วันจันทร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 201 : ตัวอย่างคดีศึกษาเงื่อนไขพิเศษการทำงานที่ใช้ความร้อน (Hot Work Special Clause)

 

ณ วันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 2016 ได้เกิดไฟไหม้ขึ้นที่โครงการก่อสร้างโรงแรมแห่งหนึ่ง ในชานเมืองแอเบอร์ดีนของสกอตแลนด์

 

จากการตรวจสอบพบว่า จุดที่เกิดเหตุ เพิ่งมีคนงานใช้เครื่องพ่นไฟ (blowtorch) ทำงานที่ใช้ความร้อนตรงบริเวณหลังคาพื้นเรียบ (flat roof) ของอาคารโรงแรมนั้น หลังจากทำงานเสร็จไม่นานก็ได้เกิดไฟไหม้ขึ้นมาลุกลามสร้างความเสียหายอย่างมาก

 

ต่อมาวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 2016 ผู้ว่าจ้างเจ้าของโครงการโรงแรมแห่งนั้นได้ยื่นฟ้องเรียกร้องให้ผู้รับเหมารับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเงินประมาณเก้าล้านปอนด์ (หรือเทียบเท่าประมาณ 412 ล้านกว่าบาท)

 

เนื่องด้วยผู้รับเหมารายนี้ได้มีการทำประกันภัยคุ้มครองงานโครงการนี้เอาไว้แล้ว จึงเรียกให้บริษัทประกันภัยของตนเข้ามารับผิดชอบแทน แต่กลับได้รับคำปฏิเสธโดยกล่าวอ้างว่า

 

ก) กรณีเข้าข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทที่ระบุว่า ไม่คุ้มครองกรณีเมื่อผู้เอาประกันภัยมีการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความร้อน และ

 

ข) กรณีไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อนความรับผิดของบริษัทประกันภัย ภายใต้เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยการทำงานที่ใช้ความร้อน (Hot Work Special Clause) ที่ได้แนบไว้เพิ่มเติมเป็นส่วนหนึ่งของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท โดยมีใจความพอสรุป คือ หากมีการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความร้อนจะต้องจัดวางมาตรการป้องกันตามสมควรเสียก่อน เป็นต้นว่า ต้องใช้วัสดุไม่ติดไฟกั้นบริเวณนั้น จัดเตรียมผ้าห่มกันไฟ อุปกรณ์ดับเพลิง พร้อมกับยามคอยเฝ้าดูแลระหว่างทำงานกับหลังทำงานเสร็จแล้ว

 

แต่ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตรวจพบว่า มีเพียงคนงานคนเดียวทำงานอยู่เท่านั้น โดยปราศจากมาตรการป้องกันตามสมควรใด ๆ เลย

 

ฝ่ายผู้รับเหมาผู้เอาประกันภัยตอบโต้ว่า

 

- ได้ทำงานโดยใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว

 

- เหตุไฟไหม้ที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานใช้ความร้อน และ

 

- อุปกรณ์ดับเพลิงถูกจัดเตรียมพร้อมไว้แล้วอยู่ภายในรถตู้ที่จอดอยู่บริเวณโครงการด้วยเช่นเดียวกัน

 

นอกจากนี้ ข้อยกเว้นที่หยิบยกมาอ้างอิงนั้นจะมีผลใช้บังคับได้ต่อเมื่อได้เกิดความสะเพร่า (recklessness) ขึ้นมาเท่านั้น ทั้งจะต้องเป็นสาเหตุโดยตรงมาจากข้อยกเว้นดังกล่าวนั้นด้วย

 

ข้อโต้แย้งต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นของฝ่ายผู้เอาประกันภัย ไม่อาจโน้มน้าวให้ศาลชั้นต้นรับฟังเป็นเหตุเป็นผลได้ เพราะศาลท่านมองว่า ทั้งข้อยกเว้นกับเงื่อนไขพิเศษดังกล่าวมีจุดประสงค์ชัดเจนที่จะจำกัดขอบเขตความคุ้มครอง แม้จะมีการอนุโลมให้ทำงานเกี่ยวกับการใช้ความร้อนได้ก็ตาม แต่ก็จำต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดเช่นว่านั้นอย่างเคร่งครัดครบถ้วนถูกต้องทุกประการด้วยเช่นเดียวกัน

 

คดีนี้ ฝ่ายผู้เอาประกันภัยได้พยายามยื่นคำร้องขออุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่คำร้องนั้นได้ถูกตีตกไป คดีนี้จึงสิ้นสุดแค่ศาลชั้นต้น

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Aspen Insurance UK Ltd & Liberty Mutual Insurance Europe Ltd v Sangster and Annand (2018))

 

ข้อสังเกต

 

ที่จริงคดีนี้มีการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยแยกเป็นสองฉบับ ได้แก่ ฉบับคุ้มครองตัวงานก่อสร้าง และฉบับคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก ซึ่งในทางปฏิบัติอาจเลือกจัดทำแยกฉบับ หรือรวมเป็นฉบับเดียวกันดั่งเช่นของบ้านเราก็ได้

 

แม้นกระนั้น ไม่น่าจะก่อให้เกิดผลทางคดีแตกต่างกัน

 

เมื่อมีการแนบเงื่อนไขพิเศษว่าด้วยการใช้ความร้อน หรือของบ้านเรามีชื่อเรียกเป็นทางการว่า “แบบ CWI 015 เอกสารแนบท้ายว่าด้วยอุปกรณ์ดับเพลิง และมาตรการป้องกันอัคคีภัยในสถานที่ก่อสร้าง (Special Conditions Concerning Fire-Fighting Facilities and Fire Safety on Construction Sites Clause)” ก็ควรปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดจะปลอดภัยกว่า ทั้งผู้ว่าจ้าง แม้จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง แต่ก็ควรกำชับดูแลผู้รับเหมาให้ปฏิบัติตามอย่างครบถ้วนถูกต้องด้วย เพราะมิฉะนั้น หากเกิดอุบัติเหตุลักษณะนี้ขึ้นมา จะพลอยเสียเงิน เสียเวลาคล้ายกับตัวอย่างคดีศึกษานี้

 

อย่างไรก็ดี ต่อให้ปราศจากเอกสารแนบท้ายนี้กำกับไว้ เชื่อว่า ไม่น่าจะส่งผลทำให้บริษัทประกันภัยจะต้องเข้ามารับผิดชอบแทนให้ได้นะครับ เพราะอาจผิดเงื่อนไขอื่นด้วย ลองไปอ่านดูรายละเอียดในกรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาว่าจ้าง (Contract Works Insurance Policy) อีกทีก็ได้ครับ   

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นัราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น