วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 175 : เจอเคลมแบบนี้ บริษัทประกันภัยก็หัวเราะไม่ออก? : เมื่อคนขับรถแท็กซี่ข่มขืนผู้โดยสาร

 

(ตอนที่สี่)

 

ผลการพิจารณาคดีนี้ใหม่มิได้ผิดแผกไปจากแนวทางที่ศาลอุทธรณ์ได้วางไว้ กล่าวคือ ให้ทั้งผู้ประกอบการรถแท็กซี่ กับคนขับรถคันนั้นจำต้องรับผิดตามกฎหมายต่อผู้เสียหาย

 

แต่เนื่องด้วยจำนวนเงินค่าเสียหายที่จะต้องชดใช้ให้นั้นดูน้อยไปหน่อย ฝ่ายผู้เสียหายจึงได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมจากบริษัทประกันภัยซึ่งให้ความคุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายแก่รถแท็กซี่คันนั้นกับตัวคนขับรถคันนั้นด้วย โดยที่กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ฉบับพิพาทนั้นได้กำหนดตอนหนึ่งว่า

 

จะชดใช้ในนามของผู้เอาประกันภัย สำหรับจำนวนเงินทั้งหลายซึ่งผู้เอาประกันภัยมีความรับผิดตามกฎหมายที่จะต้องชดใช้ให้เป็นค่าเสียหาย ในกรณีความบาดเจ็บทางร่างกาย รวมถึงการเสียชีวิตของบุคคลใด อันมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุ และได้เกิดขึ้นเนื่องมาจากการเป็นเจ้าของรถ การบำรุงรักษา หรือการใช้รถคันที่เอาประกันภัยนั้น (caused by accident and arising out of the ownership, maintenance or use of the automobile)

 

สามารถจำแนกออกเป็นประเด็นต่าง ๆ ในการพิจารณา ดังนี้

 

1) ผู้เอาประกันภัยอันที่จะได้รับความคุ้มครอง คือ ผู้ใด?

 

    แม้ในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ฉบับพิพาท ระบุชื่อเพียงชื่อผู้ประกอบการรถแท็กซี่คันนั้นให้เป็นผู้เอาประกันภัยเท่านั้น แต่ก็มีข้อกำหนดที่เรียกว่า “ข้อกำหนดสารพัน (omnibus clause)” ให้ผู้เอาประกันภัย หมายความรวมถึง บุคคลผู้ใดซึ่งได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยดังระบุชื่อให้ใช้รถคันที่เอาประกันภัยนั้นด้วย ในที่นี้ คือ ตัวคนขับรถคันนั้นก็จะได้รับความคุ้มครองเสมือนหนึ่งผู้เอาประกันภัยเช่นเดียวกัน

 

หมายเหตุ

 

ข้อกำหนดสารพัน (omnibus clause) หมายความถึง ข้อกำหนดในกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดที่ขยายความคุ้มครองรวมไปถึงบุคคลอื่นเพิ่มเติมจากผู้เอาประกันภัย ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย เช่น ในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ในส่วนความคุ้มครองความรับผิดของผู้เอาประกันภัยที่ขยายความคุ้มครองไปถึงบุคคลอื่นที่ได้รับอนุญาตให้ขับขี่รถยนต์นั้น รวมตลอดถึงลูกจ้างหรือผู้โดยสารด้วย (พจนานุกรมศัพ์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6 (แก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. 2560)

 

2) ความบาดเจ็บทางร่างกายดังกล่าวผู้เสียหายในฐานะผู้โดยสารได้เกิดขึ้นจาก

 

    2.1) อุบัติเหตุหรือไม่? และ

 

           ฝ่ายจำเลย (บริษัทประกันภัยกับคนขับรถคันนั้น) ได้พยายามโต้แย้งว่า ไม่ถือเป็นอุบัติเหตุตามความหมายของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ฉบับพิพาท เพราะเกิดขึ้นจากการกระทำโดยเจตนาของผู้กระทำผิดนั้นเอง

 

