วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2567

เรื่องที่ 200 : เงื่อนไขการประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Under Insured Condition under Business Interruption Insurance Policy)

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสภา พิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2560 ให้คำนิยามถ้อยคำที่เกี่ยวข้องไว้ ดังนี้

 

การประกันภัยต่ำกว่ามูลค่า (Under Insurance) หมายความถึง การประกันภัยซึ่งจำนวนเงินเอาประกันภัยน้อยกว่ามูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สินนั้น ผลของการประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าจะถือว่า ผู้เอาประกันภัยจะต้องแบกรับความเสียหายไว้เองด้วย ในส่วนที่ทำประกันภัยไว้ไม่เต็มมูลค่าทำให้ผู้เอาประกันภัยได้รับค่าสินไหมทดแทนน้อยกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงตามหลักการเฉลี่ย (ดู average 1. ประกอบ)

 

ข้อกำหนดการเฉลี่ยค่าเสียหาย (Average Clause) หมายความถึง ข้อกำหนดในกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินที่ให้มีการเฉลี่ยความรับผิดระหว่างผู้รับประกันภัยกับผู้เอาประกันภัย ในกรณีที่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยสียหายบางส่วน และมีการเอาประกันภัยไว้ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน โดยให้ถือว่า ผู้เอาประกันภัยเป็นผู้รับประกันภัยเอง ในส่วนที่ทำประกันภัยไว้ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน และจำนวนเงินที่ผู้รับประกันภัยชดใช้จะลดลงตามส่วนตามวิธีการคำนวณดังนี้

 

ค่าสินไหมทดแทน = จำนวนเงินเอาประกันภัย x มูลค่าความเสียหาย

                          มูลค่าที่แท้จริงของทรัพย์สิน

 

โดยปกติมักจะคุ้นเคย และพบเห็นเงื่อนไข/ข้อกำหนดข้างต้นเหล่านี้ได้ในการประกันภัยทรัพย์สินทั่วไปทุกชนิด

 

แต่กับกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ซึ่งจัดเป็นการประกันภัยทรัพย์สินรูปแบบหนึ่ง กลับไม่ใคร่คุ้นเคยกันมากนัก ทั้งที่มีเขียนเอาไว้เช่นเดียวกัน ภายใต้ข้อกำหนดความคุ้มครองเฉพาะ สำหรับการประกันภัยกำไรขั้นต้น แบบจำนวนเงินเอาประกันภัย วิธีผลต่าง (Specification Wordings: Gross Profit – Sum Insured: Difference Basis) ซึ่งระบุว่า

 

แต่ทั้งนี้ ถ้าหากจำนวนเงินเอาประกันภัยภายใต้รายการที่เอาประกันภัยน้อยกว่าจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ควรจะเป็น ซึ่งคำนวณได้จากการนำอัตรากำไรขั้นต้นคูณกับยอดรายได้รายปี หรือ (คูณกับยอดรายได้รายปีที่เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนตามระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสูงสุดที่เกินกว่า 12 เดือน) แล้ว จำนวนเงินที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจะลดลงตามส่วน

 

โดยไม่มีการเขียนสูตรการคำนวณกำกับไว้อย่างชัดเจน ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า

 

ก) จะมีผลใช้บังคับได้จริงไหม? และ

 

ข) จะใช้สูตรคำนวณเช่นไร?

 

งั้นเราลองมาพิจารณาตัวอย่างคดีศึกษาจากประเทศแอฟริกาใต้เรื่องนี้เป็นแนวทางกันดูนะครับ

 

ผู้ประกอบการโรงงานแห่งหนึ่งได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักฉบับพิพาทไว้ โดยมีเงื่อนไขความคุ้มครองที่สำคัญ ดังนี้

 

ระยะเวลาเอาประกันภัยตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1999 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ. 2000 (เข้าใจว่า เพื่อให้ความคุ้มครองสิ้นสุดลงพร้อมกับกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน) และ

 

ระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสูงสุด (maximum indemnity period) 12 เดือน

 

