ข้อยกเว้นสังหาริมทรัพย์/ทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้ ขณะอยู่กลางแจ้ง ฯ มีผลใช้บังคับได้จริงหรือ?
(ตอนที่สาม)
บทสรุปความคิดเห็น
เมื่อพิจารณาหลักการที่ว่า ทุกกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินล้วนให้ความคุ้มครองต่อเฉพาะทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้เท่านั้น เพราะบริษัทประกันภัยจะคำนวณเบี้ยประกันภัยตอบแทนจากมูลค่าของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้ ฉะนั้น ทรัพย์สินที่ไม่ได้เอาประกันภัยไว้เลย ก็จะมิได้รับความคุ้มครองแต่ประการใด
ในข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินเอง จะประกอบด้วยข้อยกเว้นอยู่สองกรณี คือ ทรัพย์สินที่ยกเว้น (ไม่ประสงค์จะคุ้มครองตั้งแต่ต้น) และสาเหตุ หรือภัยที่ยกเว้น ซึ่งหมายความถึง ไม่ต้องการให้ความคุ้มครองแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยจากสาเหตุ หรือภัยที่กำหนดไว้ คงไม่มีประโยชน์เลย หากจะตีความว่า สาเหตุ หรือภัยที่ยกเว้นใช้บังคับแก่ทรัพย์สินที่ไม่ได้เอาประกันภัยด้วย เพราะไม่ว่าจะเกิดภัยอะไรขึ้นมา บริษัทประกันภัยก็ไม่ให้ความคุ้มครองอยู่ดี เพราะมิได้เบี้ยประกันภัยเป็นการตอบแทนเลย
ครั้นพิจารณาจากประเด็นข้อยกเว้นนี้ โดยจะจำแนกออกเป็นรายการ ดังนี้
ก) ประเด็นของรายการทรัพย์สิน
สังเกตจากถ้อยคำที่เขียนในกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินกับกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย จะเห็นได้ว่า เป็นการยกเว้นทั้งในกรณีทรัพย์สินที่ยกเว้น (สังหาริมทรัพย์ รั้ว ประตูรั้ว และทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้) กับสาเหตุ หรือภัยที่ยกเว้น เว้นแต่เพียงในกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับที่อยู่อาศัยรวมภัยธรรมชาติเท่านั้นที่เป็นกรณีเฉพาะสาเหตุ หรือภัยที่ยกเว้นอย่างเดียว
ดังนั้น สิ่งที่ทิ้งท้ายไว้ในตอนที่สอง จะตีความได้ว่า ข้อยกเว้นนี้ไม่น่ามีผลใช้บังคับกับกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินกับกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย เพราะกำหนดถึงสังหาริมทรัพย์กับทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้ทั่วไป โดยมิได้เจาะจงยกเว้นอย่างชัดแจ้งถึงสังหาริมทรัพย์ที่เอาประกันภัย กับทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้ที่เอาประกันภัยแต่ประการใด เช่นเดียวกับรั้ว หรือประตูรั้วที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินด้วย
ข) ประเด็นของที่จัดเก็บ
เนื่องด้วยมิได้มีการกำหนดคำนิยามไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย จึงต้องตีความตามความเข้าใจของบุคคลทั่วไป หรือเทียบเคียงจากพจนานุกรมประกอบ
คำว่า "กลางแจ้ง" พจนานุกรมให้ความหมายอยู่นอกร่มไม้ชายคา