          ศาลวินิจฉัยว่า ในการวิเคราะห์ความหมายของอุบัติเหตุ จำต้องพิจารณาเสียก่อนว่า จะมองจากมุมมองของฝ่ายผู้กระทำ หรือผู้ถูกกระทำเป็นเกณฑ์

 

          หากมองจากมุมมองของผู้กระทำ แน่นอนว่า เกิดขึ้นจากความจงใจ อันมิใช่อุบัติเหตุ

 

          แต่ถ้าในมุมมองของผู้ถูกกระทำแล้ว มิได้ประสงค์ที่จะให้ตนเองได้รับอันตรายจากการกระทำของผู้ใดก็ตาม เช่นนี้ ถือเป็นอุบัติเหตุ

 

          โดยหลักการตีความทั่วไปตามกฎหมาย สำหรับกรณีความรับผิด จะยึดถือมุมมองของผู้ถูกกระทำเป็นเกณฑ์สำคัญ ฉะนั้น ในกรณีนี้ ถือว่า ฝ่ายโจทก์ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บโดยอุบัติเหตุ     

                                

    2.2) เนื่องมาจากการเป็นเจ้าของรถ การบำรุงรักษา หรือการใช้รถคันที่เอาประกันภัยนั้นหรือเปล่า?

 

           ประเด็นนี้ได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วว่า เป็นผลเนื่องมาจากการใช้รถคันที่เอาประกันภัยของคนขับรถคันนั้นซึ่งได้รับความคุ้มครองเสมือนหนึ่งผู้เอาประกันภัย

 

3) กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ฉบับพิพาทนั้นจำต้องรับผิดให้ในนามของผู้เอาประกันภัยด้วยหรือไม่?

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ประเด็นต่าง ๆ ข้างต้นล้วนเข้าข้อกำหนดและเงื่อนไขดังระบุไว้ของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ฉบับพิพาทก็ตาม

 

แต่ด้วยเหตุที่การกระทำของคนขับรถคันนั้นเป็นการกระทำผิดโดยเจตนาตามกฎหมายอาญา ดังนั้น ในการที่จะให้บริษัทประกันภัยมาชดใช้แทนนั้นจึงขัดต่อหลักกฎหมายว่าด้วยความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน (อันเสมือนหนึ่งเป็นการสนับสนุนผู้กระทำผิดในทางอ้อม) จึงตัดสินให้บริษัทประกันภัยไม่จำต้องเข้ามาร่วมรับผิดด้วย

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจาก

คดีแรก M.O. v Geico Gen. Ins. Co., No. WD 84722, (Mo. Ct. App. June 7, 2022 และ

คดีที่สอง Haser v Maryland Casualty Co., 53 NW 2d 508 (ND 1952))

 

หมายเหตุ

 

สำหรับคดีแรก

 

ถ้าท่านใดสนใจจะลองไปพิจารณาต่อว่า กรณีดังว่านั้นจัดเป็นอุบัติเหตุด้วยหรือไม่? 

 

ให้ลองไปอ่านเพิ่มเติมย้อนหลัง ในบทความของผม เรื่องที่ 39 : การมีเพศสัมพันธ์ และการติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์ถือเป็นอุบัติเหตุหรือไม่? ซึ่งได้เขียนไว้นานหลายปีแล้ว

 

และกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์นั้นควรให้ความคุ้มครองได้หรือเปล่า?

 

มีนักกฎหมายต่างประเทศบางท่านได้เขียนดักคอเอาไว้ว่า ถ้าศาลตัดสินคดีดังกล่าวให้ต้องรับผิดชอบแล้ว ต่อจากนี้ไป ก่อนจะมีเซ็กซ์กันในรถ นอกจากควรตรวจสอบอุปกรณ์ป้องกันอย่างอื่น ให้ตรวจสอบเพิ่มด้วยว่า รถคันนั้นยังมีประกันภัยคุ้มครองอยู่ไหม?

