เรื่องที่ 175 : เจอเคลมแบบนี้ บริษัทประกันภัยก็หัวเราะไม่ออก? : เมื่อคนขับรถแท็กซี่ข่มขืนผู้โดยสาร
(ตอนที่สาม)
ตัวอย่างคดีศึกษาเรื่องนี้เกิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แม้ค่อนข้างเก่าไปบ้าง แต่ยังถูกใช้อ้างอิงอยู่บ่อยครั้ง
ลูกจ้างเก่าของพ่อผู้เสียหายได้ว่าจ้างเหมารถแท็กซี่คันหนึ่งในช่วงเวลาสามชั่วโมง โดยได้วางแผนร่วมกับคนขับรถแท็กซี่ซึ่งไม่รู้จักกันมาก่อน เพื่อให้ไปหลอกลวงผู้เสียหายอายุสิบสี่ปีซึ่งพักอยู่กับเพื่อนในอีกเมืองหนึ่งที่อยู่ใกล้โรงเรียนว่า น้องสาวของผู้เสียหายมีอาการโรคหัวใจกำเริบ ไม่สบายอย่างมาก พ่อแม่ของผู้เสียหายจึงไหว้วานให้ตนมารับผู้เสียหายรีบไปดูอาการน้องสาวที่บ้านโดยด่วน โดยที่ตัวลูกจ้างเก่าผู้นี้จะแอบซ่อนตัวอยู่ด้านหลังรถ
ทั้งตัวผู้เสียหายกับเพื่อนพากันหลงเชื่อ และตัวผู้เสียหายได้ขึ้นไปนั่งด้านหน้ารถ พอรถแท็กซี่คันนั้นเคลื่อนออกพ้นตัวเมือง ลูกจ้างเก่าผู้นั้นก็ได้แสดงตัว และให้คนขับพารถขับวนเวียนไปในที่เปลี่ยว โดยทั้งลูกจ้างเก่ากับคนขับต่างพากันสลับกันข่มขืนผู้เสียหายระหว่างที่อยู่ในรถ เป็นเวลาร่วมสี่ชั่วโมง ทั้งคู่ได้ปล่อยผู้เสียหายลงกลางทางพร้อมกับได้ข่มขู่ไม่ให้ไปบอกผู้ใด มิฉะนั้นจะกลับมาฆ่าเสียให้ตาย หลังจากนั้น คนร้ายทั้งสองต่างแยกย้ายกันหลบหนี โดยที่ตัวลูกจ้างเก่าผู้นั้นยังได้จ่ายค่ารถที่เกินเวลาอีกหนึ่งชั่วโมงให้แก่คนขับไปอีกด้วย
วันรุ่งขึ้น ผู้เสียหายได้ไปแจ้งความ และเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับคนร้ายทั้งคู่ได้ในวันเดียวกันนั้นเอง
เมื่อมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่งต่อผู้ประกอบการรถแท็กซี่ คนขับรถคันนั้น และลูกจ้างเก่าผู้นั้น
ในส่วนการพิจารณาความรับผิดของผู้ประกอบการรถแท็กซี่ กับคนขับรถคันนั้นได้เกิดประเด็นข้อพิพาท ดังนี้
(1) ผู้เสียหายถือเป็นผู้โดยสารรถแท็กซี่คันนั้นหรือไม่?
(2) แม้นใช่ ผู้ประกอบการรถแท็กซี่คันนั้นก็ไม่ควรต้องร่วมรับผิดด้วยในฐานะตัวการ เพราะตัวแทนซึ่งคือคนขับรถคันนั้นได้กระทำการไปนอกเหนือขอบเขตอำนาจที่ได้มอบหมายมาหรือเปล่า?
โดยที่ฝ่ายผู้ประกอบการรถแท็กซี่คันนั้นได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวมาต่อสู้ว่า
(1) ประเด็นแรก
ผู้เสียหายไม่ถือเป็นผู้โดยสารรถแท็กซี่คันนั้น เนื่องด้วยตามข้อความจริง คนขับรถคันนั้นได้มาเชื้อเชิญ (หลอกลวง) ผู้เสียหายให้เข้ามานั่งในรถเอง โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าโดยสารแต่ประการใด อันเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจหน้าที่ของตนที่มีอยู่ ผู้ประกอบการรถแท็กซี่คันนั้นจึงไม่มีนิติสัมพันธ์ใดต่อผู้เสียหาย เว้นแต่เฉพาะกับผู้โดยสาร (ผู้ว่าจ้าง) ตัวจริงซึ่งก็คือลูกจ้างเก่าผู้นั้น และเป็นผู้ชำระค่าบริการนั้นต่างหาก
(2) ประเด็นที่สอง
อย่างไรก็ดี ถึงแม้นจัดให้ผู้เสียหายมีสถานะเป็นผู้โดยสารก็ตาม ผู้ประกอบการรถแท็กซี่คันนั้นยังพ้นความรับผิดของตนอยู่ดี เพราะคนขับรถคันนั้นในฐานะตัวแทนผู้รับมอบอำนาจได้กระทำการเกินขอบเขตอำนาจที่ตัวการ (ผู้ประกอบการรถแท็กซี่คันนั้น) ได้มอบหมายมา ซึ่งในที่นี้คือ การประกอบกิจการรถรับจ้างสาธารณะตามกฎหมายนั่นเอง
ศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับข้อโต้แย้งนั้น และได้วินิจฉัยให้ยกฟ้องเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการรถแท็กซี่คันนั้น
คุณมีความคิดเห็นเช่นใดในประเด็นเหล่านี้บ้างครับ?
