วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 202 : การแปลความหมายข้อยกเว้นการปนเปื้อน (Contamination) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก (Public Liability Insurance Policy)

 

ตัวอย่างคดีศึกษาเรื่องนี้มาจากประเทศแอฟริกาใต้

 

บริษัทประกันภัยรายหนึ่งได้ออกกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก (Public Liability Insurance Policy) ให้แก่บริษัท E. ซึ่งเป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จัดจำหน่ายหมึกพิมพ์ และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์ชั้นนำแห่งหนึ่งในประเทศแอฟริกาใต้

 

บริษัท E. ได้จัดจำหน่ายหมึกพิมพ์ให้แก่ลูกค้ารายใหญ่เจ้าหนึ่ง ซึ่งเป็นโรงงานผลิตถุงพลาสติกเรียกว่า P. และลูกค้าเจ้านี้ก็ได้นำไปใช้ประกอบการผลิตถุงพลาสติกส่งออกไปให้แก่ผู้นำเข้าที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีเงื่อนไขข้อตกลงพิเศษที่สำคัญระหว่างกันว่า ถุงพลาสติกเหล่านั้นจะต้องปลอดสารโลหะอันตราย เช่น สารตะกั่ว เป็นต้น ทั้งนี้ เงื่อนไขข้อตกลงดังกล่าวได้รับการตกลงยอมรับเป็นลายลักษณ์อักษรโดยบริษัท E. ด้วยเช่นกัน

 

ในการผลิตถุงพลาสติกล็อตหนึ่ง ณ โรงงานของ P. ซึ่งมีพนักงานของบริษัท E. เข้าไปช่วยในการควบคุมการผลิต ได้นำหมึกพิมพ์ที่มีสารตะกั่วหลงเหลือจากการผลิตของลูกค้ารายอื่นของ P. ไปผสมกับหมึกพิมพ์ปลอดสารตะกั่วซึ่งได้ถูกจัดเตรียมไว้เป็นพิเศษ สำหรับการผลิตถุงพลาสติกเฉพาะเพื่อการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา โดยภายหลังจากการสอบสวนพนักงานรายนั้นของบริษัท E. อ้างว่า ได้ทำไปด้วยเจตนาดีเพื่อช่วยให้โรงงาน P. สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้

 

แต่การณ์กลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะเมื่อถุงพลาสติกล็อตนี้ถูกนำเข้าถึงมือของผู้นำเข้าในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ตรวจพบสารตะกั่วเจือปนอยู่ จึงตีกลับสินค้านั้นทั้งล็อต พร้อมกับเรียกร้องเงินคืน และค่าเสียหายอื่น ๆ อีกด้วยจากโรงงาน P.

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ โรงงาน P. ได้เรียกร้องค่าเสียหายต่อจากบริษัท E. และบริษัท E. ก็ได้มาเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยของตนชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ในนามของตนอีกทอดหนึ่งตามความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท แต่ได้ถูกบริษัทประกันภัยแห่งนั้นตอบปฏิเสธ จึงทำให้บริษัท E. ไม่มีทางเลือกอื่น จำต้องนำคดีฟ้องร้องขึ้นสู่ศาล

 

ในชั้นนำสืบพยาน ปรากฏหลักฐานแก่ศาลว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท คือ กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอก แบบเกณฑ์การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน (claims made basis) โดยมีข้อตกลงคุ้มครองเขียนว่า

 

บริษัท (ประกันภัย) จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามผู้เอาประกันภัย สำหรับความรับผิดตามกฎหมายของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อผู้เสียหาย ซึ่งได้มีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนขึ้นเป็นครั้งแรกแก่ผู้เอาประกันภัย ในระหว่างระยะเวลาประกันภัย สำหรับการบาดเจ็บทางร่างกาย หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินที่จับต้องได้ อันเกิดขึ้นเนื่องจากการประกอบธุรกิจที่เอาประกันภัย ภายในอาณาเขตความคุ้มครอง ณ วันที่ หรือภายหลังจากวันที่คุ้มครองย้อนหลังดังระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย

 

ทั้งนี้ มีข้อยกเว้นทั่วไประบุว่า

 

บริษัท (ประกันภัย) จะไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย สำหรับกรณีดังต่อไปนี้

 

........

 

7. ความรับผิดใด ๆ อันมีสาเหตุมาจาก หรือเกิดขึ้นมาจากการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ในกรณี

........