 

ส่วนคดีที่สอง

 

ยังมีแนวทางการวินิจฉัยคดีลักษณะนี้ของศาลต่างประเทศที่แตกต่างกันอยู่พอสมควร ศาลส่วนใหญ่จะเดินตามแนวทางนี้ แต่บางศาลกลับมีใจโน้มเอียงไปทางเห็นใจฝ่ายผู้เสียหายมากกว่า อาจตัดสินให้บริษัทประกันภัยเข้ามารับผิดแทน ก็มีพบเห็นอยู่บ้างเหมือนกัน  

 

อนึ่ง บริษัทประกันภัยต่างประเทศบางแห่งถึงขนาดออกแบบกรมธรรม์ประกันภัยเฉพาะให้ความคุ้มครองเรื่องลักษณะนี้ที่เรียกว่า “Sexual Misconduct and Molestation Liability (SMML) Insurance” บ้างแล้วเช่นกัน

 

เดิมทีจะจบบทความเรื่องนี้ลงเสียที แต่ยังรู้สึกไม่สมบูรณ์เพียงพอ และเติมไม่เต็มนัก หากมิได้หยิบยกแนวทางคำพิพากษาศาลฎีกาของไทยมาเทียบเคียง

 

ขอไปต่ออีกตอนก็แล้วกันครับ

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

  

 

วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 175 : เจอเคลมแบบนี้ บริษัทประกันภัยก็หัวเราะไม่ออก? : เมื่อคนขับรถแท็กซี่ข่มขืนผู้โดยสาร

 

(ตอนที่สาม)

 

ตัวอย่างคดีศึกษาเรื่องนี้เกิดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แม้ค่อนข้างเก่าไปบ้าง แต่ยังถูกใช้อ้างอิงอยู่บ่อยครั้ง

 

ลูกจ้างเก่าของพ่อผู้เสียหายได้ว่าจ้างเหมารถแท็กซี่คันหนึ่งในช่วงเวลาสามชั่วโมง โดยได้วางแผนร่วมกับคนขับรถแท็กซี่ซึ่งไม่รู้จักกันมาก่อน เพื่อให้ไปหลอกลวงผู้เสียหายอายุสิบสี่ปีซึ่งพักอยู่กับเพื่อนในอีกเมืองหนึ่งที่อยู่ใกล้โรงเรียนว่า น้องสาวของผู้เสียหายมีอาการโรคหัวใจกำเริบ ไม่สบายอย่างมาก พ่อแม่ของผู้เสียหายจึงไหว้วานให้ตนมารับผู้เสียหายรีบไปดูอาการน้องสาวที่บ้านโดยด่วน โดยที่ตัวลูกจ้างเก่าผู้นี้จะแอบซ่อนตัวอยู่ด้านหลังรถ

 

ทั้งตัวผู้เสียหายกับเพื่อนพากันหลงเชื่อ และตัวผู้เสียหายได้ขึ้นไปนั่งด้านหน้ารถ  พอรถแท็กซี่คันนั้นเคลื่อนออกพ้นตัวเมือง ลูกจ้างเก่าผู้นั้นก็ได้แสดงตัว และให้คนขับพารถขับวนเวียนไปในที่เปลี่ยว โดยทั้งลูกจ้างเก่ากับคนขับต่างพากันสลับกันข่มขืนผู้เสียหายระหว่างที่อยู่ในรถ เป็นเวลาร่วมสี่ชั่วโมง ทั้งคู่ได้ปล่อยผู้เสียหายลงกลางทางพร้อมกับได้ข่มขู่ไม่ให้ไปบอกผู้ใด มิฉะนั้นจะกลับมาฆ่าเสียให้ตาย หลังจากนั้น คนร้ายทั้งสองต่างแยกย้ายกันหลบหนี โดยที่ตัวลูกจ้างเก่าผู้นั้นยังได้จ่ายค่ารถที่เกินเวลาอีกหนึ่งชั่วโมงให้แก่คนขับไปอีกด้วย

 

วันรุ่งขึ้น ผู้เสียหายได้ไปแจ้งความ และเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับคนร้ายทั้งคู่ได้ในวันเดียวกันนั้นเอง

 

เมื่อมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่งต่อผู้ประกอบการรถแท็กซี่ คนขับรถคันนั้น และลูกจ้างเก่าผู้นั้น

 

ในส่วนการพิจารณาความรับผิดของผู้ประกอบการรถแท็กซี่ กับคนขับรถคันนั้นได้เกิดประเด็นข้อพิพาท ดังนี้

 

(1) ผู้เสียหายถือเป็นผู้โดยสารรถแท็กซี่คันนั้นหรือไม่?

