วันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 183 : เมื่อลูกระเบิดจากสงครามโลกครั้งที่สองตามมาหลอกหลอนถึงทุกวันนี้?

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

ไม่ได้เปลี่ยนมาเขียนเรื่องราวลี้ลับเหนือธรรมชาตินะครับ คงยังเขียนบทความเกี่ยวกับการประกันภัยอยู่เช่นเดิม เพียงแต่ล่าสุดได้อ่านพบตัวอย่างคดีศึกษาจากประเทศอังกฤษซึ่งเพิ่งมีคำพิพากษาออกมาไม่กี่เดือนนี้นี่เอง เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับหัวข้อข้างต้นที่สร้างความน่าฉงน และกระแสความน่าสนใจได้ไม่น้อยเลย

 

ตัวอย่างคดีศึกษานี้มีความเกี่ยวพันกับหลักการประกันภัย ข้อที่ 6 กล่าวคือ หลักสาเหตุใกล้ชิด (Proximate Cause Insurance Principle) ซึ่งค่อนข้างยากลำบากในการทำความเข้าใจมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับหลักการอื่น ๆ อีกห้าข้อ

 

งั้นเรามาทบทวนถึงความหมายของสาเหตุใกล้ชิดอีกครั้งกันก่อนนะครับ   

 

จากคู่มือปฏิบัติงานสำหรับนายหน้าประกันวินาศภัยของสำนักงาน คปภ. บทที่ 2 กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนายหน้าประกันวินาศภัย เรื่องที่ 2.6 หลักสาเหตุใกล้ชิด และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หน้า 2-39 เขียนว่า

 

1. ความหมายของสาเหตุใกล้ชิด

คำว่า สาเหตุใกล้ชิด (Proximate Cause)” หรือตามพจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสภา (2560, น. 235) เรียกว่า เหตุใกล้ชิด (Proximate Cause)” หมายถึง ต้นเหตุโดยตรงหรือต้นเหตุหลักที่ก่อให้เกิดผลหรือความเสียหาย โดยไม่มีเหตุอื่นเข้ามาแทรกทาให้ขาดตอน ซึ่งหากไม่เกิดเหตุนี้ก็ไม่เกิดผล เช่น ในกรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัยที่คุ้มครองไฟไหม้ หากเกิดไฟไหม้ขึ้นกับทรัพย์สินที่เอาประกันภัย จึงมีการฉีดน้ำเพื่อดับไฟ ผลจากการกระทำดังกล่าวทำให้มีทรัพย์สินที่เอาประกันภัยบางส่วนเปียกน้ำ ความเสียหายจากการเปียกน้ำดังกล่าวจึงได้รับความคุ้มครองจากเหตุไฟไหม้ด้วย โดยไฟไหม้ถือเป็นเหตุใกล้ชิดของการที่ทรัพย์สินเปียกน้ำ


สาเหตุใกล้ชิด อาจหมายความถึง เหตุแห่งการกระทำที่เป็นจุดเริ่มต้นจนก่อให้เกิดผลติดตามมาโดยปกติอย่างต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอน จนทำให้เกิดความเสียหายขึ้นมาในที่สุด


คำว่า สาเหตุใกล้ชิดอาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิด โดยมุ่งเน้นไปถึงระยะทาง หรือระยะเวลาที่ใกล้ชิด แต่ในแง่ของกฎหมายเพียงเน้นถึง ความเป็นธรรมและความยุติธรรมเท่านั้น ทั้งจะต้องมิใช่เป็นสาเหตุที่ห่างไกลเกินไป

 

(สืบค้นจาก https://www.oic.or.th/sites/default/files/content/90853/04201-bththii-2-kdhmaaythiiekiiywkhngkabnaayhnaaprakanwinaasphay.pdf)

 

ถ้ามีผู้ใดตั้งคำถาม

 

ลูกระบิดที่ตกค้างตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองจะสามารถส่งผลกระทบแก่ความคุ้มครองปัจจุบันได้บ้างไหม?

 

คุณจะเชื่อไหม และจะแสดงความคิดเห็นเช่นไรครับ?

 

ลำดับต่อไป ลองมาพิจารณาถึงตัวอย่างคดีศึกษานี้กันครับ

 

สงครามโลกครั้งที่สองซึ่งกินระยะเวลายาวนานถึงเจ็ดปีระหว่างปี ค.ศ. 1939 - ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2482 – พ.ศ. 2488) มีจุดเริ่มต้น ณ ทวีปยุโรปก่อนแล้วค่อยขยายตัวบานปลายออกไปสู่ภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก ได้สร้างความเสียหายอย่างมากมาย โดยมีผู้เสียชีวิตประมาณ 15 ล้านคน และสร้างผลกระทบทางเศษฐกิจสูงถึงประมาณ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ลำพังทั่วภูมิภาคยุโรปแห่งเดียวมีการทิ้งลูกระเบิดเข้าใส่นับปริมาณหลายล้านตัน แต่เชื่อว่า มีจำนวนอยู่ประมาณร้อยละ 10 – 20 ที่ยังไม่ระเบิดออกมา ส่งผลทำให้ทุกวันนี้ สามารถค้นพบลูกระเบิดที่ตกค้างเหล่านั้นได้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณที่มีโครงการก่อสร้าง หรือการปรับปรุงพื้นที่หลายแห่งในประเทศอังกฤษ โชคดีส่วนใหญ่แล้วสามารถกู้คืน เพื่อนำไปทำลาย ณ จุดที่ควบคุมแห่งอื่นได้อย่างปลอดภัย