คำว่า "อาคารที่มีผนังด้านหนึ่งเปิดโล่ง" ก็ไม่ได้สื่อความหมายชัดเจนว่า รวมถึงผนังด้านนอกอาคารเปิดโล่งทุกด้านด้วยหรือเปล่า เคยได้ยินข้อโต้แย้งช่วงเวลาเกิดมหาอุทกภัย ปี พ.ศ. 2554 ว่า อาคารที่มีผนังด้านนอกปิดรอบด้าน แต่เวลาเกิดน้ำท่วม พอดีเปิดประตูอาคารทิ้งไว้ ถือเป็นอาคารเปิดโล่งด้วย น่าแปลกใจที่ถ้อยคำกรมธรรม์ประกันภัยพูดถึงแต่ผนังเปิดโล่ง โดยมิได้พูดถึงประตูเปิดโล่งด้วย ไม่ทราบว่า กรณีโต้แย้งนั้นจบลงเช่นไร ทั้งมิได้พูดถึงหลังคาเปิดด้วยเช่นกัน
คำว่า "อาคารโปร่ง" ก็ไม่ชัดเจน เช่นเดียวกันเคยมีการตีความว่า เปิดหน้าต่างทิ้งไว้ ทำให้น้ำฝนสาดเข้ามาทำความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้ในอาคารเสียหาย จะถืออยู่ในกรณีของอาคารโปร่งได้มั้ย ยอมรับว่า ไม่ชัดเจนเหมือนกัน ส่วนตัวคล้อยตามว่า น่าจะตีความได้เช่นนั้น เพราะทั้งอาคารเปิดโล่งกับอาคารโปร่งมิได้มีความชัดเจนว่า โล่งหรือโปร่งอย่างถาวรด้วยไหม อาคารบางแห่ง แม้ผนังเปิดโล่ง หรือทำเป็นช่องรับลมไว้ แต่ก็มีผ้าใบกันฝนแบบรูดขึ้นลงได้ เช่นนี้ จะเรียกว่าเป็นอาคารแบบใด
บังเอิญ ในกรมธรรม์ประกันภัยต่างประเทศอย่างเช่น ประเทศอังกฤษ หรือประเทศสหรัฐอเมริกา ยกเว้นเพียง "in the open" เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ศาลต่างประเทศจึงตีความว่า ไม่ได้หมายความรวมถึง ทรัพย์สินที่เก็บอยู่ในอาคาร ทั้งยังตีความว่า มิได้หมายถึงทรัพย์สินที่เคลื่อนย้ายได้ที่ได้มีการบรรจุหีบห่อ หรือสิ่งปกคลุมปกป้องไว้แล้วด้วย มิฉะนั้นแล้ว สินค้าที่อยู่ในตู้คอนเทนเนอร์วางอยู่กลางแจ้ง ถ้ามีน้ำฝนไหลเล็ดรอดเข้าไป จะตกอยู่ในข้อยกเว้นเรื่องอยู่กลางแจ้งด้วย จึงน่าสนใจว่า หากเกิดคดีฟ้องร้อง ศาลไทยจะวินิจฉัยอย่างไร
อย่างไรก็ดี ภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยจะกำหนดไว้ชัดเจนว่า แม้จะมีสิ่งปกคลุมใด ๆ ก็ไม่ได้เลย
ค) ประเด็นของสาเหตุ หรือภัย
กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินพูดถึงแต่ยกเว้นภัยจากลมทั่วไป น้ำฝน น้ำค้างแข็ง หิมะ น้ำท่วม ทราย หรือฝุ่นเอาไว้ ขณะที่กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยยกเว้นภัยลมพายุ ภัยน้ำท่วม กับภัยลูกเห็บ
ความรุนแรงขนาดไหนถือว่า เป็นลมพายุ เนื่องจากในกรมธรรม์ประกันภัยมิได้กำหนดเอาไว้ จำต้องอาศัยความเข้าใจของคนทั่วไปว่า ถ้าลมพัดแรงขนาดสร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง น่าจะถือเป็นลมพายุได้ ครั้นจะอาศัยการวัดแรงลมตามมาตราโบฟอร์ต เอกสารทางวิชาการที่ค้นพบยังมีข้อกำหนดที่แตกต่างกันอยู่
เรื่องภัยน้ำท่วมในประเด็นข้อยกเว้นนี้ สร้างความอิหลักอิเหลื่อ เพราะถ้าเป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอยู่ในอาคารปิดจะได้รับความคุ้มครอง แต่ครั้นเป็นทรัพย์สินที่เอาประกันภัยขณะอยู่กลางแจ้ง อาคารเปิดโล่ง หรืออาคารโปร่งในเหตุการณ์น้ำท่วมเดียวกัน กลับมิได้รับความคุ้มครองเลย
การซื้อประกันภัย แม้จะเป็นความคุ้มครองในลักษณะความเสี่ยงภัยทุกชนนิด ก็อย่างเพิ่งนอนใจ เพราะมิได้หมายความว่า จะสามารถให้ความคุ้มครองทุกชนิดได้อย่างที่เข้าใจ