 

(2) แม้นใช่ ผู้ประกอบการรถแท็กซี่คันนั้นก็ไม่ควรต้องร่วมรับผิดด้วยในฐานะตัวการ เพราะตัวแทนซึ่งคือคนขับรถคันนั้นได้กระทำการไปนอกเหนือขอบเขตอำนาจที่ได้มอบหมายมาหรือเปล่า?

 

โดยที่ฝ่ายผู้ประกอบการรถแท็กซี่คันนั้นได้หยิบยกประเด็นดังกล่าวมาต่อสู้ว่า

 

(1) ประเด็นแรก

 

ผู้เสียหายไม่ถือเป็นผู้โดยสารรถแท็กซี่คันนั้น เนื่องด้วยตามข้อความจริง คนขับรถคันนั้นได้มาเชื้อเชิญ (หลอกลวง) ผู้เสียหายให้เข้ามานั่งในรถเอง โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าโดยสารแต่ประการใด อันเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจหน้าที่ของตนที่มีอยู่ ผู้ประกอบการรถแท็กซี่คันนั้นจึงไม่มีนิติสัมพันธ์ใดต่อผู้เสียหาย เว้นแต่เฉพาะกับผู้โดยสาร (ผู้ว่าจ้าง) ตัวจริงซึ่งก็คือลูกจ้างเก่าผู้นั้น และเป็นผู้ชำระค่าบริการนั้นต่างหาก

 

(2) ประเด็นที่สอง

 

อย่างไรก็ดี ถึงแม้นจัดให้ผู้เสียหายมีสถานะเป็นผู้โดยสารก็ตาม ผู้ประกอบการรถแท็กซี่คันนั้นยังพ้นความรับผิดของตนอยู่ดี เพราะคนขับรถคันนั้นในฐานะตัวแทนผู้รับมอบอำนาจได้กระทำการเกินขอบเขตอำนาจที่ตัวการ (ผู้ประกอบการรถแท็กซี่คันนั้น) ได้มอบหมายมา ซึ่งในที่นี้คือ การประกอบกิจการรถรับจ้างสาธารณะตามกฎหมายนั่นเอง

 

ศาลชั้นต้นเห็นพ้องกับข้อโต้แย้งนั้น และได้วินิจฉัยให้ยกฟ้องเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการรถแท็กซี่คันนั้น

 

คุณมีความคิดเห็นเช่นใดในประเด็นเหล่านี้บ้างครับ?

 

ฝ่ายผู้เสียหายได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำตัดสินดังกล่าวของศาลชั้นต้น

 

ศาลอุทธรณ์ได้วิเคราะห์ประเด็นข้อพิพาทต่าง ๆ ดังนี้

 

หากจะนำหลักกฎหมายในเรื่องของตัวการกับตัวแทนทั่วไปมาใช้พิจารณาประกอบคดีนี้เพียงอย่างเดียวแล้ว จะกลายเป็นการละเลยหลักกฎหมายเฉพาะเรื่องสัญญารับขนไป ซึ่งบัญญัติให้ผู้รับขนมีหน้าที่ในการขนส่งผู้โดยสารจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งอย่างปลอดภัย โดยมีค่าตอบแทนตามทางการค้าปกติของผู้ให้บริการรับจ้างขนส่งนั้นเอง

 

ผู้รับขนจำต้องรับผิดต่อการกระทำผิดใด ๆ ของตัวแทน หรือลูกจ้างของตนในการก่อให้เกิดความบาดเจ็บแก่ผู้โดยสารของตน ไม่ว่าจะกระทำโดยจงใจ หรือโดยเจตนาร้าย และไม่ว่าจะอยู่ในขอบเขตทางการที่จ้าง หรือการให้บริการหรือไม่ก็ตาม ถ้าการกระทำเช่นว่านั้นยังอยู่ในช่วงระหว่างการขนส่งดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับการขนส่งโดยมีค่าตอบแทน ก็ยิ่งจำต้องให้การดูแลเอาใจใส่สูงกว่าปกติ

