(ตอนที่หนึ่ง)
หากคำว่า “เหตุ (event)”
หรือ “ภัย (peril)” หมายความถึง “ต้นเหตุ (original cause)” หรือ “สาเหตุ (cause)” ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสีย
หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย
คำว่า “ความสูญเสีย
(loss)” หรือ “ความเสียหาย (damage)”
หรือ “ความวินาศ (destruction)” ก็จะหมายความถึง “ผลที่ได้รับ (result)”
หรือ “ผลสืบเนื่อง (consequence)”ที่เกิดแก่ตัวทรัพย์สินที่เอาประกันภัย หรือตัววัตถุที่เอาประกันภัยจากสาเหตุนั้น
โดยสรุปสั้น ๆ
เป็นเรื่องของ “เหตุ” และ “ผล” นั่นเอง
ในบทความที่ผ่านมา
เราได้พูดถึง “เหตุ” หรือ “สาเหตุ” โดยตรงกับโดยอ้อมไปแล้ว คราวนี้
จะมาพูดเน้นถึง “ผลที่ได้รับ” คือ ความสูญเสีย ความเสียหาย หรือความวินาศ
(ความหมายของทั้งสามคำนี้ จะกล่าวถึงเพิ่มเติมอีกครั้งในคราวต่อไป แต่ในบทความนี้
จะขอใช้คำเรียกรวมว่า “ความเสียหาย (loss)” แทน) ซึ่งพอมีคำต่อท้ายว่า “โดยตรง (direct)”
หรือ “โดยอ้อม (indirect)” แล้ว
จะให้ความหมายเช่นเดียวกับที่ไปต่อท้ายคำว่า “สาเหตุ” หรือไม่?
โดยจะขอเริ่มต้นที่ความหมายของความเสียหายโดยตรงก่อน
ในพจนานุกรมต่างประเทศให้ความหมายไว้ ดังนี้ (ขอถอดความภาษาไทยไปเลยนะครับ)
“ความเสียหายโดยตรง (Direct Loss)
หมายความถึง ความเสียหายทางกายภาพ หรือความเสียหายทางการเงิน
หรือความบาดเจ็บ อันเป็นผลโดยตรงของเหตุต่อเนื่องที่ไม่ขาดตอน หรือสาเหตุใกล้ชิด
ซึ่งนำไปสู่ภัยที่คุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย” (Insuranceopedia)
“ความเสียหายโดยตรง (Direct Loss)
ในการประกันภัย หมายความถึง ความเสียหายซึ่งมีภัยที่คุ้มครองเป็นสาเหตุใกล้ชิดของความเสียหายนั้น
ในการประกันภัยทรัพย์สิน และการประกันภัยเบ็ดเตล็ดมักจะจำกัดความคุ้มครองไว้เพียงในความเสียหายโดยตรงเท่านั้น” (Black
Law’s Dictionary)
ดังนั้น
ความเสียหายโดยตรงจึงให้ความหมายถึง ผลรับซึ่งเกิดขึ้นต่อตัววัตถุที่เอาประกันภัยเท่านั้นจากภัยที่คุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย
มิใช่ไปเกิดผลรับแก่สิ่งอื่นใด โดยเฉพาะถ้าใส่คำว่า “ทางกายภาพ (physical)” เพิ่มเติมต่อท้ายคำว่า “ความเสียหาย” เข้าไปอีก ก็ยิ่งเน้นไปถึงตัววัตถุที่เอาประกันภัยเท่านั้นขึ้นไปอีก
ยกตัวอย่างเช่น
ในการประกันอัคคีภัย
สำหรับที่อยู่อาศัย เมื่อเกิดไฟไหม้บ้าน ไฟ คือ ภัยที่คุ้มครองได้ลุกไหม้
ทำให้บ้านที่เอาประกันภัยไว้เสียหาย เป็นรอยไหม้เกรียม กรณีนี้
ร่องรอยถูกไฟไหม้เกรียม คือ ความเสียหายโดยตรงที่บ้านหลังนั้นได้รับจากไฟไหม้
หากระหว่างไฟกำลังลุกไหม้
มีพนักงานดับเพลิงใช้น้ำดับไฟ ก็ถือเป็นสาเหตุใกล้ชิด
หรือสาเหตุโดยตรงจากภัยไฟไหม้ ความเสียหายของบ้านหลังนั้น เนื่องจากน้ำที่ไปดับไฟ จึงถือเป็นความเสียหายโดยตรงจากภัยไฟไหม้ไปด้วย
ในการประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล
หากผู้เอาประกันภัยเมาสุรา ขี่รถจักรยานยนต์กลับบ้านพัก
ระหว่างทางเกิดชนกับรถบรรทุก ผลการชันสูตรพลิกศพ
ปรากฏมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้เอาประกันภัยประมาณ 300
มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งตกอยู่ในข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัย
บริษัทประกันภัยใช้เป็นข้ออ้างปฎิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยได้หรือไม่?
ถ้าในบันทึกประจำวันของเจ้าพนักงานตำรวจระบุให้รถบรรทุกคู่กรณีเป็นฝ่ายผิดในเหตุการณ์รถชนกันนั้น
คุณคิดว่า การเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัยรายนี้
ถือเป็นความเสียหายโดยตรงจากการเมาสุรา หรือจากการถูกรถบรรทุกชนตายกันแน่?
ในตอนต่อไป
จะนำตัวอย่างคดีต่างประเทศ ซึ่งมีความซับซ้อนกว่านี้มาคุยให้ฟังครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น