนบุคคล แต่ก็พูดไม่ได้ว่า เป็นผลพวงมาจากการที่บ้านเมืองตกอยู่ในสภาวะไร้ขื่อแป ปราศจากการบังคับใช้กฎหมาย อันเนื่องมาจากการยึดอำนาจการปกครองดังกล่าว การจลาจลปล้นสะดมนั้น
จึงถือเสมือนมีสาเหตุโดยอ้อมมาจากการกระทำแข็งข้อ (insurrection) นั้นเอง
หรืออย่างคดีต้นแบบที่ทั่วโลกใช้อ้างอิงเวลาพิจารณาถึงกรณีสาเหตุโดยอ้อม (Indirectly
Caused) นั่นคือ คดี Coxe v. Employers Liability Assurance Corp.,
1916, 2 K.B. 629 ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงสภาวะสงคราม
อันตกอยู่ในข้อยกเว้นทั้งสาเหตุโดยตรง และโดยอ้อมที่เกิดจากภัยสงคราม ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล
ได้เกิดขึ้นในขณะที่ผู้เอาประกันภัย ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารออกปฎิบัติหน้าที่ในการตรวจตราทหารยามประจำตามจุดต่าง
ๆ ข้างทางรถไฟ แล้วปรากฏว่า ผู้เอาประกันภัยได้ถูกรถไฟชนจนเสียชีวิต
ทำให้เกิดการตีความว่า การตายของผู้เอาประกันภัยนั้นมีสาเหตุโดยตรง หรือโดยอ้อมมาจากภัยสงครามที่อยู่ในข้อยกเว้นหรือไม่
ซึ่งผลการวินิจฉัย การปฎิบัติหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยได้ส่งผลทำให้ผู้เอาประกันภัยตกอยู่ในสภาวะที่อาจเกิดอันตรายได้
และในที่สุดก็เกิดอันตรายขึ้นมาจริง ๆ ดังกล่าว จึงถือได้ว่า
การเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัยมีสาเหตุโดยอ้อมมาจากภัยสงครามนั้นเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น