 

แต่ก็มิได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป

 

ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 คนงานได้ขุดเจอลูกระเบิดที่ตกค้างจากสงครามโลกครั้งที่สองหนึ่งลูกขนาดน้ำหนัก 1,000 กิโลกรัม ซึ่งมีชื่อเล่นเรียกว่า “เฮอร์มานน์” อันถูกทิ้งลงมาจากเครื่องบินของกองกำลังนาซีเยอรมัน เมื่อปี ค.ศ. 1942 ณ โครงการก่อสร้างใกล้กับอาณาเขตของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง

 

ภายหลังจากการขุดกู้ตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการของภาครัฐ ได้ผลรายงานว่า ไม่อาจเคลื่อนย้ายลูกระเบิดนั้นออกไป เพื่อไปทำลายยังจุดควบคุมแห่งอื่นได้ จำเป็นจะต้องระเบิดทำลาย ณ สถานที่พบนั้นอย่างไม่มีทางเลือกอื่น จึงทำให้ต้องกั้นพื้นที่โดยรอบในรัศมี 400 เมตร พร้อมอพยพนักศึกษา บุคลากรของมหาวิทยาลัยแห่งนั้น ตลอดจนผู้อยู่อาศัยที่อยู่รอบบริเวณนั้นทั้งหมดออกไปเสียก่อนเพื่อความปลอดภัย

 

อนึ่ง เพื่อลดผลกระทบต่อแรงระเบิดที่อาจไปสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ภายในรัศมี ผู้ชำนาญการภาครัฐได้จัดสร้างกระบะใส่ทราย (Sand Box) ปริมาณ 400 ตันถมอัดเข้าไปโดยรอบจุดที่ตั้งลูกระเบิดนั้น พร้อมมีรั้วเหล็กกั้นยันไว้ รวมทั้งขุดร่องโดยรอบอีกชั้นหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดแรงกระแทกของแรงระเบิดซึ่งอาจกระจายไปสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่ตั้งอยู่โดยรอบบริเวณนั้นด้วย

 

อย่างไรก็ดี แม้จะได้พยายามวางมาตรการปกป้องดังกล่าวแล้วก็ตาม ผลของแรงระเบิดซึ่งถูกจุดทำลายด้วยระบบควบคุมทางไกล ณ เวลา 18.10 ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 ยังสามารถสร้างความเสียหายให้บังเกิดขึ้นแก่บางอาคารสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่ใกล้สุดอยู่ดี

 

เนื่องด้วยทางมหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สิน และกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักเอาไว้อยู่แล้ว โดยมีระยะเวลาประกันภัยหนึ่งปีระหว่างวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2020 ถึงวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2021 จึงได้ทำการยื่นเรื่องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากทั้งสองกรมธรรม์ประกันภัย สำหรับความเสียหายที่บังเกิดขึ้นต่อบริษัทประกันภัยของตน

 

ณ วันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 2021 บริษัทประกันภัยนั้นได้ตอบปฏิเสธความรับผิดอย่างเป็นทางการ ด้วยการหยิบยกข้อยกเว้นว่าด้วยภัยสงคราม (War Exclusion Clause) ที่ปรากฏอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาททั้งสองฉบับมากล่าวอ้าง

 

ส่งผลทำให้เกิดเป็นคดีข้อพิพาทขึ้นมาสู่ศาลเพื่อพิจารณาตัดสิน

 

ถึงตรงนี้ คุณจะเชียร์เข้าข้างฝ่ายใดครับ?

 

ลูกระเบิดที่ถูกทิ้งลงมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อประมาณ 79 ปีก่อน โดยช่วงเวลานั้น ยังไม่ปรากฏมีบางอาคารสิ่งปลูกสร้างที่เอาประกันภัยนี้ ซึ่งได้รับความเสียหายอยู่ด้วยซ้ำไป จะยังสามารถส่งผลกระทบแก่ความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทในปัจจุบันนี้ได้จริงหรือ?

 

ทั้งที่บ่อยครั้งเรามักจะได้ยินคำกล่าวที่ว่า สาเหตุใกล้ชิดจะต้องเกิดขึ้นในลักษณะต่อเนื่องโดยไม่ขาดตอน (unbroken chain of events)

 

แต่นี่ผ่านมาร่วมประมาณ 79 ปีแล้วนะ

 

อดใจรออ่านผลสรุปคดีนี้ ในสัปดาห์หน้าเช่นเคยครับ

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

 

วันจันทร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 182 : ปัญหาความคุ้มครองการประกันภัยรถยนต์ข้ามพรมแดน (Cross-border Motor Vehicles Insurance Coverage)

 

(ตอนที่สาม)

 

เมื่อเรื่องการยื้อยุดคดีถึงกรณีควรจะนำคดีพิพาทไปฟ้อง ณ ศาลแห่งประเทศมาเลเซียที่เกิดอุบัติเหตุดี หรือ ณ ศาลแห่งประเทศสิงคโปร์ที่ผู้เสียหายมีภูมิลำเนาอยู่ และใช้รักษาตัวกับซ่อมแซมความเสียหายตัวรถยนต์ของตนเองนั้นก็ดี (ซึ่งได้ใช้ฟ้องคดีไปแล้วด้วย) โดยที่ศาลชั้นต้นได้ตัดสินให้โยกคดีไปฟ้องที่ศาลมาเลเซียแทนนั้น ได้ถูกร้องอุทธรณ์ขึ้นมา

