(ตอนที่สาม)
บทความชุดนี้
ตั้งใจจะเขียนถึงถ้อยคำที่เรามักพบเห็นกันอยู่เสมอในกรมธรรม์ประกันภัย แต่ก็มักสร้างประเด็นปัญหาข้อพิพาทขึ้นบ่อยครั้งว่า
สิ่งที่เขียนไว้นั้น มีความหมายเช่นใดแน่ ซึ่งจะประกอบด้วยถ้อยคำดังนี้
1) สาเหตุโดยตรง (Direct Cause)
2) สาเหตุโดยอ้อม (Indirect Cause)
3) ความเสียหายโดยตรง (Direct Loss)
4) ความเสียหายโดยอ้อม (Indirect Loss)
5) สาเหตุใกล้ชิด (Proximate Cause)
ดังนั้น
บทความชุดนี้จะประกอบด้วยห้าเรื่องราวข้างต้น โดยบทความชุดแรกนี้ในสองตอนที่ผ่านมา
ซึ่งอยู่ในหัวข้อเรื่องที่หนึ่งนั้น เราได้วิเคราะห์กันไปบ้างแล้วถึงความหมายของสาเหตุโดยตรง
ตามความหมายของประกันภัย
สำหรับตอนที่สามนี้
เรามาวิเคราะห์ตัวอย่างเพิ่มเติมอีกเรื่องหนึ่งตามที่ทิ้งท้ายไว้ในตอนที่ผ่านมาว่า
“ถ้าเกิดเหตุจลาจลในจุดหนึ่งของเมือง
แล้วในอีกจุดหนึ่ง ก็มีคนร้ายฉวยโอกาสปล้นขโมยของ คุณคิดว่า
เหตุการณ์หลังเป็นสาเหตุโดยตรงจากเหตุการณ์แรกไหมครับ?”
หลายท่านคงนึกว่า
หากผู้ชุมนุมประท้วงก่อการจลาจล จุดไฟเผาข้าวของ หรือทุบกระจก
ขโมยสิ่งของในร้านค้าต่าง ๆ บริเวณที่ชุมนุม จะชัดเจนกว่าเยอะว่า
มันมีความเกี่ยวข้องต่อเนื่องกันโดยไม่ขาดตอน
แต่ถ้าเกิดจลาจลในจุดหนึ่งของเมือง
และอีกฝากหนึ่งของเมือง ก็มีคนร้ายฉวยโอกาสเข้าปล้นขโมยของ มันน่าจะไม่เกี่ยวกัน
เพราะข้อมูลค่อนข้างชัดเจน เป็นการฉวยโอกาสของคนร้าย บางท่านคงคิดเช่นนั้น
เรามาเทียบเคียงเรื่องนี้กับคดีที่เกิดขึ้นจริงกัน
เป็นคดีระหว่าง Tappoo Holdings Limited (Tappoo) ซึ่งเป็นเจ้าของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในกรุงซูวา
เมืองหลวงของประเทศฟูจิ โดยได้เอาประกันภัยทรัพย์สินของตนเองไว้กลับกลุ่มผู้ร่วมรับประกันภัยของสถาบันลอยด์ (Lloyd's Syndicates) ภายใต้กรมธรรม์ประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิด
เมื่อวันที่
19
พฤษภาคม ค.ศ. 2000 ระหว่างที่กลุ่มผู้ประท้วงชนพื้นเมืองของประเทศฟูจิได้เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือร้องทุกข์
หลังจากที่ได้รวมตัวกันชุมนุมประท้วงยืดเยื้อมาก่อนหน้านั้นหลายสัปดาห์แล้ว คณะผู้ก่อการก็เข้าไปยึดรัฐสภา
บุกจับตัวนายกรัฐมนตรีกับคณะรัฐมนตรีไว้เป็นประกัน
ครั้นเมื่อทราบข่าวการก่อการยึดอำนาจปกครอง
กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปรวมตัวกันอยู่ที่รัฐสภา ประมาณสิบนาทีหลังจากการเข้ายึดอำนาจการปกครอง
ก็ได้มีการออกประกาศเผยแพร่ทางวิทยุ นับแต่นั้นไป
ส่งผลทำให้กลุ่มธุรกิจร้านค้าได้เริ่มทยอยปิดทำการ ปล่อยพนักงานกลับบ้าน
ประมาณสองชั่วโมงหลังเหตุการณ์การยึดอำนาจปกครองนั้น
ได้มีผู้ก่อการจลาจลบุกเข้าไปทุบทำลาย และขโมยข้าวของในห้างค้าปลีกของผู้เอาประกันภัย
เมื่อผู้เอาประกันภัยไปเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากกลุ่มผู้ร่วมรับประกันภัย
กลับได้รับการปฎิเสธว่า มิได้อยู่ในความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยภายใต้ข้อยกเว้นการแข็งข้อ
(insurrection)
ผู้เอาประกันภัยจึงได้นำเรื่องมาฟ้องต่อศาล
ศาลชั้นต้นพิจารณาให้ผู้เอาประกันภัยชนะคดี
กลุ่มผู้ร่วมรับประกันภัยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้กลุ่มผู้ร่วมรับประกันภัยไม่ต้องรับผิด
เนื่องจากคดีนี้จะถือเป็นคดีตัวอย่างแก่ผู้ได้รับความเสียหายอื่น ๆ จากเหตุการณ์ดังกล่าว
ผู้เอาประกันภัยจึงนำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาลสูงของประเทศฟูจิ
ประเด็นการพิจารณาที่สำคัญ
2) ความสูญเสีย
หรือความเสียหายมีสาเหตุโดยตรง หรือโดยอ้อมมาจากการแข็งข้อ หรือไม่?
