วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 203 : ผู้ว่าจ้างเจ้าของทรัพย์สินเดิม (Principal/Owner of Existing Property) ไล่เบี้ยเอาผิด (Cross Claim) กับผู้รับเหมางานก่อสร้างของตนเอง (Own Contractors) ได้ไหม?

 

ศูนย์การแพทย์แห่งหนึ่งได้ว่าจ้างผู้รับเหมาหลักให้ทำการปรับปรุงห้องครัวเดิมของตนที่มีอยู่ขึ้นมาใหม่

 

ผู้รับเหมาหลักเจ้านั้นได้มอบหมายให้ผู้รับเหมาช่วงรายหนึ่งเข้ามาทำงานด้านระบบประปาทั้งหมดแทน

 

เป็นที่มาก่อให้เกิดเหตุการณ์น้ำรั่วไหลไปสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินอย่างกว้างขวางทั้งบริเวณจุดงานก่อสร้าง (contract site) และบริเวณอื่น ๆ ที่อยู่ข้างเคียงของศูนย์การแพทย์นั้นด้วย

 

ทำให้เกิดข้อพิพาทถกเถียงกันสามประเด็นระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับเหมาหลัก และผู้รับเหมาช่วงที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์นี้ ดังนี้

 

1) กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้าง (Contract Works Insurance Policy) ซึ่งคุ้มครองตัวงานก่อสร้างนั้น จะครอบคลุมรวมไปถึงทรัพย์สินเดิมของผู้ว่าจ้าง (Principal’s Existing Property) โดยอัตโนมัติด้วยหรือไม่?

 

2) ถ้าไม่ ผู้ว่าจ้างซึ่งเป็นเจ้าของ และผู้เสียหาย สำหรับทรัพย์สินเดิมที่มีอยู่บริเวณข้างเคียงกับงานก่อสร้างนั้น จะสามารถใช้สิทธิเอาผิดกับผู้รับเหมาหลักของตนเองได้ไหม?

 

3) ถ้าได้ ผู้รับเหมาหลักจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาผิดแก่ผู้รับเหมาช่วงผู้กระทำผิดอีกทอดหนึ่งได้ไหม?

 

คุณมีความเห็นเช่นไรครับ?

 

เมื่อคดีนี้ขึ้นสู่ศาล

 

ศาลได้พินิจพิเคราะห์ถ้อยคำของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท ประกอบกับพยานหลักฐานจากคู่ความที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ได้ให้ความเห็นว่า

 

ก) ผู้เอาประกันภัย

 

เนื่องด้วยผู้เอาประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ประกอบด้วยหลายฝ่าย กล่าวคือ ผู้ว่าจ้าง และ/หรือผู้รับเหมาหลักซึ่งถูกระบุชื่อ ส่วนผู้รับเหมาช่วงมิได้ถูกระบุชื่อไว้ แต่ก็จัดเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมด้วย ในสถานะเป็นตัวแทนของผู้รับเหมาหลัก หรือของผู้ว่าจ้างก็ได้ ฉะนั้น ทุกรายจึงไม่ถือเป็นบุคคลภายนอก

 

ข) ตัวงานตามสัญญาว่าจ้าง หรือทรัพย์สินที่เอาประกันภัย

 

ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้ได้เขียนชัดเจนอยู่แล้วว่า “คุ้มครองทรัพย์สินที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง การติดตั้ง หรือทรัพย์สินอื่นดังระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย

 

ค) สถานที่เอาประกันภัย

 

คือ สถานที่ดำเนินงานตามที่ได้ระบุไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย

 

ง) ผลวิเคราะห์คดี

 

เช่นนี้ เป็นที่ชัดเจนว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทให้ความคุ้มครองเพียงเฉพาะแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยดังระบุไว้ในสถานที่เอาประกันภัยเท่านั้น โดยไม่ได้รวมถึงทรัพย์สินอื่นของผู้ว่าจ้างแต่ประการใด

 

