วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 26 : เมื่อมีสาเหตุโดยตรง ก็ต้องมีสาเหตุโดยอ้อม (Indirectly Caused) แล้วมันหมายถึงอะไรกันอีกล่ะนี่?



(ตอนที่สอง)



อันที่จริงในคดี Coxe v. Employers Liability Assurance Corp., 1916, 2 K.B. 629 ศาลยังอธิบายเพิ่มเติมถึงเจตนารมณ์ของผู้ร่างกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งเขียนข้อยกเว้นเรื่องภัยสงครามให้ครอบคลุมถึงสาเหตุโดยตรง หรือโดยอ้อม โดยเฉพาะคำว่า “สาเหตุโดยอ้อม” นั้น คงเจตนาที่จะให้มีการวางกรอบของสถานการณ์ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ณ ที่ใดที่หนึ่ง มิใช่เพื่อให้ปราศจากขอบเขตใด ๆ เลย ดังเช่นในคดีนี้ หากผู้เอาประกันภัยถูกฟ้าผ่าตายภายในกองทหาร คงพูดไม่ได้ว่า การเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัยนั้นมีสาเหตุโดยอ้อมมาจากภัยสงคราม อันทำให้ตกอยู่ในข้อยกเว้นดังกล่าว แต่ขอบเขตของสถานการณ์จะอยู่ขนาดไหนนั้น จำต้องอาศัยการพินิจพิเคราะห์ด้วยเหตุและผลประกอบเป็นสำคัญ ไม่สามารถกำหนดช่วงเวลา หรือระยะทางที่เกี่ยวข้องได้อย่างชัดเจนตายตัวลงไปได้ ฉะนั้น คำว่า สาเหตุที่ห่างไกล (Remote Cause)” อาจไม่ได้สื่อความหมายเช่นนั้นจริง ความยากลำบากในการตีความน่าจะอยู่ตรงจุดนี้ล่ะครับ มิฉะนั้นแล้ว ก็จะกลายเป็นคนละเรื่อง คนละเหตุการณ์ไป



คดีเก่าอีกคดีหนึ่ง ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยพร้อมให้เหตุผลน่ารับฟังอย่างยิ่งในประเด็นนี้ คือ คดี Pacific Club v. Commercial etc. Co., 12 Cal. App. 503 (Cal. Ct. App. 1910) เป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ณ กรุงซานฟรานซิสโก เมื่อวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1906 แล้วส่งผลทำให้ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยของผู้เอาประกันภัยได้รับความเสียหายจากไฟไหม้ที่ลุกลามต่อเนื่องมาจากจุดอื่นในวันถัดมา



เนื่องจากกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยของผู้เอาประกันภัย แม้ระบุคุ้มครอง “ความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงจากไฟไหม้ เว้นแต่จะได้มีการกำหนดข้อยกเว้นไว้เป็นอย่างอื่นในที่นี้” แต่มีข้อยกเว้นข้อหนึ่งได้ระบุว่า “บริษัทจะไม่จำต้องรับผิดสำหรับความเสียหาย อันมีสาเหตุโดยตรง หรือโดยอ้อมมาจาก .... แผ่นดินไหว ....



ถ้อยคำที่เขียนข้างต้นนั้น มีความหมายอย่างไร? มันจะสื่อถึง บริษัทประกันภัยไม่จำต้องรับผิดต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใด ๆ จากไฟไหม้ หากแผ่นดินไหวทำให้ท่อน้ำประปาใหญ่แตก จนไม่มีน้ำให้พนักงานดับเพลิง หรือคนอื่นใดไปทำการดับไฟอย่างที่ถูกกล่าวอ้างในคดีนี้ด้วยหรือไม่? หรือกระทั่งหมายความถึงแผ่นดินไหวทำให้อุปกรณ์ดับเพลิง เสียหายใช้การไม่ได้ หรือพนักงานดับเพลิงต้องเสียชีวิตลง หรือถนนหนทางเสียหายจนไม่สามารถเข้าไปดับเพลิงได้กระนั้นหรือ? ผลสืบเนื่องเหล่านี้ค่อนข้างถือเป็นสาเหตุที่ห่างไกล (too remote) จนเกินไป ศาลจึงไม่อาจพิจารณาได้ว่า แผ่นดินไหวเป็นสาเหตุโดยอ้อมจากความเสียหายของไฟไหม้ได้



บริษัทประกันภัยพูดถูก ตรงที่ว่า “สาเหตุโดยตรง หรือโดยอ้อม (direct or indirect cause)” นั้น หมายความถึง “สาเหตุใกล้ชิด หรือสาเหตุที่ห่างไกล (proximate or remote cause)” ฉะนั้น จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหาย ซึ่งมีแผ่นดินไหวเป็นสาเหตุที่ห่างไกลดังกล่าว คู่ความทั้งสองฝ่ายล้วนยกเหตุผลของตนขึ้นมาสนับสนุนคำกล่าวอ้างของตนเอง ศาลไม่เห็นประโยชน์ที่จะต้องมาค้นหาความหมายที่แท้จริงเพียงแค่สิ่งใดถือเป็น “สาเหตุโดยตรง” อันหมายถึง “สาเหตุใกล้ชิด” หรือ “สาเหตุโดยอ้อม” หมายความถึง “สาเหตุที่ห่างไกล” เท่านั้น ศาลเห็นว่า ข้อยกเว้นเรื่องแผ่นดินไหวนั้น ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้เกิดผลโดยทางตรง หรือโดยทางอ้อมในการทำให้เกิดไฟไหม้ขึ้นมาเท่านั้น และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปพิจารณากันอีกว่า ความเสียหายนั้นมีสาเหตุมาจากแผ่นดินไหวหรือไม่ เพราะมันมิได้เป็นสาเหตุโดยตรงในเหตุข้อพิพาทกันนี้เลย ทั้งศาลก็ไม่เชื่อว่า มีคู่ความฝ่ายใดจะคาดคิดได้ว่า แผ่นดินไหวจะรุนแรงถึงขนาดทำให้ปราศจากน้ำไปดับไฟ



จริงอยู่ ในหลายคดีจากเหตุการณ์นี้ บริษัทประกันภัยหลายแห่งชนะคดี เพราะสามารถชี้ชัดได้ว่า แผ่นดินไหวเป็นสาเหตุโดยตรงทำให้เกิดไฟไหม้ (แผ่นดินไหวทำให้เตาที่มีไฟล้มลงมา เป็นต้น) แต่หลายคดีก็ทำไม่สำเร็จดังในคดีนี้ ซึ่งกล่าวอ้างเพียงแผ่นดินไหว เป็นสาเหตุโดยอ้อมในการทำให้เกิดไฟไหม้ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนี้ เนื่องจากทำให้ท่อน้ำใหญ่แตกเสียก่อน จนไม่มีน้ำไปดับไฟที่กำลังลุกลามไปถึงสถานที่ของผู้เอาประกันภัย



เรื่องต่อไป เราจะมาคุยกันถึงความหมายของคำว่า “ความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรง (Direct Loss or Damage)” กันแล้วครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น