เรื่องที่ 169 : งูกัดลูกค้า เจ้าของสถานที่บริการแห่งนั้นจำต้องรับผิดตามกฎหมายหรือไม่?
(ตอนที่สอง)
ตัวอย่างคดีศึกษาคดีแรก เหตุเกิดภายนอกอาคารสิ่งปลูกสร้าง
จำเลยประกอบกิจการปั๊มน้ำมัน หรือสถานบริการน้ำมัน โดยมีร้านอาหารอยู่ด้วยในบริเวณเดียวกัน
โจทก์กับน้องสาวได้ขับรถเข้ามาเพื่อจะรับประทานอาหาร ระหว่างเดินตามทางเท้าด้านนอกอาคารไปแวะเข้าห้องน้ำก่อน พอเดินเลี้ยวตรงหัวมุม ก็ปรากฏมีงูหางกระดิ่งตัวหนึ่งเลื้อยปราดออกมาจากพงหญ้าข้างทางขึ้นมา ทำให้เธอตกใจอย่างมาก รีบหันตัวกลับวิ่งหนีย้อนไปทันทีจนหกล้มได้รับบาดเจ็บตามร่างกาย และมีอาการสะโพกหัก
เธอจึงได้ยื่นฟ้องจำเลยเจ้าของสถานที่ประกอบกิจการแห่งนั้น เพื่อให้รับผิดชอบสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยกล่าวหาว่า จำเลยประมาทเลินเล่อที่ปล่อยปละละเลยมิได้จัดการตัดหญ้าบริเวณโดยรอบตัวอาคารสิ่งปลูกสร้างให้เรียบร้อย ซึ่งจะช่วยป้องกันมิให้มีงูเลื้อยเข้ามาอาศัยอยู่ได้ เพราะขณะเกิดเหตุ หญ้ามีความสูงประมาณระดับหกนิ้ว งูสามารถเลื้อยเข้ามาซ่อนตัวอยู่ได้ง่าย อีกทั้ง สภาพภูมิประเทศที่ตั้งของสถานบริการแห่งนั้นอยู่ห่างจากแหล่งน้ำประมาณหนึ่งไมล์ (หรือประมาณ 1.6 กิโลเมตร) อันเป็นแหล่งบริเวณที่ผู้คนทั่วไปสามารถพบเห็นงูได้บ่อยครั้ง
จำเลยต่อสู้ว่า นับแต่ที่ได้เปิดให้บริการมาเป็นเวลาล่วงหกปีแล้ว ก็ยังไม่เคยมีใครพบเห็นงูภายในสถานที่นั้นเลย การที่จะถือว่า จำเลยประมาทเลินเล่อด้วยการละเลยมิได้คอยตัดแต่งหญ้ามิให้มีระดับสูงเช่นว่านั้นได้ จำเลยก็ควรจะต้องสามารถคาดหวังได้ถึงการปรากฏมีงู หรือสัตว์ร้ายอื่น ๆ เข้ามาแอบหลบซ่อนตัวอาศัยจนอาจก่อให้เกิดภยันตรายแก่ผู้คนที่ใช้ทางเท้านั้นได้ แต่นี่ตลอดเวลาที่ได้เปิดให้บริการมาหกปีแล้ว ยังไม่เคยมีใครพบเจองู หรือสัตว์ร้ายอื่น ๆ ดังกล่าวเลยแม้แต่คนเดียว
ศาลได้วินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทนี้ว่า จริงอยู่ แม้นเจ้าของ หรือผู้ครอบครองสถานที่มีหน้าที่ในการดูแลรักษาความปลอดภัยตามสมควรแก่ลูกค้าผู้เข้ามาใช้บริการทั่วไป (ผู้ได้รับเชิญทั่วไป (Public Invitee)) ก็ตาม แต่ถ้าเจ้าของ หรือผู้ครอบครองสถานที่แห่งนั้นมิได้พบเห็น หรือรับรู้ถึงสภาพอันอาจจะก่อให้เกิดผลสืบเนื่องความบาดเจ็บเช่นว่านั้นของโจทก์ได้ จึงยังไม่ถือได้ว่า จำเลยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ดังกล่าวแก่โจทก์
จากพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยที่ไม่ปรากฏมีผู้ใดเคยพบงูในบริเวณนั้นมาก่อนเลย ทำให้ศาลรับฟังได้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นไม่สามารถคาดการณ์ได้ เมื่อไม่อาจล่วงรู้ถึงภยันตรายดังกล่าวได้ ในส่วนของเจ้าของ หรือผู้ครอบครองสถานที่แห่งนั้นจึงไม่มีหน้าที่ที่จะคอยดูแลตัดแต่งหญ้าให้มีระดับสั้นลงมา เพื่อปกป้องภยันตรายดังกล่าว
อนึ่ง หน้าที่ในการปกป้องภัยที่ซ่อนเร้นได้นั้น ควรจะต้องอาศัยการรับรู้เป็นกรณีพิเศษของจำเลยด้วย ตามหลักกฎหมายทั่วไป มิได้กำหนดให้เจ้าของ หรือผู้ครอบครองสถานที่ต่าง ๆ จำต้องถึงขนาดคาดหวังถึงการมาปรากฏตัว หรือการปกป้องภยันตรายแก่ลูกค้าผู้เข้ามาใช้บริการทั่วไปจากสัตว์ป่า (animals ferae naturae) ซึ่งไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของครอบครองดูแลด้วย
พิพากษาให้จำเลยไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำฟ้อง
(อ้างอิง และเรียบเรียงจากคดี Williams v. Gibbs, 123 Ga. App. 677, 182 S.E.2nd 164 (Ga. App. 1971))
คดีศึกษานี้โจทก์ผู้เสียหายมิได้ถูกงูกัดโดยตรง แต่แม้กระนั้นก็ตาม ผลทางคดีคงไม่มีความแตกต่างกัน
ตอนต่อไป เราลองไปดูตัวอย่างคดีศึกษาจากเหตุที่เกิดภายในอาคารสิ่งปลูกสร้างเปรียบเทียบกันบ้างนะครับ ผลทางคดีจะแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร?
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น