 

ศาลอุทธรณ์แห่งประเทศสิงคโปร์ได้พินิจพิเคราะห์ โดยสามารถจำแนกประเด็นข้อพิพาทต่าง ๆ ออกมาได้ ดังนี้

 

(ก) แม้นหลักกฎหมายทั่วไปในเรื่องละเมิดจะอ้างอิงถึงการให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่เกิดการละเมิด (the lex loci delicti) เป็นเกณฑ์ ในที่นี้ คือ หลักกฎหมายแห่งประเทศมาเลเซียนั่นเอง ในการพิจารณาถึงสิทธิ และความรับผิดต่าง ๆ ของคู่ความเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี หลักกฎหมายทั่วไปนั้นมิใช่จะไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม และตามความเป็นธรรมที่ควรจะเป็น

 

(ข) ทั้งหลักกฎหมายเรื่องละเมิดระหว่างประเทศมาเลเซียกับประเทศสิงคโปร์มีความแตกต่างกันน้อย ส่วนใหญ่แล้วจะมีความคล้ายคลึงกันค่อนข้างมาก

 

(ค) ในประเด็นเรื่องของพยานหลักฐานอ้างอิงซึ่งถกเถียงกันว่า ฝ่ายโจทก์มีอยู่ห้าราย (ตนเอง แพทย์ผู้รักษาสองราย และช่างซ่อมกับผู้ประเมินวินาศภัยอย่างละหนึ่งราย) จำนวนมากกว่าฝ่ายจำเลยซึ่งมีอ้างอิงเพียงแค่ตนเองเท่านั้น

 

ปัจจุบันนี้ เรื่องความไม่สะดวกของการเดินทางข้ามประเทศไม่น่าจะมีอุปสรรคเหมือนดั่งเช่นในอดีตอีกต่อไปแล้ว เช่นเดียวกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีส่งผลทำให้มีการนำสืบคดีด้วยระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (video conference) ทดแทน และแพร่หลายไปมาก แต่ทั้งนี้ก็คงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลที่พิจารณาคดีนั้น ๆ เป็นสำคัญด้วย

 

(ง) คดีนี้ไม่มีความซับซ้อนมากนัก เพราะความรับผิดค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้ว เพียงแต่อาจมีประเด็นเรื่องมูลค่าความเสียหายกันเท่านั้น

 

(จ) สำหรับคดีอุบัติเหตุทางท้องถนน ซึ่งมักจะมีข้อพิพาทในเรื่องมูลค่าความเสียหายนั้น ความไม่สะดวกในการเลือกที่จะนำคดีไปฟ้องที่ศาลแห่งใดนั้นดูจะไม่ใคร่แตกต่างกันนัก แต่ก็ควรที่จะมุ่งเน้นไปถึงความสะดวกแก่ผู้ได้รับความเสียหายมากกว่าผู้กระทำละเมิด เว้นเสียแต่ เมื่อพิจารณาแล้ว โอกาสที่ฝ่ายโจทก์จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นมีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อย

 

(ฉ) ส่วนประเด็นเรื่องมูลค่าความเสียหายนั้น อาจมองได้ ถ้านำคดีไปฟ้อง ณ ศาลแห่งประเทศมาเลเซียแล้ว ฝ่ายโจทก์อาจได้รับชำระด้วยสกุลเงินของประเทศมาเลเซีย ซึ่งดูแล้วจะมีจำนวนเงินที่น้อยกว่าที่จะได้รับชำระด้วยสกุลเงินของประเทศสิงคโปร์ อันเนื่องด้วยความแตกต่างของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสองสกุลเงินนั้นเป็นสำคัญ และตนเองก็ได้ชำระมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นไปแล้วล่วงหน้าด้วย

 

ทั้งหมดนี้ เนื่องด้วยฝ่ายจำเลยผู้ร้องอุทธรณ์มิได้แสดงให้ศาลอุทธรณ์ได้เห็น และยอมรับฟังได้อย่างชัดเจน และอย่างสิ้นสงสัยถึงความเหมาะสมที่ควรจะโอนคดีนี้ไปยังศาลแห่งประเทศมาเลเซียแทน ศาลอุทธรณ์จึงเห็นสมควรให้ศาลแห่งประเทศสิงคโปร์คงมีอำนาจพิจารณาคดีนี้ต่อไป ด้วยการกลับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในประเด็นเหล่านี้

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Teo Cher Teck v Goh Suan Hee [2008] SGHC 194; [2009] SGCA 52; [2010] 1 SLR 367])

  

ข้อสังเกต

 

สิ่งควรคำนึงต่อ หากฝ่ายโจทก์ชนะคดี แล้วจะไปบังคับคดีแก่ฝ่ายจำเลยซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในอีกประเทศหนึ่งได้อย่างไร? หากพบว่า ฝ่ายจำเลยนั้นไม่มีทรัพย์สินอยู่เลยในศาลที่ตนชนะคดี

 

เช่นเดียวกับบริษัทประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองแก่รถยนต์ของฝ่ายโจทก์ เมื่อชดใช้ค่าซ่อมตัวรถยนต์คันที่เอาประกันภัยของฝ่ายโจทก์ไปแล้ว จะรับช่วงสิทธิของฝ่ายโจทก์ เพื่อไปไล่เบี้ยเอากับฝ่ายจำเลยยังต่างประเทศได้ไหม?

