วันอาทิตย์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2565

เรื่องที่ 160 : ปัญหาการตีความภัยความเสียหายเนื่องจากน้ำ (Water Damage Peril) กับการรื้อผนัง (Tear Out) เพื่อแก้ไขท่อน้ำรั่วต้นเหตุ

 

(ตอนที่สอง)

 

ในตอนที่ผ่านมา ได้ทิ้งคำถามดังต่อไปนี้เอาไว้ สมมุติท่านเป็นบริษัทประกันภัยจะพิจารณาตัดสินใจอย่างไร?

 

ก) เหตุการณ์ความเสียหายเนื่องจากน้ำนี้จะได้รับความคุ้มครองหรือไม่?

 

ข) ถ้าคุ้มครอง จะคุ้มครองรายการใดบ้าง? ในวงเงินความคุ้มครองเท่าไหร่?

 

    (1) ท่อน้ำตัวต้นเหตุ

    (2) ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอื่นที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากน้ำนั้นเอง

    (3) ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนผนัง และการเปลี่ยนทดแทนผนังที่เสียหายนั้น มีจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 40,000 ดอลล่าร์สหรัฐ 

 

เรื่องนี้ บริษัทประกันภัยนั้นได้พิจารณาว่า

 

ถึงแม้ต้นเหตุจะมาจากการเกิดน้ำรั่วไหลออกมา เนื่องด้วยท่อน้ำได้ผุกร่อนจากสนิมก็ตาม แต่ความเสียหายต่อเนื่องจากน้ำนั้นได้ไปสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยอื่น บริษัทประกันภัยตกลงยอมรับผิดให้เฉพาะความเสียหายต่อเนื่องนั้นเอง ส่วนท่อน้ำตัวต้นเหตุนั้นไม่ได้รับความคุ้มครองแต่ประการใด

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทประกันภัยจะขอรับผิดต่อความเสียหายทั้งหมด รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการรื้อผนังเพื่อซ่อมแซมท่อน้ำนั้นด้วย ไม่เกินวงเงินย่อยความคุ้มครอง 10,000 ดอลล่าร์สหรัฐตามที่กำหนดไว้เท่านั้น 

 

ผู้เอาประกันภัยโต้แย้ง ถ้อยคำที่เขียนไว้ในเอกสารแนบท้ายการขยายความคุ้มครองถึงความเสียหาย อันเกิดขึ้นจากภัยเนื่องจากน้ำ (Water Damage Peril Endorsement) ดังอ้างอิงว่า

 

คุ้มครองความเสียหายโดยตรงทางกายภาพแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัย อันเกิดขึ้นโดยฉับพลัน และโดยอุบัติเหตุจากการปล่อย หรือการล้นของน้ำ หรือไอน้ำจากระบบท่อน้ำภายใน โดยจะคุ้มครองความเสียหายจากน้ำนั้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน และการเปลี่ยนทดแทนส่วนใด ๆ ของตัวอาคาร เพื่อความจำเป็นในการซ่อมแซมระบบท่อน้ำ และอุปกรณ์เครื่องใช้นั้นเอง

 

ทั้งนี้ ภายใต้เอกสารแนบท้ายนี้มีจำนวนเงินความคุ้มครองย่อย (Sub Limit) อยู่ที่ 10,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ต่อความเสียหายแต่ละครั้ง

 

อ่านแล้วแปลความหมายได้ว่า วงเงินย่อยความคุ้มครอง 10,000 ดอลล่าร์สหรัฐนั้น มิได้หมายความให้รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรื้อผนังด้วย บริษัทประกันภัยจำต้องรับผิดตามค่าใช้จ่ายดังกล่าวที่เกิดขึ้นจริง 40,000 ดอลล่าร์สหรัฐ 

 

เมื่อบริษัทประกันภัยคงยืนกรานเช่นเดิม ผู้เอาประกันภัยจึงได้นำคดีขึ้นสู่ศาล

 

ศาลชั้นต้นตัดสินเห็นพ้องกับฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัย

 

ฝ่ายจำเลยบริษัทประกันภัยอุทธรณ์

 

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยประเด็นโต้แย้งของฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัย ซึ่งกล่าวอ้างเอกสารแนบท้ายฉบับพิพาทว่า

 

1) ที่เขียนว่า “.... โดยจะคุ้มครองความเสียหายจากน้ำนั้น รวมถึง (including) ค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน และการเปลี่ยนทดแทนส่วนใด ๆ ของตัวอาคาร เพื่อความจำเป็นในการซ่อมแซมระบบท่อน้ำ และอุปกรณ์เครื่องใช้นั้นเอง

