เรื่องที่ 161 : การใช้ความระมัดระวังตามสมควร (Reasonable Precautions) มีความหมาย และขอบเขตขนาดใด? – รถวิ่งฝ่าฝืนป้ายเตือนจำกัดความสูงจะได้รับความคุ้มครองหรือไม่?
(ตอนที่หนึ่ง)
ข้อกำหนดเรื่องการให้ผู้เอาประกันภัยต้องกระทำการด้วยการใช้ความระมัดระวังตามสมควร (Reasonable Precautions) เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายขึ้นมาได้นั้น จัดเป็นข้อกำหนดเงื่อนไขที่สามารถพบเห็นได้ในหลายประเภทกรมธรรม์ประกันภัย บางฉบับถึงขนาดเขียนลักษณะเงื่อนไขบังคับก่อน (Precedent Condition) ด้วยซ้ำ ซึ่งส่งผลทำให้การละเว้นไม่ปฏิบัติตามนั้น บริษัทประกันภัยสามารถใช้สิทธิปฏิเสธความรับผิดตามสัญญาประกันภัยได้
บางครั้ง ยังมีการเขียนครอบคลุมถึงขนาดให้ผู้เอาประกันภัยจะต้องดำเนินการด้วยค่าใช้จ่ายของตนเอง อย่างระมัดระวังตามสมควรในทุกวิถีทางที่จะป้องกันมิให้เกิดความสูญเสีย ความเสียหาย หรือความรับผิดขึ้นมา และจะต้องปฎิบัติให้เป็นไปตามวิธีปฎิบัติทางวิชาชีพ (Professional Practice) ข้อกำหนดทางกฎหมาย (Statutory Requirements) และข้อแนะนำของผู้ผลิต (Manufacturers’ Recommendations) ที่ได้กำหนดขึ้นมาทั้งหมด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้งานของเครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยก็มี
อย่างไรก็ดี แม้จะมิได้เขียนข้อกำหนดเงื่อนไขนี้ลงไว้อย่างชัดแจ้งก็ตาม ก็มักถูกแปลความให้ถือเป็นข้อกำหนดเงื่อนไขโดยปริยาย (Implied Condition) ของผู้เอาประกันภัยซึ่งจะต้องมีหน้าที่ในการปฏิบัติให้เป็นไปตามนั้นอย่างเคร่งครัดขนาดนั้นเลย
ในความเป็นจริงแล้ว
ข้อกำหนดเงื่อนไขนี้ควรถูกแปลความหมายขนาดนั้นหรือเปล่า?
และควรมีขอบเขตขนาดไหน?
การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะไม่ถือเป็นอุบัติเหตุที่จะได้รับความคุ้มครองเลยใช่หรือไม่?
ประเด็นปัญหาเหล่านี้มักจะเกิดเป็นข้อโต้แย้งอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะจากบริษัทประกันภัยในการหยิบยกมาใช้ปฏิเสธความรับผิดของตนตามสัญญาประกันภัย
ดั่งเช่นตัวอย่างคดีศึกษาต่างประเทศนี้
รถบรรทุกรถขุดคันหนึ่งได้ขับไปเกี่ยวโดนส่วนหนึ่งของสะพานข้าม จนได้รับความเสียหายอย่างมาก คิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากกว่า 12.80 ล้านเหรียญ (ประมาณสี่ร้อยกว่าล้านบาท)
บริษัทประกันภัยที่คุ้มครองรถบรรทุกคันนั้นควรจะต้องรับผิดไหม?
เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า มีป้ายเขียนเตือนจำกัดความสูงก่อนขึ้นสะพานนั้นว่า ห้ามมิให้รถที่มีระดับความสูงเกินกว่า 4.80 เมตรผ่าน
แต่เวลาเกิดเหตุ ปรากฏรถบรรทุกคันนั้นมีความสูงโดยรวมถึง 5.46 เมตร
คุณจะพิจารณากรณีนี้เช่นไรครับ?
ง่าย หรือยากในการพิจารณาตัดสินใจ?
โปรดติดตามผลสรุปในสัปดาห์หน้าครับ
บริการ
- รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย
- รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)
สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com
อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น