วันจันทร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 200 :  เงื่อนไขการประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Under Insured Condition under Business Interruption Insurance Policy)

 

(ตอนที่สอง)

 

ตอนที่ผ่านมา ทิ้งประเด็นข้อทักท้วงเพิ่มเติมของฝ่ายบริษัทประกันภัยรายนี้ที่ว่า  ฝ่ายผู้เอาประกันภัยควรจะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนน้อยกว่านั้นลงไปอีก เพราะเหตุที่ได้ทำประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น โดยหยิบยกข้อกำหนดความคุ้มครองว่าด้วยการประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็นมากล่าวอ้าง ดังนี้

 

แต่ทั้งนี้ ถ้าหากจำนวนเงินเอาประกันภัยภายใต้รายการที่เอาประกันภัยน้อยกว่าจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ควรจะเป็น ซึ่งคำนวณได้จากการนำอัตรากำไรขั้นต้นคูณกับยอดรายได้รายปี หรือ (คูณกับยอดรายได้รายปีที่เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนตามระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสูงสุดที่เกินกว่า 12 เดือน) แล้ว จำนวนเงินที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจะลดลงตามส่วน

 

ฉะนั้น ในกรณีนี้นำตัวเลขต่าง ๆ ที่คำนวณได้มาแทนค่าออกมาได้เป็น

 

จำนวนเงินเอาประกันภัย สำหรับกำไรขั้นต้น คือ 3 ล้านแรนด์แอฟริกาใต้ (หรือเทียบเท่าประมาณ 5.6 ล้านบาท)

 

ยอดรายได้รายปีที่คาดการณ์ คือ 9,058,764 แรนด์แอฟริกาใต้ (หรือเทียบเท่าประมาณ 17 ล้านบาท)

 

อัตรากำไรขั้นต้น คือ 57%

 

จำนวนเงินเอาประกันภัยที่ควรจะทำ คือ 

 9,058,764 x 57%                               =   5,163,495.48

 

ถือเป็นการทำประกันภัยต่ำกว่าที่ควรจะต้องทำ 

  3,000,000                                        =   58%

5,163,495.48

 

ค่าสินไหมทดแทนที่ควรจะชดใช้ คือ 2,651,588 แรนด์แอฟริกาใต้ (หรือเทียบเท่าประมาณ 5 ล้านบาท)

 

ค่าสินไหมทดแทนที่ควรจะได้รับ คือ  

2,651,588 x 58%                                =   1,537,921.04

 

คดีนี้ได้ต่อสู้กันถึงชั้นศาลอุทธรณ์ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการทำประกันภัยต่ำว่ามูลค่าที่ควรจะทำ แต่ทั้งสองชั้นศาลล้วนมีความเห็นพ้องไปในแนวทางเดียวกันว่า เมื่อพิจารณาคำจำกัดความของยอดรายได้รายปีกับยอดรายได้มาตรฐานซึ่งเขียนว่า

 

ยอดรายได้รายปี (Annual Turnover) หมายความถึง ยอดรายได้ระหว่างระยะเวลา 12 เดือนโดยนับย้อนหลังจากวันที่เกิดเหตุความเสียหาย

 

ยอดรายได้มาตรฐาน (Standard Turnover) หมายความถึง ยอดรายได้ที่อยู่ในช่วงระยะเวลาตรงกันกับระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งอยู่ในช่วง 12 เดือนโดยนับย้อนหลังจากวันที่เกิดเหตุความเสียหาย ซึ่งได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมแล้วในกรณีที่ระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่า 12 เดือน

 

ตรงข้อความที่ขีดเส้นใต้ล้วนแสดงความหมายคล้ายคลึงกันมาก

 

ถ้านำอัตรากำไรขั้นต้นไปคูณกับยอดรายได้ตามจริงที่ปรับปรุงแล้ว จะได้ผลลัพธ์

 

4,406,855 x 57%                                =   2,511,907.35

 

ซึ่งผลลัพธ์นั้นจะไม่ได้สูงกว่าจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ได้ทำไว้เลย

 

ทั้งสองชั้นศาลจึงตัดสินไม่ให้นำข้อกำหนดความคุ้มครองมาใช้บังคับในคดีนี้ โดยให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยชดใช้ตามค่าสินไหมทดแทนที่ควรจะต้องชดใช้ กล่าวคือ 2,651,588 แรนด์แอฟริกาใต้ (หรือเทียบเท่าประมาณ 5 ล้านบาท)

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Chem Alum (Pty) Ltd v. Mutual & Federal Insurance Co., Ltd [2006] JOL 16404 (D))

 

ข้อสังเกต

 

คดีศึกษานี้มีการอ้างอิงตัวเลขค่อนข้างสับสนพอสมควร แต่ใจความสำคัญจะไปอยู่ที่ถ้อยคำของคำจำกัดความระหว่างยอดรายได้รายปี (Annual Turnover) กับยอดรายได้มาตรฐาน (Standard Turnover) มากกว่า

 

ส่วนตัวแรกเริ่มที่พยายามศึกษาเรียนรู้การประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก พออ่านแล้ว พบว่าทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างสองความหมายเหล่านี้ได้ลำบากมาก  เพราะแทบจะไม่เห็นแตกต่างได้

 

ครั้นต่อมาได้ศึกษาค้นคว้ามากขึ้น จึงค่อย ๆ สามารถจำแนกแยกแยะได้ ทั้งยังได้รับรู้อีกด้วยว่า

 

ยอดรายได้รายปี (Annual Turnover) นั้น มีจุดประสงค์เพื่อใช้ตรวจสอบการทำประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะทำ

 

ส่วนยอดรายได้มาตรฐาน (Standard Turnover) นั้น มีจุดประสงค์เพื่อใช้ตรวจสอบยอดรายได้ที่ขาดหายไป

 

สงสัยเหมือนกันที่ในคดีนี้ ฝ่ายบริษัทประกันภัยกลับนำตัวเลขของยอดรายได้มาตรฐานมาอ้างอิงแทน

 

แม้การประกันภัยประเภทนี้จะได้ถูกคิดค้นมานานร่วมหลายร้อยปีแล้ว แต่ก็ยังค้นพบข้อบกพร่องอยู่บ้าง

 

ดังนั้น หลักการนั้นมีอยู่แท้แน่นอน เพียงแต่จะสามารถนำไปใช้บังคับได้อย่างแท้จริงไหม? นั่นคงเป็นเรื่องที่ต้องเผชิญกันต่อไปนะครับ

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นัราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น