อย่างไรก็ดี ทรัพย์สินอื่นที่อยู่ข้างเคียงของผู้ว่าจ้างนั้นอาจสามารถได้รับความคุ้มครองได้ด้วยการตกลงขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมโดยเฉพาะเจาะจง

 

แต่ในคดีนี้ ผู้ว่าจ้างไม่ได้ตกลงเช่นว่านั้นกับบริษัทประกันภัยผู้ให้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท

 

แล้วในส่วนทรัพย์สินอื่นของผู้ว่าจ้างฝ่ายโจทก์สามารถเรียกร้องเอาผิดโดยตรงแก่ผู้รับเหมาหลัก หรือผู้รับเหมาช่วงผู้กระทำผิดได้หรือเปล่า?

 

เมื่อภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทจำกัดขอบเขตห้ามมิให้เรียกร้องความรับผิดระหว่างผู้เอาประกันภัยร่วมด้วยกันเองเอาไว้ อันมีความหมายถึงเพียงเฉพาะในส่วนทรัพย์สินที่ได้เอาประกันภัยไว้ ภายในบริเวณสถานที่เอาประกันภัยเท่านั้น โดยมิได้มีการระบุเป็นอย่างอื่นอย่างชัดแจ้ง นั่นหมายความว่า บริเวณอื่น ๆ นอกเหนือจากนั้น ผู้ใดที่กระทำผิดก็จำต้องรับผิดตามกฎหมายไปตามปกติทั่วไป คงไม่เป็นการสมเหตุผลที่จะต้องกำหนดให้ผู้รับเหมาไปขยายความรับผิดภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาททั่วทุกบริเวณของผู้ว่าจ้างด้วย อันจะเป็นการก่อให้เกิดภาระเกินกว่าราคาค่าจ้างดำเนินงานของผู้รับเหมามากเกินไป

 

จึงตัดสินให้ผู้รับเหมาหลักฝ่ายจำเลยรับผิดในฐานะตัวการต่อความเสียหายที่บังเกิดแก่ผู้ว่าจ้างตรงบริเวณอื่นนอกเหนือจากบริเวณงานตามสัญญาว่าจ้างนั้น

 

เมื่อผู้รับเหมาหลักฝ่ายจำเลยได้ชดใช้ไปแล้ว ก็สามารถใช้สิทธิไล่เบี้ยเอากับผู้รับเหมาช่วงผู้กระทำผิด อันมีสถานะเป็นตัวแทนของตนภายหลังได้

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี William Osler Health Center v. Compass Construction et al, 2015 ONSC 3959 (CanLII) )

 

หมายเหตุ

 

(1) แม้คดีนี้จะไม่ได้เรียกบริษัทประกันภัยเข้ามาร่วมเป็นคู่ความด้วยก็ตาม คงไม่ได้ส่งผลกระทบแก่ความคุ้มครองแต่ประการใด

 

(2) เช่นเดียวกับแม้กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทอาจแตกต่างจากกรมธรรม์ประกันภัยฉบับมาตรฐานบ้านเราอยู่บ้าง แต่ก็เพียงเล็กน้อย ไม่ได้ถึงขนาดทำให้ผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป

 

(3) กรณีที่ได้มีการขยายเงื่อนไขพิเศษคุ้มครองเพิ่มเติมแก่ทรัพย์สินเดิมของผู้ว่าจ้างเผื่อไว้แล้ว เพียงเป็นทางเลือกให้ผู้ว่าจ้างผู้เสียหายจะพิจารณาเลือกไปเรียกร้องเอากับกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท หรือกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินที่ตนเองมีอยู่เท่านั้น ถ้าเลือกอย่างหลัง บริษัทประกันภัยทรัพย์สินนั้นก็สามารถรับช่วงสิทธิของผู้ว่าจ้างไปไล่เบี้ยได้อยู่ดี หรือกระทั่งเป็นกรณีเข้าเงื่อนไขการประกันภัยหลายราย จะต้องมาร่วมกันชดใช้ตามส่วนก็ตาม เพราะโดยทั่วไป การขยายเงื่อนไขพิเศษนั้นมักมีวงเงินไม่สูงมากนัก

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ -กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น