วันอังคารที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 192 : ผู้รับประโยชน์ฆ่าผู้เอาประกันภัย ผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยควรจะไปอยู่ที่ไหน?

 

(ตอนที่สาม)

 

โลกแห่งประกันภัยสามารถแบ่งออกเป็นสองค่ายใหญ่ ๆ ได้แก่ ค่ายฝั่งยุโรปซึ่งเริ่มต้นมาก่อน โดยมีประเทศอังกฤษเป็นแกนสำคัญ และบ้านเราเองก็ได้อาศัยความรู้กับแนวปฏิบัติมาใช้ยึดถือเป็นต้นแบบ ส่วนค่ายที่สองทางฝั่งอเมริกาซึ่งแม้อาศัยต้นแบบจากฝั่งยุโรปมาเช่นกัน แต่ได้พยายามพัฒนาสร้างความแตกต่างจนเป็นเอกลักษณ์ของตนได้ในที่สุด

 

ฉะนั้น การศึกษาทำความเข้าใจอย่างกว้างขวางจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเรียนรู้ทั้งสองค่ายเป็นเกณฑ์ประกอบไปด้วย

 

ตัวอย่างคดีศึกษาเรื่องแรกที่ผ่านมาเป็นของทางฝั่งอเมริกา

 

ทีนี้ เราลองมาพิจารณาเทียบเคียงกับฝั่งยุโรปกันดูบ้างนะครับ

 

ตัวอย่างคดีศึกษาเรื่องที่สอง

 

คดีนี้ก็ย้อนกลับประมาณปี ค.ศ. 1892 ภรรยาได้วางยาพิษฆ่าสามีตนเองจนเสียชีวิต และได้ถูกตัดสินให้มีความผิดจากการกระทำดังกล่าว ต่อมา ภรรยารายนั้นได้ไปยื่นเรียกร้องเงินผลประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันชีวิตของสามีตนเองกับบริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง แต่ได้ถูกปฏิเสธโดยอ้างหลักกฎหมายว่าด้วยการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (public policy)

 

ตัวภรรยารายนั้นจึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อเรียกร้องให้บริษัทประกันชีวิตแห่งนั้นปฏิบัติตามภาระผูกพันของกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับพิพาท

 

ศาลชั้นต้นยกคำร้องดังกล่าว และมีคำสั่งให้เงินผลประโยชน์นั้นตกเป็นสิทธิแก่ทายาทตามกฎหมายรายอื่นต่อไป

 

ตัวภรรยารายนั้นอุทธรณ์คัดค้าน

 

ศาลอุทธรณ์มีมติเป็นเอกฉันท์ยืน โดยวินิจฉัยว่า เป็นการขัดต่อหลักกฎหมายว่าด้วยการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนที่จะยินยอมให้ผู้กระทำผิดสามารถเรียกร้องผลประโยชน์ใด ๆ จากการกระทำความผิดของตนได้

 

กระนั้นก็ตาม เงินผลประโยชน์ของกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับพิพาทนั้นเอง คงถือเป็นส่วนหนึ่งของกองมรดกของผู้ตาย ซึ่งบริษัทประกันชีวิตแห่งนั้นมีหน้าที่จะต้องจ่ายให้แก่ผู้จัดการมรดกซึ่งถือเป็นผู้กระทำการแทนเพื่อจัดสรรกองมรดกนั้นให้แก่ทายาทตามกฎหมายรายอื่นต่อไปอยู่ดี เนื่องด้วยสิทธิที่มีอยู่เดิมของตัวภรรยารายนั้นในฐานะผู้รับประโยชน์ของกรมธรรม์ประกันชีวิตฉบับพิพาทนั้น ได้ถูกเพิกถอนไปโดยผลของหลักกฎหมายดังกล่าว

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Cleaver v. Mutual Reserve Fund Life Association (1892) 1 QB 147, 156)

 

เหลือตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศอีกแค่หนึ่ง แล้วค่อยมาหยิบยกตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาบ้านเรามาเทียบเคียงเป็นแนวสรุปกันนะครับ

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

วันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 192 : ผู้รับประโยชน์ฆ่าผู้เอาประกันภัย ผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยควรจะไปอยู่ที่ไหน?