 

7.5 ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ถูกจัดจำหน่าย หรือถูกจัดส่งโดยผู้เอาประกันภัย

........

 

10. การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน อันเกิดขึ้นเนื่องมาจาก

10.1 ความรับผิด อันมีสาเหตุโดยตรง หรือโดยอ้อมมาจากการรั่วไหล (seepage) ของมลภาวะ (pollution) หรือสิ่งปนเปื้อน (contamination) โดยมีเงื่อนไขว่า ข้อยกเว้นนี้จะไม่มีผลใช้บังคับ หากปรากฏว่า การรั่วไหลของมลภาวะ หรือสิ่งปนเปื้อนเช่นนั้นได้เกิดขึ้นมาจากเหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้นโดยฉับพลัน และโดยไม่ได้เจตนา

 

เป็นที่ชัดเจนว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทนี้ไม่ได้คุ้มครองถึงความรับผิดเนื่องจากผลิตภัณฑ์ (Product Liability) แต่อย่างไรก็ดี ได้มีการตกลงขยายความคุ้มครองถึงความรับผิดเนื่องจากผลิตภัณฑ์เผื่อเอาไว้เป็นกรณีพิเศษตั้งแต่แรกแล้ว โดยมีเงื่อนไข และข้อยกเว้นเฉพาะเพิ่มเติมกำหนดไว้ ดังนี้

 

ไม่ว่าจะได้มีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นใดในข้อยกเว้นทั่วไป ข้อที่ 7.5 แล้วก็ตาม ให้เป็นที่เข้าใจ และตกลงกันว่า บริษัท (ประกันภัย) จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย อันมีสาเหตุมาจากผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ถูกจัดจำหน่าย หรือถูกจัดส่งโดยผู้เอาประกันภัย ณ สถานที่แห่งใดก็ตาม ภายในอาณาเขตความคุ้มครองดังระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย

......

 

ข้อยกเว้น

......

 

การขยายความคุ้มครองนี้จะไม่ได้คุ้มครองถึงความรับผิดดังต่อไปนี้

......

 

3) อันเกิดขึ้นมาจากการออกแบบ สูตร แผนผัง หรือข้อกำหนดรายละเอียด (เว้นเสียแต่เนื่องมาจากความประมาทเลินเล่ออันสืบเนื่องมาจากการกระทำเช่นนั้น) การดำเนินการ หรือการให้คำแนะนำของผู้เอาประกันภัย หรือของบุคคลอื่นในนามของผู้เอาประกันภัย หรือ

4) อันเกิดขึ้นมาจากการไร้ประสิทธิภาพ หรือการไม่กระทำการ หรือการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดรายละเอียด (เว้นเสียแต่เนื่องมาจากความประมาทเลินเล่ออันสืบเนื่องมาจากการกระทำเช่นนั้น) หรือการทำให้เป็นไปตามภาระหน้าที่ที่ได้กำหนดเอาไว้ หรือได้รับรองเอาไว้ แต่ทั้งนี้ ข้อยกเว้นนี้จะไม่มีผลใช้บังคับแก่การบาดเจ็บทางร่างกาย หรือความเสียหายต่อทรัพย์อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากกรณีดังกล่าว”

 

ข้อต่อสู้ที่สำคัญของฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยมาจากข้อยกเว้นทั่วไป ข้อที่ 10.1 ข้างต้น ตรงที่ว่า การเรียกร้องค่าเสียหายของโรงงาน P. ที่มีต่อบริษัท E. ฝ่ายโจทก์นั้น เกิดขึ้นเนื่องมาจากความรับผิดโดยตรง หรือโดยอ้อมที่มีสาเหตุจากการปนเปื้อนของหมึกพิมพ์ที่มีสารตะกั่ว ซึ่งพจนานุกรมทั่วไปได้ให้ความหมายของการปนเปื้อนว่า หมายความถึง การทำให้ไม่บริสุทธิ์โดยทางกายภาพจนทำให้เกิดอันตราย ...