จำนวนเงินเอาประกันภัย สำหรับกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 3 ล้านแรนด์แอฟริกาใต้ (หรือเทียบเท่าประมาณ 5.6 ล้านบาท)  

 

ต่อมา ได้เกิดมีไฟไหม้โรงงานเกิดขึ้น ณ วันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 2000 สร้างความเสียหายบางส่วนแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย และส่งผลทำให้การประกอบกิจการต้องหยุดชะงักลงไปชั่วคราวเป็นระยะเวลาสองเดือน แต่ได้สร้างผลกระทบต่อความสูญเสียทางการเงินจากผลกำไรที่คาดหวังไว้ อันเนื่องมาจากการลดลงไปของยอดรายได้ กว่าจะกลับคืนสู่สถานะทางการเงินดังคาดหวังไว้นั้นได้ ก็ใช้ระยะเวลานานเกินกว่า 12 เดือน นับแต่วันที่เกิดเหตุไฟไหม้นั้นเอง

 

ฉะนั้น ผู้เอาประกันภัยจึงได้ยื่นฟ้องเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยรายนี้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย 3 ล้านแรนด์แอฟริกาใต้ (หรือเทียบเท่าประมาณ 5.6 ล้านบาท)  

 

ฝ่ายบริษัทประกันภัยรายนี้ได้ตอบโต้ว่า เนื่องด้วยข้อกำหนดความคุ้มครองนี้ได้กำหนดสูตรการคำนวณค่าสินไหมทดแทนเอาไว้ เวลาเมื่อเกิดความสูญเสียทางการเงิน ดังนี้

 

“การประกันภัยภายใต้รายการที่ 1 จะให้ความคุ้มครองเฉพาะการสูญเสียกำไรขั้นต้น อันเนื่องมาจาก () การลดลงของยอดรายได้และ () การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน โดยบริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ดังต่อไปนี้

 

(ก)  ในกรณีของการลดลงของยอดรายได้ (reduction in turnover):

       บริษัทประกันภัยจะชดใช้จำนวนเงินที่คำนวณได้จากการนำอัตรากำไรขั้นต้น คูณกับจำนวนยอดรายได้ที่ขาดหายไป ในระหว่างระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

…………………

…………………

 

แต่ทั้งนี้ ถ้าหากจำนวนเงินเอาประกันภัยภายใต้รายการที่เอาประกันภัยน้อยกว่าจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ควรจะเป็น ซึ่งคำนวณได้จากการนำอัตรากำไรขั้นต้นคูณกับยอดรายได้รายปี หรือ (คูณกับยอดรายได้รายปีที่เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนตามระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสูงสุดที่เกินกว่า 12 เดือน) แล้ว จำนวนเงินที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจะลดลงตามส่วน

 

พร้อมกับกำหนดคำนิยามต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไว้ด้วย ดังนี้

 

อัตรากำไรขั้นต้น (Rate of Gross Profit) หมายความถึง อัตราของกำไรขั้นต้นที่ได้รับต่อยอดรายได้ระหว่างปีทางบัญชีงวดท้ายสุดก่อนหน้าวันที่เกิดเหตุความเสียหาย

 

ยอดรายได้รายปี (Annual Turnover) หมายความถึง ยอดรายได้ระหว่างระยะเวลา 12 เดือนโดยนับย้อนหลังจากวันที่เกิดเหตุความเสียหาย

 

ยอดรายได้มาตรฐาน (Standard Turnover) หมายความถึง ยอดรายได้ที่อยู่ในช่วงระยะเวลาตรงกันกับระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งอยู่ในช่วง 12 เดือนโดยนับย้อนหลังจากวันที่เกิดเหตุความเสียหาย ซึ่งได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสมแล้วในกรณีที่ระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่า 12 เดือน

 