 

มีความกำกวม แถมยังขัดแย้งกับประโยคในย่อหน้าถัดไป

 

2) ที่เขียนว่า “ทั้งนี้ ภายใต้เอกสารแนบท้ายนี้มีจำนวนเงินความคุ้มครองย่อย (Sub Limit) อยู่ที่ 10,000 ดอลล่าร์สหรัฐ ต่อความเสียหาย (Loss) แต่ละครั้ง 

 

แม้จะเขียนว่า “รวมถึง” เอาไว้แล้ว แต่พอกล่าวถึงวงเงินความคุ้มครองย่อยกลับไประบุ “ต่อความเสียหาย (Loss) แต่ละครั้ง” แทน

 

เนื่องค่าใช้จ่ายในการรื้อผนัง เพื่อทำให้สามารถเข้าไปซ่อมแซมท่อน้ำชำรุดนั้นได้ ตัวผนังดังกล่าวมิได้รับความเสียหาย (Loss) โดยตรงจากภัยคุ้มครองเนื่องจากน้ำนั้นเลย แต่ได้ถูกทุบทำลายโดยเจตนาตามที่บริษัทประกันภัยเห็นชอบให้สามารถกระทำการได้เท่านั้น ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของเอกสารแนบท้ายฉบับพิพาท เพราะถ้าบริษัทประกันภัยมีจุดประสงค์ที่จะให้รวมอยู่ในวงเงินคุ้มครองย่อยนั้นจริง ก็ควรจะเขียนลงไปให้ชัดเจนมากกว่านี้

 

ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย และยกประโยชน์แห่งความไม่ชัดเจนของถ้อยคำเหล่านั้นให้แก่ฝ่ายโจทก์ผู้เอาประกันภัย ด้วยการตัดสินยืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

 

(อ้างอิง และเรียบเรียงมาจากคดี Security First Ins. Co. v. Vazquez, 2022 WL 495211, — So. 3d — (Fla. 5th DCA February 18, 2022))

 

เรื่องของถ้อยคำที่เขียนนี่สำคัญจริงไหมครับ?

 

เสียดายที่เอกสารแนบท้ายดังกล่าวของบ้านเรา ซึ่งแม้จะมีถ้อยคำคล้ายคลึงกัน

 

ได้ขยายความคุ้มครองถึงความเสียหายต่อทรัพย์สินที่ได้เอาประกันภัยไว้ อันเกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุจากการปล่อย การรั่วไหล หรือการล้นออกมา ของน้ำหรือไอน้ำ จากท่อน้ำ ถังน้ำ ระบบทำความร้อน ระบบทำความเย็น ระบบปรับอากาศ เครื่องสูบน้ำ และรวมถึงน้ำฝนที่ไหลผ่านเข้าไปภายในอาคารจากการเสียหายของหลังคา หน้าต่าง ประตู วงกบประตูหน้าต่าง ช่องลม ช่องรับแสงสว่าง ท่อน้ำหรือรางน้ำ

 

แต่ยังไม่ได้ปรับปรุงเพิ่มเติมเรื่องการรื้อทำลายทรัพย์สินที่เอาประกันภัยที่ยังไม่ได้เสียหาย ในที่นี้คือ ผนัง ฝ้า เพื่อจุดประสงค์เข้าไปซ่อมแซมจุดที่น้ำรั่วไหลโดยตรงเหมือนดั่งเช่นเอกสารแนบท้ายของต่างประเทศ

 

ทำให้จำต้องพยายามหาทางออกอย่างอื่นแทน

 

ฉะนั้น ถ้ามีเหตุการณ์ดังตัวอย่างคดีศึกษานี้เกิดขึ้นในบ้านเรา ก็จำต้องรับสภาพไปเองก่อน เว้นแต่จะหาทางออกอื่นเตรียมตัวล่วงหน้าเอาไว้แล้ว ด้วยการขอให้บริษัทประกันภัยเห็นชอบล่วงหน้าตั้งแต่แรกทำประกันภัยเลย (ถ้าเขายอม)

 

บริการ

-     รับบรรยายให้ความรู้ด้านประกันวินาศภัย

-     รับแปลเอกสารกรมธรรม์ประกันภัย (อังกฤษเป็นไทย)

สนใจติดต่อ vivatchai.amornkul@gmail.com

 

อ่านบทความอีกชุดที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ใน พบ-ป(ร)ะ-กัน(ภัย): เป็นเรื่อง เป็นราว ใน Facebook Meet Insurance ที่ https://www.facebook.com/pomamornkul

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น