การเขียนบทความประเด็นนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่านตำราประกันภัยของ Dr. Allan Manning ซึ่งผมได้สั่งซื้อมาเป็นสมบัติส่วนตัวบางเล่ม และแนะนำให้ทางสมาคมประกันวินาศภัยไทยซื้อเก็บไว้ในห้องสมุดด้วย หากท่านใดสนใจศึกษาเพิ่มเติม ก็ลองไปหาอ่านดูได้นะครับ
แนวคำเฉลยจากคำถามในตอนที่หนึ่งกับตอนที่สอง
คำถาม
ข้อแรก เกิดไฟไหม้อาคาร
ผู้เอาประกันภัยขนทรัพย์สินที่เอาประกันภัยออกมาวางไว้กลางแจ้ง เพื่อหนีไฟ
เวลาต่อมา มีฝนตกลงมาช่วยดับไฟ
และสร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่ขนมาวางอยู่กลางแจ้ง
จนเปียกน้ำฝนด้วย
ข้อที่สอง กรณีคล้ายกับข้อแรก เพียงแต่ฝนตกลงมาในอีกสองวันต่อมา
และทำให้ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่ขนออกมากองอยู่กลางแจ้งเปียกน้ำฝนจนได้
รับความเสียหาย
ท่านจะพิจารณาทั้งสองกรณีนี้อย่างไร
แนวคำเฉลย
ข้อแรก พิจารณาโดยอาศัยหลักสาเหตุใกล้ชิด ภัยไฟไหม้กับภัยเปียกน้ำฝนถือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกันโดยไม่ขาดตอน ในลักษณะโดมิโน ให้ยึดภัยแรกสุดเป็นหลัก ดังนั้น ความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นจะอยู่ภายใต้ภัยไฟไหม้ อันเป็นภัยที่กรมธรรม์ประกันภัยให้ความคุ้มครองอยู่แล้ว จึงได้รับความคุ้มครองทั้งหมด
ข้อที่สอง ภัยไฟไหม้กับภัยเปียกน้ำฝน ทั้งสองเหตุการณ์ทิ้งช่วงขาดตอนจากกันแล้ว ภัยเปียกน้ำฝนจึงตกอยู่ในข้อยกเว้นดังกล่าว
คำถาม
กรณีที่ฝากเป็นการบ้านที่ว่าภายหลังไฟไหม้หลังคาจนเปิดเป็นช่อง
ผู้เอาประกันภัยยังคงทรัพย์สิน (เคลื่อนย้ายได้) ที่เอาประกันภัย
ซึ่งอยู่ภายในอาคารทิ้งไว้ดังเดิม ต่อมามีฝนตกลงมาทำให้ทรัพย์สินเหล่านั้นเสียหาย
จะเกิดผลต่อความคุ้มครองอย่างไรบ้าง หากว่า
1) ผู้เอาประกันภัยปล่อยทรัพย์สินเหล่านั้นทิ้งไว้
โดยไม่ทำอะไรเพื่อปกป้องเอาไว้เลย
2) ผู้เอาประกันภัยนำแผ่นไม้มาปิดช่องหลังคาที่เปิด
ต่อมาลมฝนพัดแผ่นไม้นั้นหลุดลอยไป
ทำให้น้ำฝนไหลเข้ามาทำความเสียหายแก่ทรัพย์สินเหล่านั้น
3) ผู้เอาประกันภัยนำผ้าใบกันน้ำ
หรือแผ่นพลาสติกมาปิดคลุมทรัพย์สินเหล่านั้นไว้ แต่ลมฝนพัดเข้ามาจนทำให้ผ้าใบ
หรือแผ่นพลาสติกหลุดเลื่อนไป น้ำฝนจึงไปทำความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินเหล่านั้น
แนวคำเฉลย
1) จะตกอยู่ในข้อยกเว้น แม้เดิมทีจะอยู่ในอาคารปิด แต่ผู้เอาประกันภัยก็มิได้พยายามจัดการปกป้องดูแลใด ๆ เลย
2) คำถามอาจไม่ชัดว่า แค่นำแผ่นไม้มาวางปิดไว้ หรือตอกตะปูยึดไว้ด้วย คงอยู่ที่ความเหมาะสมพอเพียงในการจัดการป้องกัน และกำลังแรงของลมว่า จัดเป็นลมพายุไหม ถ้าเป็นลมพายุ ก็อาจได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ส่วนกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยจะอยู่ในข้อยกเว้นด้วยหรือไม่ เนื่องจากแม้เป็นลมพายุ แต่ภายใต้ภัยลมพายุ (อค. 1.17) ระบุว่า
"การประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ ได้ขยายความคุ้มครองถึงความเสียหายต่อทรัพย์สินที่ได้เอาประกันภัยไว้ อันเกิดขึ้นจากภัยลมพายุ ทั้งนี้รวมถึง
1.1 ...........................