 

(ตอนที่สอง)

 

สืบค้นตัวอย่างคดีศึกษาเรื่องเหล่านี้ของต่างประเทศซึ่งมีอยู่มากมาย และนานมากแล้วด้วย แต่คงยังมีความคิดเห็นแตกต่างกันพอสมควร เนื่องด้วยบางประเทศ ไม่มีกฎหมายเขียนไว้อย่างชัดเจน ก็จำต้องปรับแก้ไขให้ชัดเจน หรือถ้ายังไม่พร้อม ก็ใช้ดุลพินิจปรับใช้หลักกฎหมายใกล้เคียงมาเทียบเคียงกันไปพลาง ๆ ก่อน

 

ขอหยิบยกตัวอย่างคดีศึกษาจากต่างประเทศสักสองสามเรื่องมาประกอบการพิจารณาเป็นแนวทางดังนี้

 

ตัวอย่างคดีศึกษาเรื่องแรก

 

ย้อนไปเมื่อปี ค.ศ. 1946 ภรรยาทำประกันชีวิตตนเอง โดยระบุชื่อผู้รับประโยชน์เป็นสามีของตน หากยังมีชีวิตอยู่เมื่อตนเสียชีวิตแล้ว เป็นลำดับแรก หรือมิฉะนั้นก็ให้ตกแก่เพื่อนของตนตามที่ระบุชื่อ เป็นลำดับที่สอง

 

ปีถัดมา สามีรายนี้ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ลำดับแรกได้ฆ่าภรรยาของตนซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยจนเสียชีวิตลง โดยต่อมา สามีรายนี้ถูกศาลพิพากษาลงโทษให้จำคุกตลอดชีวิตในท้ายที่สุด

 

เกิดมีประเด็นข้อพิพาท เมื่อผู้จัดการมรดกของภรรยาผู้เอาประกันภัยได้เรียกร้องเงินชดเชยค่าเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัยรายนี้ต่อบริษัทประกันชีวิต แต่กลับถูกปฏิเสธว่า การเสียชีวิตของผู้เอาประกันภัยไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขความคุ้มครอง ทั้งยังมีสาเหตุมาจากการทุจริตของผู้รับประโยชน์อีกด้วย

 

เมื่อผู้รับประโยชน์ลำดับที่สองรับทราบเรื่อง จึงร้องสอดว่า ผลประโยชน์การเสียชีวิตควรตกแก่ตนมากกว่า

 

ทั้งสองฝ่ายต่างไม่อาจหาข้อยุติกันเองได้ จำต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อชี้ขาด ใครควรมีสิทธิดีกว่ากัน?

 

ศาลชั้นต้นตัดสินให้ฝ่ายผู้รับประโยชน์ลำดับที่สองชนะคดี

 

ผู้จัดการมรดกของภรรยาผู้เอาประกันภัยผู้เสียชีวิตอุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตามข้อตกลง และเจตนารมณ์ของผู้เอาประกันภัยในสัญญาประกันชีวิตเป็นสำคัญว่า

 

สามีผู้รับประโยชน์ลำดับแรกควรมีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันชีวิต เพราะยังคงมีชีวิตอยู่ ภายหลังจากภรรยาผู้เอาประกันภัยได้เสียชีวิตลง

 

แต่เนื่องด้วยสามีเป็นผู้ฆ่าภรรยาของตนตายโดยเจตนา จึงต้องห้ามตามกฎหมายไม่ให้มีสิทธิเช่นว่านั้นได้ ถึงกระนั้นมิได้ส่งผลทำให้บริษัทประกันชีวิตสามารถใช้อ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันชีวิตของตนได้ ฉะนั้น ผลประโยชน์ดังกล่าวจึงให้ตกแก่ทายาทอื่นตามกฎหมายของผู้ตายต่อไป

 

ส่วนสิทธิของผู้รับประโยชน์ลำดับที่สองยังไม่บังเกิดขึ้นมาได้ ตราบเมื่อผู้รับประโยชน์ลำดับแรกยังมิได้เสียชีวิตลงไป

 

(คดีนี้มีการฟ้องร้องในหลายรัฐ กฎหมายบางรัฐที่บัญญัติให้การถูกจำคุกตลอดชีวิตเสมือนหนึ่งเป็นการเสียชีวิต ผู้รับประโยชน์ลำดับที่สองมีสิทธิดีกว่า แต่บางรัฐที่มิได้บัญญัติเช่นนั้น ผู้รับประโยชน์ลำดับแรกก็มีสิทธิเหนือกว่า)

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Beck v. West Coast Life Ins. Co. 38 Cal. 2d 643 (1952))

 

สัปดาห์ต่อไป มาดูตัวอย่างคดีศึกษาลำดับต่อไปนะครับ

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

วันอังคารที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 192 :ผู้รับประโยชน์ฆ่าผู้เอาประกันภัย ผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยควรจะไปอยู่ที่ไหน?

