วันจันทร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 174 : เงื่อนไขพิเศษค่าวิชาชีพ (Professional Fees Clause) มีความหมายเช่นใดกันแน่?

 

(ตอนที่สาม)

 

เวลาบรรยายหลักสูตรเรื่องเงื่อนไขพิเศษ ผมมักจะให้ข้อคิดแก่ผู้เข้าอบรมด้วยการให้ลองจินตนาการพร้อมตั้งคำถามกับตัวเองว่า

 

ก) ทำไมจะต้องมีเงื่อนไขพิเศษนี้? และ

 

ข) ถ้าไม่มีเงื่อนไขพิเศษเช่นว่านี้ แล้วจะบังเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

 

จะสามารถช่วยสร้างความเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น

 

กรณีนี้ สำหรับคำถามแรก

 

ก) ทำไมจะต้องมีเงื่อนไขพิเศษนี้?

 

ถ้าเราไปไล่เรียงเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ จะพบข้อกำหนดหน้าที่ของผู้เอาประกันภัย เวลาเมื่อเกิดความเสียหายอย่างมากมาย ดังตัวอย่างต่อไปนี้

 

1) กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยทั่วไป

 

ภายใต้เงื่อนไขทั่วไปในการรับประกันภัย ข้อที่ 5 เงื่อนไขการเรียกร้องและชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

 

5.1) หน้าที่ของผู้เอาประกันภัยในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน เป็นต้นว่า

 

- ต้องแจ้งเหตุแห่งความเสียหายให้บริษัทประกันภัยรับทราบโดยไม่ชักช้า และ

- ต้องส่งมอบหลักฐานกับเอกสารรายละเอียดแห่งทรัพย์สินที่สูญหายหรือเสียหาย และมูลค่าความเสียหายโดยละเอียด และ

- ต้องแจ้งการประกันภัยอื่นที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี)

- ภายใน 30 วันนับแต่วันที่เกิดความเสียหาย

- ต้องแสดง จัดหา แจ้ง หรือมอบพยานหลักฐานกับรายการเพิ่มเติมให้แก่บริษัทประกันภัย เช่น แผนผัง รายการละเอียด สมุดบัญชี ใบสำคัญการบัญชี ใบกำกับสินค้า ต้นฉบับ คู่ฉบับ หรือสำเนาเอกสารนั้น ๆ ข้อพิสูจน์ และข้อความเกี่ยวกับการเรียกร้อง และต้นเพลิงหรือสาเหตุกับพฤติการณ์ที่ทำให้เกิดความเสียหายตามแต่ที่บริษัทประกันภัยจะต้องการตามสมควร

 

2) กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน

 

ภายใต้หมวดที่ 1 เงื่อนไขทั่วไป ข้อที่ 10 การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนก็มีข้อกำหนดหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยไว้คล้ายคลึงกัน แต่เนื่องด้วยเป็นความคุ้มครองแบบสรรพภัย จึงเพิ่มเติมในกรณีการถูกโจรกรรม หรือการกระทำโดยเจตนาร้ายของบุคคลอื่น ให้มีหน้าที่ต้องแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ และการติดตามเอาทรัพย์สินที่สูญหายกลับคืนมาอีกด้วย

 

ทั้งนี้ หน้าที่ข้างต้นทั้งหมดนั้นจะต้องกระทำด้วยค่าใช้จ่ายของผู้เอาประกันภัยเอง โดยไม่คำนึงว่า พยานหลักฐานกับข้อมูลดังกล่าวนั้นจะได้มาด้วยกรรมวิธีการว่าจ้างบุคคลภายนอกผู้เชี่ยวชาญใดหรือเปล่า? หรืออยู่ในวิสัยที่ผู้เอาประกันภัยสามารถกระทำเองได้

 

ฉะนั้น คำตอบของคำถามแรก คือ เงื่อนไขพิเศษค่าวิชาชีพมีขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าว เฉพาะกรณีที่ผู้เอาประกันภัยจำต้องว่าจ้างบุคคลภายนอกผู้เชี่ยวชาญเข้ามากระทำการดังกล่าวแทนเท่านั้น ซึ่งมักเกิดขึ้นได้แก่ผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ เวลาเมื่อเกิดความเสียหายรุนแรง  

 

ในกรณีที่ลักษณะของธุรกิจไม่มีความซับซ้อน และความเสียหายก็ไม่ร้ายแรง หรือกระทั่งในส่วนใดที่ซึ่งผู้เอาประกันภัยสามารถดำเนินหน้าที่ดังกล่าวของตนได้อย่างไม่ลำบากยากเข็ญอะไร ผู้เอาประกันภัยก็จำต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในส่วนนั้นเอง ทั้งนี้ รวมถึงกรณีว่าจ้างผู้ประเมินอิสระ (public adjusters) ด้วยเช่นกัน

 

สำหรับคำถามที่สอง

 

ข) ถ้าไม่มีเงื่อนไขพิเศษเช่นว่านี้ แล้วจะบังเกิดอะไรขึ้นบ้าง?

 

คำเฉลย คือ ผู้เอาประกันภัยต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนั้นทั้งหมดเองไปตามภาระหน้าที่ปกติ

 

เหล่านี้เป็นมูลเหตุที่ก่อให้เกิดเงื่อนไขพิเศษนี้ขึ้นมา ไม่ว่าจะได้มีการร่างขอบเขตถ้อยคำแตกแขนงออกเป็นเช่นใดก็ตาม

 

อนึ่ง เงื่อนไขพิเศษนี้อาจเรียกอีกชื่อว่า “ค่าใช้จ่ายในการจัดเตรียมการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน (Claims Preparation Costs) หรือค่าใช้จ่ายในการกำหนดค่าสินไหมทดแทน (Loss Adjustment Expenses)

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น