วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 162 : การใช้ความระมัดระวังตามสมควร (Reasonable Precautions) มีความหมาย และขอบเขตขนาดใด? – ข้อถกเถียงรถเครนล้มคว่ำขณะทำงานเกิดจากการทำงานปกติ หรือการไม่ปฏิบัติตามแนวทางที่ควรจะเป็น?

 

(ตอนที่สอง)

 

เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลชั้นต้น มีประเด็นข้อถกเถียงกันว่า รถเครนที่ล้มคว่ำระหว่างการทำงานนั้น มีสาเหตุมาจาก

 

(ก) อุบัติเหตุนั้นมาจากการทำงานตามปกติ เนื่องจากการใช้น้ำหนักบรรทุกเกินขนาดโดยอุบัติเหตุ (accidental overloading) ตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท และตามความเห็นของโจทก์ผู้เอาประกันภัยหรือไม่? หรือ

 

(ข) อุบัติเหตุนั้นมาจากการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อแนะนำของผู้ผลิตรถเครน และตามข้อบังคับแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือเปล่า?

 

ศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า

 

กรณีนี้มิได้ตกอยู่ในความหมาย “การใช้น้ำหนักบรรทุกเกินขนาด (overloading)” ตามเงื่อนไขดังกล่าว เพราะการที่จะเข้าข่ายความคุ้มครองได้นั้นจะต้องเป็นลักษณะบรรทุกเกินโดยไม่ได้ตั้งใจ ในการปฏิบัติงานตามปกติ มิใช่ลักษณะการเสียสมดุล อันมีสาเหตุมาจากทางลาดชันจนส่งผลทำให้น้ำหนักบรรทุกนั้นถูกถ่ายเทไปด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป

 

ฉะนั้น ความเสียหายต่อรถเครนนี้ จึงไม่ถือเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน โดยที่โจทก์ผู้เอาประกันภัยมิได้เจตนา หรือคาดหวังได้ เนื่องด้วย 

 

1) ผู้ควบคุมรถเครนคันนั้นรู้ดีว่า รถเครนควรต้องทำงานอยู่บนพื้นที่ราบเรียบ และมั่นคงแข็งแรง ถ้าฝืนทำไปอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายได้

 

2) จากปากคำพยานที่เห็นเหตุการณ์ของฝ่ายโจทก์เอง ให้การว่า ได้กล่าวเตือนผู้ควบคุมรถเครนคันนั้นล่วงหน้าแล้ว ทางลาด (ramp) นั้นค่อนข้างมีความสูงชัน

 

3) ผู้ควบคุมรถเครนคันนั้นน่าจะตระหนักได้ ในเวลาเพียง 12 วินาทีที่มีการพยายามขับเคลื่อนขึ้นไปบนทางลาดนั้นว่า เศษหินที่นำมาโรยเพื่อปรับระดับพื้นดินให้เสมอกันนั้น ยังมิได้ถูกบดทับให้มั่นคงแข็งแรงพอดังที่ได้วางแผนไว้

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงมีคำพิพากษายกฟ้องฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัย

 

ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัยยื่นอุทธรณ์

 

องค์คณะศาลอุทธรณ์ด้วยเสียงข้างมากพิจารณาตัดสินกลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท โดยเห็นว่า

 

การแปลความหมาย “การใช้น้ำหนักบรรทุกเกินขนาด (overloading)” นั้น ไม่มีถ้อยคำใดจำกัดอยู่เพียงเนื่องจากการใช้ปฏิบัติงานตามปกติเท่านั้น ควรต้องแปลความอย่างกว้าง ให้หมายความรวมถึงการใช้ปฏิบัติงานที่ไม่ถูกต้องตามแนวปฏิบัติด้วย

 

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นครั้งนี้ได้ส่งผลทำให้เกิดความเสียหายซึ่งฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัย (ผู้ควบคุมรถเครนคันนั้น) มิได้คาดหวังจะให้เกิดขึ้นอยู่แล้ว ทั้งการนำเศษหินมาโรยเพื่อปรับระดับพื้นดินให้เสมอกันนั้น ก็ถือเป็นวิธีปฏิบัติที่ใช้กันทั่วไปเช่นเดียวกัน ดังนั้น ต้นเหตุจึงมาจากการที่เศษหินนั้นยังมิได้ถูกบดทับให้มั่นคงแข็งแรงตามที่คาดหวังมากกว่า ทั้งชั่วเวลาเพียง 12 วินาทีก่อนจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ผู้ควบคุมรถเครนคันนั้นก็ไม่มีสิทธิที่จะแก้ไขอะไรได้ทันอยู่แล้ว

 

ไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยจะต่อสู้คดีต่อไปหรือเปล่า?

 

นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ในการแปลความหมายของ “อุบัติเหตุ (accident)” ออกมาอย่างหลากหลายดังที่เคยเกิดเป็นข้อพิพาทขึ้นมาอยู่บ่อยครั้งว่า เราสามารถมองได้จากกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังต่อไปนี้ แล้วแต่ดุลพินิจ

 

(ก) ปัจจัย หรือต้นเหตุของอุบัติเหตุ (Accidental Means) เป็นเกณฑ์ หรือ

 

(ข) ผลของอุบัติเหตุ (Accidental Results) เป็นเกณฑ์ หรือ

 

(ค) ทั้งปัจจัย (ต้นเหตุ) และผลของอุบัติเหตุประกอบรวมกันทั้งหมดเป็นเกณฑ์

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Matton Developments Pty Ltd v CGU Insurance Limited [2016] QCA 208)

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น