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

สัปดาห์ก่อนมีคำถามให้ชวนคิด พอจับประเด็นได้ ดังนี้

 

โจทย์

 

ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (Personal Accident Insurance Policy) ฉบับหนึ่ง ซึ่งกำหนดจำนวนเงินเอาประกันภัยอยู่ที่ 900,000 บาท

 

ผู้เอาประกันภัยได้ระบุในช่องผู้รับประโยชน์ว่า “ทายาทตามกฎหมาย” ให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับดังกล่าว ซึ่งผู้เอาประกันภัยรายนี้มีลูกอยู่สามคน ส่วนสามีได้เสียชีวิตไปนานแล้ว

 

ต่อมาปรากฏว่า ผู้เอาประกันภัยได้ถูกลูกคนหนึ่งของตนฆ่าตาย

 

คำถาม

 

1) บริษัทประกันภัยผู้ให้ความคุ้มครองปฏิเสธไม่ต้องจ่ายผลประโยชน์การเสียชีวิตทั้งหมดได้หรือไม่?

 

2) ถ้าจำต้องจ่ายให้แก่ทายาทที่สุจริตอีกสองคนที่เหลือ ควรจะจ่ายเท่าไหร่?

 

แม้นกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลสามารถเลือกซื้อหาความคุ้มครองได้จากทั้งบริษัทประกันชีวิต หรือบริษัทประกันวินาศภัยก็ได้ แต่เนื่องด้วยมีลักษณะให้ความคุ้มครองแก่ชีวิต ร่างกาย โดยมีวงเงินกำหนดแน่นอนตายตัว จึงถูกแปลความให้จัดอยู่ในหมวดการประกันชีวิต (ยกเว้นค่ารักษาพยาบาลที่จัดเป็นประกันวินาศภัย)

 

แนววิเคราะห์เบื้องต้น

 

ในการพิจารณาค้นหาคำตอบ เบื้องต้นคงจำต้องอาศัยหลักกฎหมายในหมวดที่ 3 ว่าด้วยประกันชีวิตแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาปรับใช้

 

มาตรา 895 เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใด ท่านว่า ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินนั้น ในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่

 

(1) บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตวินิบาตด้วยใจสมัคร ภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา  หรือ

(2) บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์ฆ่าตายโดยเจตนา

 

ในกรณีที่ 2 นี้ ท่านว่า ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น

 

หากอ้างอิงตามกฎหมายข้างต้น ในข้อที่ (2) บริษัทประกันภัยรายนั้นสามารถใช้สิทธิปฏิเสธความรับผิดของตนได้

 

สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลคงไม่มีประเด็นเรื่องให้คืนเงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันภัย

 

แต่ถ้าเป็นกรมธรรม์ประกันชีวิต ให้คืนเงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ทายาทของผู้เอาประกันภัยนั้น (ผู้เอาประกันภัยคงไม่น่ามีชีวิตอยู่แล้ว) เท่านั้น ก็จบเรื่องเลยใช่หรือเปล่า?

 

ถ้างั้น นี่คือ แนวคำตอบสำหรับคำถามข้อแรกจริงไหม?

 

แล้วทายาทสุจริตที่เหลืออีกสองรายล่ะ? จะทำเช่นไร?

 

ส่วนตัวได้ให้แนวคำตอบคร่าว ๆ ไปแล้ว

 

แต่ไม่แน่ใจผู้รับฟังจะคล้อยตามบ้างไหม?

 

สัปดาห์หน้าลองมาดูกันครับ แนวคำตอบของผมมีที่มาอย่างไร?

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

วันพุธที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 191: บทเรียนราคา 38 ล้านเหรียญจากการประกันภัยความเสียหายสืบเนื่องจากการขนส่ง (Marine Consequential Loss Insurance)

 

(ตอนที่สอง)

 

ก่อนอื่นควรทำความเข้าใจเสียก่อน คำว่า “ข้อรับรอง หรือคำรับรอง” นั้นมีความหมายเช่นไร?

