วันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 23 : ความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) ชัดเจน หรือยังสับสนกันอยู่



(ตอนที่สาม)

แม้ความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) ได้ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1906 จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ณ เมืองซานฟรานซิสโก แต่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็ยังมีประเด็นข้อพิพาทเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาจวบจนกระทั่งทุกวันนี้ โดยเฉพาะกับกรณีความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) จากภัยที่ยกเว้น หรือดังที่ยกตัวอย่างในคราวก่อนของกรณีแรก

ข้อพิพาทยอดนิยม คือ ความบกพร่องของตัวอาคารสิ่งปลูกสร้างเอง หรือความเสื่อมสภาพของท่อน้ำ หรืออุปกรณ์ ซึ่งตกอยู่ในข้อยกเว้น แล้วไปก่อให้เกิดความเสียหายเนื่องจากน้ำที่ติดตามมา อันเป็นภัยที่ปกติจะได้รับคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย จะถือว่า ความเสียหายเนื่องจากน้ำที่ติดตามมานั้น หรือกระทั่งภัยอื่น ๆ ที่ต่อเนื่องมาอีกทอดหนึ่งนั้น โดยไม่คำนึงว่า ภัยต่อเนื่องเหล่านั้นจะเป็นภัยที่ยกเว้น หรือภัยที่คุ้มครอง เสมือนนำเอากรณีของความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) ทั้งสองกรณีมาเชื่อมโยงกัน เป็นต้นว่า ท่อน้ำผุเนื่องจากสนิม (ภัยที่ยกเว้น) ทำให้น้ำรั่วไหลออกมา (ภัยที่คุ้มครอง) จนทำให้เกิดราขึ้นมา (ภัยที่ยกเว้น) จะส่งผลทำให้พลอยได้รับความคุ้มครองไปด้วยกันหรือไม่?

ปัจจุบัน ความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) จะมีการร่างถ้อยคำของภัยที่คุ้มครองซึ่งติดตามมาจากภัยที่ยกเว้นอยู่สองแบบ คือ

ก) แบบที่หนึ่ง เปิดกว้าง ไม่จำกัดภัยที่คุ้มครอง โดยกำหนดให้คุ้ม 
    ครองอุบัติภัยทุกอย่าง ซึ่งไม่อยู่ในข้อยกเว้น
ข) แบบที่สอง จำกัดภัยที่คุ้มครอง เพียงตามภัยที่ระบุไว้เท่านั้น

เนื่องด้วยความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) มิได้ถูกกำหนดคำนิยามเอาไว้อย่างชัดแจ้งในกรมธรรม์ประกันภัย ศาลต่างประเทศจึงได้กำหนดทฤษฎีการตีความไว้ 2 แนวทาง ดังนี้

1) ภัยที่คุ้มครอง ซึ่งติดตามมาจากภัยที่ยกเว้นนั้น จะต้องเป็น
    เหตุการณ์ที่เป็นอิสระ แยกจากกัน โดยอาศัยเหตุการณ์แผ่นดิน
    ไหวที่เมืองซานฟรานซิสโกเป็นต้นแบบในการพิจารณา ภัยแผ่น
    ดินไหว (ภัยที่ยกเว้น) ก่อให้เกิดภัยไฟไหม้ (ภัยที่คุ้มครอง) 
    ติดตามมา ซึ่งทั้งสองภัยเป็นอิสระ แยกจากกัน
2) ภัยที่คุ้มครอง ซึ่งติดตามมาจากภัยที่ยกเว้นนั้น ไม่จำต้องแยกเป็น
    อิสระจากกัน เพราะมิได้มีการกำหนดถ้อยคำเอาไว้เช่นนั้น จำต้อง
    ตีความโดยเคร่งครัด ขอให้เพียงแค่ติดตามมาเท่านั้นก็พอแล้ว

เมื่อเป็นเช่นนี้ จำต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลเป็นสำคัญ จะเลือกใช้ทฤษฎีใดในการพิจารณา อย่างไรก็ตาม ศาลทุกแห่งล้วนมีความเห็นพ้องต้องกันว่า จะต้องไม่ส่งผลทำให้เป็นการขยายความคุ้มครองเกินเลยจากเจตนารมณ์ในการกำหนดข้อยกเว้นเหล่านั้นขึ้นมา

1) ตัวอย่างแนวคำพิพากษาศาลที่เห็นว่า ต้องเป็นเหตุการณ์ที่แยกอิสระจากกัน

คดี Schloss v. Cincinnati Insurance Co., 54 F. Supp. 2d 1090 (M.D. Ala. 1999) บ้านของผู้เอาประกันภัยเกิดราขึ้น โดยเป็นผลมาจากการติดตั้งหลังคา และระบบฉนวนหุ้มด้านนอกไม่ดี (faulty installation) ประกอบการออกแบบผิดพลาด (faulty design) ด้วย จนทำให้น้ำฝนสามารถไหลแทรกซึมเข้ามาได้ โดยในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ระบุไม่คุ้มครองการเกิดรา (mold) เอาไว้ แต่ระบุจะคุ้มครองถึงความเสียหายที่ติดตามมาจากภัยที่คุ้มครองให้