ฝ่ายผู้เสียหายได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำตัดสินดังกล่าวของศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์ได้วิเคราะห์ประเด็นข้อพิพาทต่าง ๆ ดังนี้
หากจะนำหลักกฎหมายในเรื่องของตัวการกับตัวแทนทั่วไปมาใช้พิจารณาประกอบคดีนี้เพียงอย่างเดียวแล้ว จะกลายเป็นการละเลยหลักกฎหมายเฉพาะเรื่องสัญญารับขนไป ซึ่งบัญญัติให้ผู้รับขนมีหน้าที่ในการขนส่งผู้โดยสารจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งอย่างปลอดภัย โดยมีค่าตอบแทนตามทางการค้าปกติของผู้ให้บริการรับจ้างขนส่งนั้นเอง
ผู้รับขนจำต้องรับผิดต่อการกระทำผิดใด ๆ ของตัวแทน หรือลูกจ้างของตนในการก่อให้เกิดความบาดเจ็บแก่ผู้โดยสารของตน ไม่ว่าจะกระทำโดยจงใจ หรือโดยเจตนาร้าย และไม่ว่าจะอยู่ในขอบเขตทางการที่จ้าง หรือการให้บริการหรือไม่ก็ตาม ถ้าการกระทำเช่นว่านั้นยังอยู่ในช่วงระหว่างการขนส่งดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับการขนส่งโดยมีค่าตอบแทน ก็ยิ่งจำต้องให้การดูแลเอาใจใส่สูงกว่าปกติ
หน้าที่ของผู้ขนส่งนั้นนอกเหนือจากต้องดูแลปกป้องรักษาความปลอดภัยของผู้โดยสารให้ถึงจุดหมายปลายทางอย่างถูกต้องแล้วจากคนของตนแล้ว ยังรวมถึงการให้ความปกป้องจากการกระทำของบุคคลอื่น หรือกระทั่งผู้โดยสารรายอื่น ไม่ว่าจะด้วยทางกาย หรือทางวาจาด้วยเช่นเดียวกัน ถึงแม้นว่า ผู้ขนส่งจะมิได้มีหน้าที่ถึงขนาดรับประกันความปลอดภัยของผู้โดยสารจากการกระทำของบุคคลภายนอกก็ตาม แต่ก็ควรกระทำหน้าที่หลักของตนให้ดีที่สุด
ครั้นเมื่อคนขับรถคันนั้นได้ไปถึงจุดหมายตามทางการที่จ้าง ณ ที่พักของผู้เสียหาย และได้เชื้อเชิญให้เข้ามานั่งอยู่ในรถคันนั้น โดยที่ผู้เสียหายได้ตกลงยินยอมเข้าไปนั่งด้วยความสุจริตใจแล้ว สถานะของผู้เสียหายได้ตกมาเป็นผู้โดยสารทันที
ส่วนการที่ผู้เสียหายมิได้เป็นผู้ชำระค่าโดยสารนั้น มิใช่ประเด็นสำคัญ เพราะได้ถูกหลอกลวงว่า พ่อแม่ให้มารับ ทำให้ถูกให้เข้าใจได้ว่า พ่อแม่น่าจะรับผิดชอบค่าโดยสารนั้นเอง เพราะโดยปกติค่าโดยสารทั้งหมดน่าจะถูกคำนวณต่อเมื่อได้ไปถึงจุดหมายปลายทางนั้นแล้ว
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลอุทธรณ์จึงไม่เห็นพ้องกับคำตัดสินของศาลชั้นต้น และให้ย้อนคดีกลับไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่
คงจำต้องต่อตอนที่สี่อีกตอนล่ะครับ เพื่อรับฟังผลสรุปของคดีนี้
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น