 

คำรับรอง (Warranty) หมายความถึง คำมั่นสัญญาของผู้เอาประกันภัยว่า จะกระทำ หรือไม่กระทำบางสิ่งบางอย่าง หรือจะปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือให้ข้อมูลตามข้อเท็จจริงโดยไม่ปิดบัง ทั้งหมดนี้ ผู้เอาประกันภัยต้องปฏิบัติโดยเคร่งครัด เมื่อมีการผิดคำรับรอง ผู้รับประกันภัยมีสิทธิที่จะปฏิเสธความรับผิด เนื่องจากผู้รับประกันภัยหลุดพ้นจากความรับผิดนับแต่มีการฝ่าฝืนคำรับรอง (พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสภา พิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2560)

 

นอกจากนี้ ธุรกิจประกันภัยยังจำแนกคำนี้ย่อยลงไปอีก อันได้แก่ คำรับรองโดยชัดแจ้ง (Express Warranty) กับคำรับรองโดยปริยาย (Implied Warranty) ซึ่งล้วนจะให้ผลลัพธ์อย่างเดียวกัน เพียงแต่ข้อแตกต่าง คือ จะทำเป็นแบบลายลักษณ์อักษรอย่างชัดแจ้งหรือไม่เท่านั้น

 

อนึ่ง แนวปฏิบัติสากลตามพระราชบัญญัติการประกันภัยทางทะเล ค.ศ. 1906 กำหนดว่า คำรับรองนั้นจะต้องได้รับการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

 

ผลลัพธ์การไม่ปฏิบัติตามคำรับรองจึงหนักหนาสาหัสมาก

 

ฉะนั้น อาจไม่จำเป็นต้องคาดเดาถึงคำตอบกลับเรื่องนี้ของทางฝั่งบริษัทประกันภัย แน่นอนครับว่า เขาตอบปฏิเสธไม่คุ้มครองให้ เพราะมีการทำผิดข้อรับรองเกิดขึ้น

 

กระนั้น ฝ่ายบริษัทประกันภัยชิงเป็นฝ่ายนำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาล เพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาดรับรองคำตอบเช่นว่านั้นของตนอีกชั้นหนึ่ง เนื่องด้วยความที่มีวงเงินเดิมพันค่อนข้างสูงดังกล่าว

 

ผลทางคดียกแรก ศาลชั้นต้นพลิกล็อกด้วยการที่กลับตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท

 

ยกสองชั้นอุทธรณ์จึงติดตามมา

 

โดยที่ศาลอุทธรณ์ได้พินิจพิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งหมดของทั้งสองฝ่ายแล้ว ให้ความเห็นเป็นลำดับ ดังนี้

 

1) กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทมีถ้อยคำที่คลุมเครือไม่ชัดเจนหรือไม่?

 

ศาลอุทธรณ์อ่าน และเชื่อว่า กรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทนี้ได้เขียนอย่างชัดเจนว่า การสำรวจจะบังเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อได้ปรากฏมีการจัดทำรายการทรัพย์สินที่สำคัญ และอ่อนไหว (list of critical items) ดังกล่าวขึ้นมาแนบประกอบแล้วเท่านั้น (critical items are to be surveyed as per warranty wording attached)

 

ข้อรับรองการสำรวจเองก็เขียนให้สมาคมการช่วยเหลือกู้ภัยแห่งกรุงลอนดอน (London Salvage Association) หรือผู้ได้รับมอบรายใด หรือผู้สำรวจภัยรายอื่นใดซึ่งบริษัทประกันภัยได้เห็นชอบมีหน้าที่สำรวจ และรับรองรายการทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ข้างล่าง โดยทิ้งช่องว่างให้ใส่รายการเหล่านั้นลงไว้ พร้อมเขียนกำกับอีกด้วยว่า หากจำเป็น รายการเหล่านั้นอาจถูกจัดทำอยู่ในตารางแยกต่างหากก็ได้

 

สำหรับใบสลักหลังสองฉบับ ซึ่งฝ่ายบริษัทประกันภัยใช้กล่าวอ้างว่า รายการทรัพย์สินที่สำคัญ และอ่อนไหวนั้นได้ถูกระบุไว้แล้ว กลับพบว่า

 

ฉบับแรกที่ออกมาก่อนวันที่เกิดเหตุนั้นเป็นเพียงปรากฏถ้อยคำสื่อสารระหว่างกันแสดงถึงข้อตกลงที่จะต้องให้มีการสำรวจกับการรับรองรายการทรัพย์สินดังกล่าว หากต้องการ แต่ฝ่ายผู้รับเหมา B ตอบกลับไปว่า ขณะนั้น ผู้รับเหมาช่วงยังไม่มีความต้องการเช่นว่านั้น