ศาลเห็นว่า คำว่า “ความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss)หมายความถึง ถ้ามีภัยที่ยกเว้นเกิดขึ้น จากนั้นก็มีความเสียหายที่แยกออกไปเกิดขึ้นติดตามมา โดยเป็นผลมาจากภัยที่ยกเว้นนั้น หากความเสียหายที่ติดตามมานั้นเป็นภัยที่มิได้ระบุยกเว้นอื่นใดในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ก็จะได้รับคุ้มครองด้วย ฉะนั้น ค่าใช้จ่ายในการแก้ไขข้อบกพร่อง การเปลี่ยนทดแทนไม้ที่ขึ้นรานั้น จึงไม่ถือการเกิดรานั้นเป็นความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) ทั้งไม่เห็นด้วยกับข้ออ้างของผู้เอาประกันภัยที่ว่าการเกิดรามิได้อยู่ในข้อยกเว้นนี้ เพราะการเกิดราในกรณีนี้เป็นรูปแบบหนึ่งของความเสียหายเนื่องจากน้ำ ซึ่งเป็นภัยที่คุ้มครองต่างหาก

ดังนั้น วินิจฉัยให้บริษัทประกันภัยไม่จำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้

2) ตัวอย่างแนวคำพิพากษาศาลที่เห็นว่า ไม่ต้องเป็นเหตุการณ์ที่แยกอิสระจากกัน
  
คดี Eckstein v. Cincinnati Insurance Co., 469 F. Supp. 2d 455, (W.D. Ky. 2007) บ้านของผู้เอาประกันภัยรายนี้เกิดปัญหาจากการก่อสร้างไม่ดี จนทำให้น้ำไหลแทรกซึมเข้ามาก่อให้เกิดราขึ้นหลายจุด ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้พักอาศัย ผู้เอาประกันภัยเลยจำต้องอพยพออกไปอาศัยอยู่ที่อื่นเป็นเวลาเกือบสองปี กว่าจะแก้ปัญหาได้สำเร็จ

ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ คือ ความเสียหายเนื่องจากน้ำ และการเกิดรา ถือเป็นความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) อันจะได้รับความคุ้มครอง เนื่องจากภัยที่ยกเว้นในเรื่องข้อบกพร่องของฝีมือ (faulty workmanship) หรือไม่?

ศาลในคดีนี้ วินิจฉัยว่า ความเสียหายเนื่องจากน้ำ และส่งผลทำให้เกิดราขึ้นนั้น เป็นความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) อันเป็นความเสียหายซึ่งมิได้มีสาเหตุโดยตรงมาจากข้อบกพร่องของฝีมือ (faulty workmanship) แต่เป็นเพียงติดตามมา อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากภัยที่ยกเว้นดังกล่าวเท่านั้น ส่วนข้อยกเว้นเรื่องการเกิดรานั้น หมายความถึง การเกิดราจากธรรมชาติ หรือจากภัยที่ยกเว้นไว้อย่างอื่นใด แต่ในกรณีนี้ ภัยเนื่องจากน้ำเป็นภัยที่คุ้มครอง การเกิดราผลที่ตามมาจากภัยที่คุ้มครองจึงได้รับความคุ้มครองไปด้วย 

ดังนั้น บริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้

ข้อสังเกต

ทั้งสองคดีดังตัวอย่างมีความคล้ายคลึงกัน แต่แนวทางคำวินิจฉัยกลับแตกต่างกัน เนื่องจากทฤษฎีการตีความที่แบ่งออกเป็นสองแนวทางนั่นเอง ประกอบกับถ้อยคำที่เขียนไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น รวมทั้งแนวทางในการต่อสู้คดีด้วย ในการทำความเข้าใจเพิ่มเติม อาจจำต้องศึกษาคำพิพากษาฉบับเต็ม และตัวอย่างคำพิพากษาหลาย ๆ ฉบับที่แยกออกไปตามสองแนวทางนี้ด้วย

หากท่านใดสนใจศึกษาเพิ่มเติม ขอแนะนำบทความที่ผมใช้อ้างอิง "What the Heck is an Ensuing Loss?" by William R. Lewis, Butler Weihmueller Katz Craig LLP,  


“The Faulty Design and Workmanship Exclusion and Ensuing Loss Exception” by JAMES M. HOEY, Clausen Miller P.C. และ

 “Ensuing Loss: Deny My Claim If You Must, But Cover My Resulting Loss” by Tred R. Eyerly, Damon Key Leong Kupchak Hastert & Rina Carmel, Carlson, Calladine & Peterson LLP

อนึ่ง คดีที่ฟ้องร้องประเด็นนี้ ไม่ค่อยพบในประเทศอังกฤษ ซึ่งก็ใช้ถ้อยคำความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) เช่นเดียวกัน แต่ปัจจุบัน กรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน แบบสรรพภัยฉบับมาตรฐานของประเทศอังกฤษที่เรียกว่า Blue Book ได้เปลี่ยนไปใช้คำว่า “Subsequent DAMAGE” แทนแล้ว ซึ่งคำที่เปลี่ยนใหม่แทนนี้ ผมขอใช้คำแปลว่า “ความเสียหายต่อเนื่อง” นั้น จะเหมือนหรือต่างจากความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) อย่างไร? อ่านต่อได้ในครั้งหน้าครับ

ส่วนแนวทางการตีความประเด็นนี้ในศาลไทยจะเป็นอย่างไร? ก็คงต้องคอยติดตามกันดูแล้วล่ะครับ เพราะผมยังไม่พบคดีฟ้องร้องประเด็นนี้ขึ้นมาเลย   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น