 

กรณีการเลือกใช้บังคับกฎหมายระหว่างประเทศนี้ไม่จำกัดเฉพาะการประกันภัยรถยนต์เท่านั้น อาจเป็นประเด็นขึ้นมาก็ได้เช่นเดียวกันแก่การประกันภัยประเภทอื่น ในยุคแห่งโลกาภิวัตน์ (Globalization) ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการประกันภัยขนส่งระหว่างประเทศ การประกันภัยเดินทาง การประกันภัยความรับผิดเนื่องจากผลิตภัณฑ์ หรือการประกันภัยอื่นใดที่ขยายอาณาเขตความคุ้มครองออกไปถึงต่างประเทศ แต่ถ้าไม่ปรากฏมีข้อพิพาทถึงขนาดต้องขึ้นศาล ก็แล้วไปครับ

 

บริการ

 

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

วันอังคารที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 182 : ปัญหาความคุ้มครองการประกันภัยรถยนต์ข้ามพรมแดน

 

(ตอนที่สอง)

 

ตัวอย่างคดีศึกษาตอนที่แล้ว เป็นกรณีรถคันที่จดทะเบียน และเอาประกันภัยในประเทศสิงคโปร์ ไปเกิดอุบัติทำให้ผู้โดยสารบาดเจ็บ ณ ประเทศมาเลเซีย ก่อให้เกิดประเด็นคำถามไม่มากนัก เพราะทั้งหมดล้วนเป็นบุคคลสัญชาติเดียวกัน  และได้กลับมาฟ้องคดีในประเทศภูมิลำเนาของตนเอง

 

สำหรับประเด็นคำถามที่ว่า ความคุ้มครองของการประกันภัยรถยนต์ของประเทศสิงคโปร์ สามารถไปคุ้มครองถึงการเกิดอุบัติเหตุนอกประเทศได้หรือไม่?

 

ณ เวลาที่ฟ้องคดีนั้น ในแง่กฎหมายขณะนั้นไม่อาจทำได้ เพราะทุกประเทศต่างมีหลักกฎหมายของตนเองใช้บังคับอยู่ (หลังจากนั้นได้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้รองรับแล้ว)

 

แต่ในแง่ข้อตกลงพิเศษระหว่างคู่สัญญาประกันภัยสามารถกระทำได้ และมีผลใช้บังคับได้ เพราะศาลมองว่า เป็นการนำรถยนต์ไปใช้ตางประเทศชั่วเวลาหนึ่งเท่านั้น ขณะที่การใช้รถยนต์คันดังกล่าวตามปกติคงใช้อยู่ภายในประเทศที่จดทะเบียนเป็นหลักอยู่เช่นเดิม

 

ส่วนการฟ้องร้องคดีนั้น ถ้าไม่มีข้อตกลงถึงการเลือกใช้กฎหมาย (Choice of Law) เป็นกรณีพิเศษ โดยหลักกฎหมายทั่วไปในเรื่องละเมิดแล้ว จะอาศัยหลักกฎหมายของสถานที่เกิดละเมิด (lex loci delicti) เป็นเกณฑ์เบื้องต้นในการใช้บังคับกฎหมาย (กรณีข้ามพรมแดน) มากกว่าหลักกฎหมายของศาลที่พิจารณาคดี (lex fori)

 

โชคดี คดีนี้ไม่มีผู้ใดมาร้องคัดค้านอำนาจการพิจารณาคดีของศาล

 

แต่ถ้าคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นบุคคลต่างสัญชาติกันล่ะ จะคงยังยึดถือหลักกฎหมายข้างต้นหรือเปล่า?

 

ดั่งเช่นตัวอย่างคดีศึกษาอีกเรื่องหนึ่ง

 

รถคู่กรณีซึ่งเป็นรถจดทะเบียนในประเทศมาเลเซีย และมีผู้ขับขี่เป็นชาวมาเลเซีย (ต่อไปนี้ขอเรียกว่า “(รถ) คู่กรณี”) ขับไปชนท้ายรถคันหน้าซึ่งจดทะเบียนในประเทศสิงคโปร์ และขับขี่โดยชาวสิงคโปร์ (ต่อไปนี้ขอเรียกว่า “(รถ) ผู้เสียหาย”) จนทั้งรถและผู้ขับขี่ชาวสิงคโปร์นั้นได้รับความเสียหายแก่ทรัพย์สินกับร่างกาย อุบัติเหตุครั้งนี้เกิดขึ้นในประเทศมาเลเซีย ผู้ขับขี่รถคู่กรณีชาวมาเลเซียยอมรับผิดในความประมาทเลินเล่อของตนเอง และได้ถูกลงโทษปรับตามกฎหมายจราจรแห่งประเทศมาเลเซีย

 

ต่อมา ผู้เสียหายได้นำคดีแพ่งขึ้นฟ้องร้องต่อศาลประเทศสิงคโปร์ เพื่อเรียกร้องให้คู่กรณีนั้นมารับผิด สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าวแก่ตน

