วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 22 :สาเหตุใกล้ชิด (Proximate Cause) กับความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) สองคำนี้เหมือนกัน หรือต่างกันอย่างไร?



พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้นิยามคำว่า “สาเหตุใกล้ชิด (Proximate Cause) หมายความถึง “ต้นเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายโดยตรง หรือเป็นเหตุต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอนที่ทำให้เกิดความเสียหาย” 

อย่างที่เราคุยกันไปแล้ว ในการพิจารณาสาเหตุใกล้ชิดจะอาศัยสองปัจจัยประกอบ คือ

1)  ภัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งประกอบด้วย (ก) ภัยที่ระบุคุ้มครอง (ข) ภัยที่ระบุยกเว้น และ (ค) ภัยที่ไม่ได้ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยเลย

2)  ลักษณะของเหตุการณ์ อันประกอบด้วย (1) เหตุการณ์ที่มีหลายภัยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอน (2) เหตุการณ์ที่ต่อเนื่อง แต่มีภัยอื่นเข้ามาสอดแทรก และ (3) เหตุการณ์ที่มีหลายภัยเกิดขึ้นพร้อมกัน

โดยหลักการ เมื่อสังเกตุในกรมธรรม์ประกันภัย แบบระบุภัย ถึงแม้จะมีภัยที่ระบุคุ้มครองน้อย แต่ก็มีภัยที่ระบุยกเว้นน้อยด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดภัยที่ไม่ได้ระบุไว้มากขึ้น เพราะหากภัยที่ระบุคุ้มครองจับคู่กับภัยที่ไม่ได้ระบุไว้ ต่างมีโอกาสช่วยสนับสนุนกันมากกว่า ไม่เหมือนกับไปจับคู่กับภัยที่ระบุยกเว้น มีแต่จะไปลดทอนความคุ้มครองลง

แตกต่างกับกรมธรรม์ประกันภัยแบบแบบสรรพภัย ซึ่งประหนึ่งจะให้ความคุ้มครองมากกว่า แต่ภัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องจะเหลือเพียงภัยที่ระบุคุ้มครอง (พูดว่า “คุ้มครองอุบัติภัยทุกอย่างที่ไม่ได้อยู่ในข้อยกเว้น” เพียงแต่มิได้ระบุเจาะจงภัยลงไปอย่างชัดเจน) กับภัยที่ระบุยกเว้น เท่านั้น จึงดูเสมือนหนึ่งในการพิจารณาสาเหตุใกล้ชิดของกรมธรรม์ประกันภัยแบบสรรพภัยแล้ว จะให้ความคุ้มครองที่น้อยกว่าแบบระบุภัย เนื่องจากมีข้อยกเว้นเยอะมาก 

ด้วยเหตุนี้ เพื่อรักษาให้ความคุ้มครองแบบสรรพภัยยังคงให้ความคุ้มครองกว้างกว่าแบบระบุภัย ผู้ร่างกรมธรรม์ประกันภัยจำต้องร่างข้อยกเว้นซ้อนอยู่ในข้อยกเว้นอีกที เพื่อทำให้ข้อยกเว้นบางส่วนกลับมามีความคุ้มครองในบางกรณี ด้วยการใช้คำว่า “ความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss)” ให้ทำหน้าที่เช่นว่านั้น จึงเกิดคำถามในใจว่า คำนี้สื่อความหมายเหมือน หรือแตกต่างกับสาเหตุใกล้ชิดที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างไร?

ขณะที่เขียนยังไม่เห็นความหมายภาษาไทยเป็นทางการ แต่ Merriam Webster Online Dictionary ให้ความหมายของคำว่า “Ensuing” หมายความถึง “to take place afterwards or as a result (เกิดขึ้นตามมา หรือเป็นผลมาจาก) ซึ่งให้ความหมายสองลักษณะ คือ ลักษณะแรกที่บอกว่า “เกิดขึ้นตามมา” นั้น เพื่อสื่อว่า ความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) ในอันที่จะคุ้มครองนั้น จะติดตามมาจากภัยที่ระบุยกเว้น ดังตัวอย่างในกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ฉบับมาตรฐานภาษาไทย ซึ่งระบุในหมวดที่ 3 ข้อยกเว้น ก. สาเหตุของความเสียหายที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง ดังนี้

1.  ความเสียหาย อันเกิดจาก 
  1.1 ความผิดพลาดหรือความบกพร่องจากการออกแบบ การใช้
       วัสดุ หรือฝีมือแรงงาน
  …………………………………..
   อย่างไรก็ตาม บริษัทจะรับผิดต่อความเสียหายอื่นที่ติดตามมาจากข้อ 1.1 ถึง 1.3 ถ้าหากความเสียหายที่ติดตามมานั้นเกิดจากสาเหตุที่มิได้ระบุยกเว้นไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยนี้

