วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 25 : ความเสียหายจากสาเหตุโดยตรง (Directly Caused) หมายถึงอะไร?



(ตอนที่สี่)   


สำหรับตัวอย่างสุดท้ายของบทความเรื่องสาเหตุโดยตรง เป็นคดีที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา เรื่องมันมีอยู่ว่า


ผู้เอาประกันภัยรายนี้ ครอบครัว Stankova ได้ซื้อบ้าน พร้อมโรงรถซึ่งเชื่อมต่อเป็นส่วนหนึ่งของบ้านหลังนี้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 โดยประวัติดั้งเดิมของบ้านหลังนี้ จวบจนก่อนเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ แม้ตั้งอยู่ใกล้เชิงเขา ไม่ปรากฏเคยได้รับความเสียหายจากภัยน้ำท่วม และโคลนถล่มมาก่อนเลย ผู้เอาประกันภัยได้เอาประกันภัยตัวบ้านพร้อมโรงรถภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยสำหรับที่อยู่อาศัยไว้กับบริษัทประกันภัย Metropolitan Property and Casualty Insurance Company


ในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 2011 ได้เกิดไฟไหม้ป่าใกล้บริเวณบ้านพักของผู้เอาประกันภัย แล้วลุกลามมาไหม้โรงรถของผู้เอาประกันภัยในวันที่ 13 มิถุนายน แต่โชคดีที่มิได้ลามต่อเนื่องไปถึงตัวบ้าน กว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะสามารถควบคุมไฟป่าได้อย่างราบคาบ ก็ปาไปจนถึงวันที่ 8 กรกฎาคม ไฟได้ไหม้ทำลายพืชผลบริเวณเชิงเขาไปทั้งหมด ครั้นต่อมาอีกประมาณหนึ่งเดือน ในวันที่ 6 สิงหาคม ก็เกิดโคลนถล่มกับน้ำที่ไหลบ่าลงมาจากเชิงเขา ไปสร้างความเสียหายแก่ตัวบ้านของผู้เอาประกันภัย


เนื่องด้วยกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับที่อยู่อาศัยฉบับนี้ ระบุคุ้มครองถึงความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย อันเกิดจากอุบัติเหตุซึ่งเกิดขึ้นโดยฉับพลันจากภัยที่คุ้มครอง ในที่นี้คือ ไฟไหม้ ผู้เอาประกันภัยจึงไปเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าว


บริษัทประกันภัยพิจารณาชดใช้ความเสียหายของไฟไหม้ที่เกิดแก่โรงรถ แต่ปฎิเสธไม่คุ้มครองความเสียหายของตัวบ้านจากโคลนถล่ม และภัยเนื่องจากน้ำดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า ตกอยู่ในข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ที่ระบุว่า


ความเสียหายเนื่องจากน้ำ (Water Damage) หมายความถึง ความเสียหายใด ๆ อันมีสาเหตุมาจาก เป็นผลมาจาก มีส่วนมาจาก หรือส่งผลมาจากน้ำท่วม การไหลย้อนกลับจากท่อระบายน้ำ น้ำท่วมบนพื้นผิว หรือการรั่วไหล........

ความเสียหายจากเคลื่อนตัวของดิน (Earth Movement) หมายความถึง ความเสียหายใด ๆ อันมีสาเหตุมาจาก เป็นผลมาจาก มีส่วนมาจาก หรือส่งผลมาจากเหตุการณ์ซึ่งรวมถึง แต่ไม่จำกัดอยู่เพียงแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หลุมยุบ โคลนถล่ม ........


ผู้เอาประกันภัยโต้แย้งว่า ไฟไหม้เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายทั้งหมด แล้วทำให้เกิดความเสียหายจากโคลนถล่ม และภัยเนื่องจากน้ำ ถือเป็นสาเหตุใกล้ชิดต่อเนื่อง โดยไม่ขาดตอนจากไฟไหม้ ซึ่งเป็นภัยที่คุ้มครอง บริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดด้วย


ศาลชั้นต้นเห็นด้วยกับบริษัทประกันภัย เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์ ก็ได้มีการตีความคำว่า “สาเหตุโดยตรง (direct cause)” สำหรับภัยไฟไหม้ คือ มิได้จำกัดอยู่เพียงการถูกเผาไหม้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงผลสืบเนื่องอย่างฉับพลันของการลุกลาม หรือการเผาไหม้ของไฟนั้น หรือกระทั่งความเสียหายทั้งหลายซึ่งมีสาเหตุใกล้ชิดมาจากไฟนั้นอีกด้วย เจตนารมณ์ของการให้ความคุ้มครองสำหรับไฟไหม้ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยก็เพื่อที่จะให้ความคุ้มครองถึงความสูญเสีย หรือความเสียหายทุกอย่าง อันมีสาเหตุใกล้ชิดมาจากไฟไหม้ ตลอดจนถึงความสูญเสีย หรือความเสียหายทุกอย่างเท่าที่จำเป็นต่อเนื่องโดยตรง และโดยฉับพลันจากภัยไฟไหม้นั้น หรือจากสภาวการณ์เช่นนั้นด้วย 


ศาลอุทธรณ์วิเคราะห์ว่า ไฟไหม้ป่านั้น มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสาเหตุโดยตรงในการก่อให้เกิดโคลนถล่ม ในลักษณะต่อเนื่องกันโดยไม่ขาดตอน ประกอบกับผู้เอาประกันภัยเองก็ให้หลักฐานที่รับฟังได้ว่า ไม่เคยปรากฏมีโคลนถล่ม และน้ำท่วมในพื้นที่นั้นมาก่อนเลย อีกทั้งในปีที่เกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ ก็ไม่มีฝนตกหนักเกิดขึ้นมาแต่ประการใด ดังนั้น ศาลอุทธรณ์จึงรับฟังเป็นเหตุเป็นผลเชื่อได้ว่า ภัยโคลนถล่มกับภัยเนื่องจากน้ำนั้นมีสาเหตุใกล้ชิดมาจากภัยไฟไหม้


อ้างถึงคดี Stankova v. Metropolitan Prop. & Cas. Ins. Co., 2015 WL 3429395, 2015 U.S. App.



คุณคิดเห็นอย่างไรกับคำวินิจฉัยในคดีนี้ครับ


อันที่จริง ศาลอุทธรณ์เองก็มิได้ฟันธงชัดเจนนะครับ เพราะศาลชั้นต้นมิได้วิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างสองเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างกระจ่างแจ้ง แต่กระนั้น คงให้แนวทางในการศึกษา และสร้างความเข้าใจแก่พวกเราได้ไม่น้อย


คราวต่อไป เราจะมาเริ่มทำความเข้าใจกันถึงความหมายของสาเหตุโดยอ้อม (Indirectly Caused) กันต่อไปครับ  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น