 

บริษัทประกันภัยของรถยนต์คู่กรณีได้เข้ามาต่อสู้คดีแทน โดยลำดับแรกได้ร้องคัดค้านขอให้นำคดีไปฟ้องร้อง ณ ศาลแห่งประเทศมาเลเซียแทนตามหลักกฎหมายว่าด้วยการขอโอนคดีไปยังศาลที่สะดวกกว่า (forum non conveniens) ด้วยเหตุผลว่า

 

(1) สถานที่เกิดเหตุละเมิดนั้นได้อุบัติขึ้น ณ ประเทศมาเลเซีย

 

(2) จำเลยผู้กระทำผิด (คู่กรณี) มีสัญชาติ และภูมิลำเนาอยู่ในประเทศมาเลเซีย

 

อันสอดคล้องกับหลักกฎหมายของสถานที่เกิดละเมิด (lex loci delicti)

 

โจทก์ (ผู้เสียหาย) ตอบโต้ว่า

 

เนื่องด้วยการบาดเจ็บทางร่างกาย และความเสียหายต่อตัวรถยนต์ของโจทก์ไม่ร้ายแรงนัก จึงได้กลับมายังประเทศสิงคโปร์ เพื่อให้แพทย์ทำการรักษาดูแลอาการบาดเจ็บ และให้อู่ดำเนินการซ่อมแซมความเสียหายดังกล่าว ซึ่งส่งผลทำให้ตนมีพยานบุคคลพร้อมเข้ามาให้การสนับสนุนการเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น รวมถึงการสูญเสียรายได้กับค่าขาดประโยชน์อื่น ๆ จำนวนทั้งสิ้น 5 ราย ประกอบด้วยแพทย์สองราย และช่างซ่อมรถ ผู้ประเมินความเสียหาย กับตนเองอีกรายละหนึ่ง

 

ขณะที่ฝ่ายจำเลย เท่าที่รับทราบ ไม่ปรากฏมีพยานอื่นใดนอกจากตนเองเท่านั้น

 

ฉะนั้น การจะให้ฝ่ายโจทก์ (พร้อมกับพยานต่าง ๆ) เดินทางไปขึ้นศาลประเทศมาเลเซียนั้น จะส่งผลทำให้มีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพิ่มเติม และก่อให้เกิดความไม่สะดวกอีกมากมาย

 

ศาลแห่งประเทศสิงคโปร์จึงเป็นศาลที่มีความเหมาะสม และความสะดวกแก่ฝ่ายโจท์มากกว่า

 

ศาลชั้นต้นได้พิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ แล้วมีความเห็นพ้องกับคำร้องขอดังกล่าวของฝ่ายจำเลย ด้วยเหตุผลดังนี้

 

(1) ฝ่ายจำเลยมีสัญชาติมาเลเซีย

 

(2) อุบัติเหตุแห่งการละเมิดเกิดขึ้น ณ ประเทศมาเลเซีย

 

(3) หลักกฎหมายที่ใช้บังคับแก่สิทธิและหน้าที่ของผู้กระทำผิดควรเป็นของประเทศมาเลเซีย (โดยเฉพาะได้มีการบังคับใช้กฎหมายจราจรแห่งประเทศมาเลเซียลงโทษผู้กระทำผิดไปแล้วด้วย)

 

ส่วนข้อตอบโต้ที่อ้างถึงเรื่องค่าใช้จ่ายกับความไม่สะดวกในการเดินทางนั้น ประกอบการกลับมาเข้ารับการรักษาพยาบาลในบ้านเกิดของฝ่ายโจทก์นั้น ไม่ปรากฏเหตุผลเพียงพอในการรับฟังได้เป็นอย่างอื่น จึงตัดสินเห็นควรให้โอนคดีไปฟ้องที่ศาลแห่งประเทศมาเลเซียแทน

 

ฝ่ายโจทก์ (ผู้เสียหาย) ยื่นอุทธรณ์คัดค้าน

 

ถึงตรงนี้ คุณมีความคิดเห็นเรื่องนี้เช่นไรบ้างครับ? โดยเฉพาะหากนึกจินตนาการตามไปด้วย ถ้าสมมุติเปลี่ยนให้ตัวโจทก์เป็นบุคคลสัญชาติไทยแทน

 

แล้วค่อยไปรับฟังผลการอุทธรณ์สัปดาห์หน้ากันครับ

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

 

วันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 182 : ปัญหาความคุ้มครองการประกันภัยรถยนต์ข้ามพรมแดน

 

(ตอนที่หนึ่ง)

 

โดยปกติ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์บ้านเรา ทั้งภาคบังคับ และภาคสมัครใจจะถูกกำหนดอาณาเขตความคุ้มครองจำกัดอยู่เพียงภายในประเทศไทยเท่านั้น ด้วยการระบุเป็นข้อยกเว้นไม่คุ้มครองถึงการใช้รถนอกประเทศไทย

 

ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคบังคับ

 

หากผู้เอาประกันภัยประสงค์จะนำรถไปใช้นอกอาณาเขตประเทศไทยเป็นการชั่วคราว มีทางเลือกเดียว คือ จะต้องไปซื้อกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคบังคับฉบับใหม่ช่วงสั้นกับบริษัทประกันภัยที่มีอยู่ในประเทศนั้น ๆ แล้วแต่กรณี

 

สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจ มีสองทางให้เลือก ได้แก่

 

ก) ขยายอาณาเขตความคุ้มครองเพิ่มเติม ตามเอกสารแนบท้าย รย. 04 หรือ

 

ข) ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ภาคสมัครใจฉบับใหม่ช่วงสั้นกับบริษัทประกันภัยที่มีอยู่ในประเทศนั้น ๆ

 

ถ้าปฏิบัติตามแล้ว ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรให้กังวลจริงไหม?