 

หน้าที่ของผู้ขนส่งนั้นนอกเหนือจากต้องดูแลปกป้องรักษาความปลอดภัยของผู้โดยสารให้ถึงจุดหมายปลายทางอย่างถูกต้องแล้วจากคนของตนแล้ว ยังรวมถึงการให้ความปกป้องจากการกระทำของบุคคลอื่น หรือกระทั่งผู้โดยสารรายอื่น ไม่ว่าจะด้วยทางกาย หรือทางวาจาด้วยเช่นเดียวกัน ถึงแม้นว่า ผู้ขนส่งจะมิได้มีหน้าที่ถึงขนาดรับประกันความปลอดภัยของผู้โดยสารจากการกระทำของบุคคลภายนอกก็ตาม แต่ก็ควรกระทำหน้าที่หลักของตนให้ดีที่สุด

 

ครั้นเมื่อคนขับรถคันนั้นได้ไปถึงจุดหมายตามทางการที่จ้าง ณ ที่พักของผู้เสียหาย และได้เชื้อเชิญให้เข้ามานั่งอยู่ในรถคันนั้น โดยที่ผู้เสียหายได้ตกลงยินยอมเข้าไปนั่งด้วยความสุจริตใจแล้ว สถานะของผู้เสียหายได้ตกมาเป็นผู้โดยสารทันที

 

ส่วนการที่ผู้เสียหายมิได้เป็นผู้ชำระค่าโดยสารนั้น มิใช่ประเด็นสำคัญ เพราะได้ถูกหลอกลวงว่า พ่อแม่ให้มารับ ทำให้ถูกให้เข้าใจได้ว่า พ่อแม่น่าจะรับผิดชอบค่าโดยสารนั้นเอง เพราะโดยปกติค่าโดยสารทั้งหมดน่าจะถูกคำนวณต่อเมื่อได้ไปถึงจุดหมายปลายทางนั้นแล้ว  

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลอุทธรณ์จึงไม่เห็นพ้องกับคำตัดสินของศาลชั้นต้น และให้ย้อนคดีกลับไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่

 

คงจำต้องต่อตอนที่สี่อีกตอนล่ะครับ เพื่อรับฟังผลสรุปของคดีนี้

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 175 : เจอเคลมแบบนี้ บริษัทประกันภัยก็หัวเราะไม่ออก?

 

(ตอนที่สอง)

 

เรามาไล่เรียงเรื่องนี้กันต่อ

 

คำตอบที่ฝ่ายชายในฐานะผู้เอาประกันภัยได้มา คือ บริษัทประกันภัยนั้นไม่ยอมรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท

 

วันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 ฝ่ายหญิงผู้เสียหายมีหนังสือเตือนเป็นครั้งสุดท้ายถึงบริษัทประกันภัยนั้นให้พิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ในวงเงินคุ้มครอง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

วันที่ 7 เมษายน ค.ศ. 2021 บริษัทประกันภัยนั้นได้ทำหนังสือตอบปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าวอย่างเป็นทางการถึงฝ่ายหญิงผู้เสียหายอีกครั้งหนึ่ง โดยย้ำเตือนว่า ตามที่เคยได้มีหนังสือแจ้งก่อนหน้านั้นไปแล้วว่า กรณีที่เกิดขึ้นนั้นมิได้อยู่ในขอบเขตความคุ้มครองฉบับพิพาท เนื่องด้วยไม่ได้เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากการใช้รถคันที่เอาประกันภัยตามปกติแต่ประการใด และก็จะไม่นำพากับกรณีนี้อีก

 

วันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 2021 ได้มีคำตัดสินโดยคณะลูกขุนในคดีที่ฝ่ายหญิงผู้เสียหายยื่นฟ้องให้ฝ่ายชายรับผิดตามกฏหมาย ดังนี้

 

(1) ได้มีการกระทำกิจกรรมทางเพศร่วมกันบนรถคันที่เอาประกันภัยนั้นจริงในช่วงเดือนพฤศจิกายน/ธันวามคม ค.ศ. 2017