ส่วนความหมายที่สอง สื่อความหมายว่า ภัยที่ระบุยกเว้นเป็นผลมาจากภัยอื่นที่คุ้มครอง คือ ภัยอื่นที่คุ้มครองต้องเกิดก่อนนั่นเอง บางครั้งเรียกว่า “resulting loss” ดังตัวอย่าง

      1.4  การพังทลายหรือการแตกร้าวของอาคาร สิ่งปลูกสร้าง 
              กำแพง รั้ว
       ………………………………….
       อย่างไรก็ตาม บริษัทจะรับผิดต่อความเสียหายตามข้อ 1.4 และ 1.5 หากเป็นผลโดยตรงจากความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยหรือสถานที่ตั้งหรือเก็บทรัพย์สินดังกล่าว อันเกิดจากสาเหตุที่มิได้ระบุยกเว้นไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยนี้

หรือประกอบด้วยทั้งสองความหมายไปเลย ดังตัวอย่าง

      ..............................................
       1.9  การร้าว การแตก การยุบแฟบ หรือการได้รับความร้อนเกิน
              ขนาดของหม้อกำเนิดไอน้ำ อุปกรณ์หรือท่อประหยัดเชื้อ
              เพลิง (Economisers) หรือถังเก็บความดัน หลอดหรือท่อ 
              หรือการรั่วไหลของชิ้นส่วนปล่อยความดันหรือระบายไอน้ำ
              หรือความบกพร่องของรอยเชื่อมของหม้อกำเนิดไอน้ำ
              ........................................................
       อย่างไรก็ตาม บริษัทจะรับผิดต่อความเสียหายอื่นที่ติดตามมาจากข้อ 1.6 ถึง 1.11 ถ้าหากความเสียหายที่ติดตามมานั้นเกิดจากสาเหตุที่มิได้ระบุยกเว้นไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยนี้  หรือความเสียหายตามข้อ 1.6 ถึง 1.11 นั้นเป็นผลโดยตรงจากความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย หรือสถานที่ตั้งหรือเก็บทรัพย์สินดังกล่าวอันเกิดจากสาเหตุที่มิได้ระบุยกเว้นไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยนี้

ศาลสูงในประเทศสหรัฐอเมริกาให้คำอธิบายประเด็นเรื่องความเหมือน หรือความแตกต่างระหว่างสองคำนี้ไว้ในคดี Vision One, LLC v. Philadelphia Indemnity Insurance Company (Washington, May 17, 2012)
 
โดยเริ่มต้นที่สื่อความหมายทั้งสองของความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) ในกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินแบบสรรพภัย ลักษณะที่สื่อความหมายเป็นผลที่มาจากนั้น เป็นการจำกัดผลกระทบของข้อยกเว้นลงไป เมื่อภัยที่ระบุยกเว้นเป็นผลโดยตรงมาจากภัยอื่นที่คุ้มครอง ขณะที่อีกสื่อความหมายเป็นกรณีเมื่อกรมธรรม์ประกันภัยระบุไม่คุ้มครองความเสียหายที่มีสาเหตุโดยตรง หรือโดยอ้อมมาจากภัยที่ระบุยกเว้นไว้ แต่ความเสียหายที่ติดตามมาจากภัยอื่นที่คุ้มครอง จะยังคงได้รับความคุ้มครองอยู่ อันเป็นการจำกัดข้อยกเว้นให้แคบลง ดูแล้วยังสับสนอยู่ ศาลจึงยกตัวอย่างให้เห็นภาพดังนี้

สมมุติผู้รับเหมาวางระบบไฟฟ้าในบ้านผิดพลาด จนทำให้เกิดไฟลุกไหม้เสียหายแก่ตัวบ้านที่เอาประกันภัย โดยในกรมธรรม์ประกันภัยบ้านแบบสรรพภัย มีข้อยกเว้นสาเหตุจากความผิดพลาดของฝีมือแรงงาน (faulty workmanship) แต่ก็มีเงื่อนไขความเสียหายที่ติดตามมาจากภัยอื่นที่คุ้มครองด้วย ดังนั้น ภัยไฟไหม้ที่เกิดขึ้นจึงได้รับคุ้มครอง เว้นเสียแต่ส่วนของงานวางระบบไฟฟ้าที่ผิดพลาดนั้น และค่าใช้จ่ายในการปรับแก้ไขงานผิดพลาดนั้นด้วยที่คงยกเว้นอยู่  