 

จริง ไม่จริง ลองมาพิจารณาเทียบเคียงจากตัวอย่างคดีศึกษาของเพื่อนบ้านเรากันดีกว่า

 

ประมาณต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. 1991 รถจดทะเบียนประเทศสิงค์โปร์ได้ประสบอุบัติเหตุในพื้นที่ของประเทศมาเลเซีย ส่งผลให้ผู้โดยสารในรถคันนั้นบาดเจ็บถึงขนาดอัมพาตบางส่วน

 

รถคันนั้นซึ่งถูกจัดทำประกันภัยไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่งในประเทศสิงคโปร์ โดยระบุผู้เช่าซื้อเป็นผู้เอาประกันภัย แต่ขณะเกิดเหตุถูกขับขี่โดยผู้ขับขี่ซึ่งได้รับอนุญาต และมีอาณาเขตความคุ้มครองกำหนดไว้ว่า “ภายในพื้นที่ด้านตะวันตกของประเทศมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์ และบางพื้นที่ของประเทศไทยในรัศมี 50 ไมล์ระหว่างเขตแดนประเทศไทยกับด้านตะวันตกของประเทศมาเลเซีย

 

ผู้โดยสารเคราะห์ร้ายได้แจ้งดำเนินคดีต่อผู้ขับขี่กับผู้เอาประกันภัยเป็นลำดับแรก เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย โทษฐานกระทำการโดยประมาทเลินเล่อทำให้ตนได้รับบาดเจ็บดังกล่าว

 

ภายหลังศาลตัดสินให้ผู้เอาประกันภัยรายนี้รับผิดชอบ โชคร้ายที่ปรากฏว่า ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้กลายเป็นบุคคลล้มละลาย

 

ผู้เสียหายจึงได้ฟ้องร้องคดีต่อบริษัทประกันภัยนั้น เพื่อให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยรายดังกล่าวแทน แต่กลับได้รับคำปฏิเสธมาด้วยข้ออ้างดังต่อไปนี้

 

(1) กรมธรรม์ประกันภัยฉบับนี้มิได้คุ้มครองไปถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในประเทศมาเลเซีย

 

(2) รถคันนี้ได้ถูกขายไปให้แก่บุคคลอื่นก่อนหน้านั้นแล้ว

 

(3) ผู้ขับขี่ขณะเกิดเหตุไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เอาประกันภัย

 

(4) ไม่ได้รับแจ้งถึงการดำเนินคดีแก่ผู้เอาประกันภัยมาก่อน

 

คดีนี้ได้มาถึงชั้นศาลอุทธรณ์เนื่องด้วยเป็นประเด็นในแง่มุมของกฎหมายว่าด้วยรถยนต์แห่งประเทศสิงคโปร์ (Motor Vehicles (Third-Party Risks and Compensation) Act 1960)

 

โดยศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นซึ่งตัดสินเอื้อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายผู้เสียหายโจทก์ สำหรับประเด็นข้อ (2) ถึงข้อ (4) เพราะไม่ได้ส่งผลต่อการพิจารณาคดีมากนัก

 

ส่วนประเด็นข้อ (1)  ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ ประกอบกับถ้อยคำที่เขียนว่า “ความรับผิดดังกล่าวใด ๆ ตามที่ได้กำหนดให้คุ้มครองโดยกรมธรรม์ประกันภัย” หมายความถึง กรมธรรม์ประกันภัยซึ่งคุ้มครองความรับผิดในกรณีการเสียชีวิต หรือการบาดเจ็บทางร่างกายของบุคคลใด อันมีสาเหตุมาจาก หรือเกิดขึ้นเนื่องมาจากการใช้รถยนต์ แม้คำว่า “การใช้” นั้นไม่ได้ถูกเขียนอย่างชัดเจนว่า จำกัดเฉพาะท้องถนนในประเทศสิงคโปร์ แต่ก็จำต้องแปลความให้หมายความถึงท้องถนนในประเทศสิงคโปร์เท่านั้น มิฉะนั้นแล้ว จะกลายเป็นสามารถใช้บังคับแก่ท้องถนนใดทั่วโลกก็ได้ ซึ่งจะขัดกับหลักอำนาจอธิปไตยของแต่ละประเทศไป ฝ่ายผู้เสียหายโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยได้ตามข้อกฎหมายดังอ้าง

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยฉบับอ้างอิงได้ขยายอาณาเขตความคุ้มครองไว้เช่นนั้น ถือได้เป็นข้อตกลงพิเศษระหว่างคู่สัญญาประกันภัยให้แตกต่างจากข้อกฎหมายดังกล่าว ฝ่ายผู้เสียหายโจทก์จึงมีสิทธิตามข้อสัญญาดังกล่าวในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนโดยตรงจากฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลย อันเนื่องจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของผู้เอาประกันภัยได้ ตราบเท่าที่ผู้เอาประกันภัยนั้นคงยังมีสถานะทางการเงินเป็นปกติ