 

หลังจากนั้น กลับมิได้มีการติดตามทวงถามความคืบหน้าแต่ประการใด

 

ฉบับที่สองถูกจัดทำหลังจากเกิดเหตุแล้ว โดยนำส่งไปถึงบริษัทนายหน้าประกันวินาศภัย (ฝ่ายผู้เอาประกันภัยอ้างว่า ไม่เคยได้รับรู้) เป็นการแจ้งรับทราบถึงคำบอกกล่าวเบื้องต้นถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น พร้อมกับย้ำเตือนว่า สินค้าที่เสียหายนั้นจัดอยู่ในรายการทรัพย์สินดังกล่าวโดยยังมิได้ถูกสำรวจตามข้อรับรอง ฝ่ายบริษัทประกันภัยสงวนสิทธิต่าง ๆ ในการพิจารณา และจะแต่งตั้งผู้สำรวจเข้าไปดำเนินการเอง

 

ทั้งสองฉบับจึงไม่อาจแสดงได้อย่างชัดแจ้งว่า ได้มีการจัดทำรายการทรัพย์สินดังกล่าวขึ้นมาแล้วตามที่กล่าวอ้าง โดยเฉพาะฉบับหลังนั้นก็ไม่อาจมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้อีกด้วย

 

2) ความเสียหายสืบเนื่องฉบับพิพาทมีผลใช้บังคับเพียงแก่เจ้าของโครงการเท่านั้น มิใช่กับผู้รับเหมาด้วย

 

ตามหลักการปกติของการประกันภัยประเภทนี้ ผู้ที่จะเอาประกันภัยได้จะต้องมีเพียงเจ้าของโครงการ หรือผู้ว่าจ้างเท่านั้น ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริง หากโครงการที่เอาประกันภัยนั้นบังเกิดความล่าช้าในการที่จะเริ่มต้นประกอบกิจการออกไปจากหมายกำหนดการที่วางไว้

 

นั่นคือ คำต่อสู้ของฝ่ายบริษัทประกันภัย

 

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ฝ่ายผู้รับเหมา B ไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียอย่างแท้จริงที่จะได้รับความคุ้มครองในหมวดที่ 2 ความสูญเสียสืบเนื่องทางการเงินนั่นเอง บางใบสลักหลังก็ได้ระบุเช่นนั้นอย่างชัดเจน

 

เพียงมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้เฉพาะหมวดที่ 1 ความเสียหายทางกายภาพต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้เท่านั้น

 

ฝ่ายผู้รับเหมา B โต้แย้งว่า ตนมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากหมวดที่ 2 ภายใต้ข้อกำหนดว่าด้วยหน้าที่ของผู้เอาประกันภัย (Duty of Assured) ที่มีอยู่ในตัวกรมธรรม์ประกันภัยหลักฉบับพิพาทเอง ซึ่งเขียนว่า

 

เป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัย และบริวาร ตลอดจนตัวแทนทั้งหลายของผู้เอาประกันภัย ในกรณีอันเกี่ยวกับความเสียหายที่จะได้รับการชดใช้ในที่นี้ จะดำเนินการมาตรการต่าง ๆ ตามแต่ความสมควรด้วยจุดประสงค์ที่จะหลีกเลี่ยง หรือบรรเทาความเสียหายดังกล่าวนั้น ..... โดยที่ผู้รับประกันภัยจะชดใช้คืนให้แก่ผู้เอาประกันภัย สำหรับค่าใช้จ่ายใดก็ตามที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง และอย่างเหมาะสมในการดำเนินการตามหน้าที่ต่าง ๆ เหล่านั้น นอกเหนือจากความเสียหายใดอันจะได้รับความคุ้มครองในที่นี้ด้วย

 

อีกทั้งตรงหัวข้อชื่อผู้เอาประกันภัย ยังมีการระบุผู้เอาประกันภัยอย่างยาวเฟื้อยมากมาย แทบจะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็ว่าได้ เช่น เจ้าของโครงการ และ/หรือกลุ่มบริษัทในเครือ และ/หรือผู้รับเหมาหลัก และ/หรือผู้รับเหมาช่วง เป็นต้น

 

