เรื่องที่ 167 : ข้อพิพาทการแปลความหมายของภัยคุกคามใกล้ชิด (Imminent/Threatening Loss)
(ตอนที่หนึ่ง)
บางเงื่อนไขพิเศษโดยเฉพาะของกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินจะมีพูดถึงการขยายความคุ้มครองถึงภัยคุกคามใกล้ชิด หรืออาจเรียกการป้องกันอันสมควรนั้น คำเหล่านี้ควรแปลความหมายเช่นไร? เนื่องจากทางปฏิบัติแล้ว ระหว่างผู้เอาประกันภัยผู้เสียหายกับบริษัทประกันภัยผู้ให้ความคุ้มครองมักมีความเห็นแตกต่างกันอยู่บ่อยครั้ง
ดังตัวอย่างคดีศึกษาเรื่องนี้
ปกติในกรมธรรม์ประกันภัยทรัพย์สินระบุอย่างชัดแจ้งว่า จะให้ความคุ้มครองถึงความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพ (Physical Loss or Damage) แก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ตราบใดที่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยนั้นยังไม่ได้รับความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพจากภัยที่คุ้มครองแล้ว บริษัทประกันภัยก็จะไม่ทำการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย
ทำให้เกิดคำถาม การขยายความคุ้มครองของเงื่อนไขพิเศษกลุ่มค่าใช้จ่ายในการปกป้อง หรือการป้องกันเหล่านั้น
จำเป็นจะต้องเกิดความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพดังกล่าวขึ้นมาก่อนหรือไม่?
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการปกป้อง หรือการป้องกันเหล่านั้นเป็น
(1) ค่าใช้จ่ายที่เกิดก่อนความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพดังกล่าว หรือ
(2) ค่าใช้จ่ายที่เกิดหลังความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพดังกล่าว หรือ
(3) ถูกทั้งสองข้อ
ผู้เอาประกันภัยซึ่งได้เอาประกันภัยอาคารสำนักงานของตนไว้กับบริษัทประกันภัยสามแห่ง รวมจำนวนเงินเอาประกันภัยทั้งสิ้น 12.50 ล้านดอลล่าร์ ประสงค์จะทำการปรับปรุงตัวอาคารสำนักงานทั้งหลัง แต่ไม่มั่นใจว่า ควรปรับปรุงไป และอยู่ทำงานไปด้วยจะดีไหม? จึงได้ว่าจ้างบริษัทวิศวกรรมที่ปรึกษาเจ้าหนึ่งเข้ามาประเมินสภาวะความปลอดภัยมั่นคงแข็งแรงก่อนจะตัดสินใจดำเนินการ ผลการประเมินออกมาไม่มีความปลอดภัยมั่นคงพอ เสนอแนะให้โยกย้ายผู้คนและสิ่งของต่าง ๆ ทั้งหมดออกไปจะดีกว่า
เพื่อสร้างความมั่นใจเพิ่มเติม ผู้เอาประกันภัยได้ทำการว่าจ้างบริษัทวิศวกรรมที่ปรึกษารายที่สองเข้ามาประเมินผลเทียบเคียง บังเอิญว่าผลการประเมินไม่สามารถออกมาได้เร็วทันตามแผนงานที่วางไว้ ผู้เอาประกันภัยจึงตัดสินใจปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของบริษัทวิศวกรรมที่ปรึกษารายแรก ด้วยการอพยพผู้คนและสิ่งของต่าง ๆ ออกไปทั้งหมด แต่กลับกลายภายหลังว่า ผลการประเมินนั้นเกิดผิดพลาดไม่ถูกต้อง
เนื่องจากการอพยพโยกย้ายนั้นได้ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ผู้เอาประกันภัยจึงไปเรียกร้องให้บริษัทประกันภัยของตนทำการชดใช้คืนให้ ภายใต้เงื่อนไขพิเศษค่าใช้จ่ายในการบรรเทาความเสียหาย (Sue and Labour Clause) ที่มีอยู่นั้นเอง
กลุ่มบริษัทประกันภัยปฏิเสธโดยอ้างว่า จะคุ้มครองให้ได้ต่อเมื่อได้เกิดความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยขึ้นมาเสียก่อนเท่านั้น
เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาล ศาลชั้นต้นตัดสินให้กลุ่มบริษัทประกันภัยเป็นฝ่ายชนะคดี
ผู้เอาประกันภัยในฐานะโจทก์ยื่นอุทธรณ์
ผลสรุปทางคดีจะเป็นเช่นไร? รอติดตามตอนหน้าครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น