ทั้งนี้ อัตรากำไรขั้นต้น ยอดรายได้รายปี และยอดรายได้มาตรฐานจะต้องมีการปรับปรุงให้เป็นไปตามแนวโน้มของธุรกิจ และ/หรือความผันแปรของธุรกิจ หรือสถานการณ์ใด ๆ ก็ตามที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหน้าหรือหลังความเสียหาย  หรือควรจะมีผลกระทบต่อธุรกิจ ถ้าไม่ได้เกิดความเสียหายขึ้นเสียก่อน เพื่อว่าตัวเลขที่ได้รับการปรับปรุงแล้วนั้นจะแสดงผลลัพธ์ที่ธุรกิจควรจะได้รับตลอดระยะเวลาที่ธุรกิจได้รับผลกระทบจากแนวโน้มของธุรกิจ และ/หรือความผันแปรของธุรกิจ หรือสถานการณ์ใด ๆ ก็ตามที่มีผลกระทบต่อธุรกิจดังกล่าวนั้นได้ใกล้เคียงความเป็นจริงเท่าที่ในทางปฏิบัติจะสามารถกระทำได้ (Reasonably Practicable) ถ้าไม่ได้เกิดความเสียหายขึ้นเสียก่อน


การขาดหายไปของยอดรายได้ (Shortage in Turnover) หมายความถึง จำนวนเงินยอดรายได้ในระหว่างช่วงระยะเวลาหนึ่งซึ่งขาดหายไปจากยอดรายได้มาตรฐานในส่วนที่สัมพันธ์กับช่วงเวลาดังกล่าว อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากความเสียหาย

 

ทั้งนี้ คู่ความทั้งสองฝ่ายมีความเห็นสรุปร่วมกันกับผู้เชี่ยวชาญทางการเงินว่า

 

(1) ยอดรายได้มาตรฐาน สำหรับช่วงระยะเวลาระหว่างวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 2000 ถึงวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 2001 สามารถคำนวณตัวเลขออกมาได้ 9,058,764 แรนด์แอฟริกาใต้ (หรือเทียบเท่าประมาณ 17 ล้านบาท) ไม่รวมภาษี

 

(2) ยอดรายได้ตามจริงที่ปรับปรุงแล้ว สำหรับช่วงระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 12 เดือน สามารถคำนวณตัวเลขออกมาได้ 4,406,855 แรนด์แอฟริกาใต้ (หรือเทียบเท่าประมาณ 8.2 ล้านบาท) ไม่รวมภาษี

 

(3) ยอดรายได้ที่ขาดหายไป สำหรับช่วงระยะเวลาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 12 เดือน สามารถคำนวณตัวเลขออกมาได้ 4,651,909 แรนด์แอฟริกาใต้ (หรือเทียบเท่าประมาณ 8.7 ล้านบาท) ไม่รวมภาษี

 

(4) อัตรากำไรขั้นต้น ซึ่งได้ปรับปรุงตามสถานการณ์แล้ว สามารถคำนวณตัวเลขออกมาได้อัตราร้อยละ 57

 

(5) ค่าสินไหมทดแทนจากการสูญเสียกำไรขั้นต้น สามารถคำนวณตัวเลขออกมาได้ตามสูตร

 

อัตรากำไรขั้นต้น x ยอดรายได้ที่ขาดหายไป

             57%   x 4,651,909 แรนด์แอฟริกาใต้ (ประมาณ 8.7 ล้านบาท)

 

ค่าสินไหมทดแทนควรจะชดใช้ = 2,651,588 แรนด์แอฟริกาใต้ (หรือเทียบเท่าประมาณ 5 ล้านบาท)

 

แต่ยังก่อนนะครับ

 

เนื่องด้วยฝ่ายบริษัทประกันภัยรายนี้ได้ทักท้วงเพิ่มเติมว่า ฝ่ายผู้เอาประกันภัยควรจะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนน้อยกว่านั้นลงไปอีก เพราะเหตุที่ได้ทำประกันภัยต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น

 

คุณเห็นคล้อยตามด้วยไหมครับ? และ

 

ค่าสินไหมทดแทนที่ลดน้อยลงไปอีกนั้นจะคำนวณออกมาได้เช่นไร?

 

โปรดติดตามตอนต่อไปคราวหน้าครับ

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นัราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น