ฝ่ายบริษัทประกันภัยตอบโต้ว่า ข้อกำหนดว่าด้วยหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยดังกล่าวหมายความถึงเพียงจำกัดให้เป็นหน้าที่ของตัวผู้เอาประกันภัย (เจ้าของโครงการ) เอง ซึ่งเป็นผู้จะได้รับความคุ้มครองในหมวดนี้เท่านั้น

 

ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย เพราะถ้อยคำไม่ได้เขียนไว้อย่างชัดแจ้งถึงขนาดนั้น แม้นการกระทำของฝ่ายผู้รับเหมา B ในการบรรเทาความเสียหายสืบเนื่องนั้นได้กระทำเพื่อประโยชน์ของตัวผู้เอาประกันภัย (เจ้าของโครงการ) เป็นเกณฑ์ก็ตาม แต่จะบอกว่า ฝ่ายผู้รับเหมา B ไม่มีหน้าที่เช่นนั้นอยู่ด้วยเลย ก็คงไม่ถูกต้อง เมื่อพิจารณาถึงฝ่ายผู้รับเหมา B ถูกระบุชื่อเป็นผู้เอาประกันภัยร่วมอยู่เช่นเดียวกัน

 

อนึ่ง ใบสลักหลังบางฉบับที่ฝ่ายบริษัทประกันภัยอ้างอิงว่า ได้เขียนให้วงเงินความคุ้มครอง 88,506,000 เหรียญสหรัฐมีผลใช้บังคับในส่วนได้เสียของตัวผู้เอาประกันภัย (เจ้าของโครงการ) เท่านั้น ก็มิได้หมายความถึงเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงความหมายของผู้เอาประกันภัยแต่ประการใด

 

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลอุทธรณ์จึงเห็นว่า ฝ่ายผู้รับเหมา B มีสิทธิได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นตามหมวดที่ 2  เพราะมิฉะนั้นแล้ว ตัวผู้เอาประกันภัย (เจ้าของโครงการ) อาจจะได้รับความสูญเสียทางการเงินจากความล่าช้าอย่างมาก (ฝ่ายบริษัทประกันภัยอาจจ่ายมากกว่านี้ ก็เป็นได้)

 

3) การไม่จัดทำรายการทรัพย์สินที่สำคัญ และอ่อนไหว (list of critical items)

 

ส่วนประเด็นคำถาม ฝ่ายผู้รับเหมา B ควรต้องตระหนักรับรู้ถึงความสำคัญ และความอ่อนไหวของรายการสินค้าที่เอาประกันภัย เมื่อพิจารณาถึงมูลค่ากับคุณประโยชน์ที่มีต่อโครงการนั้นเอง แล้วทำไมถึงไม่ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

 

ศาลอุทธรณ์กลับมองว่า ข้อตกลงของข้อรับรองเช่นว่านั้นชัดเจนอยู่แล้ว เมื่อฝ่ายบริษัทประกันภัยให้สาระสำคัญแก่ข้อรับรองนั้นมากขนาดถึงเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนที่จะพิจารณาตกลงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ แล้วเสมือนหนึ่งผลักภาระให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายผู้รับเหมา B ควรจะต้องกระทำฝ่ายเดียว ไม่น่าจะถูกต้องนัก ฝ่ายบริษัทประกันภัยเองควรจะต้องคอยหมั่นกำกับตรวจสอบให้มั่นใจด้วยเช่นเดียวกันว่า หน้าที่เช่นว่านั้นได้ถูกปฏิบัติตามอย่างถูกต้องเคร่งครัดแล้วหรือยัง?

 

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ให้ผู้รับเหมา B ชนะคดี

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Assicurazioni Generali v. Black & Veatch, 362 F. 3d 1108 – Court of Appeals, 8th Circuit 2004)

 

หมายเหตุ

 

ถึงมีแนวคำพิพากษาศาลต่างประเทศให้ต้องปฏิบัติตามคำรับรอง หรือข้อรับรองอย่างเคร่งครัดมาแล้วก็ตาม แต่คดีนี้ เข้าใจเป็นเรื่องการตั้งประเด็นข้อต่อสู้อีกแนว ซึ่งทำให้ส่งผลกระทบต่อแนวทางที่เคยรับรู้กันมานะครับ

 

จากการที่มีวงเงินเดิมพันค่อนข้างสูง ได้สร้างผลกระทบไปถึงเรื่องการประกันภัยต่อด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ระหว่างบริษัทประกันภัยตรงกับบริษัทประกันภัยต่อ โชคดีที่รับทราบมาว่า สามารถตกลงประนีประนอมอย่างไม่เป็นที่เปิดเผยกันได้ในท้ายที่สุด

