เรื่องที่ 165 : ปัญหาการแปลความหมายของ “วิชาชีพ” ภายใต้การประกันภัยความรับผิดทางวิชาชีพ (Professional Liability Insurance or Errors & Omissions Insurance)?
(ตอนที่หนึ่ง)
เวลาพูดถึงคำว่า “วิชาชีพ (Professional) หรือผู้ประกอบวิชาชีพ” แล้ว ฟังผิวเผินอาจเข้าใจได้ไม่ยากนัก แต่ก็มักจะก่อให้เกิดประเด็นปัญหาถกเถียงอยู่บ่อยครั้ง
โดยเฉพาะในแง่การประกันภัย
ซึ่งบางประเภทประกันภัยที่กำหนดไม่คุ้มครองถึงการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพ
หรือ
บางประเภทประกันภัยที่กำหนดคุ้มครองถึงการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพ
เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพนั้นลงมือกระทำอะไรลงไปก็แล้วแต่ ทั้งหมดล้วนถือเป็นการประกอบวิชาชีพ อันจะอยู่ในข้อยกเว้น หรือความคุ้มครอง แล้วแต่กรณี ใช่หรือไม่?
ลองพิจารณาดูตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศ เรื่องนี้กันครับ
ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองความรับผิดทางวิชาชีพของถานพยาบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งระบุเงื่อนไขความคุ้มครองไว้ว่า
“จะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ในนามของผู้เอาประกันภัย สำหรับจำนวนเงินทั้งหลายซึ่งผู้เอาประกันภัยมีความรับผิดตามกฎหมายที่จะต้องจ่ายเป็นค่าเสียหาย อันเนื่องจากความบาดเจ็บทางร่างกาย หรือความเสียหายต่อทรัพย์สิน ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องมาจากการปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้อง ความบกพร่อง หรือความผิดพลาดของผู้เอาประกันภัย หรือของบุคคลผู้ซึ่งกระทำการ หรือละเว้นกระทำการแทนผู้เอาประกันภัย โดยที่ผู้เอาประกันภัยจำต้องรับผิดชอบตามกฎหมายให้ ในการให้บริการ หรือการไม่ให้บริการทางวิชาชีพ ซึ่งได้กระทำในระหว่างระยะเวลาประกันภัย”
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือ เจ้าหน้าที่ประจำสถานพยาบาลนั้นทำผิดพลาดด้วยความสับสนได้นำเอาน้ำมันเบนซีนแทนที่จะใช้น้ำตามปกติ ไปเติมใส่เครื่องฆ่าเชื้อแบบใช้น้ำร้อน (Hot Water Sterilizer) จนก่อให้เกิดไฟไหม้เสียหาย โชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ
กรณีนี้ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทระหว่างผู้เอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยผู้ให้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทนั้นว่า
ความเสียหายที่อุบัติขึ้นมานั้นได้เกิดขึ้นเนื่องมาจากการให้บริการ หรือการไม่ให้บริการทางวิชาชีพซึ่งได้เอาประกันภัยไว้หรือไม่?
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ใช่ และตัดสินให้บริษัทประกันภัยนั้นรับผิด
ศาลอุทธรณ์พิจารณาว่า เมื่อมิได้มีกฎหมายบทบัญญัติไว้อย่างชัดเจน ควรพิจารณาไปตามข้อกำหนด และเงื่อนไขดังที่กำหนดไว้ของกรมธรรม์ประกันภัยฉบับนั้นเป็นสำคัญ มิใช่เพียงแค่ว่า เป็นความรับผิดของผู้เอาประกันภัยนั้นหรือเปล่า?
ดั่งในกรณีนี้ ความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับพิพาทของบริษัทประกันภัยจำกัดอยู่เพียงการปฏิบัติงาน หรือการให้บริการทางวิชาชีพ ซึ่งคำว่า “ทางวิชาชีพ” นั้นจะมีความหมายถึงการกระทำการที่อาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในการประกอบวิชาชีพ หรือการดำเนินงานอาชีพนั้น ทั้งในด้านจิตใจ หรือสติปัญญามากกว่าเพียงแค่การใช้แรงกาย หรือการพึ่งพาคู่มือปฏิบัติ หรือการเรียนจบในสาขาวิชาชีพนั้นมาเท่านั้น และมิใช่เพียงดูแค่ตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือลักษณะการทำงาน แต่จำต้องมองลึกลงไปถึงตัวการกระทำนั้นด้วย
ฉะนั้น การต้มน้ำในเครื่องฆ่าเชื้อแบบใช้น้ำร้อนให้เดือดจึงมิใช่การกระทำที่จะต้องอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือการฝึกฝนเป็นพิเศษ ใครก็สามารถกระทำได้ ด้วยเหตุผลนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นการปฏิบัติงาน หรือการให้บริการ หรือการไม่ให้บริการทางวิชาชีพซึ่งได้เอาประกันภัยไว้ อันจะได้รับความคุ้มครองแต่ประการใด
พิพากษากลับให้บริษัทประกันภัยนั้นไม่ต้องรับผิด
(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Marx v. Hartford Accident & Indemnity Co., 157 N.W.2d 870 (Neb. 1968))
ตอนต่อไป เราจะไปดูแนวทางการตีความของศาลไทยในเรื่องนี้กันบ้าง
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul/
และที่ https://www.facebook.com/BestTrainingAdvisory
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น