    

ขณะที่ข้อโต้แย้งของฝ่ายโจทก์ บริษัท E. ได้มองว่า สิ่งที่ข้อยกเว้นทั่วไป ข้อที่ 10.1 เขียนไว้นั้น มีจุดประสงค์เพื่อไม่คุ้มครองถึงการปนเปื้อนจากสิ่งอื่น ในทำนองทำให้เสียไปใช้ประโยชน์ไม่ได้เลยมากกว่า มิใช่มีลักษณะเป็นการผสมปนกันระหว่างหมึกพิมพ์ด้วยกันเอง แม้จะผิดสูตรผสมก็ตามดังกล่าว ซึ่งได้เกิดขึ้นมาจากความประมาทเลินเล่อของพนักงานของฝ่ายโจทก์ บริษัท E. เอง อีกทั้งก็ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อตัวทรัพย์สินนั้นเอง แต่มีลักษณะเป็นความเสียหายสืบเนื่อง อันจะได้รับความคุ้มครองจากตอนท้ายของข้อยกเว้น ข้อที่ 4) ของการขยายความคุ้มครองถึงความรับผิดเนื่องจากผลิตภัณฑ์

 

ศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับข้อโต้แย้งของฝ่ายโจทก์ บริษัท E. และตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท

 

เมื่อคดีถูกอุทธรณ์มาถึงชั้นศาลอุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์กลับมีความเห็นแตกต่างออกไป โดยวินิจฉัยว่า

 

แม้นว่า “มลภาวะ” กับ “สิ่งปนเปื้อน” จะมีความหมายคล้ายคลึงกัน แต่คำว่า “การรั่วไหล” นั้นกลับหมายความถึง การรั่วซึมออกมาทีละน้อย โดยที่อาจก่อให้เกิดมลภาวะ หรือสิ่งปนเปื้อนหรือไม่ก็ได้ ฉะนั้น ทั้งสามคำเหล่านี้ไม่ได้ให้ความหมายถึงขนาดต้องทำให้เสียไปใช้ประโยชน์ไม่ได้เลยดังที่กล่าวอ้างไว้

 

ส่วนข้อโต้แย้งที่ว่า จะได้รับความคุ้มครองจากตอนท้ายของข้อยกเว้น ข้อที่ 4) ของการขยายความคุ้มครองถึงความรับผิดเนื่องจากผลิตภัณฑ์ เพราะส่งผลทำให้ข้อยกเว้นทั่วไปของข้อที่ 10.1 สิ้นผลใช้บังคับไปแล้วนั้น ศาลอุทธรณ์ก็ไม่เห็นพ้องด้วย เนื่องจากไม่ปรากฏข้อความอย่างชัดเจนว่า การขยายความคุ้มครองดังกล่าวจะส่งผลทำให้ข้อยกเว้นทั่วไปนั้นปราศจากผลใช้บังคับโดยเฉพาะเจาะจง ดังนั้น ข้อยกเว้นเช่นว่านั้นจึงคงยังมีผลใช้บังคับอยู่ตามปกติ

 

พิพากษากลับให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยไม่ต้องรับผิด เนื่องมาจากกรณีเข้าข้อยกเว้นทั่วไป ข้อที่ 10.1 เป็นความรับผิดอันมีสาเหตุโดยตรง หรือโดยอ้อมมาจากการปนเปื้อน

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี St Paul Insurance Co SA Ltd v Eagle Ink System (Pty) Ltd (300/08) [2009] ZASCA 53 (27 May 2009) )

 

ข้อสังเกต

 

กรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกฉบับมาตรฐานบ้านเรา อาจเขียนข้อยกเว้นประเด็นดังกล่าวแตกต่างออกไป แต่เชื่อว่า ตัวอย่างคดีศึกษาข้างต้นคงสามารถให้แนวทางในการวิเคราะห์ถ้อยคำเช่นว่านั้นได้บ้างนะครับ

 

หมวดที่ 3 ข้อยกเว้น

 

กรมธรรม์ประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองรวมถึง

 

1. ………

2. ความรับผิดใด ๆ ซึ่งเกิดจาก หรือสืบเนื่องจาก

2.1 ………

2.4 สินค้า หรือสิ่งของใด ๆ ซึ่งผลิต ขาย จัดหา ซ่อมแซม บริการ หรือดำเนินการโดยผู้เอาประกันภัย หรือผู้กระทำการแทนผู้เอาประกันภัย

3. ……..

5. ความรับผิดตามกฎหมายซึ่งเกิดขึ้นจากการกระทำความเสียหายใด ๆ อันเกิดจาก หรือเกี่ยวเนื่องจาก หรือเป็นผลโดยตรง หรือโดยอ้อมจากฝุ่น ควัน ไอน้ำ เขม่า กรด ด่าง สารเคมี หรือกากเคมีที่เป็นพิษ ของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซที่เป็นพิษ สิ่งปฏิกูล หรือสิ่งที่ทำให้ระคายเคือง มลพิษ หรือมลภาวะใด ๆ

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น