ในการพิจารณา อะไรคือ “สาเหตุโดยอ้อม” กับ “ผลโดยตรง” นั้น ศาลแนะนำให้อ่านถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยอย่างถี่ถ้วน และตรงตามเจตนารมณ์ของคู่สัญญาประกันภัยทั้งสองฝ่าย พร้อมเสริมอีกว่า กรมธรรม์ประกันภัยแบบสรรพภัยนั้น จะคุ้มครองอุบัติภัยทุกอย่างที่มิได้อยู่ในข้อยกเว้น ซึ่งให้ภาพภัยที่คุ้มครองกว้างขวางมาก  

สมมุติงานก่อสร้างที่ผิดพลาดทำให้ความชื้นจากสภาวะอากาศแทรกซึมเข้าไปในตัวอาคาร แล้วไปก่อสนิมแก่อุปกรณ์ที่เป็นเหล็ก ถ้าปราศจากความชื้นในอากาศ ก็จะไม่ส่งผลทำให้อุปกรณ์เหล็กขึ้นสนิมได้ พูดได้ไหมว่า ในข้อยกเว้นมิได้ระบุถึง “อากาศ” (ระบุยกเว้นเพียงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ) หรือการก่อสร้างคานไม่ดี ทำให้คานหลุดลงมาโดนพื้นได้รับความเสียหาย พูดได้ไหมว่า เป็นเพราะสาเหตุของ “แรงโน้มถ่วง” ซึ่งมิได้ถูกยกเว้นเอาไว้ต่างหาก เป็นเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นมา

ตัวอย่างกรณีหลังที่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ โดยกรมธรรม์ประกันภัยของ Vision One ผู้เอาประกันภัย ได้ระบุยกเว้น “ความผิดพลาดของฝีมือแรงงาน (faulty workmanship) ซึ่งโครงการก่อสร้างที่เอาประกันภัยเสียหายจากการพังลงมาของแผ่นกำแพงคอนกรีต และพื้นคอนกรีต โดยเป็นผลเกี่ยวข้องจากฝีมือแรงงานที่ผิดพลาดของผู้รับเหมาในส่วนงานนี้ เช่นนี้ การพังทะลาย (collapse) ถือเป็นความเสียหายที่ติดตามมาจากภัยอื่นที่คุ้มครองหรือไม่? หรือมีสาเหตุมาจากฝีมือแรงงานที่ผิดพลาดซึ่งตกอยู่ในข้อยกเว้นกันแน่?

ศาลสูงวินิจฉัยว่า การพังทะลาย (collapse) ถือเป็นความเสียหายที่ติดตามมาจากภัยอื่นที่คุ้มครอง เนื่องด้วยในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้มิได้กำหนดยกเว้นเอาไว้ ทั้งเชื่อว่า น่าเป็นเจตนารมณ์ที่จะให้ความคุ้มครองระหว่างคู่สัญญาประกันภัยด้วย

แต่ Philadelphia Indemnity Insurance Company บริษัทประกันภัยโต้แย้งว่า หากพิจารณาโดยอาศัยสาเหตุใกล้ชิด จำต้องค้นหาความจริงให้แน่ชัดก่อนว่า สาเหตุมาจากความผิดพลาดของฝีมือแรงงาน (faulty workmanship) หรือความบกพร่องจากการออกแบบ (defective design) กันแน่ เนื่องจากในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับที่พิพาทกันนี้ ในข้อยกเว้นเรื่องความผิดพลาดของฝีมือแรงงาน (faulty workmanship) มีเงื่อนไขความเสียหายที่ติดตามมาจากภัยอื่นที่คุ้มครอง ขณะที่เรื่องความบกพร่องจากการออกแบบ (defective design) กลับไม่มีเงื่อนไขดังกล่าว เพื่อจะได้สามารถวิเคราะห์ถึงผลที่แตกต่างกันได้

แต่ศาลปฎิเสธ พร้อมให้ความเห็นว่า สาเหตุใกล้ชิดไม่มีผลใช้บังคับในกรณีนี้ จะใช้บังคับเพียงเมื่อมีภัยตั้งแต่สองภัยขึ้นไปเกิดขึ้นต่อเนื่องกัน หรือพร้อมกันจนทำให้เกิดความเสียหาย โดยมีภัยที่ระบุคุ้มครองเป็นเหตุที่ส่งผลโดยตรงต่อความเสียหายนั้นด้วย แม้จะมีภัยที่ระบุยกเว้นเข้ามาเกี่ยวข้องก็ตาม

นี่เป็นเพียงตัวอย่างคำพิพากษาคดีหนึ่งเท่านั้น ปัญหาของสาเหตุใกล้ชิดกับความเสียหายที่ติดตามมายังก่อความสับสนไม่จบ เราต้องคุยกันในคราวต่อไปแล้วล่ะครับ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น