 

เนื่องด้วยในกรณีนี้ ตัวผู้เอาประกันภัยนั้นตกเป็นบุคคลล้มละลายไปแล้ว ฉะนั้น ค่าสินไหมทดแทนที่จะถูกชดใช้จากฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยจำต้องถูกนำไปร่วมเฉลี่ยแก่เจ้าหนี้รายอื่นของผู้เอาประกันภัยนั้นด้วยตามกฎหมายล้มละลาย

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Nippon Fire & Marine Insurance Co Ltd v Sim Jin Hwee [[1998] 2 SLR 806])

 

ยังมีต่ออีกตอนนะครับ

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

วันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 181 : ข้อยกเว้นความเสียหายซึ่งพบเมื่อตรวจสอบบัญชีสินค้า (Loss disclosed on taking inventory) กับการเรียกเก็บค่าเสียหายส่วนแรก (Deductible) ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยเบ็ดเสร็จคุ้มครองผู้ค้าอัญมณี (Jewellers’ Block Insurance Policy)

 

(ตอนที่สอง)

 

หลังจากได้รับแจ้งความเสียหายที่เกิดขึ้น บริษัทประกันภัยเหล่านั้นได้จัดส่งทีมนักบัญชีเข้าไปทำการตรวจพิสูจน์รายการบัญชีสินค้าของผู้เอาประกันภัยรายนี้อย่างละเอียดหลายรอบ โดยใช้เวลานานนับกว่าหนึ่งปี ได้ผลสรุปออกมาว่า

 

รอบแรก วันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1996 มียอดสินค้าขาดหายไปจำนวนรวม 12,814 ชิ้น คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1,892,412 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งพบสูญหายไปโดยไม่สามารถอธิบายได้ในช่วงเวลาระหว่างเดือนกันยายน ค.ศ. 1995 จนถึงวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1996 ที่ได้ตรวจนับยอดสินค้าค้างทั้งหมด

 

รอบที่สอง วันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1997 ปรับปรุงแก้ไขยอดสินค้าที่ขาดหายเป็นจำนวนรวม 12,469 ชิ้น คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 1,712,779 ดอลลาร์สหรัฐ และเป็นยอดที่ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้เรียกร้องเอากับบริษัทประกันภัยทั้งหมดของตน

 

บริษัทประกันภัยเหล่านั้นได้ตอบปฏิเสธไม่ยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ โดยมิได้บอกกล่าวเหตุผลกลับมา

 

ผู้เอาประกันภัยรายนี้จึงได้นำเรื่องเป็นคดีขึ้นสู่ศาล

 

ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยเหล่านั้นตั้งประเด็นโต้แย้ง ดังนี้

 

ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยมิได้แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ตนได้รับความเสียหายเกินกว่าความเสียหายส่วนแรกที่มีอยู่ 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงชั้นแรก (Primary Layer) และ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงชั้นส่วนเกิน (Excess Layer) สำหรับความเสียหายแต่ละครั้ง และทุกครั้ง ตามลำดับ

 

กล่าวคือ ค่าสินไหมทดแทนซึ่งโจทก์ผู้เอาประกันภัยเรียกร้องมานั้น ประกอบด้วยจำนวนความเสียหายไม่ทราบกี่ครั้ง? หรือกี่เหตุการณ์กันแน่? ซึ่งอาจตกอยู่ภายใต้วงเงินความเสียหายส่วนแรกทั้งหมดก็เป็นไปได้

 

ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยได้ตอบโต้ในประเด็นนี้ว่า สิ่งที่ตนได้เรียกร้อง คือ จำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนเดียวเท่านั้น สำหรับความเสียหายที่เกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยไม่ปรากฏร่องรอย หรือความสูญเสีย หรือความเสียหาย หรือการขาดหายไป ซึ่งพบเมื่อตรวจสอบบัญชีสินค้า (unexplained loss, mysterious disappearance or loss or damage or shortage disclosed on taking inventory)

 

ส่วนกรณีฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยมิได้แจ้งความเสียหายให้รับทราบมาก่อนนั้น ทางมิได้ถูกตั้งประเด็นขึ้นมา เพราะได้มีการบอกกล่าวล่วงหน้าแล้ว

 

ระหว่างพิจารณาคดี ฝ่ายจำเลยในส่วนของบริษัทประกันภัยในช่วงชั้นแรกสามารถเจรจาประนีประนอมกับฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยด้วยการตกลงยอมรับกันได้ที่ตัวเลข 477,500 ดอลลาร์สหรัฐ (จากวงเงิน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ)

 

ขณะที่ฝ่ายจำเลยในส่วนของบริษัทประกันภัยในช่วงชั้นส่วนเกินคงยืนกรานต่อสู้ประเด็นเดิมต่อในชั้นศาลอุทธรณ์ที่ว่า

 

ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยมีภาระพิสูจน์ว่า ความเสียหายดังที่เรียกร้องมีจำนวนเงินเกินกว่าความเสียหายส่วนแรก 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับความเสียหายแต่ละครั้ง และทุกครั้ง เนื่องด้วยฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยเองก็ไม่ทราบว่า

 

การขาดหายของสินค้านั้นเกิดมาจากสาเหตุใด?

