วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 175 : เจอเคลมแบบนี้ บริษัทประกันภัยก็หัวเราะไม่ออก?

 

(ตอนที่สอง)

 

เรามาไล่เรียงเรื่องนี้กันต่อ

 

คำตอบที่ฝ่ายชายในฐานะผู้เอาประกันภัยได้มา คือ บริษัทประกันภัยนั้นไม่ยอมรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท

 

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 ฝ่ายหญิงผู้เสียหายมีหนังสือเตือนเป็นครั้งสุดท้ายถึงบริษัทประกันภัยนั้นให้พิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ในวงเงินคุ้มครอง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

วันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 2021 บริษัทประกันภัยนั้นได้ทำหนังสือตอบปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าวอย่างเป็นทางการถึงฝ่ายหญิงผู้เสียหายอีกครั้งหนึ่ง โดยย้ำเตือนว่า ตามที่เคยได้มีหนังสือแจ้งก่อนหน้านั้นไปแล้วว่า กรณีที่เกิดขึ้นนั้นมิได้อยู่ในขอบเขตความคุ้มครองฉบับพิพาท เนื่องด้วยไม่ได้เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากการใช้รถคันที่เอาประกันภัยตามปกติแต่ประการใด และก็จะไม่นำพากับกรณีนี้อีก

 

วันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 2021 ได้มีคำตัดสินโดยคณะลูกขุนในคดีที่ฝ่ายหญิงผู้เสียหายยื่นฟ้องให้ฝ่ายชายรับผิดตามกฏหมาย ดังนี้

 

(1) ได้มีการกระทำกิจกรรมทางเพศร่วมกันบนรถคันที่เอาประกันภัยนั้นจริงในช่วงเดือนพฤศจิกายน/ธันวามคม ค.ศ. 2017

(2) โดยที่การกระทำกิจกรรมทางเพศนั้นเป็นสาเหตุโดยตรง หรือมีส่วนโดยตรงที่ทำให้ฝ่ายหญิงผู้เสียหายติดเชื้อไวรัสอันตราย HPV

(3) เมื่อฝ่ายชายรู้ตัวแล้วว่า ตนได้ตรวจพบเชื้อไวรัสอันตราย HPV มาก่อนหน้า

(4) ฝ่ายชายก็ควรเปิดเผยให้ทางฝ่ายหญิงผู้เสียหายได้รับทราบล่วงหน้าก่อนที่จะติดสินใจกระทำกิจกรรมนั้นร่วมกัน แต่กลับละเลย

(5) ฝ่ายชายจึงมีความผิดฐานประมาทเลินเล่อในการทำให้ฝ่ายหญิงผู้เสียหายติดเชื้อไวรัสอันตรายดังกล่าว

 

ตัดสินให้ฝ่ายชายต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ฝ่ายหญิงผู้เสียหายรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ต่อมา ฝ่ายหญิงผู้เสียหายได้นำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อรับรองนำไปใช้บังคับคดี

 

ถึงตอนนี้ บริษัทประกันภัยนั้นเริ่มกังวลเมื่อเรื่องใกล้ถึงตนเองเข้ามา จึงอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยยืนยันคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้นถูกต้องแล้ว ส่งผลทำให้บริษัทประกันภัยนั้นเสียสิทธิที่จะนำคดีไปฟ้องใหม่อีกด้วย อันที่จริง บริษัทประกันภัยนั้นสามารถใช้สิทธิของตนในการต่อสู้คดีตั้งแต่ต้นได้ แต่น่าเสียดาย กลับสละสิทธินั้นไปเอง

 

กระนั้นก็ตาม บริษัทประกันภัยนั้นยังไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ ได้นำคดีฟ้องร้องสู่ศาลเป็นอีกคดีหนึ่งกล่าวหาว่า ทั้งผู้เอาประกันภัยของตนกับผู้เสียหายนั้นร่วมกันกระทำการฉ้อฉล

 

ฉะนั้น เรื่องนี้จำต้องติดตามกันต่อว่า ผลสรุปสุดท้ายจะลงเอยเช่นใด?