(2) โดยที่การกระทำกิจกรรมทางเพศนั้นเป็นสาเหตุโดยตรง หรือมีส่วนโดยตรงที่ทำให้ฝ่ายหญิงผู้เสียหายติดเชื้อไวรัสอันตราย HPV

(3) เมื่อฝ่ายชายรู้ตัวแล้วว่า ตนได้ตรวจพบเชื้อไวรัสอันตราย HPV มาก่อนหน้า

(4) ฝ่ายชายก็ควรเปิดเผยให้ทางฝ่ายหญิงผู้เสียหายได้รับทราบล่วงหน้าก่อนที่จะติดสินใจกระทำกิจกรรมนั้นร่วมกัน แต่กลับละเลย

(5) ฝ่ายชายจึงมีความผิดฐานประมาทเลินเล่อในการทำให้ฝ่ายหญิงผู้เสียหายติดเชื้อไวรัสอันตรายดังกล่าว

 

ตัดสินให้ฝ่ายชายต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ฝ่ายหญิงผู้เสียหายรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ต่อมา ฝ่ายหญิงผู้เสียหายได้นำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อรับรองนำไปใช้บังคับคดี

 

ถึงตอนนี้ บริษัทประกันภัยนั้นเริ่มกังวลเมื่อเรื่องใกล้ถึงตนเองเข้ามา จึงอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยยืนยันคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้นถูกต้องแล้ว ส่งผลทำให้บริษัทประกันภัยนั้นเสียสิทธิที่จะนำคดีไปฟ้องใหม่อีกด้วย อันที่จริง บริษัทประกันภัยนั้นสามารถใช้สิทธิของตนในการต่อสู้คดีตั้งแต่ต้นได้ แต่น่าเสียดาย กลับสละสิทธินั้นไปเอง

 

กระนั้นก็ตาม บริษัทประกันภัยนั้นยังไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ ได้นำคดีฟ้องร้องสู่ศาลเป็นอีกคดีหนึ่งกล่าวหาว่า ทั้งผู้เอาประกันภัยของตนกับผู้เสียหายนั้นร่วมกันกระทำการฉ้อฉล

 

ฉะนั้น เรื่องนี้จำต้องติดตามกันต่อว่า ผลสรุปสุดท้ายจะลงเอยเช่นใด?

 

ในแง่การวิเคราะห์ข้อกำหนดและเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ฉบับพิพาท มีประเด็นน่าสนใจ ดังนี้

 

1) คำจำกัดความของการบาดจ็บทางร่างกาย (Bodily Injury) หมายความถึง การบากดจ็บทางร่างกายของบุคคล รวมถึงการก่อผลจนทำให้กิดการเจ็บป่วย เป็นโรคภัย หรือจนกระทั่งเสียชีวิตขึ้นมา

 

2) ภายใต้ความคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ระบุว่า บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าเสียหายซึ่งผู้เอาประกันภัยจำต้องรับผิดตามกฎหมาย อันเนื่องจาก

 

2.1) การบาดเจ็บร่างกายแก่บุคคลอื่นใด หรือ

2.2) ความเสียหาย หรือความวินาศต่อทรัพย์สินของบุคคลอื่นใด

 

อันเกิดขึ้นเนื่องมาจากการเป็นเจ้าของรถ การบำรุงรักษา หรือการใช้รถของตนเอง  หรือรถของบุคคลอื่น (arise out of the ownership, maintenance or use of the owned auto or a non-owned auto)

 

ถ้าเทียบเคียงกับกรณีที่เกิดขึ้นด้วยการตั้งคำถามสำคัญสามข้อดังต่อไปนี้

 

(ก) ฝ่ายหญิงผู้เสียหายได้รับการบาดเจ็บร่างกายตามคำจำกัดความนั้นหรือไม่?