1.2 ความเสียหายของทรัพย์สินภายในตัวอาคารที่ได้เอาประกันภัยไว้ เนื่องจากน้ำฝน น้ำค้างแข็ง หิมะ ทราย หรือฝุ่นละอองที่ผ่านเข้าไปภายในอาคารตามร่องแตกร้าวของอาคารสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งได้รับความเสียหาย อันเกิดจากลมพายุโดยตรงเท่านั้น"
กรณีนี้ หลังคาถูกเปิดออกเพื่อทำการซ่อมแซม แต่ทำค้างไว้ โดยเอาแผ่นไม้มาตีปิดไว้ชั่วคราว ลมพายุพัดมาทำให้แผ่นไม้หลุดออกไป และน้ำฝนก้เข้ามาสร้างความเสียหายดังกล่าว เหตุการณ์นี้จะถือเข้าข่ายการผ่านเข้าไปตามร่องแตกร้าวของอาคารสิ่งปลูกสร้างที่เสียหายจากลมพายุโดยตรงหรือเปล่า แผ่นไม้ที่นำมาปิดไว้ชั่วคราวถือเป็นส่วนหนึ่งของอาคารสิ่งปลูกสร้างด้วยหรือเปล่า เมื่อเทียบเคียงกับคดี
Victory
Peach Group, Incorporated v. Greater New York Mutual
Insurance Company (1998) ซึ่งบริษัทประกันภัยพยายามยกข้อต่อสู้ในคดีนี้ด้วย แต่ศาลมองว่า แผ่นไม้ถูกลมพายุพัดไป ความเสียหายจากน้ำฝนที่ตามมา ควรได้รับความคุ้มครองด้วย เพราะเป็นสาเหตุใกล้ชิดของลมพายุ แม้ในถ้อยคำของแบบ อค. 1.17 จะระบุเพียงตามร่องแตกร้าวของอาคารสิ่งปลูกสร้าง ก็คงไม่ได้มีเจตนารมณ์ว่า ลมพายุพัดหลังคาเปิดแล้วจะไม่ได้รับความคุ้มครอง เพียงแต่เขียนให้เห็นว่า เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกันไปจากภัยลมพายุเท่านั้น
อนึ่ง ในต่างประเทศที่เขียนชัดเจนว่า "ผ่านเข้าไปจากความเสียหายของหลังคาจากลมพายุ" ยังเคยมีข้อถกเถียงกันว่า "หลังคา" หมายรวมถึง แผ่นไม้ที่นำมาปิดไว้ชั่วคราวด้วยหรือไม่ ซึ่งศาลต่างประเทศมีความเห็นแตกต่างกัน บางศาลวินิจฉัยว่า ไม่ใช่หลังคา บางศาลกลับมองว่า อยู่ในความหมายของหลังคาด้วย
3) ข้อนี้ ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินมีคำตอบเช่นเดียวกับข้อ 2) แต่ถ้าเป็นกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย ภายใต้ภัยลมพายุ (อค. 1.17) ยังคงตกอยู่ในข้อยกเว้นอยู่ดี
ไม่แน่ใจว่า ท่านที่ทดลองตอบคำถามจะได้แนวคำเฉลยเช่นเดียวกันหรือไม่ครับ ถ้าไม่ สามารถแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้นะครับ
คราวนี้ เสมือนหนึ่ง จะย้ำหลักการว่า ทรัพย์สินจะต้องระบุเอาประกันภัยไว้ก่อน เมื่อได้รับความเสียหายจากภัยที่คุ้มครอง จึงจะสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ แต่หลัการนี้ใช้บังคับได้จริงเสมอไปหรือเปล่า คราวต่อไป เรามาคุยกันครับ