เรื่องที่ 175 : เจอเคลมแบบนี้ บริษัทประกันภัยก็หัวเราะไม่ออก?
(ตอนที่หนึ่ง)
ประเภทของการประกันภัยซึ่งส่วนตัวของผมแล้ว รู้สึกค่อนข้างมีความยากลำบาก และสับสนมากที่สุดในการตีความ เวลาเมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นมา
นั่นคือ การประกันภัยรถยนต์
จากประสบการณ์ส่วนตัว และเท่าที่ศึกษาค้นคว้ามา รู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ
อาจเป็นเพราะเงื่อนไขความคุ้มครองไปผูกไว้กับเกณฑ์ว่า “เกิดขึ้นมาจากใช้รถ หรือการใช้ทาง (being used or is in run-way)” อย่างแน่นหนามากเกินไปหรือเปล่า? ไม่แน่ใจเหมือนกัน
ถึงแม้นจะเป็นประเภทการประกันภัยซึ่งผู้คนทั่วไปรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่ในทางกลับกันก็เป็นประเภทการประกันภัยซึ่งมีสถิติร้องเรียนสูงสุด
ไม่เพียงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเราเท่านั้น ในต่างประเทศก็เช่นเดียวกัน
เพียงแค่ถ้อยคำ “เกิดขึ้นมาจากการใช้รถ หรือการใช้ทาง” อ่านเผิน ๆ ดูเสมือนหนึ่งน่าจะเข้าใจได้ง่าย ไม่จำต้องแปลความหมายอะไรมากมาย?
ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ลองนำถ้อยคำนั้นไปเทียบเคียง หรือปรับใช้กับข่าวอุบัติเหตุmk'รถยนต์ที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลายประจำวันดูสิครับ กรณีใดเข้าข่าย “การใช้รถ” และ/หรือ “การใช้ทาง” ได้บ้าง?
“การใช้รถ” และ/หรือ “การใช้ทาง” หมายความถึงอะไร?
“การใช้รถ” และ/หรือ “การใช้ทาง” มีจุดเริ่มต้นเมื่อใด และมีจุดสิ้นสุดเมื่อไรกันแน่?
ถ้ารถคันนั้นจอดอยู่ในบ้าน หรือไปถึงจุดหมายเรียบร้อยแล้ว ยังคงได้รับความคุ้มครองอยู่ต่อไปหรือไม่?
เพื่อลดความสับสน ที่ต่างประเทศ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์บางฉบับได้ทำให้เงื่อนไขความคุ้มครองมีความชัดเจนมากขึ้น ด้วยการขยายความเพิ่มเติม “เกิดขึ้นมาจาก หรือเกิดขึ้นเนื่องมาจากการเป็นเจ้าของรถ การบำรุงรักษา การใช้รถ หรือการใช้ทาง (arise out of the ownership, maintenance, use or operation of insured vehicle)”
กระนั้นยังไม่ชัดเจนเพียงพอ เพราะอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ทางรถยนต์ที่เกิดขึ้นจริงนั้นมิได้จำกัดอยู่เพียงแค่รถพลิกคว่ำ รถชนกัน รถชนคน หรือสัตว์ สิ่งของเท่านั้น มีกรณีอื่น ๆ อยู่ด้วย
รวมถึงกรณีที่เป็นข่าวสร้างความฮือฮาไปทั่วสองฝากฝั่งของตลาดประกันภัยยักษ์ใหญ่ของโลก คือ ที่อเมริกา และอังกฤษ เมื่อกลางปีที่แล้ว
ถึงขนาดทำให้บริษัทประกันภัยคู่คดีนั้นหัวร่อไม่ออกเลยทีเดียว
คุณคิดว่า ทุกวันนี้ คนเราใช้รถทำอะไรบ้างครับ?
ทั่วไปอาจตอบว่า เพื่อไปทำงาน ไปเรียนหนังสือ ไปท่องเที่ยว ไปทานอาหาร ไปไปซื้อของ ไปส่งของ ฯลฯ
หากมีอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นในระหว่างนั้น คาดหวังน่าจะได้รับความคุ้มครองใช่ไหมครับ?
แล้วถ้าเกิดมีใครใช้รถไปกระทำเช่นนี้ คุณคิดว่า กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ควรคุ้มครองไหม?
เมื่อสุภาพสตรีผู้หนึ่งไปยื่นฟ้องต่อศาลที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเรียกร้องให้สุภาพบุรุษรายหนึ่งรับผิดชอบ โทษฐานทำให้เธอติดเชื้อไวรัสอันตราย HPV ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Diseases (STDs)) ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ด้วยกันอยู่ในรถยนต์ของฝ่ายชาย โดยที่ฝ่ายชายมิได้ใช้มาตรการป้องกันใด หรือไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าเลยว่า ตนตกเป็นผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว เหตุเกิดขึ้นช่วงปลายปี ค.ศ. 2017
เนื่องด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นบนรถยนต์ และฝ่ายชายเองได้มีกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์คุ้มครองอยู่ด้วย จึงบอกฝ่ายหญิงไม่ต้องห่วงอะไร? เดี๋ยวจะแจ้งบริษัทประกันภัยรถยนต์ของตนมารับผิดชอบแทนให้
ฝ่ายชายในฐานะผู้เอาประกันภัยได้ไปแจ้งเหตุนั้นแก่บริษัทประกันภัยของตนจริง ๆ
คุณคิดว่า
(1) บริษัทประกันภัยนั้นจะตอบกลับมาเช่นไรบ้างครับ?
(2) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนรถคันนั้น เกิดจากการใช้รถไหมครับ?
และผลทางคดีจะเป็นไรนั้น กรุณาติดตามต่อตอนหน้าครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น