 

(ข) ถ้าใช่ การบาดเจ็บร่างกายนั้นเกิดขึ้นเนื่องมาจากการเป็นเจ้าของรถ การบำรุงรักษา หรือการใช้รถของตนเองหรือเปล่า? หรือรถคันนั้นเป็นเพียงแค่สถานที่เกิดเหตุนั้นขึ้นมาเท่านั้น   

 

(ค) ถ้ายังใช่อีก ผู้เอาประกันภัยมีความรับผิดตามกฎหมายที่จะต้องชดใช้ให้ด้วยไหม?

 

อนึ่ง ข้อโต้แย้งของบริษัทประกันภัยนั้นที่ว่า

 

กรณีนี้มิได้เกิดขึ้นเนื่องมาจากการใช้รถตามปกติทั่วไป รับฟังได้เพียงพอไหม?

 

การเพิ่มถ้อยคำ “การเป็นเจ้าของรถ” ยังต้องถูกกำกับด้วยการใช้รถตามปกติทั่วไปอีกเหรอ?

 

อะไร คือ การใช้รถตามปกติทั่วไป?

 

เนื่องจากตัวกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์เองไม่ปรากฏคำจำกัดความอย่างชัดแจ้งเลย

 

ดั่งที่ว่า ปัจจุบัน คนเรานำรถไปใช้งานอย่างหลากหลาย

 

เราจะวิเคราะห์ออกมาได้เช่นไรบ้าง?

 

อย่างไรก็ดี ข้อสังเกตท่ชัดเจนในตัวอย่างคดีศึกษานี้ คือ ศาลยังไม่ได้ถูกร้องขอให้วิเคราะห์ถึงข้อกำหนดและเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ฉบับพิพาทโดยตรงเลยนะครับ

 

เอาล่ะ งั้นขอให้เราลองไปปรับเทียบเคียงกับตัวอย่างคดีศึกษาลักษณะใกล้เคียงกันอีกเรื่องก็แล้วกัน ซึ่งได้มีการวิเคราะห์ถึงข้อกำหนดและเงื่อนไขความคุ้มครองโดยตรง

 

ถ้าคนขับรถรับจ้างสาธารณะไปข่มขืนผู้โดยสารบนรถ

 

คุณคิดว่า กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์จะสามารถให้ความคุ้มครองได้ไหมนี่?

 

โปรดติดตามสัปดาห์หน้าครับ

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

 

 

วันจันทร์ที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2566

เรื่องที่ 175 : เจอเคลมแบบนี้ บริษัทประกันภัยก็หัวเราะไม่ออก?

(ตอนที่หนึ่ง)

 

ประเภทของการประกันภัยซึ่งส่วนตัวของผมแล้ว รู้สึกค่อนข้างมีความยากลำบาก และสับสนมากที่สุดในการตีความ เวลาเมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นมา

 

นั่นคือ การประกันภัยรถยนต์

 

จากประสบการณ์ส่วนตัว และเท่าที่ศึกษาค้นคว้ามา รู้สึกเช่นนั้นจริง ๆ

 

อาจเป็นเพราะเงื่อนไขความคุ้มครองไปผูกไว้กับเกณฑ์ว่า “เกิดขึ้นมาจากใช้รถ หรือการใช้ทาง (being used or is in run-way)” อย่างแน่นหนามากเกินไปหรือเปล่า? ไม่แน่ใจเหมือนกัน

 

ถึงแม้นจะเป็นประเภทการประกันภัยซึ่งผู้คนทั่วไปรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่ในทางกลับกันก็เป็นประเภทการประกันภัยซึ่งมีสถิติร้องเรียนสูงสุด

 

ไม่เพียงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเราเท่านั้น ในต่างประเทศก็เช่นเดียวกัน

 

เพียงแค่ถ้อยคำ “เกิดขึ้นมาจากการใช้รถ หรือการใช้ทาง” อ่านเผิน ๆ ดูเสมือนหนึ่งน่าจะเข้าใจได้ง่าย ไม่จำต้องแปลความหมายอะไรมากมาย?

 

ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น ลองนำถ้อยคำนั้นไปเทียบเคียง หรือปรับใช้กับข่าวอุบัติเหตุmk'รถยนต์ที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลายประจำวันดูสิครับ กรณีใดเข้าข่าย “การใช้รถ” และ/หรือ “การใช้ทาง” ได้บ้าง?

