เรื่องที่ 167 : ข้อพิพาทการแปลความหมายของภัยคุกคามใกล้ชิด (Imminent/Threatening Loss)
(ตอนที่สอง)
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยถ้อยคำของเงื่อนไขพิเศษค่าใช้จ่ายในการบรรเทาความเสียหาย (Sue and Labour Clause) ที่พิพาท ซึ่งสามารถถอดความออกมาพอสรุปได้ว่า
“กรณีเมื่อเกิดความสูญเสีย หรือความเสียหายจากภัยคุ้มครองอย่างแท้จริง (actual) หรือที่คุกคามอย่างใกล้ชิด (imminent) ขึ้นมา ให้ถือเป็นสิ่งที่จะไม่ส่งผลกระทบแก่ความคุ้มครอง หากผู้เอาประกันภัย หรือลูกจ้าง หรือตัวแทนของผู้เอาประกันภัยจะกระทำการบรรเทาความเสียหาย และการดำเนินการต่อสู้คดี การป้องกัน และการเรียกคืนโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือตามความจำเป็น ซึ่งทรัพย์สิน หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของทรัพย์สินที่เอาประกันภัยในที่นี้ ..... ”
ประเด็นข้อพิพาทอยู่ตรงคำว่า “ที่คุกคามอย่างใกล้ชิด (imminent)” นั้น ควรมีความหมายเช่นใดแน่? เนื่องจาก
ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยตีความว่า หมายความถึง ภัยคุ้มครองที่คุกคามอย่างใกล้ชิดจริง ๆ และรวมถึงที่อาจคาดหวังได้ว่าจะคุกคามอย่างใกล้ชิดเข้ามาก็ได้ เพราะมิได้ถูกกำหนดคำนิยามเอาไว้อย่างเฉพาะเจาะจง
ขณะที่ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยกลับแปลความว่า หมายความถึง จะต้องเป็นภยันตรายที่คุกคามใกล้ตัวอย่างชัดแจ้งเท่านั้น
ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลย ด้วยเหตุผลที่ว่า แม้ถ้อยคำพิพาทจะไม่ปรากฏคำนิยามจำเพาะไว้ แต่เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของความคุ้มครองที่มุ่งเน้นถึงการเกิดความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพอย่างแท้จริงขึ้นมาต่อทรัพย์สินที่เอาประกันภัยแล้ว การใช้จ่ายออกไปเพื่อปกป้อง ป้องกันนั้น ก็ควรจะต้องเกิดภยันตรายอย่างชัดแจ้งขึ้นมาด้วยเช่นกัน โดยไม่จำต้องรอให้เกิดความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพอย่างแท้จริงขึ้นมาเสียก่อน ส่วนการคาดหวังที่จะเกิดภยันตรายคุกคามเข้ามานั้น ออกจะเป็นสิ่งที่ไกลตัว ไม่น่าจะใช่สิ่งที่เป็นเจตนารมณ์ของเงื่อนไขความคุ้มครองที่พิพาทกันนี้ จึงตัดสินให้ฝ่ายบริษัทประกันภัยจำเลยไม่มีความรับผิดตามฟ้อง
(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Washington Mutual Bank v. Commonwealth Insurance Company, et al., 133 Wash. App. 1031 (Ct. App. Wash. 2006))
ในความเป็นจริง ถ้อยคำที่ใช้กันอยู่ในตลาดประกันภัยทั่วโลกของเงื่อนไขพิเศษค่าใช้จ่ายในการบรรเทาความเสียหาย (Sue and Labour Clause) นี้จะมีร่างกันออกมาค่อนข้างหลากหลาย บ้างมุ่งเน้นให้ความคุ้มครองแบบแคบ บ้างเป็นแบบกว้างก็มี ซึ่งถ้าในคดีนี้เป็นแบบหลัง ฝ่ายผู้เอาประกันภัยอาจมีสิทธิชนะคดีก็เป็นได้
สำหรับบ้านเราก็มีเงื่อนไขพิเศษนี้ใช้เช่นเดียวกัน โดยเรียกว่า “แบบ อค./ทส.1.67 เอกสารแนบท้ายว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการบรรเทาความเสียหาย (Sue and Labour Clause) ซึ่งระบุว่า
การประกันภัยนี้ได้ขยายความคุ้มครองถึงค่าใช้จ่ายอันสมควร (reasonable) ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการใช้ความพยายาม เพื่อกู้คืน ป้องกัน หรือรักษาทรัพย์สินที่เอาประกันภัย เพื่อลดความเสียหายที่ได้รับความคุ้มครอง หรือเพื่อดําเนินคดีในนามของผู้เอาประกันภัยในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน หรือความเสียหายจากบุคคลอื่น สําหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้รับประกันภัยก่อน
ค่าใช้จ่ายนี้เป็นส่วนเพิ่มเติมจากจํานวนเงินเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในกรมธรรมประกันภัย”
พิจารณาจากถ้อยคำข้างต้นแล้ว ของบ้านเราจะเป็นแบบแคบ โดยที่จำเป็นจะต้องเกิดความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพดังกล่าวขึ้นมาก่อน
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดภายหลังความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพดังกล่าวแล้วเท่านั้นนั่นเอง
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น