เรื่องที่ 166 : ปัญหาการตีความข้อยกเว้นภัยสงคราม (War Risks Exclusion)
กรมธรรม์ประกันภัยเกือบทุกฉบับจะมีข้อยกเว้นไม่คุ้มครองภัยสงคราม แต่ไม่ปรากฏมีคำนิยามภัยสงครามกำกับเอาไว้ด้วย
ฉะนั้น เวลาเกิดมีข้อพิพาทประเด็นนี้ จำต้องอาศัยการแปลความของศาลเป็นเกณฑ์
เรามาลองพิจารณาดูแนวคำพิพากษาเรื่องนี้ แม้จะเก่าไปหน่อย แต่ยังมีการยึดถือเป็นหลักกันอยู่นะครับ
คดีนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นย้อนหลังไปช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งกันเลย
เรือสินค้าสองลำแล่นสวนกันไปคนละทิศทาง แต่ปรากฏเรือลำหนึ่งจำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทาง เนื่องจากได้รับแจ้งเหตุเตือนล่วงหน้าถึงการโจมตีของเรือดำน้ำศัตรูในเส้นทางนั้น และด้วยอยู่ในสภาวะสงคราม ช่วงเวลากลางคืนเรือทุกลำได้รับคำแนะนำให้ปิดไฟส่องสว่าง เพื่อหลีกเลี่ยงการพบเห็นของศัตรู จนทำให้เรือทั้งสองลำดังกล่าวนี้เกิดอุบัติเหตุชนประสานงากันเองท้ายที่สุด
เมื่อเจ้าของเรือลำที่เสียหายซึ่งได้เอาประกันภัยไว้ไปแจ้งเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนต่อบริษัทประกันภัยของตน กลับได้รับคำตอบกลับมาว่า ไม่สามารถคุ้มครองให้ได้ เพราะเหตุการณ์นี้ตกอยู่ในข้อยกเว้นว่าด้วยภัยสงคราม
ครั้นได้มีการนำคดีขึ้นสู่ศาล ศาลสูงสุด (Supreme Court) ได้วินิจฉัยว่า อุบัติเหตุเรือสินค้าทั้งสองลำชนกันนั้น แม้อยู่ในช่วงสภาวะสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ไม่ปรากฏขณะที่เกิดอุบัติเหตุดังกล่าวมีเรือของชาติศัตรูอยู่ในเหตุการณ์ด้วย จึงไม่ใช่เกิดจากภัยสงคราม หรือเป็นผลเนื่องมาจากภัยสงคราม เพราะเรืออาจเกิดอุบัติเหตุชนกันได้อยู่แล้ว แม้เวลาปกติทั่วไป
(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Queen Insurance Company v. Globe & Rutgers Insurance Company, 263 U.S. 487 (1924))
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น