 

การใช้รถ” และ/หรือ “การใช้ทาง” หมายความถึงอะไร?

 

การใช้รถ” และ/หรือ “การใช้ทาง” มีจุดเริ่มต้นเมื่อใด และมีจุดสิ้นสุดเมื่อไรกันแน่?

 

ถ้ารถคันนั้นจอดอยู่ในบ้าน หรือไปถึงจุดหมายเรียบร้อยแล้ว ยังคงได้รับความคุ้มครองอยู่ต่อไปหรือไม่?

 

เพื่อลดความสับสน ที่ต่างประเทศ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์บางฉบับได้ทำให้เงื่อนไขความคุ้มครองมีความชัดเจนมากขึ้น ด้วยการขยายความเพิ่มเติม “เกิดขึ้นมาจาก หรือเกิดขึ้นเนื่องมาจากการเป็นเจ้าของรถ การบำรุงรักษา การใช้รถ หรือการใช้ทาง (arise out of the ownership, maintenance, use or operation of insured vehicle)

 

กระนั้นยังไม่ชัดเจนเพียงพอ เพราะอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ทางรถยนต์ที่เกิดขึ้นจริงนั้นมิได้จำกัดอยู่เพียงแค่รถพลิกคว่ำ รถชนกัน รถชนคน หรือสัตว์ สิ่งของเท่านั้น มีกรณีอื่น ๆ อยู่ด้วย

 

รวมถึงกรณีที่เป็นข่าวสร้างความฮือฮาไปทั่วสองฝากฝั่งของตลาดประกันภัยยักษ์ใหญ่ของโลก คือ ที่อเมริกา และอังกฤษ เมื่อกลางปีที่แล้ว

 

ถึงขนาดทำให้บริษัทประกันภัยคู่คดีนั้นหัวร่อไม่ออกเลยทีเดียว

 

คุณคิดว่า ทุกวันนี้ คนเราใช้รถทำอะไรบ้างครับ?

 

ทั่วไปอาจตอบว่า เพื่อไปทำงาน ไปเรียนหนังสือ ไปท่องเที่ยว ไปทานอาหาร ไปไปซื้อของ ไปส่งของ ฯลฯ

 

หากมีอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นในระหว่างนั้น คาดหวังน่าจะได้รับความคุ้มครองใช่ไหมครับ?

 

แล้วถ้าเกิดมีใครใช้รถไปกระทำเช่นนี้ คุณคิดว่า กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ควรคุ้มครองไหม?

 

เมื่อสุภาพสตรีผู้หนึ่งไปยื่นฟ้องต่อศาลที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเรียกร้องให้สุภาพบุรุษรายหนึ่งรับผิดชอบ โทษฐานทำให้เธอติดเชื้อไวรัสอันตราย HPV ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Diseases (STDs)) ระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ด้วยกันอยู่ในรถยนต์ของฝ่ายชาย โดยที่ฝ่ายชายมิได้ใช้มาตรการป้องกันใด หรือไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าเลยว่า ตนตกเป็นผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อยู่ก่อนหน้านั้นแล้ว เหตุเกิดขึ้นช่วงปลายปี ค.ศ. 2017

 

เนื่องด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นบนรถยนต์ และฝ่ายชายเองได้มีกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์คุ้มครองอยู่ด้วย จึงบอกฝ่ายหญิงไม่ต้องห่วงอะไร? เดี๋ยวจะแจ้งบริษัทประกันภัยรถยนต์ของตนมารับผิดชอบแทนให้

 

ฝ่ายชายในฐานะผู้เอาประกันภัยได้ไปแจ้งเหตุนั้นแก่บริษัทประกันภัยของตนจริง ๆ

 

คุณคิดว่า

 

(1) บริษัทประกันภัยนั้นจะตอบกลับมาเช่นไรบ้างครับ?

(2) เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนรถคันนั้น เกิดจากการใช้รถไหมครับ?

 

และผลทางคดีจะเป็นไรนั้น กรุณาติดตามต่อตอนหน้าครับ

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com ต่างกัน

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/