(ตอนที่สอง)
ความเสียหายที่ติดตามมา
(Ensuing Loss) ดังที่ยกตัวอย่างทั้งสองกรณีนั้น
ประเด็นปัญหาข้อพิพาทส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น มักจะเกิดในกรณีแรกมากกว่าในกรณีหลัง
งั้นเรามาคุยกันถึงกรณีหลังกันก่อน
การที่ภัยที่คุ้มครองเกิดก่อน แล้วส่งผลทำให้เกิดภัยที่ยกเว้นตามมานั้น ดังตัวอย่าง
อาจถูกทักท้วงได้ คำว่า “อุบัติเหตุ”
ที่กรมธรรม์ประกันภัยจะให้ความคุ้มครองต้องเกิดโดยฉับพลันเท่านั้น แต่การเกิดราที่ติดตามมา
ไม่เห็นจะเกิดขึ้นโดยฉับพลัน เพราะกว่าเชื้อราจะพัฒนาตัวมันเองได้ จำต้องใช้เวลาพอสมควร
มันน่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ขาดตอนไปแล้วหรือเปล่า ถ้ามองว่า ถ้าไม่มีน้ำที่ก่อให้เกิดความชื้น
เชื้อราก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ ฉะนั้น
การเกิดราจึงเป็นผลโดยตรงจากความเสียหายเนื่องจากน้ำนั่นเอง เพียงแต่อาจใช้เวลาในการพัฒนาตนเองบ้างกว่าจะมองเห็นได้ด้วยสายตา
ซึ่งเป็นเหตุที่ต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอน เหมือนอย่างที่ผมเคยโดนคำถามว่า
ความเสียหายเนื่องจากน้ำถือเป็นอุบัติเหตุนั้น พิจารณาจากน้ำหยดแรก
หรือน้ำหยดสุดท้ายที่รวมตัวสะสมกันมากแล้ว หรือกรณีน้ำท่วมจากเหตุฝนตกหนัก
จะนับตั้งแต่น้ำฝนเม็ดแรก หรือน้ำฝนที่สะสมกันอยู่บนพื้นจนเป็นมวลน้ำแล้ว หรือกระทั่งเหตุไฟไหม้
กว่าจะลุกไหม้ขึ้นมาได้ จะต้องอาศัยการสะสมความร้อนจนถึงจุดวาปไฟก่อน ทั้งหมดนี้
เราคงพอสังเกตุได้ว่า
มันเป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกันจนก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นมาได้ แน่นอนว่า
น้ำหยดแรก หรือความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น อาจจะยังไม่สามารถสร้างความเสียหายขึ้นมาได้อย่างทันทีทันควัน
ดังนั้น
จึงเกิดทฤษฏีการตีความว่า เราจะยึดวันที่เกิดเหตุ หรือวันที่เสียหายเป็นเกณฑ์
เพราะทั้งสองวันอาจไม่ใช่เป็นวันเวลาเดียวกันก็ได้ ถ้าแตกต่างกัน
ก) หากวันที่เกิดเหตุอยู่ในระยะเวลาเอาประกันภัย
แต่วันที่เสียหาย
เกิดขึ้นหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาเอาประกันภัยไปแล้ว หรือ
ข) ถ้าวันที่เกิดเหตุเกิดขึ้นมาก่อนระยะเวลาเอาประกันภัย
แต่วันที่เสีย
หายอยู่ในระยะเวลาเอาประกันภัยพอดี
เราจะยึดถือวันใดเป็นเกณฑ์
เรื่องนี้เป็นเรื่องชวนคิด และเป็นปัญหามากพอสมควร โดยเฉพาะกับการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองถึงชีวิตร่างกาย
กับความรับผิดตามกฎหมาย แล้วจะนำมาให้คุยให้ฟังภายหลังครับ
สำหรับการประกันภัยทรัพย์สินแล้ว
ผมขออ้างอิงถึงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 869 ที่ให้ความหมายว่า “วินาศภัย” หมายความรวมถึงความเสียหายซึ่งประเมินเป็นเงินได้
ประกอบกับมาตรา 882 ที่กำหนดอายุความฟ้องร้องไว้สองปีนับแต่วันวินาศภัย
ซึ่งก็คือ วันที่เสียหายนั่นเองครับ
คราวหน้า เราจะเข้าสู่ประเด็นปัญหาในกรณีแรกของความเสียหายที่ติดตามมา
(Ensuing Loss) กันครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น