วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 163 : การปนเปื้อน (Contamination) ถือเป็นความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพจากภัยที่คุ้มครองหรือไม่?

 

กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน หรือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทุกชนิด สำหรับทรัพย์สินจะระบุให้ความคุ้มครองถึงความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพ (Direct Physcical Loss or Damage) ของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย อันมีสาเหตุมาจากอุบัติภัยต่าง ๆ ซึ่งมิได้อยู่ในข้อยกเว้น

 

ประเด็นปัญหาข้อพิพาทเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพนั้นมีความหมายเช่นใดกันแน่?

 

นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างคดีศึกษาที่เกิดขึ้น

 

ผู้เอาประกันภัยรายนี้ประกอบกิจการขายอุปกรณ์ไฟฟ้ากับระบบไฟส่องสว่างในอาคารเช่าสูงสองชั้นหลังหนึ่ง โดยชั้นแรกเป็นร้านค้า ส่วนชั้นสองเป็นพื้นที่จัดเก็บสต็อกสินค้าซึ่งถูกจัดเก็บอยู่ในกล่องปิดอย่างเรียบร้อย ทรัพย์สินทั้งหมดได้ถูกจัดทำประกันภัยคุ้มครองแบบสรรพภัยข้างต้นไว้กับบริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง

 

ช่วงระหว่างระยะเวลาประกันภัยนั้นเอง ได้มีไฟไหม้เกิดขึ้นข้างเคียงทางด้านหลังร้าน โชคดีที่ไฟนั้นถูกดับได้ทัน มิได้ลุกลามมาถึงอาคารของผู้เอาประกันภัย แต่ควันไฟกับเขม่าได้สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินบางส่วนในพื้นที่ทั้งสองชั้นของผู้เอาประกันภัย จนต้องมีการว่าจ้างบริษัทรับทำความสะอาดเข้ามาดำเนินการ

 

ผู้เอาประกันภัยรายนี้ได้ยื่นเรื่องเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าที่เอาประกันภัย สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้ต่อบริษัทประกันภัยของตน

 

เมื่อบริษัทประกันภัยได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบประเมินความเสียหายแล้ว พบว่า สต็อกสินค้าส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่อยู่ในชั้นสองได้ถูกจัดเก็บอยู่ในกล่องอย่างเรียบร้อย ไม่ปรากฏร่องรอยที่เกิดจากคราบเขม่าควันไฟ และได้สุ่มเปิดกล่องเพื่อตรวจสอบวัสดุภายในก็ไม่พบร่องรอยความเสียหายใดเช่นกัน จึงสรุปว่า โอกาสที่สต็อกสินค้าทั้งหมดจะไม่สามารถใช้การได้ตามปกติจนถึงขนาดขายไม่ได้เลยนั้น เป็นศูนย์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า มิได้มีความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพใดเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยดังกล่าวนั้นเลย

 

แต่ผู้เอาประกันภัยคงยืนกรานขอให้บริษัทประกันภัยนั้นรับผิด โดยอ้างว่า สต็อกสินค้าของตนได้รับความเสียหายจนไม่อาจนำไปจำหน่ายได้อีกต่อไป และได้นำคดีขึ้นสู่ศาล เพื่อขออำนาจศาลพิจารณาตัดสินให้บริษัทประกันภัยนั้นรับผิด

 

อย่างไรก็ดี บริษัทประกันภัยตกลงยินยอมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้เฉพาะทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่อยู่ในชั้นแรกเท่านั้น ในระหว่างเจรจาต่อรองกัน แต่คงยืนกรานปฏิเสธไม่ชดใช้ให้ สำหรับสต็อกสินค้าในชั้นสอง

 

ทำให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่า การปนเปื้อนของสารคลอไรด์ (จากไฟไหม้) ต่อพื้นผิวของสต็อกสินค้าบางส่วนของชั้นสองนั้น ถือเป็นความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยดังกล่าวแล้วหรือยัง? (นอกเหนือจากการปนเปื้อนที่ปรากฏอยู่ในข้อยกเว้นด้วย)

 

ศาลได้อ้างอิงการแปลความหมายในคดีเทียบเคียงอื่น ซึ่งได้แปลความหมายของความสูญเสีย หรือความเสียหายทางกายภาพว่า หมายความถึง การก่อให้เกิดการแปรเปลี่ยนไปของภาพลักษณ์ รูปร่าง สี หรือลักษณะที่เป็นสาระสำคัญของทรัพย์สินที่เอาประกันภัย ซึ่งไม่ได้รวมถึงการขาดประโยชน์จากการใช้งานด้วย (Loss of Usefullness)

 

ผู้เอาประกันภัยในฐานะโจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ไฟไหม้เป็นสาเหตุโดยตรงในการก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารคลอไรด์ตามที่กล่าวอ้างได้ อีกทั้งคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างยอมรับร่วมกันว่า การปนเปื้อนของสารคลอไรด์มิได้เป็นผลสืบเนื่องโดยทันทีจากไฟไหม้ ขณะที่ไฟไหม้นั้นก่อให้เกิดควันไฟ และเขม่าล่องลอยมาสัมผัส และทิ้งคราบร่องรอยการปนเปื้อนของสารคลอไรด์ท้ายที่สุด

 

ฉะนั้น ผู้เอาประกันภัยโจทก์จึงไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนของชั้นสองตามที่กล่าวอ้างได้ เนื่องจากมิได้จัดอยู่ในความสูญเสีย หรือความเสียหายโดยตรงทางกายภาพที่เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยดังกล่าวตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาท จึงตัดสินให้บริษัทประกันภัยฝ่ายจำเลยไม่ต้องรับผิด

  

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Sidhu (c.o.b. Prosperity Electric) v. Aviva Insurance Co. of Canada Limited [2020] B.C.J. No. 1240, 2020 BCSC 1171)

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/

และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น