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/  

 

 

วันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 191 : บทเรียนราคา 38 ล้านเหรียญจากการประกันภัยความเสียหายสืบเนื่องจากการขนส่ง (Marine Consequential Loss Insurance)

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

การประกันภัยความเสียหายสืบเนื่องจากการขนส่ง (Marine Consequential Loss Insurance) นั้น หลายท่านอาจไม่ใคร่คุ้นหูนัก แต่ถ้าเอ่ยว่า “การประกันภัยการสูญเสียผลกำไรล่วงหน้า (Advance Loss of Profit Insurance) หรือการประกันภัยความล่าช้าในการดำเนิน (Delay In Start-Up Insurance)” อาจคุ้นมากกว่า

 

พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสภา พิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2560 ให้ความหมายไว้ดังนี้

 

advance profits insurance การประกันภัยกำไรที่คาดว่าจะได้รับ คือ การประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักประเภทหนึ่งซึ่งจะให้ความคุ้มครองความสูญเสียจากการขาดกำไรขั้นต้นที่คาดไว้ของธุรกิจที่เพิ่งเริ่มกิจการใหม่ อันสืบเนื่องมาจากการที่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหายจากภัยที่คุ้มครอง (มีความหมายเหมือนกับ advance loss of profit (ALOP) และ delay in start up (DSU) การชักช้าในการเริ่มต้น)

 

โดยปกติ การประกันภัยประเภทนี้จะพบในประเภทการประกันภัยทางวิศกรรมอยู่บ่อยครั้ง แต่ประเภทการประกันภัยการขนส่งสินค้าก็สามารถจัดทำได้เช่นเดียวกัน เหมือนดั่งเช่นกรณีพิพาทของตัวอย่างคดีศึกษาจากต่างประเทศเรื่องนี้

 

เจ้าของโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Combined Cycle Electricity Generating Facility) รายหนึ่ง (ต่อไปนี้จะเรียกชื่อย่อว่า M) ซึ่งจะตั้งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดทำสัญญาว่าจ้างแบบเบ็ดเสร็จกับผู้รับเหมารายหนึ่ง (ต่อไปนี้จะเรียกชื่อย่อว่า B) เพื่อให้ออกแบบ จัดหาเครื่องจักรกับอุปกรณ์ และทำการก่อสร้าง/ติดตั้งจนแล้วเสร็จสิ้นทั้งโครงการนั้น

 

ผู้รับเหมา B ได้ไปว่าจ้างผู้ผลิตที่ประเทศญี่ปุ่นให้ทำการผลิตเครื่องกำเนิดไอน้ำกู้คืนความร้อน (Heat Recovery Steam Generators (HRSGs) เพื่อนำมาติดตั้งที่โครงการนั้น และให้ทำการจัดส่งเป็นชิ้นส่วนต่าง ๆ มาทางเรือจากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศสหรัฐอเมริกา

 

เนื่องด้วยมูลค่าโครงการนี้ค่อนข้างสูง ผู้รับเหมา B จึงได้ไปขอให้บริษัทนายหน้าประกันวินาศภัยเจ้าหนึ่งจัดทำประกันภัยความเสียหายสืบเนื่องจากการขนส่งฉบับพิพาทให้ ซึ่งประกอบด้วยสองหมวดความคุ้มครอง อันได้แก่

 

หมวดที่ 1 จะคุ้มครองความเสียหายทางกายภาพต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ในที่นี้ คือ สินค้าจำพวกเครื่องจักร อุปกรณ์ และส่วนประกอบต่าง ๆ ตลอดจนวัสดุอื่นใดที่เกี่ยวข้องนั่นเอง และ

 

หมวดที่ 2 จะคุ้มครองความสูญเสียสืบเนื่องทางการเงิน อันสืบเนื่องมาจากความคุ้มครองตามหมวดที่ 1 ตลอดจนถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะหลีกเลี่ยง หรือที่จะทุเลาความเสียหายสืบเนื่องทางการเงินดังกล่าว จนส่งผลทำให้เกิดความล่าช้าในการเริ่มประกอบกิจการที่เอาประกันภัย (Delay In Start-Up) นั้นเอง

 

