วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เรื่องที่ 23 : ความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) ชัดเจน หรือยังสับสนกันอยู่

(ตอนที่หนึ่ง)



เราได้ทำความเข้าใจถึงข้อแตกต่างระหว่างสาเหตุใกล้ชิด (Proximate Cause) กับความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) กันไปบ้างแล้ว

ครั้งนี้ เราจะมาคุยกันเพิ่มเติมในเรื่องความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) ว่า มีแนวทางในการพิจารณาใช้กันอย่างไรบ้าง? เพราะในทางปฎิบัติ โดยเฉพาะในต่างประเทศค่อนข้างสับสนในการตีความ และการใช้บังคับกันอยู่เยอะมาก เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการนำมาปรับใช้ในบ้านเรา ผมเองต้องค้นคว้า รวบรวมบทความต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้มาอ่านทำความเข้าใจ ซึ่งก็ยอมรับว่า กว่าจะจับประเด็นได้ ต้องใช้เวลาพอสมควร จึงอยากนำมาเล่าสู่กันฟังครับ โดยจะทยอยนำมาลงเป็นตอน ๆ 

ก่อนอื่นคงต้องมาพูดถึงวิวัฒนาการของการเกิดข้อบังคับเรื่องความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เมืองซานฟรานซิสโก ปี ค.ศ. 1906 เหตุแผ่นดินไหวครั้งนั้น ส่งผลทำให้เกิดไฟลุกไหม้หลายแห่ง เป็นบริเวณกว้าง เนื่องจากระบบน้ำประปาได้รับความเสียหายเกือบทั้งหมด ทำให้ไม่มีน้ำเพียงพอในการดับไฟ ไฟไหม้คราวนั้นกินเวลานานสามวันกว่าจะสงบลงไปได้ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินอย่างมหาศาล 

ในแง่ของการประกันภัย ผู้คนส่วนใหญ่สมัยนั้นเพียงทำประกันอัคคีภัยคุ้มครองทรัพย์สินของตนเอาไว้ ซึ่งในเงื่อนไขความคุ้มครองก็คล้ายคลึงกับของเราในปัจจุบันที่ระบุคุ้มครองไฟไหม้ แต่ไม่คุ้มครองความเสียหายของไฟไหม้ที่เป็นผลมาจากการเกิดภัยแผ่นดินไหว ผลของเงื่อนไขนี้ทำให้ผู้เอาประกันภัยนับไม่ถ้วนไม่ได้รับความคุ้มครอง ซึ่งเป็นการตีความโดยอาศัยหลักสาเหตุใกล้ชิด เนื่องจากภัยไฟไหม้ที่เป็นผลมาจากภัยแผ่นดินไหวได้ถูกระบุยกเว้นไว้โดยชัดแจ้งในกรมธรรม์ประกันภัย จึงถือว่า ภัยที่ยกเว้นเกิดขึ้นมาก่อน (ภัยแผ่นดินไหวที่ทำให้เกิดไฟไหม้) แล้วตามมาด้วยภัยที่คุ้มครอง (ภัยไฟไหม้) ซึ่งเป็นเหตุที่ต่อเนื่องกันโดยไม่ขาดตอน อันส่งผลทำให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นมานั้นพลอยไม่ได้รับความคุ้มครองทั้งหมด เว้นแต่ผู้เอาประกันภัยรายที่ได้ซื้อขยายภัยแผ่นดินไหวเพิ่มเติมไว้แล้วเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาลสูงแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียจำต้องตีความให้ข้อยกเว้นนี้ไม่มีผลใช้บังคับ โดยตัดสินให้บริษัทประกันภัยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยโดยเฉพาะรายที่มิได้ซื้อภัยแผ่นดินไหวเอาไว้ ต่อมา เมื่อภาครัฐได้ตรากฎหมายห้ามการบังคับใช้ข้ออ้างดังกล่าว บริษัทประกันภัยจึงได้ร่างข้อบังคับความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) ขึ้นมานับแต่บัดนั้น

ในทางปฎิบัติแล้ว ข้อบังคับความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) นี้นิยมใช้บังคับกับกรมธรรม์ประกันภัย แบบสรรพภัยมากกว่าแบบระบุภัย แม้จะถูกนำมาใช้บังคับนานแล้ว แต่ก็ยังมีความสับสน ไม่ชัดเจนอยู่บ่อยครั้ง ศาลต่างประเทศเองก็มีแนวทางในการนำมาใช้บังคับหลากหลายทฤษฎี หลากหลายมุมมอง 

เราลองมาทบทวนข้อความของความเสียหายที่ติดตามมา (Ensuing Loss) กันอีกครั้ง ซึ่งมักระบุดังนี้

1) หากภัยที่ยกเว้นคุ้มครองเกิดก่อน แล้วส่งผลทำให้เกิดภัยที่คุ้ม
    ครองติดตามมา ภัยที่คุ้มครองนั้นจะได้รับความคุ้มครอง

    ยกตัวอย่าง หากหลังคาที่ติดตั้งไม่ดีระหว่างก่อสร้าง อันเกิดจาก
    ฝีมือแรงงานที่บกพร่อง ทำให้น้ำฝนสามารถไหลเข้ามาสร้าง
    ความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่อยู่ในอาคารนั้นได้ 
    แม้ภัยฝีมือแรงงานที่บกพร่องจะอยู่ในภัยที่ยกเว้น แต่ภัยเนื่องจาก
    น้ำเป็นภัยที่คุ้มครอง ฉะนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเปียก
    น้ำฝนซึ่งติดตามมา ก็จะได้รับความคุ้มครอง

2) หากภัยที่คุ้มครองเกิดก่อน แล้วส่งทำให้เกิดภัยที่ยกเว้น ภัยที่ยก
    เว้นนั้นจะพลอยได้รับความคุ้มครองไปด้วย

    ยกตัวอย่าง ท่อน้ำแตก ทำให้เกิดน้ำรั่วไหลออกมาทำให้ทรัพย์สิน
    ที่เอาประกันภัยเสียหาย และต่อมาเกิดขึ้นรา แม้การขึ้นราเป็นภัยที่
    ยกเว้น แต่ถือเป็นผลโดยตรงซึ่งติดตามมาจากภัยเนื่องจากน้ำซึ่ง
    เป็นภัยที่คุ้มครอง ก็ทำให้ภัยที่ยกนั้นพลอยได้รับความคุ้มครองไป
    ด้วย 

อ่านดูแล้ว เสมือนเข้าใจได้ง่าย ไม่น่าจะซับซ้อนอะไร คุณเห็นว่าอย่างนั้นหรือเปล่าครับ? 

แล้วเราจะมาคุยกันต่อในคราวหน้าครับ
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น