เนื่องจากในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ของผู้เอาประกันภัยมีข้อยกเว้นระบุว่า
“กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ไม่คุ้มครองความสูญเสีย
หรือความเสียหายใด ๆ อันมีสาเหตุมาจาก หรือเป็นผลมาจากกรณีดังต่อไปนี้ ทั้งโดยทางตรง
และโดยทางอ้อม
(ก) สงคราม
การรุกราน การกระทำของศัตรูต่างชาติ การปฏิบัติการเยี่ยงสงคราม (ไม่ว่าจะได้มีการประกาศหรือไม่ก็ตาม) สงครามกลางเมือง การก่อการกำเริบของเจ้าหน้าที่รัฐ การกบฎ
การปฏิวัติ การแข็งข้อ การยึดอํานาจการปกครองโดยทหาร
หรือการช่วงชิงอำนาจ .........”
ศาลสูงได้พิจารณาประกอบหลักกฎหมายของประเทศอังกฤษ
ประเทศในเครือจักรภพ และประเทศสหรัฐอเมริกา สามารถสรุปคำนิยามของ “การแข็งข้อ (insurrection)” ได้ใจความดังนี้
การแข็งข้อ
(insurrection) คือ การพยายามใช้กำลังล้มล้างรัฐบาล โดยขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของคณะผู้ก่อการ
โดยเฉพาะหัวหน้าคณะผู้ก่อการเป็นสำคัญ มิใช่มุ่งเพียงความสำเร็จในการกระทำเท่านั้น
และจำนวนของผู้ร่วมก่อการไม่จำต้องเป็นกลุ่มใหญ่ ทั้งไม่ต้องอาศัยการวางแผนเตรียมการเป็นอย่างดี
อาจเพียงแค่รวมตัวกันหลวม ๆ เท่านั้น
ดังนั้น
ข้อต่อสู้ของผู้เอาประกันภัยที่อ้างว่า กลุ่มผู้ร่วมรับประกันภัยไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความเกี่ยวข้องโดยอ้อมระหว่างเหตุการณ์การกระทำการแข็งข้อ
(insurrection)
กับการก่อจลาจลที่ห้างค้าปลีกของผู้เอาประกันภัยนั้นได้
จึงรับฟังไม่ขึ้น เพราะการพิจารณาว่า ทั้งสองเหตุการณ์ไม่มีความเกี่ยวพันกันนั้น
ช่างค้านกับสามัญสำนึกของคนทั่วไป ด้วยเหตุนี้ กลุ่มผู้ร่วมรับประกันภัยจึงไม่ต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว
อ้างถึง Tappoo
Holdings Ltd and Another v Stuchbery [2006] 4 LRC 191
หมายเหตุ
ถ้ามีหลักฐานชัดเจนว่า การจลาจลเกิดจากฝีมือกลุ่มผู้ก่อการแข็งข้อ น่าจะรับฟังได้เพียงพอว่า
มีความเกี่ยวข้องโดยตรงจากการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งยังคงตกอยู่ในข้อยกเว้นดังว่านั้นของกรมธรรม์ประกันภัยอยู่ดี
ตอนต่อไปขอยกตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง
สำหรับบทความเรื่องสาเหตุโดยตรง โดยทิ้งท้ายให้ลองคิดกันดูนะครับว่า
โคลนถล่มกับการเกิดไฟไหม้ มันมีความสัมพันธ์กันได้หรือไม่ อย่างไร?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น