โดยที่มีข้อรับรอง (warranty) เพิ่มเติมในหมวดที่ 2 อีกด้วยว่า รายการทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งมีลักษณะความสำคัญ และมีความเสี่ยงภัยสูง (critical items) นั้นจะต้องถูกรับรองว่า ได้ผ่านการสำรวจตรวจสอบจากสมาคมการช่วยเหลือกู้ภัยแห่งกรุงลอนดอน (London Salvage Association) หรือผู้ได้รับมอบรายใด หรือผู้สำรวจภัยรายอื่นใดซึ่งบริษัทประกันภัยได้เห็นชอบเสียก่อน โดยมีขอบเขตหน้าที่ พอสรุปโดยสังเขป ดังนี้

 

(1) รับรองการทำงานของตัวเรือที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ตัวเครื่องจักรกับอุปกรณ์ที่ใช้ในยก ตลอดจนการดำเนินงานทางด้านการขนถ่ายขึ้นลงด้วย

 

(2) รับรองบรรจุภัณฑ์ การขนขึ้นลง การจัดเก็บ และการจัดการดูแลรักษา

 

(3) ตรวจสอบ และรับรองทุกขั้นตอนการดำเนินการในระหว่างการขนส่ง

 

(4) รับรองการจัดการขนส่งตลอดช่วง และตลอดเส้นทาง

 

(5) รับรอง และกำหนดแนวปฏิบัติการรับมือต่อสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับช่วงการขนส่งนั้นด้วย

 

หรือข้อแนะนำอื่นใดที่จำเป็น ทั้งนี้ ด้วยค่าใช้จ่ายของผู้เอาประกันภัยเอง

 

รายการทรัพย์สินที่เอาประกันภัยซึ่งมีลักษณะความสำคัญ และมีความเสี่ยงภัยสูงนั้นจะต้องถูกแถลงเอาไว้ด้วย

 

อนึ่ง รายงานการรับรองกับข้อแนะนำต่าง ๆ ทั้งหมดซึ่งสมาคมการช่วยเหลือกู้ภัยแห่งกรุงลอนดอน และ/หรือผู้สำรวจภัยที่แต่งตั้งได้จัดทำขึ้นมา จะต้องส่งมอบให้แก่บริษัทประกันภัยไว้เป็นหลักฐาน

 

อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริง ไม่ปรากฏได้มีการจัดทำรายการทรัพย์สินที่สำคัญ และอ่อนไหวดังกล่าวขึ้นมาแนบประกอบกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทแต่ประการใด

 

วันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 2000 เรือที่ขนส่งสินค้าดังกล่าวได้แล่นออกจากประเทศญี่ปุ่นมุ่งหน้าสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมิได้มีการสำรวจกับการรับรองใดบังเกิดขึ้นมาเลย

 

วันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 2000 เรือลำนั้นได้เผชิญหน้ากับพายุไต้ฝุ่นระหว่างทาง จนก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากแก่ส่วนใหญ่ของสินค้าที่เอาประกันภัยนั้น

 

อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตที่ประเทศญี่ปุ่นยินดีจัดเปลี่ยนทดแทนสินค้าที่ได้รับความเสียหายทั้งหมดให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่ก็ทำให้เกิดความล่าช้าที่ต้องรอคอยสินค้าใหม่มาเปลี่ยนทดแทนนานถึงประมาณหกเดือน  

 

เพื่อรองรับปัญหานี้ ผู้รับเหมา B จึงจำต้องปรับเปลี่ยนลำดับขั้นตอนการทำงาน และระดมผู้เชี่ยวชาญกับคนงานเสริมเพิ่มเติมเข้ามา เพื่อมิให้งานของโครงการนั้นต้องล่าช้าออกไปจากหมายกำหนดการเดิม ท้ายที่สุด ความพยายามเช่นว่านั้นก็ประสบความสำเร็จ ผู้รับเหมา B สามารถดำเนินงานจนเสร็จสมบูรณ์ได้ตามหมายกำหนดการเดิมนั้น แต่ทั้งนี้ ก็ต้องแลกด้วยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นสูงมากถึง 38 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1,404 ล้านบาท)

 

ลองทายกันดูสิครับว่า

 

ครั้นเจ้าของโครงการ M และผู้รับเหมา B แจ้งต่อบริษัทประกันภัยรายนั้น เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้น พวกเขาจะได้รับคำตอบกลับมาเช่นใด?

 

อดใจรอดูคำตอบ และผลทางคดีนี้ในสัปดาห์หน้าเช่นเคยครับ

  

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/