(ตอนที่สอง)
ผู้เอาประกันภัยประกอบธุรกิจห้องเย็นเก็บรักษา
และแปรรูปเนื้อสัตว์ ในเมือง Galveston ตั้งอยู่บนเกาะชื่อเดียวกัน ในมลรัฐเท็กซัส
ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยตัวเมือง Galveston และห้องเย็นนั้น ได้รับกระแสฟ้าที่ป้อนมาจากสถานีไฟฟ้าบนผืนแผ่นดินใหญ่
ครั้นในเวลาประมาณตีสาม ของวันจันทร์ที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1961 พายุเฮอร์ริเคนคาร์ลาได้พัดมาทำให้เสาไฟฟ้าสายส่ง ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากสถานที่ประกอบการของผู้เอาประกันภัยประมาณห้าไมล์
ได้รับความเสียหาย ส่งผลให้กระแสไฟฟ้าดับทั่วทั้งเมือง Galveston
รวมห้องเย็นของผู้เอาประกันภัยด้วย
กว่าจะสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้ากลับคืนมาดังเดิมได้ ก็ปาไปเป็นเวลาประมาณเกือบเที่ยงวันของวันพฤหัสบดีที่
14 กันยายน ค.ศ. 1961 ส่งผลทำให้เนื้อสัตว์บางส่วน ประมาณร้อยละสิบถึงสิบห้าที่อยู่ในห้องเย็นได้รับความเสียหายจากการที่อุณหภูมิในห้องเย็นเพิ่มสูงขึ้น
เนื่องจากการขาดกระแสไฟฟ้าดังกล่าว ถึงแม้ลมพายุนั้นมิได้สร้างความเสียหายโดยตรงแก่สถานประกอบการของผู้เอาประกันภัยเลย
เมื่อผู้เอาประกันภัยมาเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายของเนื้อสัตว์นั้น
กลับได้รับการปฎิเสธจากบริษัทประกันภัยโดยอ้างว่า ไม่อยู่ในความคุ้มครอง เพราะในกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินฉบับนี้ของผู้เอาประกันภัยได้ระบุอย่างชัดเจนแล้วว่า
“คุ้มครองความเสียโดยตรง (direct
loss) ต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย
อันมีสาเหตุมาจากลมพายุ และเฮอร์ริเคน”
แม้เนื้อสัตว์ในห้องเย็นจะเป็นทรัพย์สินที่ได้กำหนดเอาประกันภัยไว้
แต่ก็มิได้รับความเสียหายโดยตรงจากภัยลมพายุดังกล่าว เนื่องจากลมพายุนั้นมิได้เคลื่อนตัวมาถึงสถานที่เอาประกันภัยเลย
จึงเกิดประเด็นข้อพิพาทถึงความหมายของคำว่า
“ความเสียโดยตรง (direct loss)” ซึ่งมิได้กำหนดคำนิยามไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยนั้น
จะมีความหมายเช่นใดในเมื่อ
(1) ลมพายุได้สร้างความเสียหายโดยตรงต่อเสาไฟฟ้า
ซึ่งมิใช่เป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยในกรณีนี้
(2) ความเสียหายจากลมพายุข้างต้น
เกิดอยู่ห่างจากสถานที่เอาประกันภัยประมาณห้าไมล์ (หรือประมาณแปดกิโลเมตร)
(3) กระแสลมพายุสงบลงในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
แต่ใช้เวลาซ่อมแซมการจ่ายกระแสไฟฟ้านานถึงสามสี่วัน จนเป็นเหตุให้เนื้อสัตว์เสียหายดังกล่าว
(4) ภัยหลายภัยที่เกิดขึ้นถือเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอนหรือไม่?
ศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ตีความว่า
ความหมายที่ถูกต้องของความเสียหายโดยตรง อันมีสาเหตุจากภัยที่คุ้มครองนั้น
หมายความถึง มีสาเหตุมาจากภัยโดยปกติ ซึ่งต่อเนื่องเป็นลำดับโดยไม่ขาดตอน
(ไม่มีภัยใหม่เกิดขึ้น หรือมีภัยอื่นเข้ามาสอดแทรกจนทำให้ขาดตอนไป) จนทำให้เกิดความเสียหายนั้นขึ้นมา
ซึ่งมิฉะนั้นแล้ว ความเสียหายนั้นก็จะไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย
ดังนั้น สำหรับประเด็นที่ว่า
เนื้อสัตว์ที่เสียหายนั้นเป็นความเสียหายโดยตรงจากภัยลมพายุหรือไม่? ศาลเห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นต่อเนื่องกันมาโดยมีภัยลมพายุเป็นต้นเหตุ
คำอ้างของบริษัทประกันภัยไม่น่ารับฟังเป็นเหตุเป็นผลนัก หากเพียงพิจารณาว่า
ลมพายุที่สร้างความเสียหายแก่เสาไฟฟ้าสายส่งนั้น มิใช่เป็นสิ่งที่สามารถคาดหวังได้
ในเวลาที่เอาประกันภัยอาหารซึ่งเก็บรักษาอยู่ในห้องเย็น โดยให้ถือเป็นความเสียหายสืบเนื่อง
หรือความเสียหายโดยอ้อมมากกว่าที่จะเป็นความเสียหายโดยตรง ศาลไม่เห็นด้วยกับการแปลความเช่นนี้
ซึ่งออกจะแคบเกินไป
ประกอบกับคู่ความในคดีต่างเห็นพ้องกันว่า
ผู้เอาประกันภัย หรือแม้กระทั่งบุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นใด ต่างมิได้ละเลยในการใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการจัดการแก้ไข
หรือทุเลาปัญหาที่เกิดขึ้นตามสมควร เท่าที่สามารถจะกระทำได้แล้ว
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลอุทธรณ์จึงตัดสินให้บริษัทประกันภัยมีความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้
อ้างถึงคดี Federal Insurance Company v. Bock, 382 S.W.2d 305 (Tex. App. 1964)
ความเสียหายในลักษณะเช่นนี้
ศาลในประเทศอินเดียก็มีความเห็นไม่แตกต่างกัน ดังในคดี S.K. Exports (P) Ltd. vs New India
Assurance Co. Ltd. (2004)
เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่า พายุไซโคลนภัยที่คุ้มครองเป็นสาเหตุทำให้สต็อกปลาที่เป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัย
ซึ่งเก็บอยู่ในห้องเย็นของผู้เอาประกันภัย เน่าเสียหาย โดยความเกี่ยวเนื่องของพายุไซโคลนกับการเน่าเสียของสต็อกปลานั้น
ถือเป็นเหตุการณ์ใกล้ชิดกัน เนื่องจากพายุไซโคลนทำให้สถานีไฟฟ้าได้รับความเสียหายจนจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ไม่ได้อีกต่อไป
ทั้งเคยประสบเหตุการณ์กระแสไฟฟ้าดับ เนื่องจากลมพายุอยู่บ่อยครั้งในช่วงฤดูลมมรสุม
ตอนต่อไป
เราจะคุยถึงกรณีผู้เสียหายภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดของผู้เอาประกันภัย จะถือเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรง
ในอันที่จะฟ้องบริษัทนายหน้าประกันวินาศภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้น
โทษฐานที่จัดความคุ้มครองไม่เหมาะสมได้หรือไม่?
คุณเห็นว่าอย่างไรบ้างครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น