 

ในแง่การวิเคราะห์ข้อกำหนดและเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ฉบับพิพาท มีประเด็นน่าสนใจ ดังนี้

 

1) คำจำกัดความของการบาดจ็บทางร่างกาย (Bodily Injury) หมายความถึง การบากดจ็บทางร่างกายของบุคคล รวมถึงการก่อผลจนทำให้กิดการเจ็บป่วย เป็นโรคภัย หรือจนกระทั่งเสียชีวิตขึ้นมา

 

2) ภายใต้ความคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ระบุว่า บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าเสียหายซึ่งผู้เอาประกันภัยจำต้องรับผิดตามกฎหมาย อันเนื่องจาก

 

2.1) การบาดเจ็บร่างกายแก่บุคคลอื่นใด หรือ

2.2) ความเสียหาย หรือความวินาศต่อทรัพย์สินของบุคคลอื่นใด

 

อันเกิดขึ้นเนื่องมาจากการเป็นเจ้าของรถ การบำรุงรักษา หรือการใช้รถของตนเอง  หรือรถของบุคคลอื่น (arise out of the ownership, maintenance or use of the owned auto or a non-owned auto)

 

ถ้าเทียบเคียงกับกรณีที่เกิดขึ้นด้วยการตั้งคำถามสำคัญสามข้อดังต่อไปนี้

 

(ก) ฝ่ายหญิงผู้เสียหายได้รับการบาดเจ็บร่างกายตามคำจำกัดความนั้นหรือไม่?

 

(ข) ถ้าใช่ การบาดเจ็บร่างกายนั้นเกิดขึ้นเนื่องมาจากการเป็นเจ้าของรถ การบำรุงรักษา หรือการใช้รถของตนเองหรือเปล่า? หรือรถคันนั้นเป็นเพียงแค่สถานที่เกิดเหตุนั้นขึ้นมาเท่านั้น   

 

(ค) ถ้ายังใช่อีก ผู้เอาประกันภัยมีความรับผิดตามกฎหมายที่จะต้องชดใช้ให้ด้วยไหม?

 

อนึ่ง ข้อโต้แย้งของบริษัทประกันภัยนั้นที่ว่า

 

กรณีนี้มิได้เกิดขึ้นเนื่องมาจากการใช้รถตามปกติทั่วไป รับฟังได้เพียงพอไหม?

 

การเพิ่มถ้อยคำ “การเป็นเจ้าของรถ” ยังต้องถูกกำกับด้วยการใช้รถตามปกติทั่วไปอีกเหรอ?

 

อะไร คือ การใช้รถตามปกติทั่วไป?

 

เนื่องจากตัวกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์เองไม่ปรากฏคำจำกัดความอย่างชัดแจ้งเลย

 

ดั่งที่ว่า ปัจจุบัน คนเรานำรถไปใช้งานอย่างหลากหลาย

 

เราจะวิเคราะห์ออกมาได้เช่นไรบ้าง?

 

อย่างไรก็ดี ข้อสังเกตท่ชัดเจนในตัวอย่างคดีศึกษานี้ คือ ศาลยังไม่ได้ถูกร้องขอให้วิเคราะห์ถึงข้อกำหนดและเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ฉบับพิพาทโดยตรงเลยนะครับ

 

เอาล่ะ งั้นขอให้เราลองไปปรับเทียบเคียงกับตัวอย่างคดีศึกษาลักษณะใกล้เคียงกันอีกเรื่องก็แล้วกัน ซึ่งได้มีการวิเคราะห์ถึงข้อกำหนดและเงื่อนไขความคุ้มครองโดยตรง

 

ถ้าคนขับรถรับจ้างสาธารณะไปข่มขืนผู้โดยสารบนรถ

 

คุณคิดว่า กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์จะสามารถให้ความคุ้มครองได้ไหมนี่?

 

โปรดติดตามสัปดาห์หน้าครับ

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น