ในลักษณะเดียวกันหรือเปล่า?

มีบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้องคนเดียว หรือหลายคนกันแน่?

เพื่อสืบค้นหาจำนวนครั้งของการเกิดเหตุ?

และแต่ละครั้งมีกี่ชิ้นที่ขาดหายไปบ้าง?

 

เหล่านี้ยังหาข้อสรุปไม่ได้เลย ถึงแม้ได้มีความพยายามตรวจพิสูจน์กันแล้วนานกว่าหนึ่งปีก็ตาม

 

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า แม้นกระนั้น ความเสียหายที่บังเกิดขึ้นนั้นล้วนเป็นกรณีโดยไม่ทราบสาเหตุ และโดยไม่ปรากฏร่องรอยตามที่ฝ่ายจำเลยในส่วนของบริษัทประกันภัยในช่วงชั้นส่วนเกิน (และในช่วงชั้นแรก) ได้ตกลงรับประกันภัยเอาไว้ทั้งสิ้น ด้วยการออกใบสลักหลังยกเลิกข้อยกเว้นของถ้อยคำเหล่านี้ ส่วนเงื่อนไขที่บังคับให้ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยมีการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนนั้น ก็ถูกปฏิบัติแล้วโดยปราศจากข้อโต้แย้งของฝ่ายจำเลยแต่ประการใด จนกระทั่งนำไปสู่การตรวจพิสูจน์บัญชีสินค้าในท้ายที่สุด

 

อนึ่ง การโต้แย้งถึงเรื่องที่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยหายไปกี่ชิ้น? กี่เหตุการณ์นั้น? เสมือนหนึ่งส่งผลทำให้เป็นการสร้างเงื่อนไขใหม่เสริมเพิ่มเติมขึ้นไปจากเดิมอีกว่า “เว้นแต่ กรณีความเสียหายที่เกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยไม่ปรากฏร่องรอย หรือความสูญเสีย หรือความเสียหาย หรือการขาดหายไป ซึ่งพบเมื่อตรวจสอบบัญชีสินค้า” กำกับไว้อีกชั้นหนึ่งนั้น ไม่สามารถกระทำได้ เพราะเมื่อฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยประสงค์จะยกเว้นไม่คุ้มครองสิ่งใดก็ตาม จะต้องใช้ถ้อยคำที่ถูกต้องชัดเจน

 

นอกจากนี้ โดยหลักกฎหมาย ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองแบบเสี่ยงภัยทุกชนิด (สรรพภัย) ผู้เอาประกันภัยมิได้มีภาระในการพิสูจน์ถึงสาเหตุของความเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีความเสียหายที่เกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยไม่ปรากฏร่องรอย หรือความสูญเสีย หรือความเสียหาย หรือการขาดหายไป ซึ่งพบเมื่อตรวจสอบบัญชีสินค้า เพราะมิฉะนั้น จะกลายเป็นว่า มิใช่เป็นการให้ความคุ้มครองแบบความเสี่ยงภัยทุกชนิด (สรรพภัย) ไป แต่เป็นให้ความคุ้มครองแบบระบุภัย ยกตัวอย่างเช่น กรมธรรม์ประกันภัยโจรกรรมแทน

 

จึงตัดสินให้ฝ่ายจำเลยในส่วนของบริษัทประกันภัยในช่วงชั้นส่วนเกินรับผิด สำหรับความเสียหายจำนวนเดียวรวมทั้งสิ้น 1,712,779 ดอลลาร์สหรัฐ อันเนื่องจากการขาดหายของสต็อกสินค้าที่เอาประกันภัยดังกล่าว

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Simplexdiam, Inc. v. Brockbank, 727 N.Y.S.2d 64, 68 (N.Y. Sup. Ct. 2001))

 

หมายเหตุ

 

ไม่ว่าจะคงยังมีข้อยกเว้นว่าด้วยความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยไม่ปรากฏร่องรอย หรือความสูญเสีย หรือความเสียหาย หรือการขาดหายไป ซึ่งพบเมื่อตรวจสอบบัญชีสินค้าอยู่หรือไม่ก็ตาม

 

ไม่ส่งผลทำให้ผลทางคดีข้างต้นเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจาก

 

โดยหลักกฎหมาย ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองแบบเสี่ยงภัยทุกชนิด (สรรพภัย) ผู้เอาประกันภัยมีภาระการพิสูจน์เบื้องต้นด้วยการแจ้งเหตุแห่งความเสียหายที่บังเกิดขึ้นเท่านั้น ต่อจากนั้น บริษัทประกันภัยจะมีภาระการพิสูจน์โต้แย้งว่า เหตุดังกล่าวนั้นมิใช่อุบัติเหตุ หรือตกอยู่ในข้อยกเว้น/ข้อจำกัดอื่นใด หรือกระทั่งเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง/ความจงใจของผู้เอาประกันภัย

 

ขณะที่ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยแบบระบุภัย ผู้เอาประกันภัยมีภาระการพิสูจน์เบื้องต้นว่า เหตุแห่งความเสียหายที่บังเกิดขึ้นนั้นเกิดจากภัยที่คุ้มครอง แล้วบริษัทประกันภัยค่อยมีหน้าที่พิสูจน์โต้แย้งเป็นอย่างอื่น   

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/