วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 168 :  เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยการพึ่งพาระหว่างกัน (Interdependency Clause) ภายใต้การประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก

 

วันก่อนที่ได้มีโอกาสไปบรรยายให้ความรู้เบื้องต้นเรื่องการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก มีคำถามฝากถึงเรื่องเงื่อนไขพิเศษว่าด้วยการพึ่งพาระหว่างกัน (Interdependency Clause) หมายความถึงอะไร?

 

แม้จะได้ตอบข้อสงสัยไปเบื้องต้นแล้ว แต่ขอถือโอกาสนี้ด้วยการขยายความเพิ่มเติมอีก ดังนี้

 

เนื่องด้วยตามหลักการทั่วไปแล้ว การประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักจะเริ่มทำงานต่อเมื่อได้มีความเสียหายทางกายภาพจากภัยที่คุ้มครองแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยของผู้เอาประกันภัยเกิดขึ้นมาเสียก่อน และส่งผลกระทบสืบเนื่องต่อสถานะทางการเงินของผู้เอาประกันภัยนั้นเอง จนถึงขนาดทำให้ธุรกิจของผู้เอาประกันภัยนั้นต้องหยุดชะงักลงไป ซึ่งเรียกว่า “ข้อกำหนดว่าด้วยความเสียหายทางทรัพย์สิน (Material Damage Proviso)” นั่นเอง

 

ในบทความเรื่องที่ 78 ผมเคยเขียนเรื่อง แล้วถ้าทรัพย์สินที่เอาประกันภัยมีหลายรายการ บางรายการเท่านั้นที่ได้รับความเสียหาย ยังงี้ ถ้าเกิดธุรกิจหยุดชะงักทั้งหมดในภาพรวม จะสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption Insurance Policy) ได้หรือเปล่า? ไปบ้างแล้ว อันเป็นการแปลขยายความหมายของข้อกำหนดดังว่านั้น ซึ่งมุ่งเน้นไปกรณีลักษณะการพึ่งพาระหว่างกันของต่างส่วนงานที่เป็นของผู้เอาประกันภัยรายเดียวกัน ในสถานที่เดียวกัน โดยมักเรียกว่า “การอาศัยพึ่งพากันภายในระหว่างกันเอง (Mutual Dependency)

ถ้าเป็นการจำต้องอาศัยพึ่งพาระหว่างกันภายนอกทางธุรกิจ จะสามารถจำแนกออกได้เป็นสี่ลักษณะ ดังนี้

 

1) ลักษณะการจัดจำหน่ายให้ (Contributing Premises) คือ มีผู้อื่นรับภาระทำหน้าที่ในการจัดส่งวัสดุป้อนให้แก่ผู้เอาประกันภัย

 

2) ลักษณะการจัดจำหน่ายให้ (Recipient Premises) คือ มีผู้อื่นรับภาระทำหน้าที่ในการนำเอาสินค้าของผู้เอาประกันภัยไปจัดจำหน่ายแทนให้

 

3) ลักษณะการผลิตให้ (Manufacturing Premises) คือ มีผู้อื่นรับภาระทำหน้าที่ในการนำวัตถุดิบของผู้เอาประกันภัยไปผลิตแทนให้

 

4) ลักษณะการจัดหาแนะนำลูกค้าให้ (Leader Premises) คือ มีผู้อื่นรับภาระทำหน้าที่ในการแนะนำชักชวนลูกค้ามาให้ผู้เอาประกันภัย

 

ทั้งสี่ลักษณะนี้ ยังสามารถขยายความเพิ่มเติมได้อีกว่า ผู้อื่นนั้นอาจหมายความถึงบุคคลอื่นอย่างแท้จริงในรูปแบบของผู้จัดหา (Suppliers) หรือลูกค้า (Customers) ก็ได้ ทั้งที่อยู่ในประเทศ หรือต่างประเทศก็ได้ เพราะปัจจุบัน การติดต่อซื้อขายระหว่างประเทศนั้นมิได้เป็นเรื่องที่ยากลำบากอีกต่อไปแล้ว ดังนั้น ความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกันเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจอย่างชัดเจน

 

อีกรูปแบบความสัมพันธ์ซึ่งจะมีความใกล้ชิดลึกซึ้งมากกว่า คือ

 

(ก) อยู่ในลักษณะเป็นบริษัทในย่อยเครือ (Subsidiary Company) คือ บริษัทที่มีอีกบริษัทหนึ่งถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจควบคุมหลัก (ถือหุ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละ 50 ของทุนชำระแล้วของบริษัทนั้น)

 

(ข) อยู่ในลักษณะเป็นบริษัทร่วม (Associated Company) คือ บริษัทที่มีอีกบริษัทถือหุ้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมต่ำกว่าร้อยละ 50 ของทุนชำระแล้วของบริษัทนั้น ไม่มีอำนาจควบคุมหลัก

 

ในรูปแบบความสัมพันธ์ใกล้ชิดแนบแน่นเช่นนี้ จะใช้คำเรียกอย่างเจาะจงว่า “Interdepedency หรือ Group Interdepedency” ที่ผมขอแปลเป็นไทยว่า “การพึ่งพาระหว่างกัน หรือการพึ่งพาระหว่างกลุ่มบริษัทในเครือเดียวกัน

 

โดยสรุป เงื่อนไขพิเศษว่าด้วยการพึ่งพาระหว่างกัน (Interdependency Clause)  นี้จะเป็นการขยายความคุ้มครองการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักตรงที่ว่า แม้นจะไปเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยของบริษัทในเครือ ณ แห่งอื่น แต่ได้ส่งผลกระทบทางการเงินโดยทางอ้อมมาถึงบริษัทของผู้เอาประกันภัยซึ่งอยู่ในเครือเดียวกันอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งมิได้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยของผู้เอาประกันภัยเองก็ตาม ความคุ้มครองจากการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักของผู้เอาประกันภัยก็จะทำงานให้ความคุ้มครองเสมือนหนึ่งได้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยของผู้เอาประกันภัยเองนั่นเอง

 

ขณะที่กรณีมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจทั่วไประหว่างในสถานะเป็นผู้จัดหา (Suppliers) หรือลูกค้า (Customers) หากประสงค์จะได้รับความคุ้มครองลักษณะเช่นเดียวกัน ก็จำต้องขยายเป็นเงื่อนไขพิเศษว่าด้วยผู้จัดหา (Suppliers Clause) หรือลูกค้า (Customers Clause) แล้วแต่กรณีแทน

 

เหตุการณ์มหาอุทกภัยในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2554 จะเห็นประโยชน์จากเงื่อนไขพิเศษเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน ผู้เอาประกันภัยการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักซึ่งได้ขยายเงื่อนไขพิเศษเหล่านี้ไว้พลอยได้รับอานิสงส์จากผลกระทบทางการเงินที่เกิดขึ้นแก่ตนได้ ถึงแม้จะอยู่ห่างกันคนละมุมโลก

 

(อ้างอิงและเรียบเรียงมาจากบทความเรื่อง Ownership of Interdependent Business Does Not Necessarily Foreclose Coverage – Understanding Business Interruption Claims, Part 84 สืบค้นจาก

https://www.propertyinsurancecoveragelaw.com/2011/08/articles/settlement/ownership-of-interdependent-business-does-not-necessarily-foreclose-coverage-understanding-business-interruption-claims-part-84/)

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น